1

การจะเข้าใจ ‘บิตคอยน์’ มีทางเดียว คือ ต้องเข้าใจความหมายของเงิน เงิน และเงิน เท่านั้น 

ปัจจุบันผู้คนให้คำนิยามกับสกุลเงินดิจิทัลกระจายศูนย์ตัวแรกของโลกอย่าง ‘บิตคอยน์ ’ (Bitcoin) ไว้หลากหลาย บ้างก็เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีไว้เพื่อการเก็งกำไร เป็นเพียงแค่ธาตุอากาศที่ไร้อรรถประโยชน์การใช้งานใดๆ หรือมองเป็น ‘เงินมั่นคง’ ที่จำเป็นต่อความมั่งคั่งของประชาชน ข้อถกเถียงว่า บิตคอยน์คือสิ่งใด สามารถพูดกันได้ไม่จบสิ้น เพราะบิตคอยน์สามารถเป็นได้ทั้ง 3 สิ่งที่ยกตัวอย่างไป ขึ้นอยู่กับมุมมองต่อ ‘เงิน’ ของผู้คนเหล่านั้นว่านิยามความหมายของเงินเป็นเช่นไร

The Bitcoin Standard ไม่ใช่หนังสือที่จะบอกให้เรารู้จักกับความวิเศษของบิตคอยน์ แต่จะเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นและดับไปของเงินแต่ละประเภท ทั้งยังได้สาธยายถึงความฉิบหายของประชาชนที่เสียท่าให้กับ ‘เงินที่สร้างง่าย’ (Easy Money Trap) เพียงเพราะไม่มีทางเลือกในการเลือกเงินที่อยากใช้ ตั้งแต่หินรายแห่งเกาะแยป (Rai stone of yap island) ลูกปัด เปลือกหอย ทองคำ วัว ไปจนถึงธนบัตรเงินที่ถูกผลิตโดยรัฐบาล เพื่อชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์การเงินนั้นเกิดการซ้ำรอยเดิมทุกครั้ง เมื่อเงินที่ใช้งานเป็นเงินที่อ่อนแอ

 

2

ทำไมโลกเราถึงต้องใช้เงิน?

วิวัฒนาการและนิยามของเงินมีความเป็นพลวัฒน์ที่เกิดการเปลี่ยนในทุกยุคทุกสมัย แต่หากจะให้พูดได้โดยเข้าใจง่ายคือ เงินต้องเป็นสื่อกลางที่ใช้แลกเปลี่ยน (Medium of exchange) ที่ผู้คนยอมรับ เพราะในอดีตก่อนที่เงินจะถือกำเนิด มนุษย์ของเราใช้ระบบการแลกเปลี่ยน (Barter System) ในการถ่ายโอนมูลค่า และได้รับมาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างบ้านที่ปลูกผักและบ้านที่เลี้ยงสัตว์ ทุกอย่างจะเป็นไปอย่างราบรื่นหากทั้งคู่ตกลงที่จะแลกเปลี่ยนกันโดยพึงพอใจในการแลกเปลี่ยนของทั้งคู่

แต่เป็นไปไม่ได้ที่ความต้องการในการแลกเปลี่ยนของผู้คนจะตรงกันตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีสิ่งที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนภายในวงสังคมหนึ่งขึ้นมา นั่นก็คือ ‘เงิน’ ที่ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด ก็ล้วนเป็นเงินได้ทั้งนั้น หากเงินที่ใช้สามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นได้ ดังนั้นคุณสมบัติประการแรกของเงินคือ ‘ต้องได้รับการยอมรับจากสังคม’ 

แต่สิ่งที่ตามมาคือ ‘ระดับศักยภาพในการแลกเปลี่ยน’ ทั้งในเชิงปริมาตร ระยะทาง และกาลเวลา กล่าวคือ ผู้คนอาจจะใช้งานหมูสดในการเป็นเงินก็ย่อมได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 3 วัน หมูสดที่ถือครองอยู่แปรสภาพไปเป็นหมูเน่าจะยังมีคนต้องการอยู่หรือไม่? คุณสมบัติของเงินจึงจำเป็นที่จะต้องคงทน ไม่ผันแปรเพื่อที่จะสามารถรักษาคุณสมบัติในการกักเก็บมูลค่าไว้ดังเดิมได้ หรือที่เราเรียกว่าเป็น Store of value นั่นเอง 

 

3

แต่ใช่ว่าเงินที่รักษามูลค่าได้ คือเพียงแค่การคงสภาพเดิมไว้ตราบเท่านาน แต่ยังต้องเป็นเงินที่มีความยากในการสร้างอีกด้วย (Hard Money) เพราะหากเงินสามารถส่งต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ การถือครองเงินเป็นจำนวนมากย่อมสร้างอำนาจในการต่อรองที่มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน การที่สร้างสิ่งที่เรียกว่าเงินสามารถได้ดั่งใจนึก ย่อมไม่ใช่เงินที่ดีแน่นอน เพราะเงินที่ดีควรจะเป็นเงินที่มีอัตรา Stock to Flow ที่ต่ำ หรือการเพิ่มอุปทานของเงินต้องไม่เพิ่มเร็วเกินไป จนทำให้เงินที่มีอยู่มาก่อนหน้าต้องด้อยค่าลงไปหรือที่เราเรียกว่า ‘การเฟ้อของเงิน’ นั่นเอง

น่าเสียดายว่าระบบมาตรฐานการเงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้อย่างมาตรฐานการเงินเฟียต (Fiat Standard) ทำให้การสร้างเงินเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายดายเหลือเกิน เพราะนอกจากจะเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐบาลอย่างล้นฟ้า ผลกระทบของการเฟ้อของเงินยังส่งต่อมาสู่ประชาชนผู้ตั้งใจเก็บออมที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จนสามารถพูดได้ว่า ตราบใดที่รัฐบาลยังคงควบคุมการผลิตของเงินอยู่ ความมั่งคั่งของประชาชนไม่เคยอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง

แม้จะอ้างว่าการที่รัฐจำเป็นจำต้องควบคุมปริมาณเงินในระบบให้มีการเฟ้ออยู่ในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว แต่แท้จริงแล้วนักเศรษฐศาสตร์ต่างรู้ดีว่า อุปทานเงินไม่ว่าจะมากหรือน้อย ย่อมเพียงพอสำหรับเศรษฐกิจทุกขนาดอยู่แล้ว ด้วยกลไกของตลาดที่จะกำหนดราคาของสินค้าและบริการด้วยมือที่มองไม่เห็น ศัตรูของรัฐบาลจึงเป็นเงินที่สมบูรณ์แบบที่ผู้คนปรารถนาที่จะหามาครอบครอง เพราะเมื่อใดที่เงินที่แข็งแกร่งได้ถือกำเนิดขึ้นมา เงินที่อ่อนแอของรัฐบาลย่อมต้องเสื่อมมูลค่าลงไป ซึ่งรัฐจะไม่ยอมเด็ดขาดที่จะเสียอำนาจในการปกครองตรงนี้ไป

บิตคอยน์จึงเป็นเงินที่ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบมากที่สุด ทั้งปริมาณอุปทานที่ถูกกำหนดไว้อย่างตายตัว ความยากในการผลิต และความง่ายต่อการใช้งาน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้เองที่ทำให้บิตคอยน์ไม่สามารถทำหน้าที่อื่นได้นอกจากเงินที่กักเก็บความมั่งคั่งไว้ได้อย่างแข็งแรงโดยไม่พ่ายแพ้ให้กับสิ่งอื่นใด ขาดก็เพียงแค่การยอมรับจากประชาชนในปัจจุบันนี้เท่านั้น ที่ต่อให้ไม่แพร่หลายเท่าเงินธนบัตร แต่กระแสของโลกยังคงวิวัฒน์มาสู่บิตคอยน์

สุดท้ายนี้ ความเข้าใจเรื่องเงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการถือเงินที่ไม่สามารถรักษามูลค่าไว้ได้ สุดท้ายแล้วความมั่งคั่งจากหยาดเหงื่อแรงกายที่หามาได้จะต้องมลายสลายไปอยู่ดี ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากจะให้เป็นเช่นนั้น ท้ายที่สุด ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าสิ่งใดที่ควรเป็นเงิน เพราะเงินจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดการยอมรับของผู้คน ไม่ใช่ใครคนใดมาชี้นิ้วสั่งว่าสิ่งใดควรที่จะใช้เป็นเงิน

Fact Box

The Bitcoin Standard ระบบการเงินทางเลือกไร้ศูนย์กลาง, ผู้เขียน เซเฟดีน อัมมูส, ผู้แปล พิริยะ สัมพันธารักษ์,พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว, สำนักพิมพ์ซีเอ็ด, ราคา 345 บาท

Tags: , , , , ,