วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง” เพลงนี้เวียนมาถึงเมื่อไร เราก็ต้องกลับมาพูดเรื่องเดิมๆ รณรงค์เรื่องเดิมๆ กันทุกที ไม่ว่าจะเป็น กระทงแบบไหนดีที่ไม่ทำลายธรรมชาติ ใบตองหรือวัสดุแบบอื่น อะไรดีกว่ากัน แบบไหนทำลายแม่น้ำ แหล่งน้ำน้อยกว่ากัน เรื่อยไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์ อุบัติเหตุ เด็กเก็บกระทง การขายของ หรือเศรษฐกิจ

แม้แต่ประวัติศาสตร์วันลอยกระทง ก็ยังมีสองเรื่องเล่าให้ได้เลือกที่จะเชื่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าในแบบกระแสหลักที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยประมาณ 700 ปีมาแล้ว หรือสายนักประวัติศาสตร์ที่กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าลอยกระทงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่คำว่าลอยกระทงเริ่มเด่นชัดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งในพระราชนิพนธ์หนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (หรือที่รู้จักกันในนามนางนพมาศ) ที่มีการสมมติฉากในท้องเรื่องให้เป็นสมัยสุโขทัย มีการทำกระทงด้วยใบตองแทน ซึ่งทำให้กระทงใบตองเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน

และกระทงจากที่เคยเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมในอดีตก็กลายมาป็นหัวข้อให้ถกเถียงกันในประเด็นสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนี้ 

จากสถิติข้อมูลย้อนหลังของกรุงเทพมหานคร พบว่าประเพณีลอยกระทงแต่ละปี มีปริมาณกระทงเกือบ 1 ล้านใบ 

.. 2555 มีปริมาณกระทงรวม 916,354 ใบ แยกเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 785,061 ใบ กระทงทำจากโฟม 131,338 ใบ

.. 2556 มีปริมาณกระทงรวม 865,415 ใบ แยกเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 757,567 ใบ กระทงทำจากโฟม 107,848 ใบ

.. 2557 มีปริมาณกระทงรวม 982,064 ใบ แยกเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 885,995 ใบ กระทงทำจากโฟม 96,069 ใบ

.. 2558 มีปริมาณกระทงรวม 825,614 ใบ แยกเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 754,587 ใบ กระทงทำจากโฟม 71,027 ใบ

.. 2559 มีปริมาณกระทงรวม 661,935 ใบ แยกเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 617,901 ใบ กระทงทำจากโฟม 44,034 ใบ

.. 2560 มีปริมาณกระทงรวม 811,945 ใบ แยกเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 760,019 ใบ กระทงทำจากโฟม 51,926 ใบ

.. 2561 มีปริมาณกระทงทั้งหมด 796,774 ใบ แยกเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 751,891 ใบ กระทงทำจากโฟม 44,883 ใบ

สิ่งที่น่าสนใจจากสถิตินี้ก็คือ นอกจากปริมาณกระทงจะค่อยๆ ลดลงแล้ว ปริมาณการใช้กระทงจากวัสดุที่ย่อยสลายไม่ได้ก็ค่อยๆ ลดลงเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือในแต่ละปีนั้น จะมีขยะกระทงตกค้างในแหล่งน้ำในธรรมชาติมากแค่ไหน 

และแม้แต่จะเก็บขึ้นมาได้ ระยะเวลาที่อยู่ในน้ำในฐานะขยะนั้นก็ก่อให้เกิดมลพิษตกค้างในน้ำมากเท่านั้น ตั้งแต่น้ำเน่า ออกซิเจนต่ำ ไปจนถึงสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่หลุดไหลลงไปในแม่น้ำ กระทงที่สวยงามเพียงไม่กี่นาทีจากมือเราสู่ผืนน้ำ มันจะกลายเป็นขยะที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมทันที ซึ่งหน้าที่ในการจัดเก็บกระทงนั้นเป็นของกรุงเทพมหานคร โดยใช้เจ้าหน้าที่เพียง 500  กว่าคนเท่านั้น ในการจัดการขยะกระทงกว่า 9 แสนใบทุกปี 

กระทงไม่ว่าจะทำจากวัสดุอะไรก็ตาม ต่างส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำทั้งนั้น ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง กระทงที่ทำจากขนมปัง หรือโคนไอศกรีม ที่เคยฮิตกันอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะคิดกันเอาเองว่าปลาและสัตว์ในน้ำจะได้กินเป็นอาหาร แม้จะมีเวลาในการย่อยสลายเร็วที่สุดเพียง 3 วัน แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นวัสดุที่ทำลายแหล่งน้ำมากที่สุด เพราะเป็นสารอินทรีย์ โดยธรรมชาติหากสารอินทรีย์พวกนี้อยู่ในแม่น้ำ ก็จะมีจุลินทรีย์อย่างแบคทีเรียมากินเป็นอาหาร เปลี่ยนแป้งไปเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ดึงออกซิเจนในน้ำมาใช้ เมื่อใช้ออกซิเจนในน้ำมากไปจะกลายเป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสีย

ในขณะที่ต้นกล้วย ใบตอง กะลามะพร้าว ซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติ ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 14 วัน แต่เนื่องด้วยเป็นอินทรีย์สารเช่นเดียวกัน ก็ย่อมมีสิทธิทำให้เกิดน้ำเน่าเสียได้ แม้จะไม่รุนแรงเท่ากับขนมปังก็ตาม ส่วนกระทงกระดาษใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2-5 เดือน และกระทงโฟมใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 50 ปี 

ซึ่งไม่ว่ากระทงจะทำมาจากอะไร เมื่อลอยเสร็จแล้ว ก็ต้องถูกเก็บขึ้นมาในฐานะขยะเพื่อไม่ให้ส่งผลทำลายต่อแหล่งน้ำทั้งนั้น 

คำถามที่น่าสนใจที่ไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ตอบก็คือ ไม่ว่าจะใช้กระทงที่ทำจากวัสดุอะไรก็ตาม มันก็จะกลายเป็นขยะ และสุดท้ายก็ต้องจัดเก็บ (ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณ) และหากยังหลงเหลือตกค้างอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติก็จะเกิดผลเสียตามมา และที่สำคัญที่สุด การลอยกระทงไม่ว่าจะยุคไหนสมัยนั้น มันไม่เคยตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของประเพณีที่กล่าวอ้างได้เลยว่าเป็นการขอขมาแม่น้ำ’  แต่มันยิ่งเป็นการฆ่าแม่น้ำแหล่งน้ำเสียมากกว่า

แล้วเหตุใดเราจึงยังไม่ยกเลิกประเพณีที่มันไม่ดีงามแต่กลับทว่าย้อนแย้งนี้ไปเสีย หากเราต้องการขอขมาแม่น้ำจริงๆ 

หรือนี่ไม่ใช่แค่เรื่องประเพณีแต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ถึงผลสำรวจพฤติกรรม และการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงวันลอยกระทงในปี 2560 ว่า ในช่วงวันลอยกระทงมีเงินสะพัดกว่า 9,928 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,556.50 บาท ต่อคน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่ใช้จ่ายไปกับการทำบุญ และกลับบ้านต่างจังหวัด รวมถึงใช้ในการสังสรรค์ และในปีพ.. 2561 นั้น เงินสะพัดลดลง 2.3% โดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 76.4 วางแผนจะออกไปลอยกระทง เพื่อขอพร เรียนรู้วัฒนธรรม ส่วนร้อยละ 23.6 จะไม่ไปลอยกระทง

หรือที่จริงเราต้องการเพียงวันรื่นเริงที่สามารถออกไปเที่ยวเตร่สนุกสนานข้างนอกโดยไม่จำเป็นต้องมีการลอยกระทงและสร้างขยะกระทงก็ได้

มันจึงเป็นสิ่งที่ต้องชั่งตวงวัด รวมทั้งหามาตรการในการจัดการทั้งด้านสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจ หากจะยังดำรงประเพณีลอยกระทงไว้ต่อไป มาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่นอกจากการรณรงค์คืออะไร หรือแม้กระทั่งมาตรการในการดูแลฟื้นฟูแหล่งน้ำหลังจากนั้นคืออะไร แล้วคุ้มไหม หรือหากไม่ยุบประเพณีนี้ไป ในด้านเศรษฐกิจและการแพร่สะพัดของการใช้จ่ายในช่วงวันนี้ จะมีอะไรมาทดแทน จำเป็นไหม หรือไม่จำเป็น (เพราะมันก็ใกล้จะสิ้นปีแล้ว ยังไงก็ยังมีเทศกาลช่วงสิ้นปีให้ใช้จ่ายเงิน

ส่วนในประเด็นเรื่องการเป็นประเพณีอันเก่าแก่ของไทยคงไม่ต้องพูดคุยกันอีกแล้ว เพราะอย่างที่กล่าวไป การลอยกระทงมันไม่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์การขอขมาแม่น้ำมาแต่ไหนแต่ไร เหลือเพียงประเด็นเดียวที่ยังไม่ได้พูดถึงหรือนึกถึงก็คือการเป็นวันเสียตัวแห่งชาติซึ่งบอกเลยว่ายิ่งไม่ต้องไปนึกถึง เพราะเรื่องเสียตัวน่ะ ไม่จำเป็นต้องรอวันลอยกระทงหรอก มันเสียได้ทุกวัน ทุกเวลา!

อ้างอิง:

https://www.silpa-mag.com/history/article_12689

https://www.smartsme.co.th/content/110268

https://www.khaosod.co.th/economics/news_605373

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1742144

https://news.thaipbs.or.th/content/275875

ภาพ : MADAREE TOHLALA / AFP