หากว่ากันว่า ‘รัก’ ทำให้คนตาบอด ความรักในนวนิยายเรื่องนี้อาจหมายถึง ‘ความรักในพระเจ้า’ จนมืดบอดในการรับรู้บาปของตัวเอง

ผลงานเล่มบางของ ‘อ็องเดร ฌีด’ (André Gide) นักเขียนรางวัลโนเบลปี 1947 ที่สะท้อนความเจ็บปวดของผู้คนจากสังคมในอุดมคติ เรื่องราวของนักบวชสอนศาสนานิกายโปสเตสแตนต์ที่เดินทางไปโปรดหญิงชราใกล้ตายยังชนบทอันห่างไกล แล้วจำต้องรับเด็กสาวกำพร้าตาบอดมาอุปการะทั้งที่ครอบครัวของเขาก็ฐานะไม่สู้ดีนัก 

เขาเพียรพยายามสอนเธอที่อยู่กับความมืดมาตั้งแต่เกิดให้รู้จักเรื่องราวอันสวยงามของโลกใบนี้ผ่านเสียงและการสัมผัส โดยจงใจละเว้นการสอนเรื่องบาป ความชั่วร้าย และความตาย เพราะไม่ต้องการให้เธอรู้จักความโสมมของโลก แต่เมื่อเกิดปาฏิหาริย์ครั้งใหญ่ในชีวิตของเธอ สิ่งที่ตามมากลับพลิกผันเกินคาดคิด 

  นี่คือหนังสือเสียดสีศาสนาอย่างไม่ต้องสงสัย แม้นวนิยายเล่มนี้จะมีขนาดสั้นเพียงแค่ 128 หน้า แต่กลับอัดแน่นไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยที่ผ่านการคิดมาอย่างถี่ถ้วน การใช้ตัวละครเอกเป็น ‘นักบวช’ ตัวแทนแห่งความดีมาจับคู่กับ เด็กหญิงตาบอด วัย 15 ผู้สมควรได้รับการโปรด ฉายภาพความขมุกขมัวระหว่างบาปหรือบุญได้เด่นชัด จนงานเขียนเล่มนี้เคยถูกศาสนจักรประกาศให้เป็นหนังสือต้องห้ามในยุคหนึ่ง 

แต่นอกเหนือไปกว่าศาสนาและความรักที่เป็นตัวชูธงของเรื่อง นัยของหนังสือเล่มนี้คือการบอกว่า ‘เราล้วนเจ็บปวดจากสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง’

 

*หลังจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในหนังสือ

หากไม่มีนิยามคำว่า ‘บาป’ 

อ็องเดร ฌีด เขียนนวนิยายเรื่องนี้ให้เป็นลักษณะบทบันทึกหรือไดอารีของนักบวชที่เล่าเรื่องย้อนกลับไปในคริสต์ทศวรรษ 1980 สภาพสังคมยุคสมัยนั้นนักบวชเป็นเหมือนที่พึ่งของทุกคน เห็นได้จากกิจรัดตัวของนักบวชในเรื่องที่ต้องเดินสายไปทำธุระไม่เว้นวัน 

ยิ่งอ่านไปทีละบท เราจะยิ่งเห็นพฤติกรรมยกย่องตนของเขา ไม่ใช่การยกย่องตนอย่างทะนง แต่เป็นการอธิบายทุกการกระทำของตัวเองว่าเป็นไปด้วยความปรารถนาดี เป็นไปด้วยประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นไปตามหลักของพระคัมภีร์ แต่เขากลับหลบเลี่ยงจะรับรู้ความจริงประการเดียวที่ว่า ‘ไม่มีใครดีโดยสมบูรณ์’ 

ภรรยาและลูกๆ อีก 5 คน คือความยุ่งเหยิงรำคาญใจในสายตานักบวช ขนาดรู้ว่าตัวเองไม่ได้ดูแลพวกเขาดีเท่าที่ผู้เป็นพ่อควรกระทำ แต่ก็ไม่วายหาเหตุผลมาอธิบายเข้าข้างตัวเอง การที่เขามีเมตตารับหญิงตาบอดไร้ญาติมิตรมาเลี้ยงดูดุจดั่งลูกสาวในไส้ จึงเจือไปด้วยเหตุแอบแฝงบางอย่างที่ฝังอยู่ก้นบึ้งของหัวใจ ทุกคนมองเห็นว่าสิ่งนั้นคืออะไร มีเพียงแค่เจ้าตัวที่มืดบอด ไม่เคยรับรู้ หรือปฏิเสธจะรับรู้  

นักบวชท่านนี้เป็นตัวแทนของชายวัยกลางคนผู้เบื่อหน่ายชีวิตเดิมๆ ถึงจะรู้อยู่แก่ใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับภรรยาถึงจุดควรแยกทาง แต่ ณ สภาพสังคมสมัยนั้นการหย่าร้างคงไม่ใช่อะไรที่ทำได้อย่างง่ายดาย ยิ่งตัวเองเป็นนักบวชคงถูกคำครรหาต่างๆ นานา ถาโถมเข้าใส่  

เด็กสาวตาบอดไม่ต่างจากเด็กแรกเกิดในคราบหญิงสาวที่เขาสามารถป้อนคำสั่งได้ดั่งใจว่าจะให้เธอเบ่งบานแบบไหน ยิ่งเห็นเธอรับทุกสิ่งที่เขาพร่ำสอนแล้วตกผลึกมันออกมาอย่างเฉลียวฉลาด ยิ่งทำให้เขาตกหลุมรักเธอ หรือจริงๆ เขาอาจตกหลุมรักเธอมาตั้งแต่ต้น เธอคือความสดใหม่ในชีวิตคู่อันน่าเหนื่อยหน่ายของเขา ส่วนการหลบเลี่ยงไม่สอนความชั่วร้ายของโลกให้แก่เธอก็ไม่ต่างอะไรจากการปกปิดบาปของตัวเอง

“ดิฉันจำข้อความบทหนึ่งของนักบุญปอล ซึ่งดิฉันนำมาสวดกับตัวเองทุกวันว่า… ‘สำหรับข้าพเจ้า เมื่อก่อนนั้นมีชีวิตอยู่โดยปราศจากกฎเกณฑ์ แต่เมื่อมีพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า บาปกับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ แล้วตัวข้าพเจ้าก็ตาย” 

ประโยคนี้ประโยคเดียวแทบจะอธิบายทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ บาปถือกำเนิดขึ้นมาจากบัญญัติของพระเจ้าเช่นเดียวกับนิยามความดี ก่อนหน้านั้นอะไรคือบาป อะไรคือบุญ ไม่มีใครกำหนด การกระทำของนักบวชก็อาจไม่ใช่เรื่องผิดบาปก็ได้ หากไม่มีนิยามคำว่าบาปตั้งแต่ต้น 

นักบวชวัยกลางคนมีครอบครัวกับเด็กสาวตาบอดวัย 15 ปี มีความรักต่อกัน อาจเป็นเพียงแค่ความรักของคนคู่หนึ่งที่เกิดขึ้น แต่เมื่อสังคมตีตราแล้วว่าการนอกใจภรรยาผิดศีลธรรม การที่ผู้ชายวัยขนาดนี้มารักกับเด็กพิการเป็นการเอาเปรียบเธอ การเป็นนักบวชประพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เหมาะสม พวกเขาจึงถูกลงโทษด้วยความรู้สึกผิดของตัวเอง

Symphony No.6 ภาพหลีกหนีโลกอันโหดร้าย 

ใจความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเรื่องคือ บทเพลง Symphony No.6 หรือ Pastoral Symphony ของเบโธเฟน ช่วงท้ายของหนังสือ ‘อติภพ ภัทรเดชไพศาล’ นักเขียนผู้หลงใหลในศาสตร์ดนตรีอธิบายบทเพลงนี้เอาไว้ว่า เป็นการชื่นชมภาพธรรมชาติในชนบท แต่ละท่อนใช้ชื่อสื่อถึงฉากและเรื่องราวได้อย่างแจ่มชัด เช่น ‘ฉากริมธาร’ (Scene by the brook) แต่การรับฟังบทเพลงนี้อย่างถูกต้อง ผู้ฟังต้องไม่เชื่อมโยงเสียงเพลงเข้ากับภาพใดๆ และควรเปิดจินตนาการให้กว้างที่สุด เพื่อให้เพลงนี้ชื่นชมธรรมชาติอย่างนามธรรมพ้นความเป็นภาษาสามัญของมนุษย์ สู่ความเป็นภาษาของทวยเทพ 

นักบวชสอนเด็กสาวเรื่องสีด้วยการเปรียบเครื่องดนตรีแต่ละชนิดเป็นสีแต่ละสี มีเพียง ‘สีขาว’ สีเดียวที่เขาไม่สามารถหาอะไรมาเปรียบเทียบได้สมเหตุสมผล 

เมื่อมีคอนเสิร์ตเพลง Symphony No.6 มาเล่นในเมือง นักบวชจึงพาเธอไป หวังจะสื่อสารให้เข้าใจในความงามของธรรมชาติ เข้าใจในสีสัน เข้าใจว่าโลกสวยสดงดงามฉกเช่นความไพเราะของบทเพลง แต่นักบวชรู้ดีว่าบทเพลงนี้ไม่ได้วาดภาพโลกของเราตามความเป็นจริง มันคือการวาดฝันโลกที่ควรจะเป็น เพราะสำหรับเขา โลกเต็มไปด้วยบาป ขณะที่ความตาบอดของเด็กสาวทำให้เธอเป็นผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสาที่สุดบนโลกใบนี้

“พวกคนที่มีตามองไม่เห็นความสุขของตนเองหรอก” ข้าพเจ้ากล่าวในที่สุด

“ส่วนดิฉันก็มองไม่เห็นอะไรเลย ดิฉันรู้จักความสุขของการได้ยิน” หล่อนร้องขึ้นในทันใด 

  การกระทำของนักบวชอาจดูไม่น่าให้อภัย แต่เขาก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่มีความสุขในชีวิต ‘ความมืดบอด’ ก่อเกิดขึ้นเพื่อพยายามหลุดพ้นจากนิยามของความบาปทั้งปวง นักบวชไม่รู้เลยว่าบาปกัดกินจิตใจเขาและคนรอบข้างถึงเพียงไหน จนกระทั่งสูญสิ้นทุกอย่าง 

ทุกอย่างภายในเรื่องล้วนเป็นความเจ็บปวดของมนุษย์ที่เลือกจะศรัทธาชุดความคิดหนึ่ง และทนทุกข์กับชุดความคิดนั้นเสียเอง เหมือนความเชื่อของอ็องเดร ฌีดที่ว่า ศาสนาต่างเรียกร้องให้มนุษย์ยอมรับศาสดาของตน แต่ในเมื่อมนุษย์เราเป็นอิสระ เหตุใดเราจึงต้องหานายคนใหม่ โลกมนุษย์จะรอดพ้นจากหายนะนั้นได้ก็เพราะมนุษย์ประเภทไม่ยอมสยบ 

แต่เราจะใจแข็งพอแค่ไหนที่จะต้านทานความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในสังคม…

Fact Box

  • La Symphonie Pastorale, ผู้เขียน  André Gide, ผู้แปล อำพรรณ โอตระกูล, ออกแบบปก นักรบ มูลมานัส , สำนักพิมพ์อ่าน101, พิมพ์ครั้งที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ราคา 180 บาท
  • อ็องเดร ฌีด เป็นนักเขียนฝรั่งเศสที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 1947 หนังสือเล่มนี้เขาตั้งใจจะเขียนเมื่อปี 1893 แต่เพิ่งลงมือเขียนจริงจัง 25 ปีให้หลัง โดยมีฉากหลังเป็นหมู่บ้าน ‘ลา เลรวีน’ (La Brévine) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเขาเคยไปรักษาตัว
Tags: , , ,