(1)

ในบรรดาวงจรของการรัฐประหาร ฉากสุดท้ายของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นน่าลุ้นระทึกที่สุด เพราะท่านจอมพลผู้เคยยิ่งใหญ่ ไม่ได้มี ‘ดีล’ ที่ทำให้หนีออกนอกประเทศได้สะดวกสบาย หากแต่เป็นการตัดสินใจในวันที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตมือขวาเกิดชิงไหวชิงพริบยึดอำนาจ จนทำให้จอมพลป.ต้องตัดสินใจ ‘หนี’ ในเย็นวันที่ 16 กันยายน 2500 ปิดฉากการเป็นผู้นำจากยุคคณะราษฎรคนสุดท้าย และกลายเป็นฝ่าย ‘อำนาจเก่า’ ที่ครองอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบนับจากวันนั้น

ก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย จอมพล ป.ฝากไว้ที่หาดเล็ก จังหวัดตราด เป็นหนังสือที่ปะติดปะต่อเล่าช่วงเวลา 2 ชั่วโมงสุดท้าย ตั้งแต่วันที่จอมพล ป.ยังอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล เรื่อยไปจนถึงวันที่ต้องระหกระเหินนั่งเรือประมง หาทางออกนอกประเทศให้เร็วที่สุด เพื่อหนีภัยจากการยึดอำนาจ โดยหลักใหญ่อยู่ที่บันทึกของ กำนันโจ๊ด-ประเสริฐ ศิริ หนึ่งในผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยจอมพลหนีออกนอกประเทศ ฝ่าคลื่นมรสุมออกไปยังเกาะกง รวมถึงข้อเขียนที่บันทึกสถานการณ์อันแหลมคมทางการเมืองในวันที่ 16 กันยายน ระหว่างจอมพล ป., จอมพลสฤษดิ์ และฝ่าย ‘อำนาจเก่า’ ของ ณัฐพล ใจจริง ที่ทำให้เรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขณะที่อีกครึ่งเล่มเป็น ‘ภาคผนวก’ รวมทั้งข้อเขียนของประดาป พิบูลสงคราม ทายาทจอมพล ป., จดหมายบันทึกขณะจอมพล ป.บวชเป็นพระภิกษุที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย และจดหมายตอบกลับระหว่างท่านจอมพลกับครอบครัวระหว่างลี้ภัยที่ญี่ปุ่น

ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามรวบรวมประวัติศาสตร์ช่วงสุดท้ายของ ‘ท่านผู้นำ’ ในฐานะ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง และทำให้ภาพเหตุการณ์ในวันนั้นคมชัด เห็น ‘มิติ’ ที่มากขึ้น

(2)

ข้อเขียนของณัฐพลพูดถึงนาทีสุดท้ายของจอมพล ป.ที่ทำเนียบรัฐบาล บริบทสำคัญของการล้มจอมพล ป.ก็คือ ‘การเลือกตั้งสกปรก’ ในปี 2500 ที่ว่ากันว่า มีการทุจริตกันอย่างชัดแจ้งที่สุด ทั้งการเวียนคนมาลงคะแนน หรือการมีบัตรเลือกตั้งเกินจำนวนไปมาก เพื่อให้จอมพล ป.กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้พรรคเสรีมนังคศิลา ข้อที่น่าสังเกตคือ ไม่ชัดว่าเพราะเหตุใดจอมพล ป.จึงยอมให้มีการทุจริตขนาดนั้น

เรื่องราวเหมือนกับสมัยปัจจุบัน ประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล ทหารที่เคยเป็นมือขวาอย่างจอมพลสฤษดิ์ ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ตัดสินใจยืนอยู่ข้าง ‘ประชาชน’ ที่ประท้วงที่ทำเนียบฯ จอมพล ป.ไม่มีหลังพิง เห็นด้วยกับการให้รัฐบาลลาออกทั้งคณะ แบบเดียวกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สุดท้าย จอมพล ป.พยายามดิ้นสู้เฮือกสุดท้าย ด้วยการเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อ ‘ปลด’ จอมพลสฤษดิ์ แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ไปปรึกษากับจอมพลสฤษดิ์ แทนที่จะมีคำสั่งปลด 

จากนั้น มีความพยายามอีกครั้งของจอมพล ป.ในการที่จะทำรัฐประหารตัวเอง สู้กับจอมพลสฤษดิ์ แต่เมื่อรวบรวมกำลังแล้วพบว่า ‘ไม่รอด’ ช่วงเย็นจอมพล ป.จึงขับรถซีตรองออกจากทำเนียบรัฐบาล ผ่านม็อบผู้ประท้วง ก่อนกลับไปเก็บของที่บ้านย่านซอยชิดลม และขับรถไปทางถนนสุขุมวิท มุ่งหน้าภาคตะวันออก โดยที่คนนั่งในรถด้วยไม่มีใครรู้จุดหมายปลายทาง

ถึงตรงนี้ บันทึกของกำนันโจ๊ดเล่าเรื่องระหว่างบรรทัดเป็นต้นว่า ระหว่างทาง จอมพล ป.ขับรถเอง พร้อมกับสูบบุหรี่ชนิดมวนต่อมวน หรือเมื่อระหว่างทางหลังขับรถลงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง คณะของ จอมพล ป.ก็ขับผ่านด่านที่ตำรวจกำลังตั้งอย่างเฉียดฉิว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ‘ฝน’ ช่วยไว้ ทำให้แผงเหล็กด่านตรวจตั้งไม่ทัน พร้อมกับที่ในวิทยุระหว่างทาง เสียงที่ดังขึ้นคือเพลงปลุกใจ เพลงรักชาติ และประกาศเรียกให้จอมพล ป.รวมถึงพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ไปรายงานตัวกับคณะปฏิวัติ

หลังเติมน้ำมันเต็มถังที่ศรีราชา จอมพล ป.ขับผ่านฐานทัพเรือสัตหีบที่ลูกชายอย่าง พลเรือโท ประสงค์ พิบูลสงคราม รับราชการอยู่ รถซีตรองและผู้ชาย 4 คน ที่เคยอยู่ในศูนย์กลางอำนาจรัฐ ก็ถึงสวนมะพร้าวในจังหวัดตราด พร้อมกับแผนขั้นต่อไปในการหนีและลี้ภัยข้ามแดน

“ขณะที่ยืนรอใต้เงามืด จอมพล ป.ถามถึงช่องทางชายแดนที่จะข้ามไปเขมรทางอำเภอไพลิน ซึ่งถนนยังไปไม่ถึง ชาวบ้านติดต่อกันโดยทางเท้าฝ่าป่าดงดิบและใช้ช้างเท่านั้น แผนแรกจึงต้องระงับ” บันทึกของกำนันระบุ

(3)

หากอ่านประวัติศาสตร์ทั่วไปโดยผิวเผิน จะเล่าเพียงจอมพล ป.ข้ามเรือไปยังเกาะกง และลี้ภัยยังประเทศกัมพูชาต่อไป แต่ฉากสำคัญที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้เล่า คือสภาพท้องทะเลอ่าวไทยที่จังหวัดตราดในเดือนกันยายนซึ่งแทบไม่มีใครออกเรือ แต่คณะของจอมพลจำเป็นต้องออก เพราะหากไม่ออกก็ย่อมโดนคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์จับกุมในที่สุด

เป็นที่มาของภาพปกหนังสือ รูปของเรือประมง ‘ประสิทธิ์มงคล’ ท่ามกลางกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากในคืนเดือนมืด เรือที่เป็นพาหนะลี้ภัยของท่านผู้นำไม่มีเครื่องยนต์ที่มีพละกำลังมากพอในการต่อสู้คลื่นลม เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เครื่องยนต์ดับ คนในเรือต้องช่วยกันวิดน้ำออก ท่ามกลางคลื่นลมแรง ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีกระทั่งเข็มทิศในการพาคณะจอมพลข้ามไปยังกัมพูชาได้โดยง่าย ต้องอาศัยการสังเกตภูเขา สังเกตภูมิประเทศเอาว่า เกาะแก่งไหนอยู่ด้านไหน 

ขณะเดียวกัน เมื่อถึงเวลาต้องติดเครื่องเรือใหม่อีกครั้ง ไม้ขีดไฟตราพญานาคก็ไม่สามารถใช้การได้ ถึงที่สุดเรือประสิทธิ์มงคลอาจถูกคลื่นพัดไปยัง ‘โขดผีสิง’ แนวสันทรายอันเป็นน้ำวนที่พร้อมกลืนกินทุกสิ่ง ทุกคนในเรือย่อมเสียชีวิตเป็นแน่แท้ รวมถึงจอมพลอดีต ‘ท่านผู้นำ’ ด้วย

“ไม้ขีดก้านแล้วก้านเล่าถูกโยนลงกระป๋อง แถบกระดาษทรายสีดำข้างกล่องฉีกขาดตามแรงขีดเพราะความชื้น ทุกคนชะโงกมองตามช่องบานเลื่อนห้องเครื่อง ต่างถอนหายใจเมื่อไม้ขีดขีดไฟไม่ติด

“ความหวังที่จะได้เดินทางต่อช่างเหลือน้อยเหลือเกิน เมื่อหาไฟมาเผาหัวกะโหลกเครื่องไม่ได้อะไรจะเกิดขึ้น ทุกท่านคงมีแผนการชีวิตในใจกันแล้ว แต่ไม่มีใครพูด พันตำรวจเอก ชุมพล โลหะชาละ ตั้งใจว่า จำต้องใช้ปืนพกปลิดชีพตัวเองก่อนที่จะต้องทรมานกับการจมน้ำตายและตกเป็นเหยื่อฉลามที่รุมฉีกเนื้อหนังเราที่เรายังมองเห็นก่อนตาย” กำนันประเสริฐเล่าฉากอันลุ้นระทึก

ถึงที่สุด คณะของจอมพลก็ข้ามไปถึงเกาะกง โดยพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ กษัตริย์กัมพูชา ให้การต้อนรับด้วยเกียรติยศสูงสุด เมื่อคนเรือคนหนึ่งเกิดพบไฟแช็กในกระเป๋า… หากไม่มีไฟแช็กอันนั้น คณะของจอมพลอาจสิ้นชีพอยู่กลางทะเลอ่าวไทยก็เป็นได้

(4) 

จบเรื่องน่าตื่นเต้นกลางทะเลลึก คนที่อ่านประวัติศาสตร์น่าจะชอบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เป็นต้นว่า ความพยายามกลับประเทศของจอมพล ป.ขณะอยู่ที่ญี่ปุ่น เพื่อเป็นทางผ่านก่อนไปบวชที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ทว่ากลับ ‘ไม่ได้รับอนุญาต’ จากจอมพลสฤษดิ์ ผู้ครองอำนาจในเวลานั้น โดยเห็นว่าจะเกิดความวุ่นวาย และเกิดการเชิดจอมพล ป.ขึ้นเป็นนายกฯ อีกรอบโดยกลุ่มทหารผู้ภักดี หรือคำร้องขอจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้ จอมพล ป.และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ย้ายออกไปยังฮาโกเน่ (Hakone) ห่างจากโตเกียวออกมา ในช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ในบันทึก จอมพล ป.เรียกทั้งสองพระองค์ว่า King และ Queen) เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น 

รวมถึงห้วงเวลาระยะสุดท้ายของชีวิต หลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม สิ้นอำนาจในปี 2506 ท่ามกลางเรื่องฉาวโฉ่ ร่ำรวยผิดปกติ หรือถูกหนังสือพิมพ์แฉเรื่อง ‘วิมานรักสีชมพู’ จอมพล ป. ยังมีความสุข สบายดี เลิกบุหรี่ เลิกเหล้า และยังเขียนจดหมายว่า ทราบเรื่องของจอมพลสฤษดิ์ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน ยังมีผู้ค้นพบหลักฐานว่า จอมพล ป.ส่งการ์ดถึงปรีดี พนมยงค์ ผู้ร่วมก่อการคณะราษฎร และกลายเป็นศัตรูทางการเมืองชนิดไม่เผาผีในทศวรรษ 2490 โดยลงท้าย ส.ค.ส.ว่า ‘Please อโหสิกรรม’ ซึ่งอาจทำให้เห็นว่า ช่วงเวลานั้นมีความพยายามของสองผู้ก่อการคณะราษฎร ติดต่อกันเพื่อหาจังหวะกลับประเทศ สู้กับ ‘อำนาจเก่า’ อีกครั้ง

เดือนมิถุนายน 2507 จอมพล ป.เขียนจดหมายถึงลูกๆ ว่า “สรุปรวมแล้ว เวลานี้ ทุกอย่าง ทุกคนในครอบครัวสบายกันดี ขอพระได้โปรดช่วยเสมอไป”

ทว่าหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน วันที่ 11 มิถุนายน 2507 จอมพล ป.ก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 67 ปี คงเหลือแต่ประวัติศาสตร์นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่ง ครองอำนาจยาวนานที่สุด และเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เป็นที่ถกเถียงที่สุด

ตอนจบของหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้บอกว่าจอมพล ป.เป็น ‘พระเอก’ เป็น ‘วีรบุรุษ’ แต่จอมพล ป.ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีช่วงเวลาที่สำเร็จ มีช่วงเวลาที่ผิดพลาด มีช่วงเวลาที่ได้ทบทวนตัวเอง

ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้เป็นสิ่งหยุดนิ่ง หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป คนรุ่นหลังอาจได้ถกเถียงกันด้วยมุมมองที่แตกต่าง ด้วยข้อมูล หลักฐานที่มากขึ้น และด้วยใจที่ปราศจากอคติ ‘เป็นกลาง’ มากขึ้น

เพราะประวัติศาสตร์แห่งช่วงเวลานี้ก็ยังไม่ได้มี ‘จุดจบ’ ที่สมบูรณ์ ยังเป็นการต่อสู้แย่งชิง และหาจุดจบไม่ได้ แบบที่จอมพล ป.เคยว่าไว้เมื่อปี 2483 ว่า ในช่วงชีวิตของเขา กระทั่งช่วงชีวิตของลูกหลาน อาจจะต้องรบกันต่อไป ไม่สิ้นสุด

Fact Box

ก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฝากไว้ที่หาดเล็ก ตราด, บรรณาธิการ ประดาป พิบูลสงคราม, สำนักพิมพ์มติชน, จำนวน 240 หน้า, ราคา 250 บาท

Tags: , , , , ,