“ผมชอบเดิน เป็นคนบ้าเดิน ผมชอบตรงที่ว่ามันกลับมาสู่ความเป็นมนุษย์ ความเป็นคน เรามีกล้ามเนื้อ มีท่อนแขน มีท่อนขา มีกระดูก มีฝ่าเท้าที่แบนราบไปกับพื้นดิน เมื่อใดก็ตามที่เราก้าวเดิน เรากลับมาสู่ความเป็นมนุษย์ ความเป็นคน ซึ่งมีกระดูกตั้งฉากกับพื้นดิน และเดินไปบนแผ่นดินที่ให้กำเนิดทุกชีวิต มันจะสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ถ้าเชื่อมโยงกันได้เมื่อไร มันจะเกิดสภาวะที่เราเห็นอกเห็นใจและเคารพนอบน้อมต่อธรรมชาติ”

        นิคม พุทธา ผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาว และผู้ออกเดินธรรมยาตราลุ่มน้ำแม่ปิงต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2553 กล่าวต้อนรับผู้ร่วมทริป ‘ตามน้ำ: ทริปเดินทางไปรู้จักและรักน้ำถึงต้นกำเนิด’ โดยเริ่มต้นจากการพูดถึง ‘การเดิน’

สำหรับคนคนหนึ่ง การเดินเลียบแม่น้ำปิงจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระยะทางกว่า 1,200 กิโลเมตร น่าจะทำให้คนคนนั้นมีมุมมองต่อสายน้ำแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ และหลายคำพูดที่นิคมสื่อสารกับพวกเราก็ช่วยยืนยันว่าหากจะมีใครสักคนที่รู้จักใกล้ชิดกับสายน้ำอย่างแท้จริง นิคมคือหนึ่งในคนเหล่านั้น

 

‘ตามน้ำ’

    วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ผมมีโอกาสกลับไปเยือนดอยหลวงเชียงดาวอีกครั้ง หลังจากเคยเดินขึ้นไปที่ยอดดอยเมื่อหลายปีก่อน

  การเดินทางครั้งนี้เกิดจากการจับมือกันระหว่างกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย กับ The Cloud ชวนเพื่อนร่วมทริปออกเดินทางไปยังอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ของสายน้ำ ผืนป่า และชีวิต โดยจัดกิจกรรม ‘ตามน้ำ: ทริปเดินทางไปรู้จักและรักน้ำถึงต้นกำเนิด’ เพื่อให้ผู้ร่วมทริปได้สัมผัสกับการเดินทางของสายน้ำ และทำความรู้จักกับ ‘น้ำ’ ผ่านกิจกรรมและการพูดคุยตลอดระยะเวลาสามวัน

  การกลับไปรอบนี้ ผมมองเห็นดอยหลวงเชียงดาวตั้งตระหง่านอยู่ในระยะไกล มองขึ้นไปก็นึกย้อนไปถึงวันที่แบกเป้มุ่งหน้าเดินสู่ยอดดอย

  นิคมบอกว่าเขาเดินขึ้นดอยหลวงทุกปี ปีละห้าครั้ง

  ฟังแล้วก็ได้แต่หวังว่าตัวเองจะมีโอกาสอีกสักครั้ง

 

‘ฟองน้ำ’

    ดอยหลวงเชียงดาวคือยอดเขาที่สูงเป็นอันดับที่สามของประเทศไทย รองจากดอยอินทนนท์และดอยผ้าห่มปก มีความสูง 2,275 เมตร และมี ‘ป่าเมฆ’ หรือผืนป่าดิบเขาระดับสูงที่มีเมฆปกคลุมตลอดปี ที่นี่จะหนาวเย็นตลอดฤดูหนาว และชุ่มชื้นมากในฤดูฝน จึงเป็นแหล่งที่มีพืชพรรณหลากหลาย และมีหลายชนิดที่เป็นพืชถิ่นเดียว ไม่พบในส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย ขณะที่ระบบนิเวศพิเศษของที่นี่คือมีพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์แบบเดียวกับบนภูเขาหิมาลัย แม้จะตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น

    ในฐานะผู้ใกล้ชิด นิคมบรรยายสภาพบนยอดดอยให้เราฟังว่า

    “ป่าเมฆคือป่าที่มีความสูงเกิน 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย เป็นป่าที่อยู่กับเมฆ มีเมฆขาวปกคลุมห่อหุ้มอยู่ตลอดเวลา เวลาเรามองขึ้นไป ที่อื่นเคว้งคว้าง ไม่มีเมฆ ไม่มีหมอก แต่มองไปที่ยอดดอยหลวงเชียงดาวเมื่อใดก็จะมีเมฆหมอกปกคลุม พอขึ้นไปข้างบน เราก็จะเห็นสิ่งมหัศจรรย์ คือป่าเมฆที่มีอายุดึกดำบรรพ์ มองขึ้นไปที่เรือนยอดของต้นไม้จะไม่มีช่องว่าง เรือนยอดของต้นไม้ปกคลุมรองรับแรงกระแทกของเม็ดฝน เปลี่ยนจากความรุนแรงเป็นความอ่อนโยน ไหลอาบย้อยลงมาตามกิ่งก้าน มอสส์ เฟิร์น ไลเคน ช่วยกันเก็บกักน้ำ แล้วซึมซับลงไปในดิน

  “ป่าไม่ได้กักเก็บน้ำเพื่อตัวเองเท่านั้น เมื่อแสงอาทิตย์ส่องมา เกิดการคายน้ำ แสงอาทิตย์ทำงานกับต้นไม้ ทำให้ต้นไม้คายน้ำ ละอองน้ำทำงานกับลม เกิดการกระจายความชื้น คือเมฆ และเมฆก็กระจายไปหล่อเลี้ยง ถ้าอยู่บนยอดดอย มองลงไป เราจะเห็นว่าข้างล่างมีความชื้น ลมก็ตีม้วนเข้ามา ละอองน้ำหรือหมอกก็จะไปเลี้ยงต้นไม้ ต้นไม้บนดอยหลวงเชียงดาวซึ่งเป็นระบบนิเวศเขาหินปูนมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะต้นไม้ที่อยู่รายรอบคายน้ำ และลมก็กระจายเมฆหมอกขึ้นไป”  

ดอยหลวงเชียงดาวคือหนึ่งในจุดกำเนิดของแม่น้ำปิง และมีบทบาทสำคัญในการช่วยกักเก็บน้ำฝนบริเวณผืนป่าต้นน้ำ ยอดเขาแห่งนี้จึงเปรียบได้กับ ‘ฟองน้ำ’ ขนาดใหญ่ที่ช่วยซึมซับและค่อยๆ ปล่อยให้สายน้ำไหลรินสู่เบื้องล่าง

      หลังจากฟังนิคมพูดถึงเรื่องราวของการเดินและธรรมชาติของสายน้ำ เราก็มีโอกาสได้สัมผัสกับประสบการณ์จริง โดยการเดินตามสายน้ำที่ไหลมาจากดอยหลวงเชียงดาว เพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสายน้ำ ป่าเขา และชีวิตของผู้คน

    ระหว่างทาง นิคมให้เราหยุดเดินเพื่อบอกเล่าสิ่งต่างๆ อยู่เป็นระยะ เขาบอกเล่าเรื่องราวของต้นไม้ ผืนดิน สัตว์ป่าน้อยใหญ่ และสายน้ำที่ไหลลดเลี้ยวผ่านก้อนหินในลำธาร ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างสิ่งต่างๆ และความสำคัญของทุกองค์ประกอบที่จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้

เราใช้เวลาราวสองชั่วโมงอยู่กับลำธารใสเย็นในป่าต้นน้ำ มันช่วยทำให้ผมเข้าใจคำพูดของนิคมมากขึ้น

    “การเดินทางไปกับสายน้ำ เพื่อให้เราหล่อหลอมความรู้สึกและจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียวกับสายน้ำ เมื่อสายน้ำสดใส จิตใจเราแจ่มใสเบิกบาน เมื่อสายน้ำหม่นหมอง จิตใจเราก็เศร้าหมอง”

 

‘ต้นน้ำ’

  วันต่อมา นิคมพาเราไปที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว บริเวณรอยต่อชายแดนไทย-พม่า เพื่อทำความรู้จักอีกต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง

 นิคมไม่ได้พูดอะไรมากเกี่ยวกับภาพที่เราได้เห็น เขาเพียงแต่บอกว่าเมื่อก่อนพื้นที่บริเวณนี้มีต้นไม้มากกว่าในปัจจุบัน

 สองข้างทางระหว่างที่เราเดินไปยังที่มาของเสียงน้ำไหล คือไร่กระเทียมและนาข้าวไร่กว้างใหญ่ สำหรับคนที่เพิ่งมาเห็น ภาพการปลูกพืชไร่บนภูเขาอาจไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่สำหรับนิคมซึ่งเคยเห็นภาพของต้นไม้น้อยใหญ่มากมายที่ปกคลุมพื้นที่ต้นน้ำบริเวณนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความน่าวิตกกังวล

 อันที่จริง การทำลายป่าต้นน้ำปิงที่ตำบลเมืองนะมีการรายงานผ่านสื่อมวลชนมาตั้งแต่ปี 2559 ในครั้งนั้น วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนบทความ ‘เมื่อป่าต้นน้ำแม่ปิงกลายเป็นไร่กระเทียม ไร่ข้าวโพด’ ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยระบุว่า เขาเดินทางไปที่ป่าต้นน้ำปิงกับนิคมเพื่อสำรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำ แต่สิ่งที่เขาพบคือ ไร่​กระเทียมและไร่ข้าวโพดกว้างใหญ่ที่ขนาบข้างลำธารขนาดเล็กซึ่งไหลลงมาจากภูเขา โดยพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดสูบน้ำจากลำธารสายนี้ขึ้นไปหล่อเลี้ยงต้นพืช
ส่วนหนึ่งของบทความชิ้นนั้นระบุว่า

  “ดูเหมือนการเพาะปลูกกระเทียมและข้าวโพดบนพื้นที่ลาดชันนั้นจะมีต้นทุนมหาศาล เพียงแต่ไม่มีการคิดคำนวณอย่างชัดเจน สิ่งที่สูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ที่ผลิตออกซิเจน ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นป่าต้นน้ำช่วยกักเก็บน้ำให้เราไว้ใช้ในหน้าแล้งนั้นไม่เคยนำมาคิดเป็นต้นทุน ไม่รวมถึงปัญหามลภาวะจากสารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆ เจือปนในลำธารไหลลงไปหล่อเลี้ยงผู้คนตอนล่าง และสุดท้ายก็คือสุขภาพอันเสื่อมโทรมของชาวไร่ไทใหญ่เหล่านี้ในอนาคต

  “ผู้ได้ประโยชน์เต็มๆ คือบริษัทเกษตรกรรมรายใหญ่

  “นี่คือภาพจริงของป่าต้นน้ำแม่ปิงที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเหนือ และมารวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาหล่อเลี้ยงคนภาคกลางและคนกรุงเทพฯ ซึ่งกำลังถูกทำลายอย่างย่อยยับ และอัตราการทำลายป่าต้นน้ำก็เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างน่าอัศจรรย์”

  ในวันนั้น ผมและผู้ร่วมทริปเดินผ่านไร่กระเทียมและนาข้าวไร่เข้าไปจนถึงสุดทางเดิน ก่อนที่สายน้ำจะเลี้ยวหายไปในดงไผ่

ระหว่างทาง ผมก้มลงสำรวจผืนดินริมลำน้ำ แน่นอนว่ามันคงดูดซับยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า หรือปุ๋ยเคมีไว้จำนวนไม่น้อย แต่จากการสำรวจด้วยมือและสายตา ผืนดินบริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ไม่น้อย มันมีทั้งความชื้นและความร่วนซุย รวมทั้งมีมูลไส้เดือนปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป

  นี่อาจจะเป็นผลพวงของผืนป่าที่เคยปกปักดูแลพื้นที่บริเวณนั้น ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินที่ใช้เวลาก่อร่างสร้างตัวยาวนานหลายปี และอำนวยประโยชน์ให้กับการเพาะปลูกของมนุษย์

  แต่เมื่อผืนป่าสูญหายไปแล้ว ความอุดมสมบูรณ์ที่ผืนป่าสร้างไว้ จะคงอยู่ไปได้อีกยาวนานเพียงใด

 หลังจากนำเสนอเรื่องราวการทำลายป่าต้นน้ำปิง วันชัยแจ้งความคืบหน้าของเรื่องนี้ในเพจ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 โดยระบุว่าหลังจากเขาโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องการทำลายป่าต้นน้ำปิงที่ตำบลเมืองนะ ซึ่งมีคนดูร่วมแสน และถูกแชร์ไปในโลกออนไลน์จำนวนมาก

  “เมื่อไม่กี่วัน ทีมสื่อมวลชนได้พยายามเข้าไปในพื้นที่เพื่อรายงานข่าว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไป อ้างว่าอธิบดีสั่งห้าม เพราะเป็นข่าวสร้างความเสียหายให้กับกรม

 “เป็นวิธีแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่ถนัดของผู้มีอำนาจในบ้านนี้”

  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 บริเวณต้นน้ำปิงที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงมีไร่กระเทียมและนาข้าวไร่ให้มองเห็น

  สำหรับนิคม ถึงแม้จะบอกว่าเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อพลิกฟื้นผืนป่าให้คืนกลับมา แต่ผมคิดว่านิคมคงลงมือทำอะไรบางอย่างไปบ้างแล้ว

  และการพาพวกเราเข้าไปเห็นด้วยตาของตัวเองในวันนั้น ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่นิคมกำลังทำ

Tags: , , , , ,