ก่อนหน้าจะตัดสินใจหยิบหนังสือ หิมาลัยต้องกลับมาไปฟัง มาอ่านและเขียนรีวิว ต้องเท้าความกลับไปเมื่อช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ตัวผู้เขียนเองประสบปัญหาสุขภาพจนต้องเทียวไปเทียวระหว่างบ้านกับโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ภาพที่ปรากฏในการไปแต่ละครั้งคือผู้ป่วยที่ต่อคิวแออัด พยาบาลต่างกุลีกุจอเดินเอกสารส่งตัวด้วยสีหน้าเหน็ดเหนื่อย แพทย์หญิงชายผลัดเวรกันเข้ามาตรวจคนไข้ แม้จะเห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ยังให้คำปรึกษากับผู้ป่วยได้อย่างแข็งขัน แต่เบื้องหลังรอยยิ้มกลับสัมผัสได้ถึงความเหนื่อยล้า
เรื่องที่เกริ่นมาพอดิบพอดีกับการได้อ่าน หิมาลัยต้องกลับไปฟัง เพราะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มีวิชาชีพเป็นแพทย์ ‘คัมภีร์ สรวมศิริ’ คือแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ผู้ทำงานแบบฟรีแลนซ์ และเคยฝากผลงานไว้กับหนังสือ หิมาลัยต้องใช้หูฟัง เมื่อปี พ.ศ. 2556 แต่ 5 ปีถัดมา เขาตัดสินใจเขียนบันทึกเรื่องราวการลัดฟ้ากลับไปเป็นแพทย์ในค่ายอาสาสมัคร ณ เทือกเขาหิมาลัยอีกครั้ง เป็นเวลาเกือบครึ่งเดือน
จุดเชื่อมโยงคือคัมภีร์ในวัยแตะเลข 30 กำลังประสบปัญหาภาวะหมดไฟกับอาชีพที่ทำอยู่ การออกเดินทางสู่ยอดเขาความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,000 เมตร จึงเป็นการหลีกหนีความจำเจเพื่อทบทวนชีวิตตัวเองอีกครั้ง
1
“หิมาลัยกำลังเรียกร้องให้ผมกลับไปอีกครั้ง”
หากการเดินทางไปยัง ‘หิมาลัย’ เมื่อปี 2556 ถือเป็นการเปิดหูเปิดตาครั้งใหม่ กับประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยที่ไม่ใช่แค่ในวอร์ดโรงพยาบาลใหญ่โต เพื่อเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิต ซึ่งบอกเล่าไว้ในหนังสือ หิมาลัยต้องใช้หูฟัง ดูเหมือนว่าทริปครั้งนั้นของคัมภีร์จะจบลงด้วยปณิธานแรงกล้า หากแต่ 5 ปีต่อมา คัมภีร์กลับต้องเผชิญกับ ‘สภาวะหมดไฟ’ แบบไม่มีสาเหตุ
อาชีพแพทย์พยาบาล แม้จะเป็นในสถานะฟรีแลนซ์ แต่ก็ไม่อาจหลีกหนีพ้นความจำเจ ต้องตื่นแต่เช้าออกประจำหน้าที่ตรวจคนไข้ถึงบ่าย ความท้าทายมาจากการโดนคนไข้โต้เถียงมากกว่าการลงมือรักษาเคสยากๆ หรือนั่งรถพยาบาลเพื่อพยุงชีพผู้ป่วย
กระทั่งโครงการ ‘HHE’ (Himalayan Health Exchange) กลับมาเปิดรับสมัครแพทย์อาสาอีกครั้ง นายแพทย์หนุ่มจึงไม่รอช้า แพ็กกระเป๋า สะพายกล้อง เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือแพทย์ และบินลัดฟ้าไปตามหา ‘ความหมายของชีวิต’ อีกครั้ง
2
“เมื่อไรที่รู้สึกชีวิตไม่มีค่า จงออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์”
จากสนามบินอินทิรา คานธี ประเทศอินเดีย สู่เทือกเขาหิมาลัยความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,000 เมตร ตึกรามบ้านช่อง ความเจริญค่อยๆ หดหายไป แม้มีสัญญาณโทรศัพท์เข้าถึงบ้าง แต่ความสงบบนยอดเขาหิมาลัยก็ทำให้แพทย์หนุ่มสัมผัสถึงความคิดตัวเองได้มากกว่าเดิม
การกลับมาโครงการค่าย HHE ของคัมภีร์ครั้งนี้ ผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงการเติบโตของเขาที่มากขึ้น ไม่ใช่แค่อายุ แต่ยังหมายถึงตำแหน่งหน้าที่จากหนึ่งในทีมแพทย์เมื่อ 5 ปีก่อน ขยับขึ้นสู่การเป็นหนึ่งในหัวหน้าทีมแพทย์ประจำค่าย ‘Outer Himalayas’ ที่ต้องดูแลแพทย์นักศึกษาอีก 20 ชีวิต ที่มาแวะเวียนขอคำปรึกษาระหว่างออกเดินทางเปิดคลินิกตรวจผู้ป่วยตามหมู่บ้านชนบทเกือบ 15 แห่งบนเทือกเขาหิมาลัย
แน่นอนว่าการอยู่ร่วมกับคนหมู่มากและมีสถานะเป็นถึงระดับหัวหน้า ย่อมมีเหตุการณ์ให้รับผิดชอบ แก้ไข และอีกสารพัดตามมา ดีร้ายปะปนกันไป ซึ่งแต่ละเรื่องราวล้วนสอดแทรกสาระทั้งเชิงการแพทย์และข้อคิดจากสิ่งที่คัมภีร์ได้พบในแต่ละวัน
3
ความพิเศษของหนังสือ หิมาลัยต้องกลับไปฟัง นอกจากเรื่องราวแง่คิดที่ได้ หนังสือจำนวน 266 หน้านี้ ยังอ่านเพลินด้วยสไตล์การเขียนของ ‘คัมภีร์ สรวมศิริ’ ภาษาที่ใช้ราวกับเพื่อนผู้ออกไปท่องเที่ยวโลกกว้างและกลับมานั่งเล่าให้เราฟังเป็นฉากๆ พร้อมอวดรูปถ่ายที่เก็บมาตลอดการเดินทาง นอกจากนั้น ผู้อ่านจะได้รับรู้ถึงมุมมองของผู้ที่มีอาชีพเป็นบุคลากรทางการแพทย์ อาชีพที่ต้องแบกรับความเป็นความตายของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันว่า แท้จริงแล้วพวกเขาก็ไม่ต่างจากมนุษย์และผู้ทำอาชีพอื่น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตการทำงานได้
คนที่กำลังเบื่อหน่าย ฟุ้งซ่าน รู้สึกตีบตันกับสิ่งที่เจอ และมองหาความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ลองหาหนังสือ หิมาลัยต้องกลับไปฟัง มานั่งอ่าน และเมื่ออ่านจบลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรามี ‘ชีวิต’ เพื่ออะไร ทุกความสัมพันธ์ที่ผ่านมาและผ่านไปมีค่ามากกับตัวเองขนาดไหน และสุดท้ายเรากำลังมองหา ‘ความสำเร็จ’ แบบไหนในชีวิต ก่อนจะเริ่มจากการลงมือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่กำลัเผชิญอยู่ เพื่อไขว่คว้าสิ่งที่หล่นหายไปอีกครั้ง
Fact Box
หิมาลัยต้องกลับไปฟัง, ผู้เขียน คัมภีร์ สรวมศิริ, สำนักพิมพ์แซลมอน, จำนวนหน้า 266 หน้า, ราคา 385 บาท