“อันที่จริงฉันเบื่อการเขียนมาก เพราะฉันเป็นคนที่เขียนแล้วขี้เกียจลบ มันเมื่อย พอต้องแก้ใหม่ฉันก็ขีดฆ่าเอา รอยฆ่านั้นน่าเกลียด…” ถ้อยคำของ อุ๊-รสมาลิน ตั้งนพกุล ปรากฏอยู่ในหนังสือ รักเอย หน้า 65
ประโยคนี้ชี้ชัดว่า อุ๊ไม่ชอบในงานเขียน แต่ถึงไม่ชอบ เบื่อหน่ายอย่างไร หญิงชราวัยขึ้นเลข 7 นี้ ก็ส่งต้นฉบับให้โรงพิมพ์พิมพ์จำหน่ายไปแล้ว 2 เล่ม เล่มหนึ่งชื่อ รักสามัญ: บันทึกความผูกพันชั้นราษฎร ส่วนอีกเล่มชื่อ รักเอย
แต่ชื่อหนังสือที่เขียนว่า รัก ไม่ได้แปลว่า เนื้อหาจะโรแมนติกจิกหมอนดังนิยาม บางทีผู้เขียนอาจเอา ‘รัก’ มาเป็นคำหลอกให้พึงใจจริงแล้วเรื่องอาจเศร้า หรือรักแท้ในโลกอาจมีหวานบ้าง ข่มบ้าง สูญเสียบ้าง เพราะเป็นเรื่องจริงจากประสบการณ์คน เช่นเดียวกันกับ รักเอย (หนังสือที่อยู่ในมือฉันขณะนี้)
[1]
รักเอยเป็นถ้อยความทรงจำจากอุ๊ ภรรยาของ อำพล ตั้งนพกุล หรือที่หลายคนจดจำว่า ‘อากง’ นักโทษคดีอาญามาตรา 112 จำคุกกว่า 20 ปี และจากโลกนี้ไปก่อนกำหนดพ้นโทษ
สำหรับผู้แต่ง เรื่องราวของบุคคลที่ถูกเขียนไว้ในรักเอย ต่างเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงนักกิจกรรมทางการเมือง และนักการเมือง เพราะสิ่งที่พวกเขาถูกกระทำนั้น ล้วนเป็นกระจกสะท้อนสังคมอันบิดเบี้ยว อำนาจเบื้องสูง การกดขี่ และประชาธิปไตยปลอมเปลือก
รักเอยจึงไม่ใช่หนังสือเพื่อความบันเทิง ไร้เส้นความเป็นนิยายรัก แต่เป็นจารึกความทรงจำจากเหยื่ออยุติธรรม เขียนขึ้นเพื่อเป็นบทเรียน ทำขึ้นเพื่อสะท้อนและป่าวประกาศให้สังคมได้รับรู้ว่า กฎหมายบ้านเมืองรังแกพวกเขาอย่างไร และพวกเขาต้องสูญสิ้นสิ่งใดบ้าง
[2]
“ครอบครัวของฉันเป็นครอบครัวที่ลำบาก มีลูกเยอะ แปดเก้าคน เพราะแม่ไม่ได้คุมกำเนิด ฉันเป็นคนโต ต้องเลี้ยงน้อง เอาน้องเข้าเอว ไปไหนก็พาไป”
เนื้อหาในช่วงต้นของรักเอย คือการทำความรู้จักเบื้องหลังของบุคคลคือ อุ๊ และอากง เพื่อให้ผู้อ่าน (รวมถึงฉัน) เห็นพื้นหลังที่มาของทั้งสอง เริ่มจากครอบครัว อาชีพการงาน ภาระหน้าที่กิจวัตร กระทั่งนิสัยใจคอ
อุ๊เกิดในกรุงเทพฯ ครอบครัวเธอมีฐานะยากจน เธอเป็นพี่คนโตต้องดูแลน้องๆ หลายคนเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว อุ๊เดินหาบเร่ขายขนมกับน้อง ก่อนจะไปทำงานในโรงไม้ ส่วนอากงเป็นลูกหลานชาวจีนโยกย้ายมาทำงานในโรงไม้ จังหวัดชลบุรี
อุ๊และอากงทำงานแหล่งเดียวกัน อุ๊เป็นพนักงานนับไม้ ด้านอากงเป็นพนักงานในโรงไม้แห่งนี้อยู่ก่อนแล้ว จึงพานพบกันบ่อยได้เริ่มสนิท และดูแลกันอย่างคู่รักกระทั่งวิวาห์ ซึ่งอุ๊เล่าตรงจุดนี้ว่า อากงแต่งงานเพราะไม่อยากทนเห็นคนรักลำบาก
อย่างไรก็ดี รักของอุ๊และอากงมิได้หวานชื่นเสมอ มีหัก มีงอ ทะเลาะกันบ้างตามประสา บ้างเขียนกระจกด่ากันดูน่ารัก แต่ทั้งสองก็ยังรักกันดีกระทั่งคนใดคนหนึ่งต้องจากโลกไป
“ครอบครัวฉันมีทุกรูปแบบ แต่ว่าก็ยังเป็นคนสุจริตเท่านั้นเอง มันไม่แปลกหรอก เราไม่ใช่คนรวยที่จะต้องมีอะไรสมบูรณ์แบบหมด เรามีหนี้สิน มีความลำบาก สุขสบาย ควบคู่กันไปหมด” (หน้า 28)
[3]
ส่วนสำคัญที่รักเอยต้องการนำเสนอคือ การตอบคำถามว่า เหตุใดตระกูล ‘ตั้งนพกุล’ อันสงบสุขจึงได้ไปพันเกี่ยวการเมืองจนต้องติดคุกติดตะราง
หนังสือพาย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว เสียงเคาะประตูดังขึ้นช่วงเช้ามืดวันที่ 3 สิงหาคม 2553 อุ๊เป็นคนเปิดประตู ภาพที่เธอเห็นคือ กลุ่มเจ้าหน้าที่กับผู้สื่อข่าวยืนรออยู่แล้วบริเวณหน้าบ้าน ในแบบที่ไม่เคยมีครั้งใดที่คนมาเยือนบ้านเธอมากเท่าครั้งนี้
“ตั้งแต่เกิดมาฉันไม่เคยเห็นใครมาที่บ้านเยอะอย่างนั้น มีทั้งนายตำรวจและพวกผู้สื่อข่าว”
ตำรวจรุกเข้าห้องเช่า ค้นทุกซอกมุมกระจัดกระจาย ตู้ใดปิดล็อกต้องหากุญแจเปิด หากเปิดไม่ได้ให้งัด เวลานี้อากงที่เพิ่งตื่นนอนขึ้นสวมเสื้อผ้า ดันถูกเจ้าหน้าที่ดึงตัวไปใส่กุญแจมือท่ามกลางความอลหม่าน อุ๊ได้แต่นิ่งเฉยเคล้าเสียงร้องไห้เสียขวัญของหลานสาว
อุ๊เขียนเล่าในหนังสือรักเอย เป็นช่วงก่อนวันตำรวจบุกเข้าค้นหอพัก อุ๊พบกับบุคคลภายนอกทำทีขอเดินสำรวจห้องเช่า อ้างว่าจะเช่าไว้ให้พนักงานเก็บขยะอาศัย ก่อนเจ้าตัวจะเอ่ยว่า ห้องของอุ๊ไม่เหมือนห้องพักห้องอื่นๆ จึงขออุ๊เข้าไปบันทึกภาพภายในห้อง แต่ภาพที่ถ่ายกลับเป็นภาพของหลานๆ และภาพของอากง
“เขาบอกฉันว่า ห้องที่เขาจะเช่าไม่เหมือนกับห้องของฉัน เลยขอถ่ายรูปไปเปรียบเทียบกันด้วย แล้วเขาก็ถ่ายรูปห้องเช่าฉัน ถ่ายรูปหลานๆ แล้วก็ยังถ่ายรูปอาปอไปด้วย
“จนวันที่พวกเขามาจับอาปอ ฉันถึงได้รู้ว่าผู้ชายคนนั้นเป็นนายตำรวจยศร้อยเอก”
น่าฉงนว่า เหตุใดตำรวจยศร้อยตำรวจเอกจึงต้องปลอมตัวทำทีมาเช่าห้องกับอุ๊ และการบันทึกภาพสมาชิกภายในครอบครัวของอุ๊ในวันนั้น ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ย้อนกลับมาในวันบุกค้น มีคำถาม (หรือคำข่มขู่) จากตำรวจฝากทิ้งไว้ “รู้ไหม แฟนป้าไปทำอะไรผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ถ้าทำจริง ครอบครัวป้าไม่รอดแน่ ลูกหลานป้าลำบากแน่”
น่าสนใจคำว่า ‘ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง’ ที่เหล่าตำรวจชั้นผู้น้อยเอ่ยถึงเป็นใครจากไหน เหตุใดจึงมีอำนาจบาตรใหญ่ขั้นสั่งค้นที่หลับนอนชาวบ้าน ขั้นจับตัวพลเรือนเข้าเรือนจำขณะยังบริสุทธิ์ได้ขนาดนั้นเชียวหรือ
อันที่จริง ต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้ มาจากข้อความสั้น 4 ข้อความ จากมือถือของอากง ที่ส่งไปหาเลขานุการส่วนตัวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น
คดีของอากงมีความผิดปกติหลายประการ… เขายืนยันว่า เขาส่ง SMS ไม่เป็น แม้เบอร์โทรศัพท์จะเคยเป็นของตัวเอง แต่ก็เลิกใช้มานานแล้ว อากงไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่มีหลักฐานปรากฏว่า เป็นคนเสื้อแดง ขณะเดียวกัน ยังเคยไปลงชื่อถวายพระพรในหลวงรัชกาลที่ 9 และเคยไปร่วมเคารพพระบรมศพ สมเด็จพระพี่นางฯ ที่ท้องสนามหลวงอีกด้วย
แต่บริบททางการเมืองขณะนั้นคือการต่อสู้ระหว่างเหลือง-แดง โดยกลุ่มคนเสื้อแดงถูกระบุว่าเป็นฝ่าย ‘ล้มเจ้า’
[4]
หลังตำรวจบุกค้นห้องพักและจับตัวอากงไป ไม่กี่เดือนถัดมาอากงจึงได้รับการประกันตัว ทว่าหายใจยังไม่ทันทั่วท้อง วันที่ 18 มกราคม 2554 ศาลเรียกอากงกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง ครั้งนี้ตัดสิทธิ์ประกันตัว กระทั่งศาลวินิจฉัยให้อากงจำคุก 20 ปี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554
“ฉันเหมือนคนเสียสติไปเลย กลับบ้านมาเจียวไข่ให้หลานกินยังมัวคิดจนน้ำมันท่วม ต้องรีบยกระทะลง ลืมไปหมดว่าต้องใช้ผ้าขี้ริ้วจับ มือพองเป็นแผลตั้งเยอะ
“ความรู้สึกตอนนั้นมันทั้งคับแค้น ทั้งรู้สึกเคว้งคว้างไปหมด ฉันเลยเขียนถึงความทรงจำนี้ จะไม่มีวันลืมความรู้สึกนั้น” (หน้า 63)
สิ้นประกาศคำวินิจฉัย แกนเสาหลักครอบครัวกลายเป็นอุ๊แต่เพียงผู้เดียว ชีวิตของเธอนับจากนี้ยามไร้สามีเสริมแรงนั้นช่างโดดเดี่ยว ภาระของหญิงชราผู้นี้จะหนักขึ้นเป็นกอง ลองนึกดูว่าหลานตัวน้อย 2 คนกับผู้หญิงเพียงคนเดียวจะเป็นอย่างไร เหน็ดเหนื่อยขนาดไหนไม่ทราบได้ ยังไม่ได้คิดปัจจัยรายได้-รายจ่าย หลังสูญเสียคนหาเลี้ยงครอบครัวไป ต้องจำใจยอมรับว่าส่วนใดที่สามีเคยให้ เธอต้องหาทดแทนให้พอใช้ชีวิตในแต่ละวัน
“ฉันเข้าใจว่า บางครั้งชีวิตของเรามันก็ต้องมีคลื่นแรง บางครั้งก็นิ่งสนิท ไม่มีความพอดี แต่นี่มันเกินเลยถึงขนาดนี้ ฉันรับไม่ได้ ครอบครัวฉันเป็นครอบครัวที่ธรรมดามากๆ ไม่รู้ว่ามาเกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมีเหตุในเรื่องแบบนี้” (หน้า 59)
[5]
นี่คือเรื่องราวชีวิต มีคนเป็นผู้สูญสิ้น มีคนเป็นผู้สูญเสีย และมีคนเจ็บปวด
เพราะรักเอยเขียนขึ้นจากความทรงจำของหญิงผู้สูญเสีย เราจึงรับรู้เสมอว่าเนื้อหาท้ายเล่ม บทสรุปเป็นเช่นไร
อุ๊ คือน้ำหล่อเลี้ยงความหวังสามี สู้ให้ได้รับสิทธิการประกันตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไปความหวังก็มอดลงทุกที ทางเลือกสุดท้ายคือ การขอพระราชทานอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์ แม้นผู้เป็นภรรยาเชื่อสุดใจว่า สามีที่รักไม่ได้ทำสิ่งใดผิด
ท้ายที่สุด ไม่ว่าตัวเลือกใด ต่างไม่ทันปัญหาพลานามัยของอากง
“อาปอเริ่มบ่นกับฉัน ตอนแรกเขารู้สึกหน่วงๆ ในท้อง สงสัยอั๊วะแกว่งแขนออกกำลังกายมาก”
สุขภาพอากงย่ำแย่ อาการปวดท้องโหมหนักกว่าเก่า เดิมเดินโลดโผน ลุกนั่งเองไม่ต้องพึ่งมือใครพยุง บัดนี้ทำเช่นนั้นไม่ได้ ผู้ต้องขังร่วมแดนเดียวกันเป็นธุระช่วยประคองร่างไปตามแต่ละแห่ง บริการป้อนข้าวป้อนน้ำ เมื่ออาการปวดท้องทวีความรุนแรง เพื่อนร่วมแดนจึงประสานขอนำตัวอากงออกตรวจโรงพยาบาลราชทัณฑ์หวังได้รับการรักษา แต่ไร้ผล สิ่งที่หวังและสิ่งที่ได้รับจริงช่างแตกต่าง ออกตรวจมากสุดกลับมาแค่ยาแก้อืด แก้เฟ้อ ถัดจากนี้พาราเซตามอล
“วันศุกร์ที่ 4 พฤษภา ฉันไปเยี่ยมอีก รู้สึกจะตีเยี่ยมได้รอบแปด มีคนบอกว่าอากงไปโรงพยาบาล ฉันก็รีบวิ่งไปโรงพยาบาลในเรือนจำ ไปถึงเขาบอกว่าอาปอไปแล้ว นั่นน่ะรถ ออกไปแล้ว” (หน้า 71)
“แต่มันเป็นช่วงวันหยุดยาวพอดี คือเสาร์อาทิตย์ แล้ววันจันทร์เป็นวันหยุดชดเชยวันฉัตรมงคล เท่ากับหยุดสามวัน กว่าจะได้เยี่ยมอีกครั้งก็เป็นวันอังคาร ฉันมารู้ภายหลังว่าเขาเอาอากงไปทิ้งไว้ที่นั่นสามวันโดยไม่มีการรักษา ปกติหมอก็มาแค่วันอังคารกับพฤหัสอยู่แล้ว แล้วอย่างนี้เขาจะอยู่ได้ไหม” (หน้า 72)
วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เจ้าหน้าที่รายงานว่า อากง-อำพล ตั้งนพกุล เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย ณ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เสียชีวิตข้ามวันครบรอบงานวิวาห์มาเพียง 3 วัน
อุ๊จำได้ดีว่า วันใดคือวันครบรอบวิวาห์รัก เธอเตรียมกลอนบทหนึ่งไว้ท่องแด่สามีคนที่เธอรัก แต่ตอนนี้โอกาสนั้นสูญสลาย
“ความรู้สึกของฉันหลังจากไม่มีอาปอแล้ว แน่นอนว่ามันแย่มาก เราอยู่กันมาสี่สิบสี่ปี ฉันกับเขา เหมือนกับเราโตมาพร้อมกัน เป็นทั้งที่ปรึกษา ทั้งที่ดูแล แล้วก็เป็นคู่ทะเลาะ พอเขามาจากไปกะทันหัน มันเหมือนฉันขาดหายอะไรไป เหมือนอะไรที่มันอยู่เป็นคู่อยู่ แล้วมันหายไปข้างหนึ่ง มันก็ไม่มีความพอดีเลย” (หน้า 76)
ผู้พบและรับรู้เรื่องราวของอากงต่างรู้ว่า ชีวิตหนึ่งอันตรธานท่ามกลางความอยุติธรรม ทุกเรื่องราวที่อุ๊จำและจดลงในหนังสือรักเอยคงเป็นไปเพื่อให้บทเรียน ชีวิตบริสุทธิ์หนึ่งดวงหลุดหาย รักเอย คงขออย่าให้มีชีวิตดวงที่สองจากไปในเส้นเรื่องแบบเดียวกัน จะได้ไม่มีใครเขียนหนังสือเล่มหนาทั้งที่เบื่องานเขียนเช่นอุ๊อีก
“ถ้าการตายของเขามันเหมือนจะทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นมาใหม่ ที่ดีกว่าเก่า ที่ดีกว่ากับอากง ฉันก็อยากเรียกร้องให้แก่คนที่ยังอยู่ในเรือนจำ ให้มันเกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมไทย ในสังคมของผู้ที่อยู่ในเรือนจำ ทุกคดีให้มองผู้ต้องหาว่ายังเป็นคนอยู่” (หน้า 79)
Fact Box
- รักเอยเป็นหนังสือจากความทรงจำจากภรรยาของอำพล ตั้งนพกุล ผู้ต้องโทษกฎหมายอาญามาตรา 112
- ด้านในเล่มมีภาพบรรยากาศงานแต่งงานของรสมาลิน และอำพล ตั้งนพกุล
- หนังสือเล่มนี้แจกให้ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจของอำพล ตั้งนพกุล เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2555