1.
จนถึงตอนนี้ ถ้าย้อนกลับไปมองตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นจุดหักเหครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เราเริ่มต้นปีด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 การยุบพรรคอนาคตใหม่ การชุมนุม ‘แฟลชม็อบ’ ของนิสิตนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ ถูกเบรกด้วยการ ‘ล็อกดาวน์’ ครั้งใหญ่ และการกลับมาอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางปีถึงปลายปี ด้วยประเด็นที่แหลมคมกว่าเดิมอย่างการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นครั้งแรกๆ ที่การชุมนุมทางการเมือง ลามไปถึงโรงเรียนมัธยม โรงเรียนประถม ด้วยประเด็นที่ลงลึกไปถึงระดับปลีกย่อย อย่างการต่อต้าน ‘อำนาจนิยม’ ในโรงเรียน ยาวไปถึงการแต่งกายและทรงผม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตั้งคำถามกับอำนาจที่เหนือกว่า และการปฏิเสธอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ได้กลายเป็นกระแสที่หยุดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
จนถึงวันนี้ แม้รัฐบาลชุดเดิมยังอยู่ รัฐธรรมนูญฉบับเดิมยังไม่เปลี่ยน และยังไม่มีสัญญาณของการปฏิรูปสถาบันฯ แต่วันนี้ไม่ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในอีกหนึ่งปีถัดมาจะสาหัสเพียงใด ก็ไม่อาจลบล้างผลพวงของการชุมนุมเรียกร้องตลอดปี 2563 ที่ผ่านมาได้อีกแล้ว
สงครามเย็น (ใน) ระหว่าง โบว์ขาว เป็นหนังสือซึ่งสรุปความจากงานวิจัยของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล พาย้อนกลับไปมอง ‘ฐานคิด’ ของคนรุ่นโบว์ขาว กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญของการชุมนุมตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา ผ่านการลงพื้นที่พูดคุย เก็บข้อมูลภาคสนาม จากการชุมนุมหลายสิบครั้งว่า พวกเขาคิดอะไร พวกเขาโตมาในสังคมแบบไหน แล้วอะไรคือปฏิกิริยาเร่งเร้า ทำให้คนเจเนอเรชันนี้ คนที่เกิดตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา พร้อมใจกันออกมาชุมนุมรวมตัวกัน เพื่อหวังความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ชนิด ‘พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน’ และไม่เคยมีการชุมนุมครั้งไหนที่พาเราไปถึงจุดนั้นมาก่อนได้เลย
2.
ก่อนอื่น สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ จะด้วยตั้งใจหรือไม่ ประเทศไทยอยู่ภายใต้ ‘ระบอบประยุทธ์’ มานานกว่า 7 ปีแล้ว ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า คนรุ่นโบว์ขาวบางคนใช้ชีวิตช่วงการเรียนมัธยมฯ ตั้งแต่ ม.1-6 กระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบการปกครองที่เป็น ‘เผด็จการ’ เต็มขั้ว ไม่เคยจำความได้ในสภาพที่เป็น ‘ประชาธิปไตยเบ่งบาน’ เลยแม้แต่น้อย
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าในระยะ 5 ปีแรก เผด็จการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากจะรักษา ‘ความสงบ’ แล้ว สิ่งหนึ่งก็คือพยายามเปลี่ยนการเล่าเรื่องหรือ Narrative ของการศึกษาประวัติศาสตร์-สังคมศึกษาใหม่ เป็นแบบราชาชาตินิยม หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นแบบ ‘ทหาร’
เพราะฉะนั้น ค่านิยม 12 ประการ ให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศต้องท่องจำ ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ อำนาจนิยมในโรงเรียนก็เบ่งบานในเวลานี้ เพราะวิธีคิดของทหารก็คือต้องการให้เด็กเชื่อฟังและทำตาม เพื่อสร้างสังคมอันสงบเรียบร้อย
ปัญหาก็คือ นอกจากระบบการศึกษาตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะไม่เคยพานักเรียนออกไปจาก ‘กรอบ’ ที่วางไว้ ก็ไม่เคยบอกได้ว่า อนาคตหลังจากเด็กนักเรียนเหล่านี้จบการศึกษาในภาคบังคับ จะต้องไปเจออะไรในรั้วมหาวิทยาลัย และหลังจากจบมหาวิทยาลัย จะต้องไปเจออะไรในโลกของการทำงานจริง
ที่น่าเศร้าก็คือ แม้รัฐบาลจะเคลมว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายอย่างดีขึ้น โครงสร้างพื้นฐานหลายประเภทจะพัฒนาคืบหน้าตามลำดับ แต่คนรุ่นโบว์ขาว กลับไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งเหล่านี้เลย เงินเดือนเด็กจบใหม่ในปี 2554 และในปี 2564 ยังคงอยู่ระดับเดียวกัน 1.5-2 หมื่นบาท ในขณะที่ค่าครองชีพในกรุงเทพฯ สูงขึ้นเรื่อยๆ และแม้เงินเดือนจะต่ำเตี้ยเพียงใด ก็มีเด็กจบใหม่ที่หลุดจากระบบ ไม่สามารถหางานประจำที่มีค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อได้ ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบนี้
3.
ทั้งหมดนี้แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้านี้ ที่ยังได้ ‘อานิสงส์’ หลายอย่างจากนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลก่อน ไม่ว่าจะเป็นในยุคสงครามเย็น ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทยด้วยเม็ดเงินมหาศาล ไม่ว่าจะด้วยข้อตกลง Plaza Accord ปลายรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องปรับระบบเศรษฐกิจ ย้ายฐานการผลิตรถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ จากในประเทศเข้ามาในไทย จนทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่คงอยู่อย่างนั้นมานานตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2520–2540
นั่นทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้การเมืองไทยจะถูกสลับสับเปลี่ยนระหว่างประชาธิปไตยเต็มใบ ประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเผด็จการอย่างไร แต่ก็ไม่ได้กระทบกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจมากนัก ต่างจากในช่วง 10 ปีให้หลัง ที่การมอง ‘ภาพกว้าง’ ทางเศรษฐกิจก็มีปัญหา และการอยู่ในสภาวะ ‘เผด็จการ’ ก็ทำให้ทุกอย่างพุ่งเป้าไปที่จุดเดียว
นั่นทำให้การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ เพื่อรองรับการเลือกตั้งในปี 2562 เพื่อรื้อ ‘โครงสร้าง’ เผด็จการอำนาจนิยม ได้รับความนิยมล้นหลามจากกลุ่มคนรุ่นโบว์ขาว และเมื่อพรรคนี้ถูกยุบในปี 2563 ด้วยข้อหาที่คนกลุ่มนี้เห็นว่า ‘ไม่สมเหตุสมผล’ เลยกลายเป็นจุดกระตุ้นใหม่ นำไปสู่การ ‘ลงถนน’ พร้อมกับ 3 ข้อเรียกร้องที่พุ่งทะลุไปยังใจกลางปัญหาของสังคมไทย ที่ไม่มีอะไรจะหยุดได้อีกแล้ว
4.
แล้วอะไรทำให้เกิด ‘ความแตกต่าง’ แบบสุดขั้วระหว่างคนรุ่นนี้กับคนรุ่นก่อนหน้านี้? หนังสือของกนกรัตน์สะท้อนภาพใหญ่ที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของสังคมไทย ที่คนรุ่นก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่ม ‘เบบี้บูมเมอร์’ จำนวนหนึ่ง ผูกติดไว้หลายประการ
เป็นต้นว่าลำดับชั้น ลำดับอาวุโส เป็นต้นว่าความเชื่อในความดีความงาม ในศีลธรรม และในความสงบ ซึ่งล้วนมาจากการบ่มเพาะโดยคนรุ่นก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ในยุคที่คนกลุ่มนี้เติบโต เข้าสู่ระบบการทำงาน ก็ยังได้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้กับพวกเขา ซ้ำยังคิดว่าการถูกปลูกฝังด้วยระบบการศึกษาแบบที่เขาโตมา และด้วยวิธีคิดข้างต้นมีผลอย่างสูงที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ
นั่นทำให้การชุมนุมในยุคหลัง ทั้งการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือการชุมนุม กปปส. เพื่อขับไล่กลุ่มการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าทุจริตคอร์รัปชันและไม่จงรักภักดี จึงเป็นเรื่องที่ตรงกับจริตของคนกลุ่มนี้ และการชุมนุมของพวกสามนิ้ว ซึ่งมีข้อเรียกร้องเลยเถิดไปถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในความเห็นของพวกเขา จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควรนัก และจะพาประเทศนี้จากแบบเดิมที่เขารู้จัก ไปสู่จุดที่ ‘ไกลเกินไป’ และไม่อาจควบคุมได้
จะเห็นได้ว่าเป็นความแตกต่างที่สุดโต่งเกินไปสำหรับ 2 ขั้วความคิด ทำให้กนกรัตน์พยายามหาจุดกลางผ่านคนรุ่น In-Between Generation หรือกลุ่ม (ใน) ระหว่าง คนที่อยู่ตรงกลางระหว่างนี้ คนที่มีอายุระหว่าง 35-50 ปี ที่เริ่มมีบทบาทสำคัญในสังคม ในการเป็น ‘ตัวกลาง’ เชื่อมสมานทั้ง 2 รุ่นเข้าด้วยกัน
5.
สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว ฉายภาพให้เห็นว่า เพราะกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2514-2529 เหล่านี้ ‘เข้าใจ’ ทั้งคนรุ่นผู้ใหญ่ ที่พวกเขาเติบโตมาด้วย ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ว่ามีชุดความคิดอย่างไร และเข้าใจคนรุ่นโบว์ขาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นลูกของพวกเขา ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องออกมา ‘ลงถนน’ มีข้อเรียกร้องแบบนั้น
เพราะในอีกแง่หนึ่ง คนรุ่นนี้มีศักยภาพในการรับข่าวสารที่ไปไกลกว่า ‘ไลน์กลุ่ม’ เพราะคนกลุ่มนี้เห็นความล้มเหลวของระบบรัฐราชการรวมศูนย์ ระบบอำนาจนิยม สวัสดิการรัฐที่ย่ำแย่ ยาวไปจนถึงการคอร์รัปชันทุกหัวระแหง และเคยเห็นสภาพบ้านเมืองที่ ‘ดีกว่านี้’ มาก่อน
ข้อเสนอแนะของกนกรัตน์คือ คนกลุ่มนี้ ที่จำนวนไม่น้อย เริ่มมีบทบาทในองค์กรเอกชน มหาวิทยาลัย หรือกระทั่งองค์กรรัฐ เพื่อสร้างการเมืองแบบใหม่ เป็นการเมือง ‘เชิงสร้างสรรค์’ มากกว่าเป็นการเมืองแบบกล่าวโทษกัน หรือเอาชนะคะคานกันให้ตายไปข้าง
แน่นอน บทสรุปนี้อาจเป็นไปในแบบ ‘กำปั้นทุบดิน’ เสียหน่อยในความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ที่สู้อยู่บนถนนขณะนี้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา แทบไม่มีช่องทางใดที่เปิดและนำไปสู่ความใกล้เคียงของการเจรจาหรือการรับฟังกัน กลุ่มโบว์ขาวกลายเป็นกลุ่มถูกกระทำผ่านการดำเนินคดี ที่หากนำคดีมาไล่กาง หลายคนก็อาจต้องโทษจำคุกนานนับ 100 ปี จากการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ขณะเดียวกัน การเปิดช่องสมานแผล ‘ทำความเข้าใจ’ กับกลุ่มอำนาจนิยมที่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น ยืนเหนือกว่าคนอื่น และมีสิทธิจะใช้กฎหมายทำอะไรก็ได้ อาจไม่ใช่บทสรุปที่คนรุ่น ‘โบว์ขาว’ เห็นพ้องเท่าไรนัก
แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ และแกนนำโบว์ขาวหลายคนเข้าใจก็คือ ด้วยสภาพแบบนี้ ด้วยโครงสร้างประชากร ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่อาจ ‘หักด้ามพร้าด้วยเข่า’ จะได้ทุกอย่างตามที่อยากได้ด้วยเวลาอันสั้น
เพราะฉะนั้น โจทย์ที่ใหญ่กว่าสำหรับโบว์ขาว นอกจากจะเลี้ยงการต่อสู้ให้เคลื่อนไหวต่อไปได้ในสภาพแบบนี้แล้ว ก็คือจะทำอย่างไรให้คนรุ่น (ใน) ระหว่างออกมาคอลเอาต์ ยอมรับปัญหาทุกอย่างในประเทศนี้ แล้วร่วมกันส่งเสียงดังๆ ว่ามีปัญหานี้อยู่จริง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะวันนี้ไม่ใช่ยุคของการอยู่เงียบๆ แล้วคิดว่าไม่ใช่ปัญหาของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องของตัวเองแบบที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว
ถ้าเข้าใจได้ ถ้าโน้มน้าวได้ และตกผลึกร่วมกันเมื่อไร ประเทศไทยจะน่าอยู่กว่านี้มากขึ้นอีกหลายเท่า
Fact Box
สงครามเย็น (ใน) ระหว่าง โบว์ขาว, ผู้เขียน กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, สำนักพิมพ์มติชน, จำนวน 344 หน้า, ราคา 300 บาท