ในตอนที่ มนต์รักทรานซิสเตอร์ เวอร์ชันภาพยนตร์ของ เป็นเอก รัตนเรือง ออกฉายในปี 2544 ตัวผมยังหัวเกรียน นั่งดีดลูกแก้วกับเพื่อนอยู่โรงเรียนในวัยประถม แต่ก็จำได้ว่ามีภาพยนตร์ชื่อออกแนวลูกทุ่งย้อนยุคแต่ติดหูนี้อยู่ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต และจำสองนักแสดงอย่าง ‘ต๊อก’ – ศุภกร กิจสุวรรณ กับ ‘อุ้ม’ – สิริยากร พุกกะเวส (นามสกุลเดิม) บนโปสเตอร์หนังและตามหน้าหนังสือพิมพ์ได้

ย้อนกลับไปปลายปีก่อน ญาติของผมกำลังจะจัดชั้นหนังสือใหม่ เธอส่งภาพมาทางไลน์ สอบถามว่ามีเล่มไหนที่ผมอยากได้หรือไม่ ท่ามกลางหนังสือหลายสิบเล่มที่กองอยู่ในภาพ มีเล่มหนึ่งที่หน้าปกเป็นสองคู่พระนางที่กำลังนั่งเอาหลังพิงชิดกัน หันหน้ามาส่งยิ้มให้กล้อง เบื้องหน้ามีวิทยุทรานซิสเตอร์และไก่โต้ง เบื้องหลังมีชิงช้าสวรรค์ หน้าปกเขียนชื่อเรื่องว่า ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ แน่นอนว่ามันคือภาพจากโปสเตอร์ภาพยนตร์ในความทรงจำ ไม่รอช้า ผมจึงขอหยิบยืมเล่มดังกล่าวมาทันทีทันใด

ล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมที่เพิ่งผ่านมา เป็นช่วงครบรอบ 20 ปีของภาพยนตร์เรื่องนี้พอดี ในขณะที่โรงหนังอิสระใต้ชายคาของ Doc club & Pub ก็นำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกลับมาฉาย เลยคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ลองหาเวลาไปชมสักครั้ง หลังอ่าน มนต์รักทรานซิสเตอร์ ฉบับนิยายจบ

มนต์รักทรานซิสเตอร์ เวอร์ชันนิยายเขียนโดย วัฒน์ วรรยางกูล ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารบางกอกรายสัปดาห์ ตั้งแต่ปี 2524 และตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์อาทิตย์ในปีเดียวกัน ในคำนำของฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 3 เขียนไว้ว่า

“เมื่อครั้ง มนต์รักทรานซิสเตอร์ ตีพิมพ์ในบางกอก แค่เริ่มได้ไม่กี่ตอนก็มีผู้สร้างภาพยนตร์ 2-3 ราย ทาบทามขอนำไปสร้างภาพยนตร์ แต่แล้วด้วยเนื้อเรื่องที่เอาเข้าจริงก็มิได้เบาสมองอย่างคาดหมาย ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์รามือไปในที่สุด”

กระทั่งผ่านไป 20 ปี จึงถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ด้วยฝีมือของเป็นเอก รัตนเรือง

 

นิยายเรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ เล่าเรื่องชีวิตของ แผน หนุ่มบ้านนาจากบ้านบางน้ำใจ ที่ตกหลุมรักกับ สะเดา หญิงสาวเสื้อฟ้าหน้าตาน่ารัก ซึ่งในหนังสือบรรยายความคิดของ แผน ที่อยากจะแต่งเพลงหนึ่ง เมื่อได้เห็น สะเดา ไว้ในตอนหนึ่งว่า

แม่สาวใส่เสื้อสีฟ้า

พาหัวใจข้าบินไปบนฟ้า

ข้าอยากจะบอกกับเมฆบนฟ้า

ให้เพ่งพิศรอยยิ้มในดวงหน้า ที่กลีบจมูก ที่มุมปากและในแววตา

ข้าอยากจะบอกกับเมฆบนฟ้า

เห็นไหมว่า ยิ้มนั้นหยุดสายธารา

โอ้แม่สาวใส่เสื้อสีฟ้า

พาหัวใจข้าบินไปบนฟ้า

หน้า 18

 

ท่ามกลางคู่แข่งและอุปสรรคมากมาย รวมถึงพ่อที่แสนดุของ สะเดา แต่ แผน กลับสามารถชนะใจ สะเดา และครองรักแต่งงานกันได้ในที่สุด อย่างไรก็ดี ในนิยายได้แทรกบรรยากาศของ ‘เพลง’ อยู่เป็นระยะ และทำให้เห็นว่าแผนมีความฝันเรื่องการร้องเพลง ซึ่งในตอนหนึ่งบรรยายไว้ว่า

 

ที่มุมส่วนตัวของแผน มีกองหนังสือเพลงลูกทุ่ง หนังสือจดหมายรัก อันเต็มไปด้วยจดหมายรักสำนวนหยาดเยิ้มแบบสายลมแสงแดด เปี่ยมไปด้วยความเพ้อฝัน นอกจากนี้ยังมีสมุดจดเนื้อเพลง ตัวอักษรประดิษฐ์เองที่หน้าปกว่า ‘มนต์รักบางน้ำใจ – สุรแผน เพชรน้ำใจ’ หน้า 29

 

จุดเปลี่ยนของนิยายเกิดขึ้นเมื่อแผนต้องไปเกณฑ์ทหารขณะที่สะเดากำลังท้องแก่ใกล้คลอด แต่เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เรื่องราวซับซ้อนขึ้นไปอีก และทำให้ชีวิตคู่ของแผนและสะเดาเปลี่ยนไป คือการที่แผนเลือกหนีทหารเพื่อไปต่อสู้ตามความฝันของตนเองในการเป็นนักร้อง หลังจากวงดนตรีของนักร้องชื่อดังที่แผนติดตามผลงานมาตลอดได้มาเปิดแสดงหน้าค่ายทหาร นอกจากเปิดการแสดงปกติแล้ว วงดนตรียังเปิดประกวดนักร้องขวัญใจลูกทุ่ง เพื่อคัดเลือกนักร้องเข้าประจำวง

แน่นอนว่าแผนลงประกวดในชื่อ ‘สุรแผน เพชรน้ำใจ’ และร้องเพลง นักเพลงคนจน ด้วยความคิดถึงเมียรักอย่างสะเดา จนทำให้ผู้ชมที่ฟังเสียงของเขาถึงกับเคลิบเคลิ้มไปกับบทเพลง แต่ท้ายที่สุด เขาก็ได้เพียงตำแหน่งรองชนะเลิศ แต่ความโชคดีคือ ทั้งตำแหน่งชนะเลิศ และรองชนะเลิศ จะได้เข้าสังกดดนตรีคณะดังกล่าว

เมื่อโอกาสที่ใฝ่ฝันมาถึง แผนจึงตัดสินใจเก็ฐข้าวของส่วนตัวใส่กระเป๋าสีเขียวขี้ม้า หลบออกมาจากกองทหารไปกับรถวงดนตรีมุ่งสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อทำตามความฝันของเขา – ฝันที่ต้องจำใจทิ้งเมียรักอีกครา

อย่างไรก็ดี ชีวิตของแผนไม่ได้เป็นดั่งฝัน เหมือนโลกแห่งความจริง ที่ความฝันกับความจริงอยู่ขั้วตรงข้ามกัน ปัญหาสารพัดรุมเร้าแผน บางครั้งทำให้เขาถึงกับต้องหลบหนี แต่เขาก็เลือกที่จะยังไม่กลับไปหาเมีย เพราะความคิดที่อยากจะประสบความสำเร็จให้ได้ และนั่นจึงเป็นผลลัพธ์ที่ทำให้เขาต้องไปประสบพบเรื่องราวที่ยากลำบากอย่างต่อเนื่อง

ในมุมหนึ่ง นิยายนี้ก็แสดงให้เห็นถึง ‘ชีวิต’ และ ‘กรอบความคิด’ ของคนต่างจังหวัดที่ต้องการเข้ามาแสวงโชคในเมืองหลวง ไม่ว่าจะเพื่อผลักฐานะตนเอง หรือตามความฝันก็ตาม แต่บางคนก็ต้องดิ้นรนหนัก ถูกกดทับ ถูกเหยียดหยาม จะมีสักกี่คนกันที่ทำสำเร็จตามที่หวัง

และแม้กระทั่งในวันที่ต้องซมซานกลับไปยังที่ที่จากมา สิ่งที่รอคอยอยู่อาจกลับกลายเป็นสิ่งตรงข้าม ราวกับเป็นสิ่งที่คนที่จากไปไม่เคยคุ้น เหมือนดั่งที่แผนพบเจอในนิยายก็เป็นได้

 

สำหรับผม ความโดดเด่นของ มนต์รักทรานซิสเตอร์ และสิ่งที่ชื่นชอบมากที่สุดนอกจากเนื้อหานิยาย คือ ภาษา ของ วัฒน์ วรรยางกูล ที่มีลีลาการเขียนสละสลวย อ่านเพลิน และเห็นภาพ ‘บรรยากาศ’ ของชนบทได้ราวกับได้กลิ่นท้องทุ่งฟุ้งมายามพลิกหน้ากระดาษแต่ละหน้า

 

ฤดูฝนกำลังจะสิ้น ฤดูหนาวเริ่มต้น ลมเย็นพัดโชย มันเป็นที่ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งหนอง อ้อยลำอวบตรง ผิวสีเขียวอ่อนของลำอ้อยเริ่มออกเหลืองนวลและเป็นมัน ตรงข้อมีแป้งขาวๆ จับ รวงข้าวเติบโตเต็มที่ จนสามารถเกี่ยวเอามาคั่วแล้วตำเป็นข้าวเม่าอันนุ่มหวาน รวงข้าวเริ่มสุกจากทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ตามทิศทางลมที่พัด ปลายรวงเอนลู่ไปทางเดียวกัน

หน้า 52-53

 

อาจกล่าวได้ว่านิยาย มนต์รักทรานซิสเตอร์ สำหรับผม คือความทรงจำ คือบทเรียนสะท้อนชนชั้น คือความงดงามทางภาษา และคือกลิ่นอาย ‘ความคิดถึงบ้าน’ เพราะในยามที่คนบางคนก้าวออกจากบ้านอันเป็นที่รักเพื่อไปแสวงหาชีวิตที่ ‘หวังว่าจะดีกว่า’ กับความฝันอันใหญ่โต และมองว่า ‘บ้าน’ (ซึ่งหมายรวมถึง บ้านเกิดเมืองนอน ด้วย) เป็นเพียงพื้นที่ที่เหนี่ยวรั้งฝันนั้นไว้ ในมุมหนึ่ง ยังมีบางคนที่ยังคงอยู่ที่เดิม กับวันเดิมๆ และความทรงจำเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือคนรัก เหมือนที่หนังสือเขียนไว้ปลายปกว่า

 

บ้านเราในความหมายของสะเดา แม้จะไม่เลิศหรู แต่มันก็สวยงาม บ้านเราที่นอนตื่นมาแล้วอิ่มเอม มีพระจันทร์ มีดวงดาว มีไก่ขัน มีนกร้อง

Fact Box

มนต์รักทรานซิสเตอร์, ผู้เขียน วัฒน์ วรรยางกูร, สำนักพิมพ์ ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งที่ 3), จำนวน 174 หน้า, ราคา 100 บาท

Tags: , , ,