ไลฟ์โค้ช มันนี่โค้ช หรือจะโค้ชไหน ก็มักบอกเราเสมอว่าอุปนิสัยคนรวยคือมองการณ์ไกล ส่วนคนจนนั้นมักติดนิสัยมองอะไรในอนาคตอันใกล้ คนรวยก็เพราะมีวิสัยทัศน์ เก็บออมเอาเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ และสร้าง passive income ส่วนคนจนๆ น่ะหรือ ได้เงินมาก็เอาไปลงกับงานเลี้ยงสังสรรค์ เห็นช่องใช้ทันทีที่ได้รับเงินเดือน
แต่สิ่งที่โค้ชทั้งหลายไม่ได้บอกคือ ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ไม่ว่าจะรวยจะจนแค่ไหน มนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่อดทน มักให้ค่ากับความสุขในปัจจุบัน มากกว่าความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันแสนไกล
ผมขอถอยออกจากเรื่องเงินๆ ทองๆ มาสู่เรื่องใกล้ตัว เช่น การกินของหวานมากเกินไป หรือการไม่ออกกำลังกาย ที่ไม่ว่าจะมีเงินได้มากน้อยขนาดไหน เราก็ยินดีจะเอ็นจอยไลฟ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน ทั้งที่รู้ดีว่าในอนาคตมีความเสี่ยงต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานา แต่เอาน่า ขอมีความสุขกับปัจจุบันขณะละกัน พรุ่งนี้ค่อยเริ่มลดขนมหวานและออกกำลังกาย
พฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลนี้ถูกนำมาใส่กรอบทฤษฎีว่าด้วยความพึงพอใจในแต่ละช่วงเวลา (Time Preferences) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่า มนุษย์ที่มีเหตุมีผลจะสามารถตัดสินใจเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุด โดยเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนและผลประโยชน์ที่เราจะได้รับในเวลาที่ต่างกัน
สมมติง่ายๆ หากผมเสนอทางเลือกให้คุณผู้อ่านสองทางเลือกคือ 1. รับเงินจากผมตอนนี้ 1,000 บาท หรือ 2. รับเงินจากผมปลายปีนี้ 1,000 บาท (ขอย้ำว่าสมมติ!) แน่นอนว่าแทบทุกคนต้องชื่นชอบข้อเสนอแรก ก็เพราะเงิน 1,000 บาทในปัจจุบันมีค่ามากกว่าโดยเปรียบเทียบกับเงิน 1,000 บาทตอนปลายปีนี้นั้นแล ส่วนมูลค่าของเงินในปัจจุบันจะต่างจากมูลค่าของเงินในอนาคตเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับอัตราคิดลด (Discount Rate) ซึ่งแต่ละคนมีอยู่ในใจ และหากอัตราคิดลดยิ่งมาก มูลค่าในอนาคตก็จะยิ่งต่ำเตี้ย
ทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายความไม่สมเหตุสมผล โดยบอกว่า มนุษย์มีอัตราคิดลดในใจที่เพิ่มแบบก้าวกระโดด (exponential discounting) ทำให้ความสุขหรือความทุกข์ในอนาคตอันไกลนั้นมีค่าจิ๋วจ้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ก็เช่น เหล่ามนุษย์ที่มีความสุขกับปัจจุบันมักจะมีพฤติกรรมการใช้เงินแบบเศรษฐีตอนต้นเดือน ก่อนจะค่อยๆ กลายสภาพเป็นยาจกในช่วงสิ้นเดือน (มนุษย์ที่มีเหตุมีผลตามทฤษฎีจะแบ่งใช้อย่างเท่าๆ กันตลอดเดือน)
อย่างไรก็ดี แนวคิดข้างต้นถูกคัดง้างว่าปุถุชนอาจไม่ได้มีอัตราคิดลดที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่มักจะมีพฤติกรรมไม่อดทนในระยะสั้น แต่ค่อนข้างมีความอดทนในระยะยาว กล่าวคืออัตราการคิดลดจะสูงในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวอาจไม่ได้สูงลิบลิ่วอย่างที่แบบจำลองข้างต้นคาดการณ์
เมื่อ พ.ศ. 2541 ดานีล รีด (Daniel Read) และบาร์บารา ฟอน เลเวน (Barbara van Leeuwen) สองนักเศรษฐศาสตร์ได้ทำการทดลองโดยให้ผู้เข้าร่วมเลือกอาหารว่างที่จะทานในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า จาก 2 ตัวเลือกคือ อาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ และอาหารว่างที่เป็นอาหารขยะ ในการตัดสินใจล่วงหน้า ผู้เข้าร่วมราวร้อยละ 74 เลือกว่าจะรับประทานอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ ก็ให้ลองเลือกอีกครั้งว่าจะรับประทานอาหารว่างชนิดใด ผลปรากฏว่าผู้เข้าร่วมเกินกว่าครึ่งเปลี่ยนใจจากการกินผลไม้สวยๆ ไปเลือกอาหารขยะเกินกว่าครึ่ง โดยผู้ตัดสินใจเลือกรับประทานอาหารขยะจริงๆ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 70
การทดลองข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ตัวเราในปัจจุบันคาดหวังให้ตัวเราในอนาคต ‘อดทน’ มากกว่า และมีพฤติกรรมที่ดีกว่า แต่ความเป็นจริงกลับไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะตัวเราในอนาคตก็ผลัดวันประกันพรุ่งไม่ต่างจากตัวเราในปัจจุบันแม้แต่น้อย
หลายคนจึงเลือกจัดการปัญหาดังกล่าวโดยสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้การเปลี่ยนพฤติกรรมในอนาคตของเรานั้นมีราคาแพง โดยอาจจะเป็นอุปกรณ์ขำๆ อย่างเจ้า Clocky นาฬิกาปลุกมีล้อที่จะวิ่งหลบไปรอบห้องจนกว่าคุณจะลุกจากที่นอน ไปจนถึงเรื่องน่าประหลาดใจอย่างชาวอินเดียที่ยอมกู้เงินจากสถาบันสินเชื่อขนาดจิ๋วและยอมเสียดอกเบี้ยมโหฬารมาเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ หรือแม้แต่เรื่องสามัญธรรมดาอย่างการยอมเสียเงินตอนนี้สมัครสมาชิกฟิตเนส เพื่อให้ตัวเองในอนาคตเสียดายเงินหากไม่ไปใช้บริการ
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจและสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากคือเว็บไซต์ stickK.com แพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้เราทำสัญญากับตัวเองโดยเน้นเป้าหมายในการลดหรือควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งการเลิกบุหรี่ ซึ่งมีทางเลือกในการวางเงื่อนไขแบบซอฟต์ๆ อย่างส่งอีเมล์ประจาน เอ้ย แสดงความคืบหน้าสู่เป้าหมายให้กับญาติสนิทมิตรสหายของเรา หรือแบบฮาร์ดคอร์สุดๆ คือวางเดิมพันว่าหากทำไม่สำเร็จจะบริจาคเงิน (ตัดจากบัตรเครดิตที่กรอกรหัสไว้ล่วงหน้า) ให้แก่องค์กรหรือพรรคการเมืองที่เราเกลียด
ที่สำคัญ ผู้ทำสัญญาใน stickK.com สามารถแต่งตั้ง ‘กรรมการ’ คนใกล้ชิดพอที่จะบันทึกว่าเราทำตามสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่ และเลือดเย็นพอที่จะลงโทษหากเราทำไม่ได้ตามเป้าหมาย
การออมเงินก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินมา ‘กระตุ้น’ ให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมค่อนข้างมาก เช่น โครงการรวมกลุ่มกันออมเงินเพื่อเทศกาลต่างๆ ที่ห้ามถอนก่อนถึงเวลา หรือโครงการ Save More Tomorrow ที่จะปรับอัตราส่วนการออมเงินของพนักงานในบริษัทเพิ่มตามเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ส่วนในประเทศไทย ก็มีเงินฝากประจำปลอดภาษีที่จะต้องตั้งเงื่อนไขให้ออมอย่างน้อยเดือนละ 2,000 บาทต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี เพื่อรับผลตอบแทนพิเศษ และอัตราดอกเบี้ยแบบไม่เสียภาษี
จุดเริ่มต้นในการปรับพฤติกรรม คือการยอมรับว่าเราต่างมีพฤติกรรมแย่ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับรายได้ และหากต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นจริงๆ ความพยายามอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องใช้ตัวล่อโดยผลักต้นทุนในอนาคตอันไกลให้มาอยู่ในเวลาปัจจุบัน หรือเพิ่มต้นทุนในกรณีที่เราไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ตามที่คาดหวัง
อ่านเพิ่มเติม
Predicting Hunger: The Effects of Appetite and Delay on Choice
Nudge: Improving Decisions about Health, Wealth, and Happiness
Tags: เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม, clocky, อัตราคิดลด, การออม