ในยามที่สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เราจะหาพื้นที่เล็กๆ หลบภัย เพื่อให้หัวใจได้พักจากเรื่องราวสับสนวุ่นวายได้อย่างไร

ความคิดนี้เกิดขึ้นในยามที่ไถฟีดของเฟซบุ๊ก เห็นข่าวสารมากมายจากเพจต่างๆ ถูกแชร์กันไม่เว้นชั่วโมง โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับการบ้านการเมือง หลายข่าวอ่านแล้วก็น่าท้อใจ ยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกสิ้นหวังลงเรื่อยๆ บางครั้งอยากจะตั้งสเตตัสก็กังวลเรื่องข้อกฎหมาย จึงต้องเปลี่ยนมาคอยกดไลก์หรือแชร์สเตตัสของเพื่อนที่ใจกล้าทำหน้าที่เป็นเครื่องด่าแทน เป็นเช่นนี้ตลอดทั้งวัน จนปิดเปลือกตาลงนอน บางทีสมองก็ยังไม่หยุดครุ่นคิด ก่อนจะลืมตาขึ้นมาในเช้าวันใหม่ เพื่อพบว่ามันยังเป็นโลกที่วุ่นวายใบเดิมเช่นเมื่อวาน

 

ในยามที่สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เราจะหาพื้นที่เล็กๆ หลบภัย เพื่อให้หัวใจได้พักจากเรื่องราวสับสนวุ่นวายได้อย่างไร

พลันนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเคยอ่านเมื่อนานมาแล้ว ชื่อ ขลุ่ยไม้ไผ่ ในคราวแรกที่ยังไม่เคยอ่าน เข้าใจว่าคงเป็นหนังสือเชิงปรัชญาที่แปลจากต้นฉบับญี่ปุ่น แต่กลับไม่ใช่ เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนโดย พจนา จันทรสันติ นักเขียน กวี นักแปล ผู้อยู่บนเส้นทางของโลกหนังสือมายาวนาน และมีผลงานนับร้อยเล่ม

จะว่าไม่เกี่ยวกับญี่ปุ่นเลยอาจไม่ถูกนัก เพราะหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยบทกวี 50 บท ซึ่งได้รับอิทธิพลสืบทอดมาจากบทกวีไฮกุของญี่ปุ่น ปรัชญาเต๋าและเซน ตลอดจนประสบการณ์ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนมนุษย์ เรียนรู้สุขทุกข์ ความดีความเลว และการพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

จำได้ว่า ไฮกุ สั้นๆ สามบรรทัดที่สื่อออกมาอย่างซื่อตรงและเรียบง่าย กลับสั่นสะเทือนความรู้สึกข้างในลึกๆ ทำให้ได้ครุ่นคิดถึงบางสิ่งที่หลงหายไปในความรวดเร็วของจังหวะโลกปัจจุบัน ดึงจิตใจที่ลอยเหม่อห่างไกลออกจากตัวให้กลับคืนสติ สดับฟังสรรพเสียงรอบข้างที่เป็นของจริง และทำให้รู้สึกถึงความสงบประหลาดที่แผ่ซ่านในใจ

เหมือนช่วงเวลาที่การบรรเลงออร์เคสตราวงใหญ่ในโรงละครจบลง ทิ้งไว้เพียงเสียงสะท้อนอันเงียบงันภายในใจที่ยังดังก้องไม่เลือนหาย

อย่างที่กล่าวว่าหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยบทกวี 50 บทที่ได้รับอิทธิพลจากไฮกุ ที่แม้จะตีพิมพ์มานานกว่า 40 ปีแล้ว (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2524) แต่หลายบทเมื่อได้อ่านแล้ว รู้สึกได้ว่ายังคงเชื่อมโยงกับชีวิต ความรู้สึก หรือสถานการณ์สังคมในปัจจุบันไม่ต่างจากเมื่อสี่สิบปีก่อน ราวกับว่ามนุษย์และสังคม ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ก็เผชิญความสุข ความทุกข์ หรือความงามที่มีท่วงทำนองคล้ายกัน ต่างกันเพียงแค่รูปแบบเท่านั้น

และการหยุดพักเพื่อแสวงหาความสงบเล็กๆ ในแต่ละนาที แต่ละชั่วโมง แต่ละวัน ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้ที่โลกอาจทำให้ใจเราขุ่นมัวได้ง่ายๆ

 

แม่หินที่แข็งกระด้าง

ให้กำเนิดแก่

ชีวิตใหม่

        

บทกวีในหน้า 54 พูดถึงสิ่งที่ทั้งแข็งกระด้างและปราศจากชีวิตอย่างก้อนหินกลับให้กำเนิดแก่สิ่งมีชีวิต ซึ่งหมายถึงต้นไม้สีเขียวเล็กๆ ที่ขึ้นเกาะติดอยู่

“แม้แต่ก้อนหินยังมีความอบอุ่นอ่อนโยน นับประสาอะไรกับหัวใจมนุษย์ จะมิยิ่งอบอุ่นอ่อนโยนมากกว่าก้อนหินสักเพียงใด แม้จะแลดูเหมือนว่าผู้คนในโลกนี้โหดร้าย แต่ถ้าเรายังมีศรัทธาและความหวัง เชื่อแน่ว่าเราจะสามารถขุดค้นจนพบสิ่งงดงามมีคุณค่าซึ่งฝังลึกซ่อนเร้นอยู่ในใจของพวกเขา และสักวันหนึ่งหรอกที่หัวใจแข็งกระด้างเย็นชาของมนุษย์จะให้กำเนิดแก่ชีวิตใหม่”

เมื่ออ่านกวีบทนี้แล้ว พลันนึกถึงสถานการณ์สังคมปัจจุบัน หลายครั้งที่เรามีความคิดเห็น ความเชื่อ ที่แตกต่างกัน ทั้งกับผู้คนซึ่งเราทั้งรู้จักและไม่รู้จัก และไม่ยอมอ่อนข้อต่อคำอธิบายใดๆ บางคนมีตรรกะที่ทำให้ต้องส่ายหน้า สิ่งเหล่านี้เห็นได้ทั่วไปในโลกโซเชียล หรือแม้กระทั่งคนรอบตัว ไม่ต่างกับวัตถุแข็งกระด้างเช่นก้อนหิน

แต่ในบทกวี ก้อนหินยังให้กำเนิดสิ่งอ่อนโยนอย่างต้นไม้หรือตะไคร่น้ำสีเขียวได้ เปรียบเหมือนสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์ซึ่งแข็งกระด้างเพียงหัวใจ ในวันหนึ่งกำแพงที่ปกคลุมอยู่ก็อาจพังทลายลงได้ไม่ต่างกัน หากเรายังเชื่อมั่นว่าเขายังมีจิตใจความเป็นมนุษย์ที่อ่อนโยนหลงเหลืออยู่ ถึงแม้มันจะยากและต้องใช้เวลานานก็ตามที

“ในวันนี้ ก้อนหินได้ให้กำเนิดแก่พืชพรรณไม้ ก้อนหินก้อนนี้ได้ให้กำเนิดแก่พืชพรรณ ก้อนหินก้อนนี้ในอนาคตสักวันหนึ่งจะป่นสลายกลายเป็นดิน มันจะกลายเป็นพืชพรรณไม้ เป็นดอกเป็นผล มันจะกลายเป็นสัตว์ จะกลายเป็นมนุษย์ และเป็นจิตวิญญาณอันล้ำลึก”

เพราะเมื่อวันหนึ่งที่หัวใจถูกเปิดออก สิ่งต่างๆ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

คนเร่ขายของที่น่าสงสาร

ลุงแก่เกินไป

ที่จะแบกรับภาระนี้

 

บทกวีในหน้า 122 บรรยายถึงลักษณะคนขายของชราที่ร่างกายทรุดโทรม ผมบาง บนไหล่หาบของหนักอึ้ง เดินเร่ขายตามท้องถนน เป็นภาพขัดตาที่เห็นคนแก่ชราต้องมาแบกรับภาระที่หนักเช่นนี้ หากแต่ความฝืดเคืองผลักให้คนในสังคม กระทั่งผู้ชราภาพใกล้ตาย ต้องดิ้นรนหากิน ทำงานหนักที่ไร้หลักประกันแห่งชีวิต

ไม่ต้องพูดถึงการทำงานเพื่อความสร้างสรรค์หรือความพึงพอใจ แค่ทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพไปให้ผ่านพ้นแต่ละวันไปได้ก็แทบหมดแรงแล้ว และสังคมเช่นนี้กำลังพาผู้คนเดินไปสู่ความไร้หวัง

อ่านบทนี้แล้วนึกสะท้อนถึงสังคมในทุกยุคสมัย ที่ต้องเห็นภาพน่าเวทนาดังคนชราที่ต้องแบกของหนักเดินเร่ขาย ไร้ความหวัง ไร้สวัสดิภาพ ขาดหลักประกันแห่งชีวิตอยู่เสมอ ยิ่งโดยเฉพาะในยุคสมัยแห่งโรคระบาด และการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐ ภาพคนนอนรอการรักษาและนอนเสียชีวิตริมทาง ถูกแชร์บ่อยครั้ง คนจนเมืองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น พลางนึกว่าสังคมมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

แต่หากมันคือโจทย์ของทุกยุคสมัย ก็ย่อมต้องมีคนที่หวังว่าจะได้เห็นสังคมที่ดีงามกว่านี้ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเช่นกัน เพื่อจะได้เห็นสังคมที่เท่าเทียม แบ่งปัน ไม่เอารัดเอาเปรียบ และเป็นธรรม แต่มันคงจะดียิ่งกว่า หากคนที่ลุกขึ้นมาลงมือเปลี่ยนแปลงนั้นคือตัวเรา ที่แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม

 

ตื่นขึ้นมาในเช้าวันนี้

ฉันรู้สึกได้ว่า

ฤดูหนาวได้มาถึงแล้ว

 

บทกวีในหน้า 126 บอกกับเราว่า ฤดูกาลเวียนกลับมาเสมอทุกปี ไม่ว่าจะรอคอยมันหรือไม่ก็ตาม เหมือนความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ความสุข ความทุกข์ เสียงหัวเราะ น้ำตา ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหนึ่งชีวิต สิ่งที่เราทำได้คือยอมรับและต้อนรับมัน เพื่อเรียนรู้ถึงเจตจำนงแห่งชีวิต

“เมื่อเราได้ตระหนักซึ้งถึงความเปลี่ยนแปลงประการนี้ ความอึดอัดกลัดกลุ้มย่อมบรรเทาลง และจิตใจจะกลับสงบงัน”

ผู้คนย่อมแตกต่างกัน ไม่ว่ากี่ยุคสมัย เราเองเป็นหนึ่งชีวิตที่อยู่ในวงล้อเหล่านี้ แต่ละวันเราถูกรายล้อมด้วยมนุษย์ที่มีความคิด ความเชื่อ ความฝัน และเหตุผลแตกต่างกันไป เป็นเพราะประสบการณ์ การเติบโต การเรียนรู้ ความผิดหวัง สมหวัง อันหมายรวมถึงต้นทุนชีวิตของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน และขึ้นชื่อว่ามนุษย์ เราย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเสมอตั้งแต่เกิดจนสิ้นอายุขัย

เมื่อได้อ่าน ขลุ่ยไม้ไผ่ ในช่วงเวลานี้ จึงได้ข้อสรุปว่า เราหลงอยู่ในอลหม่านของยุคสมัยจนอาจเกินพอดี หากเราลองถอยออกมาเพียงสักหนึ่งก้าว เราจะมีเวลาพิจารณาภาพพายุแห่งความดราม่าเหล่านั้นชัดขึ้น เห็นโครงสร้าง เห็นความรุนแรง เห็นผู้คนที่ยังหลงอยู่ในหลุมอากาศอันตราย และสายตาเราจะเปลี่ยนไป

เมื่อถอยออกมาเพียงก้าว เราจึงได้เข้าใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้าชัดขึ้น

เหมือนที่บทนำในหน้าที่ 9 ของ ขลุ่ยไม้ไผ่ สรุปให้เราฟังอย่างเข้าใจง่าย

“ในสายสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของครอบครัวใหญ่นี้ เรามิใช่เป็นเพียงชีวิตเดียวที่มีอยู่ในโลก หากยังมีพี่น้องของเราดำรงอยู่ร่วมด้วย”

Fact Box

ขลุ่ยไม้ไผ่ เป็นหนังสือของ พจนา จันทรสันติ นักเขียน กวี นักแปล ผู้โชกโชนบนเส้นทางของโลกหนังสือ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2524 โดยได้แรงบันดาลใจจากบทกวีไฮกุของญี่ปุ่น

Tags: , , ,