(1)
ทันทีที่ปี่กลองทางการเมืองเริ่มรุกเร้า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้นำคณะรัฐประหาร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมานานกว่า 8 ปี ตัดสินใจเดินต่อ เป็นนายกรัฐมนตรีอีก 2 ปี กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ‘มาเหนือเมฆ’ หนังสือเล่มใหม่ ซึ่งมี คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา เป็นบรรณาธิการ และทีมงานจากนิตยสารอิมเมจเป็นผู้ผลิตก็วางขายทันที
เฟซบุ๊กแฟนเพจ IMAGE CLUB ผู้ผลิตหนังสือให้ข้อมูลว่า มาเหนือเมฆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือพ็อกเกตบุ๊กเล่มแรกของอิมเมจมีเดีย และการกลับมาทำงานด้านสิ่งพิมพ์ ถือว่าอินเทรนด’ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ อีกไม่นานนี้
สิ่งที่ทำให้แตกต่างจากหนังสือ ‘เชียร์ตู่’ เล่มอื่นๆ ก็คือการโฆษณาว่า มีทีมงานจากนิตยสาร มีบรรณาธิการ มีนักข่าวอาวุโสร่วมกันจัดทำ พร้อมกับรายชื่อผู้เขียนที่เป็น ‘ผู้ใหญ่’ ในวงการ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพียงอย่างเดียว หากแต่ทุกคนอยู่ในวัยเกิน 60 ปี ไม่ว่าจะเป็น ทิวา สาระจูฑะ, นิติพงษ์ ห่อนาค, รุ่งเรือง ปรีชากุล หรือหริรักษ์ สูตะบุตร เป็นนักเขียนรับเชิญ พร้อมใจกันเขียน ‘ความเรียง’ บอกความในใจที่มีกับพลเอกประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหารผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นปีที่ 9
แน่นอนว่าความน่าสนใจของมาเหนือเมฆ อยู่ที่บรรดาทีมงานผู้จัดทำหนังสือ อดีตบรรณาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ จะให้เหตุผลใดในการชักจูง-โน้มน้าวให้พลเอกประยุทธ์อยู่ต่อ ในวันที่กระแสไม่ได้ดีเหมือนเคย และในวันนี้มีเพียงไม่กี่คนที่เชื่อว่าพลเอกประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ หลังการเลือกตั้งในอีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้า
(2)
ท่อนแรกๆ ในสายตาฝ่ายสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ยังคงพูดถึง ‘ความจำเป็น’ ในการทุบโต๊ะยึดอำนาจเพื่อกำจัดความขัดแย้งของคนในชาติ เป็นคำอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้วันนี้จะผ่านมานานกว่า 9 ปี
ในบทแรกของหนังสือ ทิวา บรรณาธิการนิตยสารสีสัน และอดีต กปปส. เขียนตอนหนึ่งว่า “ไม่แปลกอะไรที่การรัฐประหาร 2 ครั้งหลังจะได้ยินเสียงคนเฮด้วยความดีใจกันลั่นเมือง นั่นไม่ได้หมายความว่าคนไทยส่วนใหญ่ชอบการปฏิวัติรัฐประหาร หรือชอบให้ทหารมาปกครอง แต่เป็นการแสดงออกถึงการเห็นด้วยว่า การคอร์รัปชัน การละเมิดกฎหมาย และความขัดแย้งเรื้อรัง ควรจะต้องถูกจัดการให้จบลง แม้ยังไม่ใช่การจบความขัดแย้งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทางลึก อย่างน้อยก็เป็นการยุติสถานการณ์ที่อาจจะรุนแรงบานปลายใหญ่โตเฉพาะหน้า”
ขณะที่ รุ่งเรือง ปรีชากุล อดีตบรรณาธิการบริหารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ สรุปประวัติศาสตร์ในช่วง 4 ทศวรรษหลังโดยสังเขป โดยเน้นในห้วงเวลาของ ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่ามีการคอร์รัปชันและสร้างความแตกแยก พร้อมทั้งชื่นชมการชุมนุมของ กปปส. และบรรยายความจำเป็นในการยึดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ว่า “สถานการณ์บีบรัดจนไม่มีทางเลือกอื่น การเผชิญหน้าของผู้ชุมนุมแหลมคมขึ้น มีแต่จะทำให้เกิดความสูญเสียชีวิต ความรุนแรงมีแต่จะบานปลายขยายวง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้ประกาศกฎอัยการศึก” ทั้งยังอ้างอิงคำพูดของพลเอกประยุทธ์ที่กล่าวก่อนยึดอำนาจว่า “หากเป็นกันแบบนี้ ผมขอโทษด้วยนะที่ต้องยึดอำนาจ” ด้วยน้ำเสียงชื่นชม
ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือการเล่าเรื่องแบบโทนเดียว มิได้พูดถึงการชุมนุมของ กปปส. ว่าแท้จริงแล้วอาจเป็นการสร้าง ‘พล็อต’ เพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร ดังที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เคยบอกไว้ว่า เคยคุยกับพลเอกประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2553 และก่อนการรัฐประหารไม่นาน พลเอกประยุทธ์ ได้บอกกับสุเทพไว้ว่า “คุณสุเทพ คุณกับมวลมหาประชาชน กปปส. เหนื่อยมามากแล้ว จากนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพบกในการเข้ามาดูแลแทนเอง”
อีกทั้งยังไม่ได้พูดถึงการชุมนุมของ กปปส. ที่สามัคคีเป็นอันดีกับพรรคประชาธิปัตย์ในการบอยคอตการเลือกตั้ง ผลักให้ประเทศถึงทางตันทุกทาง เพื่อให้การรัฐประหารเป็นการกระทำที่มีเหตุผล
การเล่าประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียวแน่นอนว่า ทำให้ความเข้าใจเรื่องนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า แต่หากหนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ‘เชียร์ตู่’ ก็เป็นอันเข้าใจได้ที่จะเล่าเรื่องเพียงด้านเดียว
เพราะหาก ‘ที่มา’ และการ ‘เข้าสู่อำนาจ’ ไม่ถูกต้อง และฟังไม่ขึ้น เรื่องเล่าทั้งหมดในเล่มนี้ก็จะหมดความหมาย
และสิ่งที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ คือจนถึงวันนี้ ฝั่ง ‘เชียร์ตู่’ ก็ยังเชื่อใน ‘เรื่องเล่า’ ที่ว่าพลเอกประยุทธ์มาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และ ‘ปฏิรูปประเทศ’ ก่อนการเลือกตั้ง
ไม่น่าเชื่อว่า เหตุการณ์เพิ่งผ่านไปไม่ถึง 9 ปี เหตุผลที่กล่าวอ้างทั้งหมดก็ยังเหมือนว่าเราอยู่ในโลกคนละใบกัน
(3)
ในขณะที่กำลังอ่านความในใจของนักเขียนอาวุโสอย่างเพลิดเพลิน มาเหนือเมฆ กลับสอดแทรกเอกสารประชาสัมพันธ์ที่เหมือนกับคัดลอก ตัดแปะ มาจากเพจ ลุงตู่ตูน หรือ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ยาวตั้งแต่หน้า 67-203 ไม่ว่าจะในประเด็น ‘แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ การ ‘เปิดประเทศ’ หลังจากโควิด-19 เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การก่อสร้างรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ หรือการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
กระนั้นเอง สิ่งที่ควรตั้งคำถามก็คือ สิ่งเหล่านี้สามารถอ้างเป็นผลงานได้จริงหรือไม่… เป็นต้นว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วันนี้เดินมาถึง 1 ใน 4 ภายใต้รัฐบาลที่ยังมี ‘ลุงตู่’ เป็นนายกฯ เหมือนเดิม ได้เดินตามยุทธศาสตร์มากน้อยแค่ไหน ประชาชนไทยมีความปรองดองจริงหรือไม่ การเมืองไทยได้ผ่านการปฏิรูปหรือยัง ประชาชนไทยมีความมั่งคั่งเพียงใด ในวันที่จำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ‘บัตรลุงตู่’ วันนี้ก็ยังคงใกล้เคียงจุดเดิม
ใช่หรือไม่ว่า เรื่องรถไฟฟ้าหลายสายนั้น เป็นผลงานที่เดินต่อมาจากรัฐบาลชุดเก่า และไม่ว่าใครที่อยู่นานเกือบ 9 ปี ก็ต้องสร้างรถไฟฟ้าได้ในระดับนี้ (หรืออาจจะมากกว่านี้) และใช่หรือไม่ว่า โครงการในอีอีซีจำนวนมากก็ยังอยู่ในกระดาษ ยังไม่ได้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัด
หากใครอยากดูตัวอย่างก็ขอให้ดูถนนสุขุมวิทที่หน้าสนามบินอู่ตะเภา ที่ผ่านมากว่าครึ่งทศวรรษ ก็ยังปรับปรุงไม่เสร็จ หรือรถไฟความเร็วสูง ‘3 สนามบิน’ ที่จนถึงวันนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นก่อสร้าง และสถานะยังคงลุ่มๆ ดอนๆ และทำให้การลงทุนใน EEC หลายอย่าง ไม่ได้เป็นไปตามแผน
ในฐานะคนทำหนังสือเหมือนกัน หนังสือเล่มนี้จะมีสีสันอีกมาก หากดึงเอาผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์มาถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานร่วมกับลุงตู่ เพื่อพูดถึงโครงการเหล่านี้ หรือเบื้องหลังวิธีคิด-ออกแบบนโยบาย หากมาจากมันสมองอันชาญฉลาดของพลเอกประยุทธ์จริง แต่ผู้จัดทำกลับนำเพียงข้อความตัดแปะมาลง
เมื่อเลือกใช้วิธีนี้ ก็ตีความได้ 2 แบบ แบบแรกคืองานนี้เป็น ‘งานเร่ง’ ต้องรีบทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง หรือทุกคนปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับลุงตู่ และอาจตั้งคำถามได้ว่าหรือจริงๆ แล้ว ผลงานทั้งหมด ไม่ได้ถูกคิดค้นโดยลุงตู่ หากแต่เป็นฝ่ายข้าราชการเป็นคนชงเรื่อง
ถึงตรงนี้จึงน่าเสียดายที่ว่า เมื่อการโพสต์ในโลกออนไลน์ถูกแปรสภาพมาเป็นหนังสือในแบบออฟไลน์ และจะถูกประทับตราอยู่ภายใต้ระบบเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) และส่งต่อไปยังห้องสมุดทั่วประเทศ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ควรจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียหน่อย
เพราะแม้พลเอกประยุทธ์จะพ้นวาระ และ (อาจ) ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้จะอยู่ไปอีกหลายสิบปี หรืออาจนานเป็น 100 ปี
คนไทยในอนาคตจะได้ไม่ต้องเข้าใจข้อมูลผิดๆ
(4)
ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ดูเหมือนว่า Pain Point สำคัญของพลเอกประยุทธ์ ที่หนังสือเล่มนี้ต้องการตอบก็คือ ‘สติปัญญา’ ของพลเอกประยุทธ์ว่า ‘ฉลาด’ พอ และมีความสามารถจะเป็นผู้นำประเทศได้หรือไม่
น่าสนใจก็ตรงที่มีความพยายามตอบคำถามนี้ต่างกรรมต่างวาระ ทิวา บรรณาธิการนิตยสารสีสันบอกว่า “ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด” คำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ปัญญาชนพลเรือน นักการเมือง และนักวิชาการบางจำพวกนำมาปลุกปั่นผู้คนเท่านั้น ทว่ามองข้ามความเป็นจริงว่าคนที่สามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ และก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดในสายอาชีพย่อมไม่ใช่คนโง่
ขณะที่ หริรักษ์ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากจะให้คำอธิบายทำนองเดียวกันแล้ว ยังขอให้บรรดาพวกที่ดูแคลนลุงตู่ไปสอบแข่งขันโรงเรียนเตรียมทหาร
ขณะเดียวกัน หริรักษ์ยังได้ให้ข้อคิดอีกเรื่องคือแม้พลเอกประยุทธ์จะไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษด้วยคำพูดได้ดีเหมือนกับคนที่ไปเรียนต่างประเทศแต่เด็ก แต่สามารถอ่านและแปลภาษาอังกฤษได้ดีชนิดที่ไม่เสียชื่อว่า นราพร จันทร์โอชา ภรรยาของพลเอกประยุทธ์ เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ พร้อมกับให้ข้อมูลว่า พลเอกประยุทธ์สามารถแปลเนื้อเพลง Bridge Over Troubled Water เพลงดังของ Simon & Garfunkel เป็นภาษาไทยโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง
น่าเสียดายที่ไม่ได้มีเนื้อหาเพลงที่พลเอกประยุทธ์ ‘แปลสด’ มาให้ดูความสามารถ เพราะเพลงนี้มีความหมายล้ำลึก และไม่ได้แปลง่ายๆ อย่างแน่นอน
บทสรุปอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีความพยายามนำรัศมีของพลเอกประยุทธ์ ไปเทียบกับ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษผู้ล่วงลับอยู่หลายครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดากองเชียร์ของพลเอกประยุทธ์ หรือแม้แต่ตัวพลเอกประยุทธ์เองก็น่าจะพึงปรารถนา
เพราะป๋าเปรมสามารถแก้ไขความขัดแย้ง พาแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยออกจากป่า มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยได้ เพราะป๋าเปรมสามารถเริ่มต้นโครงการ ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ สำเร็จ เปลี่ยนประเทศไทยไปสู่ยุคอุตสาหกรรม ทั้งยังมีบารมี ลอยตัวได้ท่ามกลางพรรคการเมืองน้อยใหญ่ ไม่ว่าจะมีเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเรื่องใดก็ไม่ระคายผิวป๋าแม้แต่น้อย
และถึงที่สุด ป๋าเปรมยังประกาศว่า ‘พอ’ ลงจากตำแหน่งได้อย่างสง่างาม พร้อมกับยังมีสถานะเป็นประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษติดตัว…
แต่แน่นอน นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อหลายทศวรรษก่อน สภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอีกแบบหนึ่ง สถานการณ์ทางการเมืองก็เป็นอีกแบบหนึ่ง พลเอกเปรมไม่ได้มีคู่แข่ง ไม่ได้มีคู่เปรียบเทียบ และสถานะของบรรดาผู้อยู่เบื้องหลังพลเอกเปรมก็ยังได้รับความนิยมสูงกว่านี้มาก
ด้วยเหตุนี้ ‘ลุงตู่’ จึงไม่ใช่ ‘ป๋าเปรม’ และไม่มีทางจะเป็นป๋าเปรม
(5)
“เพราะขับรถไม่เป็น ฉันจึงต้องเลือกคนขับที่วางใจ” บทส่งท้ายของเล่มนี้ ถือเป็นความเรียงขนาดสั้นที่น่าสนใจไม่น้อย พ.สิทธิสถิตย์ ที่ในหนังสือระบุว่า เป็นอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์/ นิตยสาร และเธอเลือกทำงานด้านการสื่อสารมวลชนด้วยความหวังที่จะเห็นประเทศไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้คำจำกัดความพลเอกประยุทธ์ว่า เมื่อตัวเธอเองขับรถไม่เป็น จึงต้องหา ‘โชเฟอร์’ ถูกคนมาช่วยขับรถแทน และรู้สึกขัดใจกับนักการเมืองรุ่นเก่าหลายคนที่โกงกินซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“มารู้อีกทีคนพวกนี้ก็หอบลูกจูงหลานที่มีการศึกษาระดับดีเลิศ มีกลยุทธ์แนบเนียนในการผันเงินงบประมาณเข้ากระเป๋าตัวเองและพวกพ้อง เข้าไปยึดครองพื้นที่ในรัฐสภา และช่วยกันออกกฎหมายให้เป็นคุณกับตนเองและพรรคพวก ในขณะที่ประชาชนทุกเพศทุกวัยก็ถูกปั่นให้ขาดสติด้วยข้อมูลจริงผสมเท็จที่กระจายตัวเหมือนไวรัสร้ายด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จนละทิ้งคุณค่าที่ยึดโยงโครงสร้างสังคมให้ร่มเย็นมายาวนาน เกิดเป็นความเกลียดชังกันสุดขั้ว” คือเหตุผลที่ทำให้เธอต้องเลือกโชเฟอร์ที่วางใจได้
น่าเสียดายก็คือ บทนี้ไม่ได้สรุปว่า พ.สิทธิสถิตย์ เกลียดนักการเมืองจนอยากให้คงไว้ซึ่งระบอบรัฐประหารใช่หรือไม่ และเธอรู้สึกอย่างไรกับโชเฟอร์อย่างพลเอกประยุทธ์ ที่เมื่อ 4 ปีก่อน ตอนร่วมกับพรรคพลังประชารัฐก็เป็นนักการเมืองเต็มตัว และวันนี้เมื่อร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ยิ่งเป็นนักการเมืองที่เข้มข้นกว่าเดิม
หรือหากเปลี่ยนคำถามใหม่ก็คือว่า คนที่ขับรถไม่เป็นจะปล่อยให้โชเฟอร์ขับอย่างไรก็ได้อย่างนั้นหรือ แล้วคนที่ขับรถเป็น มีคนนี้คนเดียวหรือ และอีกหลายคนที่ขับรถไม่เป็นนั้นคิดเหมือนกับ พ.สิทธิสถิตย์ หรือไม่ หรือเขาอยากให้คนอื่นขับแทน
ด้วยเหตุนี้ มุมมองอันมีตัวเองเป็นศูนย์กลางของคนขับรถไม่เป็นอย่าง พ.สิทธิสถิตย์ จึงเหมาะสมแล้วที่จะมีพลเอกประยุทธ์เป็นโชเฟอร์ขับให้ตลอดไป
แต่ขอความกรุณา ให้ พ.สิทธิสถิตย์ จ้างพลเอกประยุทธ์ไปเป็นคนขับรถส่วนตัวเสียเถิด อย่าให้คนอื่นที่ไม่ได้เลือกต้องมีพลเอกประยุทธ์เป็นโชเฟอร์ส่วนตัวเลย
(6)
จนถึงบทสุดท้าย คำถามที่ผมยังมีต่อหนังสือเล่มนี้ก็คือคำถามหลักของหนังสือเล่มนี้ นั่นคือเพราะเหตุใดเราถึงควรเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อนายกรัฐมนตรีอีกสมัย และเพราะเหตุใดจึงยังมีคนเชียร์เขาอยู่มาก
เพราะเขาเป็นทหารหาญผู้ที่ ‘รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ ผู้ซื่อสัตย์เพียงคนเดียว เพราะเขาเป็นตัวละครที่ ‘ถูกเลือก’ โดยชนชั้นนำ หรือเพราะความสามารถอันเอกอุ ทัดเทียมกับผู้นำทั่วโลก น่าเสียดายที่ด้วยข้อมูลที่หนังสือเล่มนี้อ้างถึงพยายามชักจูงไปใน 2 ข้อแรกมากกว่า
รุ่งเรือง อดีตนักข่าวอาจสรุปเรื่องนี้ได้ดีที่สุดผ่านโคลงที่เขาแต่งอย่างสวยงามว่า
“ประ วัติสัตย์ซื่อแท้ เที่ยงตรง
ยุทธ์ เยี่ยมใจมั่นคง เทิดฟ้า
จันทร์ จรัสจิตธำรง ธรรมะ
โอชา สกุลผู้แกร่งกล้า แหล่งหล้าแดนสยาม”
หากการเลือกตั้งรอบนี้ พลเอกประยุทธ์ถูก ‘ดัน’ เป็นนายกฯ อีกรอบ ก็แปลว่าหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ ประสบความสำเร็จ ตอบโจทย์คนไทยผู้รักชาติและผู้มีสิทธิเลือกตั้ทั้งประเทศที่ต้องการนายกฯ ผู้ซื่อสัตย์ ผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผู้ทำหน้าที่ ‘โชเฟอร์’ สำหรับคนไทยที่ขับรถไม่เป็น และให้โอกาสพลเอกประยุทธ์ต่อไปในการปฏิรูปประเทศ
แต่หากไม่ใช่ หนังสือเล่มนี้ ก็จะเป็นบทส่งท้าย เป็นบทรูดม่านปิดฉากทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์โดยสมบูรณ์ และเป็นการรำลึกความทรงจำดีๆ ของบรรดาแฟนคลับพลเอกประยุทธ์ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา…
เป็น 9 ปีที่ขัดแย้งอย่างยิ่งกับเพลงของพลเอกประยุทธ์ที่วันนี้แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่กล้าเปิด ‘เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน’
และเป็น 9 ปี ที่การเมืองไทยไม่ไปไหน แม้แต่กองเชียร์ของพลเอกประยุทธ์ก็ตอบไม่ได้ว่า ‘ปฏิรูปการเมือง’ อะไรไปแล้วบ้าง หรือแก้ความขัดแย้งอะไรไปบ้าง ตอบได้แต่เพียงว่าสร้างถนนอะไรไปบ้าง
ช่างเป็นการพยายามหยุดเวลาที่สูญเปล่า…
และปล่อยให้สิ่งที่มีค่าที่สุดอย่าง ‘เวลา’ ค่อยๆ กร่อนไปเรื่อยๆ
Fact Box
มาเหนือเมฆ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา บรรณาธิการ: คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา สำนักพิมพ์: อิมเมจ มีเดีย, ราคาปก 280 บาท