1
อาจเพราะไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตร ปรัชญาจึงดูเหมือนเป็นเรื่องที่เข้าถึงยาก ไม่น่าค้นหา ไม่น่าทำความเข้าใจ แง่มุมปรัชญากลายเป็นพื้นที่ของหนังสือสวดมนต์ นักคิดที่เป็นที่รู้จักของทั้งโลกแทบจะมีเพียงสองชื่อ คือเพลโตกับอริสโตเติล
ปรัชญาไกลตัวถึงขนาดนั้น
แต่หากเป็นความรัก รักอยู่ใกล้กว่าเสมอไม่ว่าคุณเป็นใคร รวยหรือจน วัยรุ่นหรือวัยกลางคน แม้ในช่วงเวลาอันสิ้นหวังหมดแรงเพราะประเทศห่วยแตก ความรักยังคงเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย (ซ้ำยังช่วยเติมกำลังใจ) ไม่ใช่หรือ
ทำไมต้องตกหลุมรัก? : Alain Badiou ความรัก และ The Lobster เป็นหนังสือปรัชญาที่อิงจากทรรศนะของ อแล็ง บาดียู (Alain Badiou) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสสายเพลโตใหม่ ปรัชญาของเขาวางอยู่บน 3 แนวคิด ได้แก่ ความเป็นซับเจ็กต์ เหตุการณ์ และความจริง เรื่องความรักถูกวางอยู่บนฐานที่ว่านี้เช่นกัน โดย สรวิศ ชัยนาม ได้นำกรอบวิเคราะห์ทางปรัชญามาตีความผ่านภาพยนตร์ The Lobster รวมถึงประเด็นร่วมสมัยอื่นๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาช่วยอธิบายอย่างเห็นภาพ แม้ไม่สันทัดตำราวิชาการแต่ก็สามารถอ่านแล้วคิดตามได้ไม่ยากนัก
2
ในครึ่งแรก ผู้เขียนพาไปสำรวจปรัชญาความรักฉบับบาดียู ซึ่งนำเสนอภาพของความรักที่ไม่ตรงตามความเข้าใจเดิมจนอาจสั่นคลอนสิ่งที่เคยเชื่อ สำหรับบาดียู รักเริ่มด้วยความบังเอิญ และดำเนินต่อได้ด้วยการสร้าง ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรกในกระบวนการของความรักคือการพบกันโดยบังเอิญ เป็น ‘เหตุการณ์’ ที่เกิดขึ้นโดยไม่อาจคาดเดา เราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่าจะบังเอิญเจอกับคนที่รักตอนไหน และแม้อยากจะเจอคนที่รู้สึกรักมากเพียงใดก็คงบังคับกันไม่ได้
หากว่ายามเช้าของวันวาเลนไทน์ คุณตั้งปณิธานไว้หนักแน่นว่าจะตกหลุมรักใครคนหนึ่งให้ได้ แล้วตอนค่ำสามารถล็อกเป้าหมายและทำตาม ‘แผน’ นั้นจนสำเร็จ สิ่งที่คุณรู้ล่วงหน้าและพยายามไขว่คว้าไม่ใช่ความรัก เป็นได้มากสุดก็เพียงโรแมนซ์และการตอบสนองความปรารถนาเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่า ความไม่รู้ต่างหากที่ทำให้รัก
แนวคิดว่าความรักไม่เท่ากับโรแมนซ์ถือเป็นอีกประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้ และเป็นประเด็นที่เราอยากพูดถึง โดยทั่วไป รักในอุดมคติมักจะถูกมองว่าเป็นสิ่งสวยงามอย่างสมบูรณ์ รักคือการเติมเต็มกันและกัน รักคือดวงจันทร์ รักคือตะวัน ฯลฯ ไม่ว่าจะนิยามให้เป็นสิ่งใด ภาพของมันล้วนดูปลอดภัยไร้ซึ่งความเจ็บปวด
แต่ในเมื่อการตกหลุมรักคือการร่วงหล่น จะไม่เจ็บปวดได้อย่างไร
บาดียูโต้แย้งนิยามรักอันสวยงามและปลอดภัย ถ้าเทียบกัน รักในความหมายของเขาดูจะเป็น ‘ไฟอันร้อนแรงไร้จุดหมาย’ เสียมากกว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารักนั้นมอบความสุข แต่ขณะเดียวกันรักกลับเต็มไปด้วยความเสี่ยง ความรักแบบปลอดภัยไว้ก่อนจึงไม่มีจริง คนขี้ขลาดที่ประเมินความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดย่อมไม่ใช่ผู้ที่กำลังตกหลุมรัก ความรักที่มีแต่ความสวยงาม ไร้ความเสี่ยง และเปี่ยมสุข คือความรักแบบโรแมนซ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของความรักที่แท้จริง
3
ปัจจุบันความรักแบบโรแมนซ์กำลังคุกคามการมีอยู่ของความรักที่แท้จริงจนแทบไม่เหลือ ผู้คนหลงอยู่ในภวังค์แห่งโรแมนซ์ เพราะมันปราศจากความเสี่ยง และอาการกลัวความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยสำคัญมาจากประเด็นทางเศรษฐกิจอีกเช่นเคย
ระบบทุนนิยมทำให้ผู้คนเป็นมนุษย์หลงตัวเอง เป็นซับเจ็กต์ที่มองเห็นแต่เรื่องของตัวเอง หมกมุ่นอยู่กับการสร้างความสมบูรณ์แบบ ทั้งชนะและพ่ายแพ้ ได้และเสียผลประโยชน์ สาละวนกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา การมีความรักที่แท้จริง ซึ่งแน่นอนว่าหลีกเลี่ยงความทรมานไม่ได้นั้น เสี่ยงที่จะทำลายความสมบูรณ์แบบมากเกินไป คิดคำนวณอย่างไรก็ไม่คุ้มค่า
รักแท้จริงคล้ายการปฏิวัติ รักเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ มันสร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ทำให้มองเห็นใครอีกคนร่วมกับตัวเอง เรียกได้ว่าความรักคือคอมมิวนิสม์แบบจำกัด (Minimal Communism) เพราะการมีบางสิ่งร่วมกันนั้นสำคัญกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว มนุษย์โรแมนซ์ที่เต็มไปด้วยความหลงใหลในตัวเองจึงยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับความรักแท้
หนึ่งในผลผลิตอย่างเป็นรูปธรรมของโรแมนซ์ สำหรับยุคนี้อาจเป็นแอพพลิเคชันหาคู่ ที่ไม่ว่าสุดท้ายจะลงเอยด้วยความสัมพันธ์รูปแบบใด มันก็เป็นตัวกลางให้ได้พิจารณาคุณสมบัติของคนที่มีแนวโน้มว่าจะมาเป็นคนรัก ทั้งการศึกษา ฐานะ หรือรูปลักษณ์ ราวกับว่าความรักเป็นสินค้า ซึ่งสามารถเลือกสรรจับจ่ายได้ด้วยตัวเอง กลายเป็นว่าแทนที่จะตกหลุมรัก ผู้คนกลับตกหลุมพรางของอัตตาแทน
4
เมื่อรู้สึกตกหลุมรัก (โรแมนซ์) ใคร เราอาจพยายามหาความเป็นไปได้ต่างๆ ทั้งเทียบเคียงว่าเขาเหมือนหรือต่างจากเราแค่ไหน มีวิถีชีวิตอย่างไร จะไปกันได้ดีหรือเปล่า ในบางครั้งความสัมพันธ์จึงเกิดขึ้นผ่านการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากเสียจนคนรักแทบจะกลายเป็นกระจกสะท้อนตัวเอง
ภาพยนตร์เรื่อง The Lobster เล่าถึงโลกดิสโทเปียที่ซึ่งความโสดเป็นสิ่งต้องห้าม และความรักได้ถูกแปรสภาพให้เป็นโรแมนซ์อย่างเต็มรูปแบบ กฎหมายกำหนดให้เฉพาะคู่สมรสเท่านั้นที่จะมีสิทธิอยู่ในเมือง โดยพวกเขาจะต้องมี ‘สิ่งที่เหมือนกัน’ จึงจะสามารถแต่งงานกันได้ ขณะที่คนโสดต้องถูกส่งตัวไปยัง The Hotel เพื่อหาคู่ให้ได้ภายใน 45 วัน และหากทำไม่สำเร็จจะกลายเป็นสัตว์ไปตลอดกาล
การเปลี่ยนคนให้เป็นสัตว์ก็ไม่ต่างจากการฆ่าให้ตายเท่าไร คนโสดเกือบทั้งหมดจึงดิ้นรนที่จะมีความรักให้ได้ โดยต้องเริ่มต้นจากการหาคนที่มีสิ่งที่เหมือนกัน ไม่ว่ามันจะเป็นข้อดีหรือข้อด้อย เราเพียงแต่ตามหาคนที่มีผมยาวสลวย ขากะเผลก หรือสายตาสั้นเหมือนกัน ใครสักคนในนั้นคือคนที่ต้องรู้สึกรักให้ได้ ตัวละครใน The Lobster จึงเป็นมนุษย์โรแมนซ์ผู้เต็มไปด้วยเหตุผล ที่ต่างก็ตระเตรียมมาเรียบร้อยว่าจะต้องตกหลุมรัก การมีความรักในสังคมของพวกเขาจึงไม่ได้เป็นความเสี่ยงแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นหลักประกันสวัสดิภาพอีกด้วย ตรงกันข้าม การครองโสดต่างหากที่เป็นความผิดสถานหนัก มีโทษถึงตาย
หากเทียบกันแล้ว หลายครั้งในชีวิตจริงสังคมนี้ก็ไม่อนุญาตให้คุณโสดและเหงาเช่นกัน ถึงจะไม่ได้เปลี่ยนเราให้กลายเป็นสัตว์ชนิดไหน แต่อย่างน้อยมันก็คอยกระซิบให้ต้องหาใครมาร่วมแบ่งปันความเหงา จนราวกับว่าโลกแบ่งประชากรออกได้เป็นสองประเภท คือคนมีความรักกับคนไม่มีความรัก ความโสดถูกจดจำว่ามาคู่กับความเหงาจนกลายเป็นสิ่งปกติ ทำเหมือนคนมีความรักจะเหงาไม่ได้เสียอย่างนั้น
5
แง่หนึ่ง ข้อเสนอในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ว่าด้วยเรื่องปรัชญาความรักเท่านั้น แต่เนื้อหาของมันเต็มไปด้วยการฉายภาพความกลัว ซึ่งเข้ามากัดกินทุกมิติของชีวิตไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ของความรักความสัมพันธ์ และเข้ามาอย่างแนบเนียนจนไม่ทันได้รู้ตัวด้วยซ้ำว่าผู้คนกำลังใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวมากเพียงใด คนเรากลัวความเสี่ยง กลัวเจ็บปวด กลัวทรมาน กลัวแม้แต่สิ่งที่ไม่ได้เลวร้ายนักอย่างความเหงา ความกลัวที่จะร่วงหล่นหลุมรักกำลังหล่อเลี้ยงการมีอยู่ของโรแมนซ์ แถมกลไกของมันยังแทบจะขยับเป็นจังหวะเดียวกับการขยายตัวของทุนนิยม
ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ หากใช้แนวคิดในการมองความรักแบบบาดียู เมื่อการปฏิวัติระบบเศรษฐกิจไม่เกิดขึ้นก็เหมือนว่าโอกาสในการตกหลุมรัก และการดำรงอยู่ของความรักที่แท้จริงในปัจจุบันจะมีน้อยนิดเหลือเกิน
แล้วเราตกหลุมโรแมนซ์ต่อไปไม่ได้หรือ ทำไมต้องตกหลุมรัก?
พบคนขี้ขลาดกำลังประเมินความเสี่ยงหนึ่งอัตรา เป็นไปได้ว่าความรักที่แท้จริงจะหายลับไปในสักวัน
Fact Box
ทำไมต้องตกหลุมรัก? : Alain Badiou ความรัก และ The Lobster, สรวิศ ชัยนาม เขียน, สุชานาฎ จารุไพบูลย์ แปล, สำนักพิมพ์ อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์, จำนวน 173 หน้า, ราคา 200 บาท