วันหยุดสุดสัปดาห์ของคุณหมดไปกับอะไร การออกไปเดินเล่น เข้าโรงภาพยนตร์ ช้อปปิ้ง รดน้ำต้นไม้ นอนดูซีรีส์ หรืออ่านหนังสือเล่มหนา แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบกาแฟ พวกเขาเหล่านั้นอาจมีวันหยุดที่หอมหวลกว่าใครด้วยการ Cafe Hopping (กลุ่มคนผู้สนใจกาแฟและชอบเข้าคาเฟ่เปิดใหม่) ผู้ใช้เวลาไปกับการดื่มกาแฟรสชาติต่างๆ กินขนมเค้กหน้าตาสวยๆ ผ่อนคลายไปกับบรรยากาศสบายๆ ที่จะทำให้วันนั้นกลายเป็นวันดีๆ อีกวัน

สำหรับ นาระ เอโกะ พนักงานออฟฟิศอายุ 37 ปี เธอไม่เฉียดไม่ใกล้ Cafe Hopping เลยสักนิด เธอรักการนอนเอื่อยเฉื่อยบนโซฟาที่บ้าน เดินจ่ายตลาดเป็นครั้งคราวเมื่อจำเป็น สังสรรค์กับเพื่อนบ้างเป็นบางหน สิ่งที่เธอทำในทุกวันก็คือการมีชีวิตอย่างไม่ยากลำบากจนเกินไป เอโกะใช้ชีวิตเป็นโสด ไม่โหยหาความรัก และยังไม่คิดจะแต่งงาน เธออาจไม่ได้มีความสุขกับการทำงานมากนัก แต่ก็ยังไม่คิดจะเปลี่ยนงานไปไหน ชีวิตของเธอค่อนข้างจะราบเรียบ ซึ่งเธอก็รักมันในแบบที่เป็น

วันหนึ่ง เอโกะค้นพบคาเฟ่เล็กๆ ไม่ไกลจากบ้านเท่าไร มันมีขนาดกะทัดรัดเพียงสี่โต๊ะนั่งสำหรับสองคน และห้าเก้าอี้หน้าเคาน์เตอร์บาร์ ภายในร้านไม่ได้ตกแต่งอะไรมากมาย แต่แสงสว่างที่ทั่วถึงนั้นกลับให้บรรยากาศสบายๆ อย่างบอกไม่ถูก และที่นี่เองที่เธอได้พบกับมาโดกะอีกครั้ง มาโดกะเป็นหญิงสาวที่เคยทำงานอยู่บริษัทเดียวกับเอโกะในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะลาออกไป ด้วยเหตุผลว่าสักวันหนึ่งเธออยากจะมีคาเฟ่เป็นของตัวเอง

คาเฟ่ลูสคือคาเฟ่ของมาโดกะ มันเป็นร้านที่มีคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับการเดินทาง มาโดกะจะเดินทางเป็นประจำเกือบทุกเดือน และอาจจะนำสิ่งที่ได้พบเจอระหว่างทางมาเป็นเมนูของร้าน ลูกค้าที่มาก็จะได้สัมผัสการเดินทางไปด้วยพร้อมๆ กับเธอด้วย แต่ไม่ใช่แค่กับลูกค้าของเธอเท่านั้น เพราะผู้อ่านก็จะถูกจับวางไว้ตรงไหนสักแห่งเช่นกัน อาจเป็นเก้าอี้หน้าเคาน์เตอร์คาเฟ่ลูส โต๊ะริมหน้าต่างที่ไม่มีใครนั่ง หรือผู้มาเยือนที่เพียงเดินผ่านหน้าร้าน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอะไร เราล้วนแล้วแต่จะได้ดื่มด่ำไปกับเส้นทางของมาโดกะ ผ่านเครื่องดื่ม ขนมหวาน และอาหารที่เธอเสิร์ฟ

Cozy Mystery เบื้องหน้าเป็นคาเฟ่ เบื้องหลังเป็นคนไขปริศนา

ความรื่นรมย์ของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ความตื่นเต้น ไม่ใช่ความลุ้นระทึกและไม่ใช่ความประหลาดใจต่อสิ่งใด หากแต่มันคือความเรียบง่าย มันเป็นชีวิตอันสามัญธรรมดา บางครั้งก็เหงาเพราะไม่มีใคร บางคราวก็สุขจากการกินของอร่อยๆ เรื่องราวของคาเฟ่ลูสเป็นแบบนั้น มันไม่หวือหวา แต่อบอุ่น คล้ายการเดินจูงมือไปกับยายบนถนน ซึ่งสองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ เราจะได้ยินเสียงใบไม้ไหว สัมผัสกับพระอาทิตย์ทอแสงอ่อน และกลิ่นดินชื้นน้ำอ่อนๆ ซึ่งทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายทุกขณะที่อ่าน

ในแต่ละบทของหนังสือ คาเฟ่ลูสไม่เพียงแต่เสิร์ฟเครื่องดื่ม ขนมหวาน และอาหารเท่านั้น แต่ยังเสิร์ฟเรื่องราวของบุคคลต่างๆ ด้วย ปริศนาตามรายทางที่เพิ่มสีสันอันมาพร้อมกับชื่อตอนที่มีนัยยะอยู่ในตัวของมัน โดยปริศนาส่วนใหญ่จะถูกไขด้วยตัวละครของมาโดกะ เชฟสาวที่ช่างสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว และสามารถเชื่อมโยงเรื่องเล็กๆ เข้าด้วยกัน ปริศนาในเรื่องจะไม่ได้เข้มข้นจนถึงขั้นต้องลงมือสืบหาความจริงอย่างจริงจัง แต่มันคล้ายกับการสืบความย้อนไปในความทรงจำนิดๆ หน่อยๆ ถ้าให้เปรียบเทียบก็คงคล้ายกับเวลาที่เราลืมว่าวางกุญแจบ้านไว้ตรงไหน แล้วต้องนึกย้อนไปว่าก่อนหน้านี้เราทำอะไรมาบ้าง และเห็นกุญแจบ้านครั้งสุดท้ายเมื่อไร การไขปริศนาของคาเฟ่ลูสจะให้ความรู้สึกแบบนั้นมากกว่า แต่สิ่งที่น่าประทับใจคือทุกอย่างล้วนวนเวียนอยู่กับขนม โดยมีคาเฟ่ลูสเป็นจุดศูนย์กลาง และเรายังได้รับความรู้เรื่องขนมต่างๆ ไปด้วย ทั้งที่อาจจะเคยรู้จักและไม่รู้จัก ขนมบางอย่างกินกับชาอร่อยกว่ากาแฟ ขนมบางอย่างมีความหวานมาก จะเสิร์ฟด้วยปริมาณเล็กๆ แต่มักเสิร์ฟในครอบครัวใหญ่ที่มีกันหลายคน หรือแม้แต่เคล็บลับเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการทำขนมก็มีเหมือนกัน

เอโกะกับมาโดกะ ผู้หญิงสองคนที่เป็นตัวแทนของใครหลายคน

เอโกะ ตัวแทนของคนเหงา

เมื่อทบทวนดูแล้ว เราจะพบว่าเอโกะคือคนแบบที่ใครหลายคนเป็นอยู่ เราอาจจะมีความสุขบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็แค่รู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ แต่ก็ไม่สุข ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร กับหน้าที่การงานก็ทำได้อย่างไม่เดือดร้อนใจ แต่ลึกๆ ก็มักจะถามตัวเองว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร เราควรมีความสุขมากกว่านี้ไหม หรือเราต้องตามหาเป้าหมายในชีวิตหรือเปล่า

ในแง่ของการทำงานและมนุษยสัมพันธ์ในที่ทำงาน ชีวิตของเอโกะตกอยู่ในสถานะของสังคมญี่ปุ่นโดยแท้ เพราะหากยกสถิติทางด้านมนุษยสัมพันธ์มาดู เราก็จะพบว่าคนญี่ปุ่นมีอัตราการไม่สังสรรค์แลกเปลี่ยนระหว่างเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงานสูงขึ้น พวกเขาไม่ค่อยปฏิสัมพันธ์กัน และโดยส่วนใหญ่คนเหล่านี้ก็จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวในชีวิตจริงด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้อาจนำไปสู่ความตายอย่างเดียวดาย หรือ การเสียชีวิตของผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียว ส่งผลให้หลังจากเสียชีวิตแล้วอาจใช้เวลานานกว่าคนภายนอกจะรับรู้ แต่ปัจจุบันผู้คนก็เริ่มตื่นตัวกับเรื่องนี้กันมากขึ้น รวมถึงการวางแผนการใช้ชีวิตในบั้นปลาย และพร้อมเผชิญกับความตายเพียงลำพัง ซ้ำยังมีธุรกิจใหม่ผุดขึ้นมาเพื่อรองรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ อาทิ อุปกรณ์และบริการตรวจจับความผิดปกติจากการใช้พลังงานเครื่องใช้ภายในบ้าน เพราะหากบ้านหลังนั้นมีความผิดปกติก็เป็นไปได้ว่าผู้อาศัยอาจเกิดอันตรายขึ้นหรือเสียชีวิตไปแล้ว การเข้ามาตรวจสอบบ้านหลังนั้นก็จะไม่ทอดระยะเวลานานจนเกินไป

แต่ชีวิตของเอโกะคงไม่ได้เศร้าขนาดนั้น ความจริงเธอเองก็เหงาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับรู้สึกหมดอาลัยตายอยาก แม้เธอจะไม่ได้มีเป้าหมายในชีวิต แต่เธอก็เจอสิ่งที่ทำให้มีความสุขมากกว่าเดิม นั่นด็คือการค้นพบคาเฟ่ลูส

บ่อยครั้งเราอาจเคยได้ยินว่าการเดินทางจะทำให้เราได้พบสิ่งใหม่ ได้ค้นพบอะไรบางอย่าง และได้เติมเต็มพลังหรือแรงบันดาลใจ ใช่แล้ว, สิ่งนี้เองที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเอโกะ แม้จะไม่ใช่การเดินทางของเธอเสียทีเดียว แต่มันก็ช่วยเปิดโลกของเธอให้กว้างขึ้น ทำให้เธออยากพบสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ และเธอก็เฝ้าคอยมันอย่างมีความหมาย ถึงจะไม่ยิ่งใหญ่อย่างเป้าหมายของคนอื่นก็ตาม

บางทีความสุขมันก็เล็กจ้อยแค่นี้เอง

มาโดกะ ตัวแทนของผู้ที่ปกป้องความฝัน

สังคมญี่ปุ่นแบ่งบทบาทหน้าที่ของชายหญิงไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยผู้ชายต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงก็ถูกคาดหวังให้ดูแลบ้าน รวมถึงดูแลทุกคนที่อยู่ในบ้านให้ดีที่สุด ชีวิตการทำงานนอกบ้านของผู้หญิงในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่จึงอาจจะไม่ได้มีความเสมอภาคทางเพศมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตในหน้าที่การงาน ฐานเงินเดือน และการเข้าถึงตำแหน่งหลายๆ อย่าง

ในคาเฟ่ลูส สิ่งที่มาโดกะเจออาจจะยังไม่ใช่ในแง่ของการทำงาน แต่ในแง่ของความรับผิดชอบที่ต้องดูแลครอบครัวในฐานะลูกสาวนั้น มันทำให้เธอต้องลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัท เพื่อไปดูแลยายอย่างเต็มเวลา โดยที่พี่ชายของเธอไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

แต่เมื่อภาระหน้าที่หมดไป มาโดกะก็ได้ไล่ตามความฝันอย่างที่หวังไว้ เธอมีคาเฟ่เล็กๆ เป็นของตัวเองบนพื้นที่ๆ เธอได้รับมาจากยาย แต่สิ่งหนึ่งที่เธอต้องแบกก็คือความเสี่ยงในการเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง มันไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จง่ายนัก เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าการทำงานบริษัทให้ความมั่นคงมากกว่า อย่างน้อยๆ ก็มีเงินเดือนทุกเดือน ไม่ต้องคอยลุ้นว่าเดือนนี้จะมีเงินไหม คืนทุนหรือเปล่า ลูกค้าจะมากน้อยแค่ไหน แถมไม่ต้องพะวงเรื่องคู่แข่งอีกด้วย

มาโดกะเปิดร้านโดยรับผิดชอบคนเดียวทุกอย่างตั้งแต่เรื่องหน้าร้านยันหลังร้าน ข้อดีก็คือเธอจะเห็นองค์รวมทั้งหมด แต่ข้อเสียก็คือเธอจะต้องแบกทุกอย่างไว้แต่เพียงผู้เดียว ถ้าเธอล้มป่วย ร้านก็คงล้มป่วยตาม แต่มาโดกะก็วางแผนมาดีในเรื่องขนาดร้าน จำนวนโต๊ะ จำนวนเมนู และการสับเปลี่ยนหมุนเวียนวัตถุดิบตามกำลัง ความเอาใจใส่ทั้งหมดทำให้คาเฟ่ของเธอแตกต่างจากที่อื่นๆ โดยเฉพาะเมนู รสชาติ และความสดใหม่ ความสำเร็จของคาเฟ่ลูสจึงไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เพราะความตั้งใจของมาโดกะต่างหาก ในยามที่พบเจออุปสรรค เธอก็ตั้งมั่นรับมือมันอย่างเต็มที่ เหนือสิ่งอื่นใดทุกการเดินทางของมาโดกะไม่ได้แค่ทำให้ตัวเธอเติบโตขึ้น แต่ยังทำให้คนอื่นได้พบสิ่งใหม่ด้วย อย่างน้อยๆ ก็คือเมนูที่เธอติดไม้ติดมือกลับมาทำให้กิน

อย่างไรเสียทุกความพยายามก็คงไม่สูญเปล่าไปเสียหมด

เก็บกระเป๋าให้พร้อม แล้วออกเดินทาง

หากใครกำลังมองหาความสุข บางทีการออกเดินทางคงช่วยได้จริงๆ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เปลี่ยนสถานที่ ได้พักผ่อนในแบบที่ต่างออกไป ได้หลีกหนีจากความสับสนและวุ่นวายของเมืองที่ชินตา ได้หายใจอย่างไม่ต้องพะวงกับสิ่งใดชั่วขณะ

ถ้าไปทะเล กลับมาแล้วเราคงคิดถึงเสียงคลื่น ถ้าไปภูเขา กลับมาแล้วเราคงคิดถึงเสียงระส่ำระสายของใบไม้ ถ้าไปที่ไหน กลับมาแล้วเราคงคิดถึงที่นั่น…

การที่เราได้เห็นความสุขที่เรียบง่ายของทั้งเอโกะและมาโดกะ ทำให้เราได้หวนกลับมามองตัวเองว่าสิ่งที่ทำและรู้สึกอยู่ตอนนี้ มันใช่สิ่งที่เราต้องการจริงๆ ไหม เราอาจไม่ได้คำตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่อย่างน้อยๆ เราก็ได้ตระหนักถึงก้าวเดินของตัวเองและ รู้ว่าความสุขอาจเป็นแค่การเดินไปพบคาเฟ่ใกล้บ้านก็ได้ จริงไหม!

แต่ถ้าใครจะพลิกปฎิทิน มองหาวันลาพักร้อน แล้วเตรียมเก็บกระเป๋าไปตามหาเมนูที่รักจากการเดินทาง นั่นก็น่าจะตื่นเต้นไปอีกแบบเหมือนกัน 😉

Tags: