เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยเขียนบทความงบฟื้นฟูสี่แสนล้าน: ‘ประชาชนต้องมาก่อนผู้รับเหมาตั้งข้อสังเกตถึงโครงการที่หน่วยงานราชการและท้องถิ่นส่งมาขออนุมัติใช้งบเงินกู้ของรัฐ ในกรอบวงเงินสี่แสนล้านบาทเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมว่า โครงการจำนวนมากไม่น่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังโควิด-19 ได้ตรงตามวัตถุประสงค์แต่อย่างใด

  จากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นที่ปรากฏบนเว็บไซต์ ThaiME ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กลางเดือนมิถุนายน ผู้เขียนพบว่า

  โครงการที่เน้นเรื่องคนหรือเทคโนโลยีเช่น โครงการจ้างงาน สร้างอาชีพ แก้ปัญหาความยากจน พัฒนาศักยภาพ ใช้ big data พัฒนาเทคโนโลยี รวมกันมีเพียงประมาณ 3,676 โครงการ มูลค่างบประมาณราว 1.3 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีโครงการที่เน้นการแก้ปัญหาความยากจนเพียง 12 โครงการ งบประมาณรวม 198 ล้านบาทเท่านั้น

  โครงการที่เน้นคนหรือเทคโนโลยีเหล่านี้มีมูลค่าและจำนวนโครงการน้อยกว่าโครงการที่เน้นเรื่องของเช่น โครงการสร้างและซ่อมถนน สร้างป้าย สร้างศูนย์ สร้างอาคารต่างๆ รวมถึงโครงการจัดการ ซึ่งมีจำนวนกว่า 19,260 โครงการ ของบประมาณรวมกันราว 1.5 แสนล้านบาท ทั้งที่งบฟื้นฟูควรถูกนำไปใช้กับคนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มทักษะ

 …

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ข่าวเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2563 รายงานว่า ถึงปัจจุบันมีโครงการที่เสนอเข้ามามากถึง 46,411 โครงการ รวมวงเงินที่เสนอเข้ามามากกว่า 1.44 ล้านล้านบาท สูงกว่าวงเงินสี่แสนล้านกว่าสามเท่า รองเลขาธิการ สศช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการให้สัมภาษณ์สื่อว่าการพิจารณาได้ช่วยกันดูโครงการที่มีการเสนอเข้าตั้งแต่เช้ายันเย็นยันดึกทุกคืน ไล่ดูกันดูจนมั่นใจว่าได้โครงการที่ตอบโจทย์ในเรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับการฟื้นฟู ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น นอกจากนี้เมื่อมีการดำเนินโครงการไปแล้วหน่วยงานจะต้องมีการติดตามประเมินผลโครงการเป็นระยะๆ

  นอกจากนี้ ประธานอนุกรรมการฯ ยังแจกแจงว่า โครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณาจะมีลักษณะดังนี้

1.โครงการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ หรือก่อให้เกิดการจ้างงานหรือสร้างอาชีพในพื้นที่

2.โครงการที่ใช้งบประมาณลงไปกับที่ปรึกษาโครงการหรือผู้รับเหมา มากกว่าที่จะเกิดประโยชน์กับคนในชุมชน

3.ลักษณะโครงการเป็นการจัดงานอีเว้นท์ หรือโครงการอบรมสัมมนาระยะสั้น ที่ไม่ได้สร้างประโยชน์เกี่ยวกับการเรียนรู้และสร้างทักษะอาชีพใหม่

ผู้เขียนฟังคำชี้แจงแล้วก็รู้สึกใจชื้นขึ้นมาบ้างว่า สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามกลั่นกรองโครงการอย่างรัดกุม แต่อย่างไรก็ตาม การอนุมัติโครงการยังเป็นไปอย่างล่าช้ามาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่มีทีมเศรษฐกิจแทนรองนายกฯ และรัฐมนตรีที่ลาออกไป โดยช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 มีโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพียง 5 โครงการ วงเงินรวม 15,520 ล้านบาทเท่านั้น และถ้านับทุกโครงการที่มีมติเห็นชอบหลักการ โครงการเหล่านี้ก็มีจำนวน 186 โครงการ ใช้วงเงินรวม 92,400 ล้านบาท ไม่ถึงหนึ่งในสี่ของวงเงินที่ตั้งไว้

  ในเมื่อรัฐบาลใช้วิธีให้หน่วยงานราชการและท้องถิ่นเสนอโครงการเข้ามาเองภายใต้กรอบที่กว้างมาก (ว่าจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม”) และภายในเวลาที่กระชั้นมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพรวมของโครงการทั้งหมดดูสะเปะสะปะ รัฐบาลขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร อะไรคือทิศทางใหม่หรือ ‘New Normal’ ที่สังคมไทยควรก้าวเดินหลังโควิด-19 (ซึ่งวันนี้ก็ยังเรียกว่าหลังไม่ได้ เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าวัคซีนจะผลิตและกระจายในวงกว้างได้เมื่อไร)

เมื่อคำนึงว่าโควิด-19 และมาตรการรักษาระยะห่างของรัฐส่งผลให้มีคนตกงานหลายล้านคน บัณฑิตจบใหม่ในปีนี้หลายแสนคนไม่มีงานทำ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีกว่าจะฟื้น และเมื่อฟื้นแล้วก็ไม่น่าจะกลับไปเหมือนเดิม เมื่อผู้บริโภคทั่วโลกจะใส่ใจกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยเฉพาะการทำธุรกรรมออนไลน์

ในภาพใหญ่ วิกฤติโควิด-19 ก็เปรียบดังเสียงปลุกจากธรรมชาติ เขย่าให้มนุษย์รู้ซึ้งถึงผลกระทบร้ายแรงจากการทำลายธรรมชาติอย่างไม่บันยะบันยัง เห็นชัดว่าการทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า กดดันให้สัตว์ต้องย้ายมาอาศัยอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงที่เชื้อโรคจากสัตว์จะติดต่อสู่คน และเมื่อใดที่วิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เวทีการเจรจาระดับโลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกลับมาร้อนแรงมากขึ้น ผู้นำประเทศต่างๆ จะถูกเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนนโยบายในทางที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เมืองที่ยั่งยืน ตาข่ายสังคมที่ครอบคลุม และเศรษฐกิจฐานกว้างที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ ผู้เขียนเห็นว่างบฟื้นฟูสี่แสนล้านบาท ควรตั้งอยู่บนวิสัยทัศน์ที่เน้นห้าเรื่องใหญ่ ดังต่อไปนี้

 1. สร้างงานสร้างอาชีพ เพิ่มทักษะในทางที่สอดรับกับ New Normal

  โครงการส่วนใหญ่ที่จะใช้งบประมาณสี่แสนล้านควรเน้นการสร้างงานสร้างอาชีพ เพิ่มทักษะ ให้กระจายอย่างทั่วถึงให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะสำหรับบัณฑิตจบใหม่ ภาคการเกษตร และภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปอย่างน้อยอีก 1-2 ปี

ในเมื่อภาวะปกติใหม่หรือ New Normal ส่วนหนึ่งตั้งอยู่บนอัตราเร่งที่เร็วขึ้นของการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล การสร้างหรือเติมทักษะใหม่ๆ ในด้านนี้ อาทิ ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะพื้นฐานด้านการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล ทักษะด้านการตลาดดิจิทัล ให้กับผู้ตกงาน เกษตรกร และ SMEs ที่จะช่วยให้พวกเขาแสวงโอกาสใหม่ๆ ได้มากขึ้นในการเข้าหาและเข้าถึงลูกค้าออนไลน์ ควรเป็นส่วนสำคัญของโครงการที่เน้นการเพิ่มทักษะ

  ในภาพรวม ควรมีการบูรณาการโครงการต่างๆ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การแก้ปัญหาภัยแล้งสำหรับเกษตรกร ส่งเสริมและขยายขนาดนวัตกรรมชุมชน เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างหรือยกระดับกลไกการรวมกลุ่มที่เชื่อมโยงผู้ผลิตในชุมชนให้เข้ามาใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดจนโครงการที่ช่วยพัฒนาโครงสร้างดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึง

  สำหรับบัณฑิตใหม่ที่ตกงาน นอกจากการเพิ่มทักษะที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลควรยกเลิกโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่เสนอเข้ามาในงบประมาณ 13,500 ล้านบาท นำเงินจำนวนเดียวกันนี้ไปมอบเป็นทุนการศึกษาให้บัณฑิตเรียนหนังสือต่อในระดับปริญญาโท และจ้างบัณฑิตไปเป็นโค้ชช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศแทน โดยเฉพาะการสอนทักษะดิจิทัล ด้านการตลาด การวางแผนธุรกิจ การสร้างศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และทักษะอื่นๆ ตามสาขาที่บัณฑิตได้ร่ำเรียนมา เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี

  วิธีนี้นอกจากจะช่วยบัณฑิตให้ไม่ต้องตกงาน รับประกันว่ามีรายได้ต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี ยังจะเป็นการยกระดับท้องถิ่น เพิ่มทักษะใหม่ๆ ที่เกื้อหนุนการประกอบอาชีพ ให้กับประชาชนที่อาจยังเข้าไม่ถึงไปด้วยในเวลาเดียวกัน

 2.เพิ่มกลไกการแก้ปัญหาหนี้สินเพื่อชีวิตใหม่หลังโควิด-19

  ผู้เขียนเคยเสนอไปแล้วในบทความฝ่าวิกฤติหนี้รายย่อยและ SMEs – เป้าหมาย หลักการ และเครื่องมือที่ควรใช้ว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการรับมือกับวิกฤติหนี้ภาคประชาชนที่สุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดในอนาคตอันใกล้ โดยเสนอว่าควรใช้เครื่องมือหลัก 4 ชนิด ได้แก่

1.ออกกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดา (กลไกพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ให้ทัดเทียมกับเจ้าหนี้ ปัจจุบันสิทธิดังกล่าวในไทยใช้ได้เฉพาะลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น ไม่สอดคล้องกับกฎหมายล้มละลายของนานาประเทศ) 2. จัดตั้งทะเบียนหลักประกันแห่งชาติ (national collateral registry) 3. จัดตั้งกองทุนซื้อสินทรัพย์ที่ยังมีคุณภาพดีมาพักชั่วคราวเป็นเวลา 1-2 ปี (asset warehousing) และ 4. ปรับปรุงกลไกเดิม อาทิ ซอฟท์โลน 5 แสนล้าน (ซึ่ง SMEs รายเล็กจำนวนมากยังเข้าไม่ถึง) กระบวนการไกล่เกลี่ย การบังคับคดี และขอบเขตการทำงานของบริษัทบริหารสินทรัพย์

  กลไกเหล่านี้ต้องอาศัยวิสัยทัศน์มากกว่าเงินงบประมาณ แต่กลไกบางอย่าง อาทิ การจัดตั้งกองทุนซื้อสินทรัพย์คุณภาพดีมาพักชั่วคราว อาจต้องอาศัยเงินของรัฐมาสนับสนุน

  นอกจากนี้ รัฐบาลก็สามารถพิจารณาใช้งบฟื้นฟูในส่วนนี้เพิ่มเติมเพื่อเสริมพลังให้กับกลไกแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน ยกตัวอย่างเช่น หากมีการออกกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดา แผนการบริหารหนี้ (เทียบเท่าแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท) ก็ควรมีผู้เชี่ยวชาญทางการเงินเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำ เพื่อเสริมสร้างทักษะการจัดการหนี้และความรู้ทางการเงิน (financial literacy) ที่จะติดตัวลูกหนี้สืบไป

ในแง่นี้ รัฐบาลอาจริเริ่มโครงการอาสาสมัครด้านการเงินประจำหมู่บ้าน’ (อกม.) ทั่วประเทศ เพื่อเป็นที่ปรึกษาเรื่องหนี้และการเงินส่วนบุคคลในระดับท้องถิ่น ถ้าเปิดโครงการอบรม อกม. จำนวน 75,000 คน (หมู่บ้านละ 1 คน) โดยให้ค่าตอบแทนเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน เท่ากับต้องใช้เงินงบประมาณทั้งหมดเพียง 4,500 ล้านบาทเท่านั้น  

 3. ยกระดับสวัสดิการให้ทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ

  วิกฤติโควิด-19 ด้านหนึ่งเผยให้เห็นช่องว่างและช่องโหว่มากมายของระบบสวัสดิการพื้นฐานในไทย แม้แต่โครงการเยียวยาของรัฐเองก็ยังมีผู้ตกหล่น เข้าไม่ถึงมากมาย ผลการสำรวจของ สศช. ในเดือนเมษายน 2563 พบว่ามีพนักงาน แรงงาน ลูกจ้าง และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ร้อยละ 88 และกลุ่มที่ไม่รู้เกี่ยวกับมาตรการ รวมถึงไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ ประมาณร้อยละ 22”

  ผู้เขียนเห็นว่า งบฟื้นฟูสี่แสนล้านบางส่วนควรใช้ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและความไร้ประสิทธิภาพของระบบสวัสดิการ (อาทิ ปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ล้าหลังกว่า 20 ปี ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกันตนได้รับเงินชดเชยช้ามาก) ยกระดับสวัสดิการให้ทั่วถึง อุดช่องโหว่ของงบฯ เยียวยาที่ประชาชนบางกลุ่มยังเข้าไม่ถึง และเน้นกลไกที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงสวัสดิการสำคัญๆ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบางในสังคม

  ในแง่นี้ การยกระดับการศึกษาทางไกล และการวางกลไกการรักษาสุขภาพทางไกล (telehealth) อาจเป็นส่วนสำคัญของให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐานและสวัสดิการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่แน่นอนว่าสองเรื่องนี้ต้องอาศัยการลงทุนและวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลพอสมควร

 4. เปลี่ยนทิศประเทศเข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

  ในเมื่อวิกฤติโควิด-19 ด้านหนึ่งสะท้อนปัญหาของการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนโดยเฉพาะผลพวงจากการทำลายสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้เขียนจึงเห็นว่าการใช้งบฯ ฟื้นฟูสี่แสนล้านในเชิงโครงสร้าง ควรเน้นโครงการที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในช่วงโควิด-19 การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงโครงการที่จะส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการหน้าใหม่ในธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะแสงอาทิตย์ ธุรกิจการท่องเที่ยวชุมชน ธุรกิจอาหารออร์แกนิกและเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

  ข้อเสนอที่ผู้เขียนเห็นว่าสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีแนวโน้มที่จะพลิกโฉมประเทศเข้าสู่เส้นทางสายนี้ได้อย่างคุ้มค่า คือข้อเสนอของกรีนพีซ (ปัจจุบันเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน) ที่จะให้รัฐบาลนำเงินจากงบฯ ฟื้นฟู 90,000 ล้านบาท ไปติดตั้งหลังคาพลังแสงอาทิตย์หรือโซลาร์รูฟท็อป จำนวน 1 ล้านหลังคาเรือน โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศ ด้วยมาตรการ net metering (ระบบหักลบกลบหน่วย ไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซลาร์รูฟสามารถนำมาตอบสนองการใช้อุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน (โหลดไฟฟ้า) ได้ทันที ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนเกินเก็บเป็นเครดิต นำมาใช้หักลบกลบหน่วยได้ในรอบบิลถัดไปและมีมูลค่าเท่ากับราคาขายปลีก)

  กรีนพีซประเมินว่าการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปดังกล่าวจะทำให้มีกำลังผลิตติดตั้งในระบบไฟฟ้า 2,471 เมกะวัตต์ ประหยัดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน โรงพยาบาล และโรงเรียน 17,139 ล้านบาทต่อปี เกิดการจ้างงานมากกว่า 50,000 ตำแหน่งนอกจากนี้ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.48 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับการมีผืนป่า 1 ล้านไร่

  ผู้เขียนเห็นว่าข้อเสนอนี้น่าสนใจและมาอย่างถูกจังหวะ เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจในประเทศนั้นส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดต่ำลงอย่างมาก จนปริมาณสำรองไฟฟ้าในระบบพุ่งสูงเกินกว่า 50% ในปี 2563 (ที่ผ่านมาปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยก็สูงเกินมาตรฐาน 15% ต่อเนื่องนานหลายปี) ดังนั้นข้ออ้างที่ว่าหากทำโครงการโซลาร์รูฟท็อปขนานใหญ่จะทำให้ กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม (เพราะแผงโซลาร์ผลิตได้แต่ตอนกลางวัน) จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

  ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยในโครงการรณรงค์โซลาร์รูฟท็อป 1 ล้านหลังคาเรือน ขยายความให้ผู้เขียนฟังว่า ปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตสำรองอย่างน้อย 12,000 MW ส่วนอีกสามปี ตามข้อเสนอกรีนพีซ แม้จะเพิ่มโซลาร์รูฟท็อปมาอีก 3,000 MW แต่กำลังผลิตสำรองตามแผน PDP ในปี 2565 สูงถึง 19,000 MW จึงไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มมาสำรองโซลาร์รูฟท็อปแต่อย่างใด

  ต่อข้อกังวลของบางคนที่ว่า การให้รัฐอุดหนุนโซลาร์รูฟท็อปจะทำให้ค่าไฟแพงขึ้นนั้น คุณศุภกิจอธิบายว่า เมื่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าจากผู้ที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ แต่ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ยังคงเดิม จะถูกนำไปหารด้วยจำนวนหน่วยไฟฟ้าจำหน่ายที่ลดลง ซึ่งแปลว่า ต้นทุนสำหรับผู้ที่ยังคงซื้อไฟฟ้าตามปกติจะต้องเพิ่มขึ้น ปัจจุบันโซลาร์รูฟท็อป (ในโครงการนำร่อง) 350 MW ที่ผลิตใช้เอง ทำให้ตัวหารน้อยลง มีผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 1 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 0.2% แต่สิ่งที่ไม่ค่อยได้พูดคือ การผลิตไฟฟ้าใช้เอง ก็มีผลให้ กฟผ. สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งคำนวณแล้วปัจจุบันลดลงอยู่ 0.4 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้นโซลาร์รูฟท็อปจึงจะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1-0.4 = 0.6 ประมาณครึ่งสตางค์ต่อหน่วย หรือ 0.1% ของค่าไฟเท่านั้นเอง

 5. ให้ท้องถิ่นเสนอและจัดการโครงการระดับท้องถิ่นด้วยตัวเอง

  ผู้เขียนเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่โครงการระดับท้องถิ่น ใช้เงินงบประมาณเป็นหลักสิบล้านบาท จะต้องรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกิดปัญหาคอขวดโดยไม่จำเป็น อีกทั้ง ครม. ย่อมไม่มีทางรู้ดีเท่ากับคนในชุมชนว่าโครงการไหนน่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด

  ผู้เขียนเคยเสนอในบทความว่าโครงการทั้งหมดที่ทำในระดับท้องถิ่นต้องเปิดโอกาสและเปิดข้อมูลให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ มีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอโครงการ การกลั่นกรอง รวมถึงการติดตามและตรวจสอบ เพราะคนในชุมชนย่อมรู้ปัญหาของชุมชนตัวเองดีที่สุด อีกทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นยังถูกแช่แข็งมานานกว่า 6-7 ปีแล้ว การเสนอโครงการขึ้นไปจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ก็ได้ แต่ประชาชนไม่มีทางเลือกเพราะไม่มีสิทธิเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับท้องถิ่น และยังไร้วี่แววว่าเมื่อไรจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

  รัฐบาลควรสร้างกลไกและช่องทางให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยอาจประยุกต์ใช้แนวคิดและเครื่องมือของกระบวนการการจัดทำงบประมาณอย่างมีส่วนร่วม‘ (participatory budgeting) เช่น จัดทำประชาพิจารณ์โครงการระดับท้องถิ่น ให้ประชาชนสามารถเสนอแก้ไขรูปแบบและกิจกรรมของโครงการที่จะทำในท้องถิ่นของตนเองได้ และถ้ามีผู้เสนอโครงการอื่นที่คิดว่ามีประสิทธิผลดีกว่า ก็ให้คนในชุมชนทำประชามติได้ (โดยให้องค์กรท้องถิ่นอย่างกองทุนหมู่บ้าน เป็นผู้ถือเงินงบประมาณก้อนนี้ชั่วคราว) เป็นต้น

  ดังนั้น แทนที่จะรอให้ ครม. อนุมัติโครงการระดับท้องถิ่นทีละโครงการ ผู้เขียนเห็นว่าอาจใช้วิธีตีกรอบงบประมาณแทน เช่น ไม่เกิน 80,000 ล้านบาท แล้วจากนั้นกระจายงบประมาณส่วนนี้ตามสัดส่วนผู้มีรายได้น้อยในแต่ละจังหวัด (เนื่องจากสุ่มเสี่ยงที่จะเดือดร้อนจากวิกฤติโควิด-19 ที่สุด) จังหวัดใดมีคนจนมากก็ได้งบประมาณมาก

การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะมาถึง น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทดลองวิธีคิดใหม่ๆ และเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อสร้างหลักประกันว่าคนในชุมชนจะได้ประโยชน์จากโครงการ และสร้างแรงจูงใจที่จะร่วมคิดและติดตามตรวจสอบตั้งแต่ต้น

 

Tags: ,