ภายหลังจากที่รัฐบาลไทยประกาศกู้เงินตามพระราชกำหนดเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจาก ‘ทวิวิกฤติ’ สุขภาพ+เศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ในส่วนของกรอบวงเงินเพื่อการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท กำลังเป็นที่จับตาจากประชาชนว่าจะใช้เงินอย่างตรงจุดหรือไม่ มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และเปิดช่องให้มีการทุจริตขนาดไหน โดยเฉพาะเมื่อมี ‘ข่าวลือ’ ก่อนหน้านี้ว่า จะมีการจัดสรรเงินกู้ก้อนนี้ให้ ส.ส. นำไปใช้ลงพื้นที่คนละ 80 ล้านบาท 

ในเมื่อวัตถุประสงค์ของงบ 4 แสนล้านบาท อยู่ที่การ ‘ฟื้นฟู’ เศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เราจึงควรมาหยุดทบทวนกันก่อนว่า ประชาชนในระบบเศรษฐกิจฐานรากประสบความเดือดร้อนอย่างไรจากโควิด-19 และแนวทางที่ต้อง ‘ปรับตัว’ หลังจากวิกฤติครั้งนี้มีอะไรบ้าง

ผู้เขียนเคยสรุปในบทความ นโยบายบนฐานความเข้าอกเข้าใจ (empathy-based policies) ในวิกฤติโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน 2563 ว่า เป้าหมายหลักของรัฐนอกเหนือจากการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข ควรอยู่ที่ “การดูแลกลุ่มเปราะบางที่ดูแลตัวเองไม่ได้, การดูแลให้ประชาชนยังมีรายได้ จะได้รักษาระยะห่างทางสังคมได้, การช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน และการช่วยพยุงเศรษฐกิจ” 

การ ‘ช่วยพยุงเศรษฐกิจ’ ต้องให้น้ำหนักกับการ ‘สร้างงาน’ และถ้าจะให้ดีก็ไม่ควรเป็นงานชั่วคราว แต่ควรเป็นงานที่เพิ่มทักษะสำคัญ ช่วยให้คนปรับตัวรับมือกับอนาคตได้

เพราะวิกฤติครั้งนี้สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้คนตกงานในปี 2563 มากถึง 8.4 ล้านคน ตามประมาณการเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2563 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ในชนบทซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจฐานราก เกษตรกรเดือดร้อนจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้วก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 โดยนับถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 26 จังหวัด มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ไม่สามารถทำการเกษตรได้ราว 6 ล้านคน 

บทความ ‘ครัวเรือนเกษตรไทยในวิกฤติโควิด-19‘ โดย ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปผลการสุ่มสัมภาษณ์ครัวเรือนเกษตรกร 720 ครัวเรือนทั่วประเทศในเดือนเมษายน 2563 โดยคณะวิจัยพบว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการรับจ้างทั้งในและนอกภาคเกษตร “โดยรวม 75% ของครัวเรือนมีแรงงานตกงานหรือถูกลดเวลาทำงาน …โดยเฉลี่ย 1.5 คนต่อครัวเรือน โดย 60% ของครัวเรือนมีแรงงานตกงานมากกว่า 1 คน” นอกจากนี้ยังพบว่า “29% ของครัวเรือนมีรายได้เกษตรลดลง ซึ่งส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ามีอุปสรรคในการขายสินค้าเกษตร เนื่องมาจากข้อจำกัดของระบบขนส่งซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการระงับการระบาด และการเปลี่ยนแปลงไปของช่องทางการขายสินค้าและพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมไปตลาดในชุมชนลดลง และเปลี่ยนไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น ดังนั้น การปรับตัวของเกษตรกรต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ตลอดถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึงจึงเป็นสิ่งจำเป็น”

“หากสถานการณ์การแพร่ระบาดและการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องยืดเยื้อไปอีก 1 เดือน 40% ของครัวเรือนจะเริ่มมีปัญหารายได้ไม่พออยู่กิน และมีปัญหาในการชำระหนี้อย่างมีนัยสำคัญ และจะขยายวงกว้างไปสู่ครัวเรือนกว่า 80% หากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปอีก 3 เดือน โดยในสถานการณ์ดังกล่าวก็จะส่งผลให้ครัวเรือนเกินครึ่งต้องกู้ยืม (ทั้งจากในระบบและนอกระบบ) เพื่อมาบรรเทาความเดือดร้อน

“ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ณ ขณะนี้ครัวเรือนเกษตรมีแรงงานที่พร้อมทำงานจำนวนมาก (และกว่า 30% เป็นแรงงานอายุน้อยกว่า 45 ปี) โจทย์ที่สำคัญนอกเหนือจากการเยียวยาที่ทั่วถึงและเพียงพอแล้วก็คือ จะทำอย่างไรที่จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาส และเปลี่ยนให้แรงงานเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและภาคเกษตรไทยในระบบเศรษฐกิจหลังโควิด”

เมื่อคำนึงถึงปัญหาผู้ตกงาน ขาดรายได้ รวมถึงภัยแล้งและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ผู้เขียนเห็นว่างบฟื้นฟู 4 แสนล้าน ควรเน้นเรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กระจายอย่างทั่วถึงให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะสำหรับบัณฑิตจบใหม่ ภาคการเกษตร และภาคบริการ (รวมการท่องเที่ยว), การสร้างหรือเติมทักษะใหม่ๆ เช่น ทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัล ทักษะด้านการตลาด ให้กับผู้ตกงาน เกษตรกร และ SMEs, การส่งเสริมและขยายขนาดนวัตกรรมชุมชน เพิ่มมูลค่าสินค้า, การสร้างหรือยกระดับกลไกที่เชื่อมโยงผู้ผลิตในชุมชนให้เข้ามาใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งไทยและเทศ (ตัวอย่างกลุ่มที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีคือ ‘กินช่วยเกษตรกร‘ และ ‘Locall Thailand‘ ผ่านการทำเพจในเฟซบุ๊ก) และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนสำหรับเกษตรกร ตลอดจนโครงการที่ช่วยพัฒนาโครงสร้างดิจิทัลและโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึง และโครงการที่สอดคล้องกับ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในช่วงโควิด-19 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นต้น 

โครงการทั้งหมดที่ทำในระดับท้องถิ่นต้องเปิดโอกาสและเปิดข้อมูลให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ มีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอโครงการ การกลั่นกรอง รวมถึงการติดตามและตรวจสอบ เพราะคนในชุมชนย่อมรู้ปัญหาของชุมชนตัวเองดีที่สุด อีกทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นยังถูก ‘แช่แข็ง’ มานานกว่า 6-7 ปีแล้ว การเสนอโครงการขึ้นไปจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ก็ได้ แต่ประชาชนไม่มีทางเลือกเพราะไม่มีสิทธิเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับท้องถิ่น และยังไร้วี่แววว่าเมื่อไรจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

แนวคิดที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอโครงการที่จะใช้งบฟื้นฟู 4 แสนล้าน มีปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้เสนอโครงการผ่านหน่วยงานราชการเท่านั้น นั่นหมายความว่าโครงการของชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชน กลุ่มชุมชนอื่นๆ ต้องเสนอผ่านหน่วยงานราชการเท่านั้น อีกทั้งกรอบเวลาที่สั้นมาก เพราะกระทรวงต่างๆ ร่อนหนังสือถึงส่วนท้องถิ่นในวันที่ 27 พฤษภาคม ให้ส่งโครงการเข้ามาภายใน 5 มิถุนายน มีเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ทำให้ รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกกระบวนการนี้ว่า ‘กระบวนการลุกลี้ลุกลน’ 

“ความเร่งรีบของกรอบเวลามีส่วนเปิดทางให้โครงการที่หน่วยงานราชการทำมาก่อนแล้วเข้ามาเสนออีก เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ขุดลอกคูคลอง ทำถนน เจาะน้ำบาดาล ไปจนถึงเก็บผักตบชวา ฯลฯ ทั้งหมดคือโครงการที่ทำกันมาอยู่แล้วในภาวะปกติ รูปแบบการทำประชาคมเป็นแบบถนัดดั้งเดิมคือ เรียกประชุมมายกมือถ่ายรูปแล้วก็กลับ”

อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังสามารถส่งเสียงและร่วมกันติดตามตรวจสอบโครงการได้ ต้องขอบคุณ สศช. ที่เปิดตัวเว็บไซต์ ThaiME เผยแพร่ข้อมูลของทุกโครงการที่มีหน่วยงานราชการเสนอเข้ามา 

อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ ThaiME ใช้ไม่ง่ายนัก ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2563 ต้องคลิกดูโครงการเองทีละหน้า ไม่มีฟังก์ชันให้ดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดเพื่อความสะดวกในการวิเคราะห์ ต้องขอบคุณคุณชารินทร์ พลภาณุมาศ และ พรรณิสา นิรัตติวงศกรณ์ สองนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลรุ่นใหม่ ผู้อุทิศเวลาหลายชั่วโมงให้กับการ scrape และคลีนข้อมูลชุดนี้ เปิดให้ทุกคนดาวน์โหลดไฟล์ CSV ไปวิเคราะห์เองได้

ผู้เขียนลองโหลดไฟล์นี้มาวิเคราะห์เบื้องต้น จากการสังเกตชื่อโครงการและสุ่มอ่านเอกสารข้อเสนอ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2563) มีข้อสังเกตดังนี้

  1. โครงการที่ของบประมาณมาเกิน 10,000 ล้านบาท มี 14 โครงการ ของบรวมกัน 4.4 แสนล้านบาท หรือมากกว่าวงเงินงบประมาณทั้งก้อน และคิดเป็น 53.2% ของโครงการทั้งหมดที่ของบมา 8.3 แสนล้านบาท 

ในจำนวนนี้ 150,000 ล้านบาท ขอโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจ SMEs (2 โครงการ) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 3 โครงการ งบประมาณรวม 66,299 ล้านบาท เสนอโดยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และกรมทรัพยากรน้ำ โครงการเหล่านี้จากเอกสารโครงการเบื้องต้นดูมีแนวโน้มว่า ‘อาจ’ จะตอบโจทย์ความเดือดร้อนของ SMEs และเกษตรกรได้ แต่ต้องติดตามดูรายละเอียดอย่างใกล้ชิดว่าออกแบบกิจกรรมอะไร ได้เรียนรู้บทเรียนจากโครงการที่คล้ายกันในอดีตหรือไม่เพียงใด

มีสามโครงการที่ไม่เปิดเอกสารโครงการให้ดาวน์โหลด ได้แก่ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด งบประมาณ 20,400 ล้านบาท เสนอโดยกรมส่งเสริมการเกษตร, โครงการผลิตพันธุ์ดีและปัจจัยการผลิต (เมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เนื้อเยื่อ พันธุ์ปศุสัตว์ พันธุ์สัตว์น้ำ ไข่ไหมพันธุ์ดี) งบประมาณ 12,045 ล้านบาท เสนอโดยกรมวิชาการเกษตร และโครงการปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำ เพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร และบำรุงรักษาแหล่งน้ำ งบประมาณ 10,640 ล้านบาท เสนอโดยกรมทรัพยากรน้ำ

บางโครงการที่ของบเกิน 10,000 ล้านบาท มีคำถามว่าจะเกิดประสิทธิผลเพียงใด อาทิ โครงการสร้างงาน สร้างรายได้ ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย งบประมาณ 24,092 ล้านบาท เนื้อในเป็นเพียงการจ้างงานชั่วคราว 8.04 ล้านคน คนละ 300 บาท เป็นเวลา 10 วันเท่านั้น ดูจะเป็นการ ‘เก็บตก’ การเยียวยาประชาชนของโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ (ซึ่งอยู่ในส่วนงบประมาณเยียวยา 5 แสนล้านบาท ไม่ใช่ 4 แสนล้าน) มากกว่าโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

โครงการระดับหมื่นล้านที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย (งบประมาณ 55,000 ล้านบาท) ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์, โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 จุดเรียนรู้ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ (งบประมาณ 19,387 ล้านบาท) และโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ (งบประมาณ 14,315 ล้านบาท) ของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  มีคำถามว่าแตกต่างจากโครงการคล้ายกันที่เคยทำมาแล้วหลายครั้งในอดีตอย่างไร โครงการทำนองนี้ควรเน้นการ ‘เพิ่มมูลค่า’ ให้กับสินค้าทางการเกษตร การ ‘หาตลาดใหม่’ ‘ลด/ประกันความเสี่ยง’ และ ‘เชื่อมผู้บริโภค’ ให้กับเกษตรกร มากกว่าการสร้างศูนย์เรียนรู้และจัดอบรมต่างๆ นานา อันเป็นกิจกรรมที่ทำกันเป็นประจำ แต่มักไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมใดๆ ในระยะยาว

โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ งบประมาณ 13,500 ล้านบาท มีคำถามว่าจะยั่งยืนได้หรือไม่ ในเมื่อปัจจุบันลำพังมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศหลายแห่งประสบปัญหาทางการเงิน จะดีกว่าหรือไม่ที่จะจัดสรรงบประมาณนี้ให้กับมหาวิทยาลัยเดิม เพิ่มเติมเงื่อนไขที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในวิกฤติโควิด-19 เช่น ให้มหาวิทยาลัยจ้างบัณฑิตจบใหม่ (ที่มีแนวโน้มตกงานนับแสนคน) เป็นผู้ช่วยวิจัยและ ‘โค้ช’ ด้านการตลาด ดิจิทัล การบัญชี วิศวกรรม ฯลฯ ให้กับวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ 

  1. โครงการที่เน้นเรื่อง ‘คน’ หรือ ‘เทคโนโลยี’ เช่น โครงการจ้างงาน สร้างอาชีพ แก้ปัญหาความยากจน พัฒนาศักยภาพ ใช้ big data พัฒนาเทคโนโลยี รวมกันมีเพียงประมาณ 3,676 โครงการ มูลค่างบประมาณราว 1.3 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีโครงการที่เน้นการแก้ปัญหาความยากจนเพียง 12 โครงการ งบประมาณ 198 ล้านบาทเท่านั้น โครงการที่เน้น ‘คน’ หรือ ‘เทคโนโลยี’ เหล่านี้มีมูลค่าและจำนวนโครงการน้อยกว่าโครงการที่เน้นเรื่อง ‘ของ’ เช่น โครงการสร้างและซ่อมถนน สร้างป้าย สร้างศูนย์ สร้างอาคารต่างๆ รวมถึงโครงการจัดการ ซึ่งมีจำนวนกว่า 19,260 โครงการ ของบประมาณรวมกันราว 1.5 แสนล้านบาท (ดูตารางแนบ) ทั้งที่งบฟื้นฟูควรถูกนำไปใช้กับ ‘คน’ ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มทักษะ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

(ผู้เขียนพยายามระวังไม่ให้มีการนับซ้ำแล้ว เช่น โครงการที่มีคำว่า ‘ก่อสร้าง’ หมายถึงโครงการก่อสร้างที่ไม่ใช่ถนน ทางหลวง เส้นทาง อาคาร ศูนย์ ฯลฯ ที่จำแนกไว้ในบรรทัดก่อนหน้า)

ในบรรดาประเภทโครงการทั้งหมด โครงการซ่อมและสร้างถนน ทางหลวง และผิวทาง เป็นโครงการที่ส่งเข้ามามากที่สุด โดยมีจำนวนมากถึง 12,883 โครงการ ของบประมาณรวมกันกว่า 62,985 ล้านบาท เกิดคำถามทันทีว่า โครงการลักษณะนี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังโควิด-19 ได้อย่างไร ในเมื่อหลายโครงการเป็นโครงการที่หน่วยงานราชการทำอยู่แล้วเป็นปกติ จำนวนมากเป็นโครงการเก่าที่โยกมาจากตอนที่เสนองบประมาณปี 2563 แต่ถูกตัดทิ้งไป วันนี้เอามาตัดแต่งต่อเติมเสนอเข้ามาใหม่ 

ยังไม่ต้องนับว่าโครงการสร้างสาธารณูปโภคอาทิ ทำถนน ขุดสระ ฯลฯ สมัยนี้ไม่ได้ใช้แรงงานคนมากเท่ากับสมัยก่อน แต่ใช้เครื่องจักรเป็นหลัก และเครื่องจักรนั้นจะเป็นของใครกันเล่าถ้าไม่ใช่ ‘ผู้รับเหมา’ ที่เป็นหัวคะแนนของนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ หลายคนมีโครงการและสูตรสำเร็จพร้อมของบประมาณได้ตลอดเวลา

  1. โครงการสร้างหรือซ่อมถนน ผิวทาง ทางหลวงต่างๆ นั้น เมื่อดูรายจังหวัดพบว่าหลายจังหวัดมีสัดส่วนที่สูงมาก ผู้เขียนพบว่ามีถึง 59 จังหวัดที่เสนอโครงการลักษณะนี้เข้ามา สิบจังหวัดแรกที่มีสัดส่วนงบประมาณถนนต่องบประมาณทั้งหมดที่เสนอมาสำหรับจังหวัดนั้นๆ สูงสุด ได้แก่จังหวัดต่อไปนี้

  1. สระแก้ว – งบถนน 2,303 ล้านบาท 332 โครงการ งบถนนคิดเป็น 58.3% ของงบประมาณทั้งหมดที่ขอสำหรับจังหวัด

  2. พิจิตร – งบถนน 1,111 ล้านบาท 324 โครงการ คิดเป็น 54.8%

  3. ยโสธร – งบถนน 2,827 ล้านบาท 967 โครงการ คิดเป็น 52.7%

  4. น่าน – งบถนน 2,026 ล้านบาท 607 โครงการ คิดเป็น 52.3%

  5. นนทบุรี – งบถนน 936 ล้านบาท 101 โครงการ คิดเป็น 50.4%

  6. จันทบุรี – งบถนน 1,333 ล้านบาท 253 โครงการ คิดเป็น 44.6%

  7. มุกดาหาร – งบถนน 1,670 ล้านบาท 590 โครงการ คิดเป็น 44.6%

  8. ชัยนาท – งบถนน 720 ล้านบาท 115 โครงการ คิดเป็น 44.3%

  9. สมุทรสาคร – งบถนน 222 ล้านบาท 31 โครงการ คิดเป็น 42.4%

  10. ประจวบคีรีขันธ์ – งบถนน 1,581 ล้านบาท 252 โครงการ คิดเป็น 41.1%

ในเมื่อโครงการจำนวนมากไม่ตรงต่อวัตถุประสงค์ของงบฟื้นฟูสี่แสนล้าน ‘ผู้รับเหมา’ ดูได้ประโยชน์มากกว่า ‘ประชาชน’ ในพื้นที่ หลายโครงการถึงแม้ดูตรงกับวัตถุประสงค์แต่ก็มีคำถามถึงความเป็นไปได้ ประสิทธิผล และความคุ้มค่าของโครงการ ผู้เขียนจึงเสนอว่าคณะกรรมการกลั่นกรองทุกระดับ รวมถึงคณะรัฐมนตรี ควรใช้หลักเกณฑ์ต่อไปนี้

  1. ตัดโครงการเก่าที่เคยถูกตีตกไปแล้วจากกระบวนการเสนองบประมาณปกติ แต่ถูกปัดฝุ่นสอดไส้เปลี่ยนชื่อมาเสนอใหม่ และตัดโครงการระยะยาวที่ควรไปอยู่ในงบประมาณปกติ

  2. ตัดโครงการที่เน้นแต่การก่อสร้างถนน อาคารสถานที่ ศูนย์เรียนรู้ หรือจัดอบรมไม่กี่วัน ยกเว้นผู้เสนอโครงการจะอธิบายได้ว่า ‘ของ’ เหล่านี้จะช่วยพัฒนา ‘คน’ ในระยะยาวได้อย่างไร

  3. จัดลำดับความสำคัญให้กับโครงการที่เน้น ‘คน’ และ ‘เทคโนโลยี’ ไว้เป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะโครงการที่เน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มทักษะ และหาตลาด 

  4. ให้ความสำคัญกับการระบุเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน โดยตัวชี้วัดควรเน้นระดับ ‘ผลลัพธ์ทางสังคม’ (social outcome) เช่น จำนวนงานที่สร้างได้ มูลค่าเพิ่มที่จะเกิดจากการแปรรูป การขยายผลของนวัตกรรมชุมชน ฯลฯ มากกว่าตัวชี้วัดระดับ ‘กิจกรรม’ (activities) เช่น จำนวนคนที่ผ่านการอบรม จำนวนศูนย์เรียนรู้ จำนวนชุมชนต้นแบบ ฯลฯ 

  5. สร้างกลไกและช่องทางให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยอาจประยุกต์ใช้แนวคิดและเครื่องมือของกระบวนการ ‘การจัดทำงบประมาณอย่างมีส่วนร่วม‘ (participatory budgeting) เช่น จัดทำประชาพิจารณ์โครงการระดับท้องถิ่น ให้ประชาชนสามารถเสนอแก้ไขรูปแบบและกิจกรรมของโครงการที่จะทำในท้องถิ่นของตนเองได้ และถ้ามีผู้เสนอโครงการอื่นที่คิดว่ามีประสิทธิผลดีกว่า ก็ให้คนในชุมชนทำประชามติได้ (โดยให้องค์กรท้องถิ่นอย่างกองทุนหมู่บ้าน เป็นผู้ ‘ถือ’ เงินงบประมาณก้อนนี้ชั่วคราว) เป็นต้น

นอกเหนือจากหลักเกณฑ์เหล่านี้และงบฟื้นฟูก้อนนี้แล้ว ผู้เขียนเห็นว่ารัฐต้องผลักดัน ‘กลไกใหม่ๆ’ ที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ SMEs ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นปัญหาใหญ่ในอีก 4-6 เดือนข้างหน้า ผู้เขียนเคยเขียนถึงความจำเป็นของกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดาไปแล้ว ตอนหน้าจะว่าด้วยกลไกอื่นๆ ที่จำเป็น และภาพรวมของการฟื้นฟู SMEs เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

Tags: , ,