จากหญิงสาวชาวตากาล็อกที่เติบโตในครอบครัวผู้มีอันจะกิน และเคร่งครัดในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิค ‘ลิกายา เฟอนานโด-อามิลบังซา’ (Ligaya Fernando-Amilbangsa) จบการศึกษาเอกภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทิร์น (Far Eastern University) ในฟิลิปปินส์ เธอแต่งงานกับเพื่อนนักเรียนชาวมุสลิมซึ่งเป็นน้องชายสุลต่านแห่งเกาะซูลูทางตอนใต้ของประเทศที่แสนทุรกันดาร ใช้เวลาทั้งชีวิตเรียนรู้การฟ้อนรำพื้นเมืองที่กำลังจะสูญหาย ใช้สมองกับสองแขนและแสงเทียน บันทึกความเคลื่อนไหวของท่วงท่าการรำจากเงาสะท้อน
หนังสือเล่มแรกของเธอ Pangalay: Traditional Dances and Related Folk Artistic Expressions (1983) ใช้เวลา 13 ปี กว่าจะเผยแพร่ออกสู่สายตาชาวโลก เพื่อให้รู้จักศาสตร์การฟ้อนรำปังงาลัย (Pangalay) ที่แปลว่า ของขวัญ หรือในภาษาสันสกฤตหมายถึง Temple of dance อันเป็นศาสตร์นี้ไม่เคยมีการบันทึกใดๆ มาก่อน และในปี 2006 หนังสือชื่อ Ukkil: Visual Art of the Sulu Archipelago ว่าด้วยศิลปะในวัฒนธรรมของหมู่เกาะแห่งนี้ได้ถูกเผยแพร่เป็นเล่มถัดมา
ล่าสุด เมื่อปี 2015 เธอได้รับรางวัลแมกไซไซและศิลปินแห่งชาติ คณะกรรมการเขียนถึงเหตุผลที่มอบรางวัลให้เธอว่า เป็นผู้เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นในการรักษามรดกด้านศิลปะทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ที่กำลังจะสูญหายไป อีกทั้งถ่ายทอดรูปแบบการฟ้อนรำอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งขับเน้นการรับรู้เรื่องอัตลักษณ์ทางวัฒธรรมที่มีร่วมกันในเอเชีย
เธอยังมีงานเขียนชิ้นสำคัญอีกอย่างน้อยสองเล่มรออยู่ในวัย 75 ปี ช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2018 เธอได้มาศึกษาค้นคว้าเรื่องท่วงท่าการฟ้อนรำในอุษาคเนย์ที่เชียงใหม่ และเป็นแขกของเทพศิริ สุขโสภา ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ในบ้านเรา
ลิกายาตกหลุมรักการฟ้อนรำปังงาลัยในปี 1969 เมื่อได้ชมการแสดงในงานแต่งงาน ณ เมืองแห่งหนึ่งทางแถบหมู่เกาะซูลู ตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เธอกระหน่ำซักถามญาติฝ่ายสามีซึ่งเป็นหญิงในตระกูลสูงศักดิ์ของหมู่เกาะที่นั่น เกี่ยวกับหลักการของการร่ายรำนี้ ไม่มีใครสามารถให้ความกระจ่างใด ๆ กับเธอได้ นอกเสียจากว่า เป็นการเต้นรำของคนพื้นเมืองในงานต่างๆ ที่ไม่ได้น่าสนอกสนใจอะไรนัก แต่สำหรับลิกายา ท่วงท่าการเต้นรำของชาวบ้านมุสลิมธรรมดาที่เธอพบเห็นในงานแต่งครั้งนั้น ส่งมนตร์สะกดเธอให้ติดตาม ค้นหาความเป็นไปด้วยตัวเอง เธอฝึกฝนท่วงท่าของการฟ้อนรำไปพร้อมๆ กับแรงปรารถนาในการบันทึกความเคลื่อนไหวที่ได้เรียนรู้จากช่างฟ้อน คนแล้วคนเล่า ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานหลายปีในการเรียนรู้และบันทึก
เธอเห็นว่า นี่เป็นการเดินทางแห่งการค้นพบเพื่อให้โลกได้รับรู้ถึงศิลปะที่กำลังจะถูกลืมเลือน
ลิกายารู้สึกตลอดเวลา ว่ามีสิ่งต้องเรียนรู้มากมายในการทำความเข้าใจช่างฟ้อนรำแต่ละคน การเรียนรู้ของเธอไม่เคยจบแม้ผ่านเวลามาเกือบห้าทศวรรษ เนื่องจากในอดีต การฟ้อนรำไม่มีการสอนแบบทางการ เด็กๆ เรียนด้วยวิธีซึมซับ พวกเขาเฝ้าดูผู้ใหญ่แสดง เริ่มร่ายรำจากการเลียนแบบท่ารำผ่านความเคลื่อนไหวอ่อนช้อยเชื่องช้า และนำไปสู่ท่วงท่าใหม่ๆ ที่รังสรรค์ขึ้น แม้ช่างฟ้อนจะรู้จักท่าทางการร่ายรำมากมาย แต่ความรู้อยู่ในระดับจิตวิญญาณที่ติดอยู่กับการเคลื่อนไหวของแต่ละคน การศึกษาของลิกายาจึงเป็นการเดินทางเข้าไปสู่พื้นที่เหล่านั้น ด้วยการค่อยๆ ค้นพบท่วงท่ารำที่ซุกซ่อนอยู่ภายในของช่างฟ้อนแต่ละคน คนแล้วคนเล่า เธอใช้เวลานับวัน เดือน ปี เฝ้าสังเกต ลงมือร่ายรำเลียนตามท่าทาง และบันทึกความเคลื่อนไหวเหล่านั้นในแต่ละท่วงท่า หรือที่เธอเรียกว่า movement vocabulary
ด้วยภูมิหลังการบ่มเพาะความรู้ด้านศิลปะตั้งแต่ในครอบครัว แม่ของเธอเป็นนักเปียโน และเป็นเครื่องดนตรีที่เธอฝึกฝน เช่นเดียวกับการฝึกบัลเล่ต์แต่เยาว์วัย ลิกายาพบว่า ศาสตร์การเต้นบัลเล่ต์กับการร่ายรำปังงาลัยแตกต่างกันอย่างมาก ทุกคนไม่ว่าขนาดรูปร่างจะอ้วนหรือผอม เล็กหรือใหญ่ ล้วนฝึกฟ้อนรำได้ทั้งสิ้น หัวใจสำคัญอยู่ที่การเคลื่อนไหวดูพลิ้วเบาราวกับกำลังเต้นรำอยู่กลางอากาศ แม้ผู้ฟ้อนรำจะมีน้ำหนักตัวถึง 300 ปอนด์ก็ตาม กระบวนการเหล่านี้ต้องผ่านการฝึกฝนและการใช้เทคนิคในการหายใจ ผ่อนปรนมัดกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายจนกระทั่งเราสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ในทุกท่วงท่า
กฎสำคัญข้อหนึ่งของการฟ้อนปังงาลัย คือ การแสดงออกผ่านสีหน้าเรียบเฉย ผู้ฟ้อนทุกเพศทุกวัย จะไม่ส่งยิ้มหรือละม้ายชายตากับผู้ชม แต่เป็นการเคลื่อนไหวอยู่กับเสียงภายในของตนโดยลำพัง ลิกายาพูดถึงเบื้องหลังกฎข้อนี้ว่า ผู้ฟ้อนรำแต่ละคนต่างมีสมาธิอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายในแต่ละท่วงท่า แม้จังหวะดนตรีจากภายนอกจะเป็นดนตรีร็อคแอนโรลหรือดนตรีพื้นบ้านแบบเร่งเร้ากระแทกกระทั้น แต่ท่วงทำนองของดนตรีที่ควบคุมการเคลื่อนไหวที่แท้จริงคือ ลมหายใจภายในของแต่ละคน
เธอเคยเขียนเรื่องการฟ้อนปังงาลัยว่าคือ ความสงบในความเคลื่อนไหว และ ความเคลื่อนไหวในความสงบ (Motion in Stillness and Stillness in Motion) จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ได้ชมการแสดงของลิกายา กล่าวว่า “Watching her dance is like meditation” และท่ามกลางความสงบภายในนั้นเอง การฟ้อนรำกลับแฝงไว้ด้วยพลังของการแข่งขันที่ต้อนกันไปมาระหว่างผู้ร่ายรำด้วยกัน ที่มาของการฟ้อนนี้เป็นกิจกรรมของผู้คนในวัฒนธรรมซูลู ซึ่งมีวิถีชีวิตอยู่กับการทำเกษตรและประมง เสื้อผ้าหรูหราส่งประกายระยิบระยับจึงไม่ใช่แบบแผนการแต่งกายของการร่ายรำนี้ ลิกายาบอกว่าโดยปกติเวลาเธอฟ้อนรำปังงาลัย เธอมักสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายๆ เหมือนเราอยู่บ้านหรือไปจ่ายตลาด เว้นเสียแต่ว่าเป็นโอกาสพิเศษจริง ๆ เท่านั้น การใช้แสง สี เสียง หรือการออกแบบสถานที่ตระการตา ไม่ใช่แก่นสารของการฟ้อนรำพื้นเมืองแบบปังงาลัย กระทั่งการเคลื่อนไหวที่เปลือยเปล่ายังเป็นการฟ้อนรำงดงามที่สุดได้โดยไม่ต้องผ่านการประดับประดาใด ๆ
ในวัย 75 ปี ลิกายายังคงบริหารสตูดิโอที่สอนการฟ้อนแบบปังงาลัย ทั้งยังประยุกต์ดนตรีและท่วงท่าตามยุคสมัยในมาริกิน่า ซิตี้ กรุงมะนิลา เธอเดินทางบรรยายยังสถาบันต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ อยู่ระหว่างการค้นคว้าเพื่อเขียนหนังสืออีก 4 เล่ม นอกจากนี้งานอดิเรกเธอยังเป็นนักจัดสวน เย็บผ้า ทำอาหารรับประทานเอง และเล่นเปียโน
ต่อไปนี้ เป็นบทสนทนาบางช่วง บางตอนระหว่างการพบปะกับลิกายา ซึ่งเดินทางมาเยือนเชียงใหม่ในช่วงต้นฤดูฝนของปี 2018
คุณเติบโตในครอบครัวคาทอลิค และแต่งงานกับคนมุสลิม คุณเปลี่ยนศาสนาไหม
ไม่ได้เปลี่ยนค่ะ เราแต่งงานในโบสถ์คาทอลิค มันอาจไม่ใช่เรื่องปกติในการแต่งงานข้ามศาสนา แต่ในตัวฉันมีเรื่องข้ามวัฒนธรรมเกิดขึ้นมากมาย
ฉันเกิดและเติบโตในเมืองที่เกาะลูซอนทางตอนเหนือ คุณพ่อเป็นนักกฎหมายและนักการเมือง ท่านเป็นนายกเทศมนตรี ในเวลาต่อมา น้องชายของฉันดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีด้วย ฉันแต่งงานไปอยู่เกาะลูซู ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่มุสลิมและเป็นเขตปกครองตนเอง และยังเป็นพื้นที่ภายใต้กฎอัยการศึกในช่วงประธานาธิบดีมาร์กอส [เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (1917 – 1989)] ฉันจึงสนุกกับการเรียนรู้สิ่งที่แตกต่างกัน
เวลานั้นเกาะลูซู ถือว่า ยังไม่เจริญใช่ไหม
ยัง มีความเจริญน้อยมาก จนถึงทุกวันนี้ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ยากจน แต่ฉันกลับไปที่นั่นบ่อย และส่งลูกๆ มาเรียนที่มะนิลา
คุณเคยบอกว่า เสียดายที่การฟ้อนรำปังงาลัยถูกทำให้เป็นชายขอบ
ใช่ ก่อน หน้านี้ไม่มีใครสนใจการฟ้อนรำของพวกเขา สิ่งที่ฉันพยายามทำคือ บันทึกเกี่ยวกับการเต้นรำ ฝึกหัดท่ารำด้วยตัวเอง และตั้งคณะฟ้อนรำ เพื่อให้มีการถ่ายทอดไปยังคนรุ่นต่อไป และนำการฟ้อนรำนี้ให้เป็นที่รู้จักของคนอื่น ๆ
รางวัลแมกไซไซที่ได้รับส่งผลอย่างไรกับคุณบ้าง
รางวัลนี้เปรียบเสมือนกับไอซ์ซิ่งโรยอยู่บนขนมที่อบเสร็จแล้ว เหตุผลที่ฉันได้รับรางวัลน่าจะมาจากการลงมือค้นคว้าหนังสือเรื่อง Pangalay และ Ukkil ซึ่งฉันเห็นว่า ความสำคัญในการรักษาการแสดงศิลปะพื้นบ้านให้มีชีวิตต่อไป เป็นการเชื่อมโยงตัวเรากับอดีต เรากับคนอื่นๆ ตลอดจนผู้คนในเอเชียและโลกใบนี้
คุณเคยกล่าวไว้ในสุนทรพจน์ตอนขึ้นรับรางวัลว่าคุณเคยจับมือกับประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ (2450 – 2500) ตอนเด็ก มันเกิดขึ้นอย่างไร
ตอนนั้นฉันอายุ 10 ขวบ และเป็นวันพิเศษ นักเรียนโรงเรียนต่างๆ จะไปออกงาน ฉันเห็นเพื่อนนักเรียนรุมล้อมผู้ชายตัวสูงๆ คนหนึ่งเพื่อขอจับมือเขา พอรู้ว่าเป็นประธานาธิบดีแมกไซไซ ฉันเลยพุ่งตรงไปขอจับมือบ้าง เขายิ้มให้กับฉันด้วย เรื่องนี้มันนานมากแล้ว ตอนฉันทราบว่าได้รับรางวัลแมกไซไซ ฉากตอนเด็กนี้โผล่เข้ามาในหัวของฉัน คุณได้อ่านสุนทรพจน์ฉันแล้วใช่ไหม นั่นเป็นสิ่งที่กลั่นออกมาจากความรู้สึก
ใช้เวลาเขียนนานไหมคะ
นานค่ะ เกือบสามสัปดาห์ คือ ฉันจะเล่าให้ฟังว่า ช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2015 ฉันทราบข่าวจากทางมูลนิธิแมกไซไซ เขาติตต่อฉันทางโทรศัพท์ เสียงปลายสายบอกว่า ขอแสดงความยินดีด้วย คุณได้รับคัดเลือกในการรับรางวัล แต่คุณห้ามบอกเรื่องนี้กับใคร จนกว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการไปทั่วโลก ซึ่งนั่นหมายถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ฉันถามทางโน้นซึ่งโทร.มาจากปารีสว่า ฉันขอบอกน้องชายฉันได้ไหมคะ เขาบอก ไม่ได้ ฉันเลยไม่ได้บอกเรื่องนี้กับใคร
คุณจึงได้ใช้ช่วงเวลา 3-4 สัปดาห์ก่อนหน้าการประกาศรางวัลอย่างเป็นทางการ เขียนสุนทรพจน์
ใช่ค่ะ สิ่งหนึ่งที่ฉันเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและได้กล่าวในวันนั้น คือการขอร้องให้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีความจริงใจการสนับสนุนศิลปินและนักเขียนในการทำงาน ค้นคว้า ศึกษาวิจัยเรื่องที่พวกเขาสนใจ ฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากในการส่งเสริมให้ศิลปินได้ทำงานที่เขารักและทุ่มเท อย่างตัวฉัน ฉันสามารถค้นคว้าได้ในแบบที่ฉันปรารถนาโดยไม่ได้พึ่งพาแหล่งทุนใดๆ ฉันใช้เวลายาวนานได้พอเท่าที่ฉันเห็นว่าเรื่องมีความสมบูรณ์โดยไม่ต้องกังวลอะไร
เหตุที่ฉันกล่าวเช่นนี้ เพราะว่า หากศิลปินได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ สิ่งที่ค้นพบจะช่วยให้คนอื่นๆ ในสังคมได้นำข้อค้นพบนั้นไปขยายต่อ ผ่านการสอน การเขียน การสร้างสรรค์ และรังสรรค์ใหม่เพื่อสร้างการเติบโตของศิลปวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆ ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและสง่างาม
ศิลปินคืออะไร ในสายตาคุณ
ศิลปิน สำหรับฉัน คือ คนสร้างสรรค์งาน ในแบบที่เขาเห็น และนำเสนออกมา โดยไม่ได้สนใจว่า คนอื่นจะมีความเห็นต่องานอย่างไร ฉันไม่เคยทำตามคำสั่งของใคร ฉันทำในสิ่งที่ฉันอยากทำ ไม่ได้ขอการสนับสนุนจากใคร ฉันจึงมีอิสระมาก และฉันไม่ได้ต้องการล้างสมองหรือทำให้คนอื่นเชื่อในสิ่งที่ฉันเชื่อ การทำแบบนั้น ฉันคิดว่า เป็นพวกนักโฆษณาชวนเชื่อ (Propagandist) โอเค นักโฆษณาชวนเชี่อ อาจเป็นศิลปินได้ แต่ศิลปินไม่ใช่นักโฆษณาชวนเชื่ออย่างแน่นอน เพื่อนฝูงที่สนิทกันเคยบอกว่า ได้รับรางวัลแมกไซไซแล้ว จะพูดอะไรต้องระวังหน่อยนะ
ทำไมเพื่อนถึงบอกกับคุณอย่างนั้น
เพราะฉันเป็นคนพูดตรง ฉันซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง รู้สึกอย่างไรก็บอกไป เพราะฉันไม่ต้องเกรงใจใคร งานที่ฉันทำเป็นสิ่งที่ฉันอยากทำ
ในสารคดีอัตชีวประวัติโดยย่อของคุณ เปรียบเปรยการทำงานค้นคว้าเรื่องการฟ้อนรำปังงาลัยว่า เหมือนกับการหว่านพืช ต้นที่เราหว่านจะเติบโตในเวลาที่เหมาะสม
นั่นเป็นธรรมชาติของการทำงาน แต่ในแง่ของการทำงานศิลปะ คือการมีวินัย (discipline) ศิลปินมีหน้าที่คือการลงมือทำ keep doing คุณอยู่ในแขนงใด คุณก็ลงมือทำในสิ่งนั้น คุณมีหน้าที่อย่างเดียวคือตั้งหน้าตั้งตาทำสิ่งนั้นไป
หัวใจสำคัญของการฟ้อนรำปังงาลัย คืออะไร
การฟ้อนรำปังงาลัย เป็นการฝึกฝนการเคลื่อนไหวร่างกาย ร่างกายของเราคืออุปกรณ์หรือเครื่องมือสำคัญ เทคนิคในการฝึกฝนเป็นสิ่งจำเป็นในการถนอมดูแลอวัยวะต่างๆ ไม่ให้ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้า ข้อเข่า เราต้องรู้เทคนิคการหายใจ และท่วงท่าเบื้องต้นของการร่ายรำ
หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ครูผู้สอน ซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคนิค ผู้เรียนจะเลียนแบบท่าทางการร่ายรำตามครู เราจึงไม่ฝึกฝนการฟ้อนรำหน้ากระจก แต่เราจะมีครูผู้สอนเป็นตัวสะท้อน การฟ้อนรำไม่มีผิดหรือถูก มีเพียงว่า จะทำอย่างไรให้มีความงดงาม ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงกำลังเขียนหนังสือเรื่องเทคนิคและวิธีการร่ายรำ เพื่อให้ครูสามารถใช้ความรู้สอนนักเรียนต่อไป
คุณมีวิธีค้นคว้าเรื่องการฟ้อนรำนี้อย่างไรบ้าง
การเต้นรำนี้นิยมแสดงในงานเทศกาล มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ สามารถเข้าร่วมได้ ฉันได้ชมการแสดงนี้ครั้งแรกในพิธีแต่งงาน แล้วเกิดความประทับใจในท่วงท่าการเคลื่อนไหวมาก ตอนนั้นปี 1969 ฉันเริ่มค้นคว้าเรื่องนี้ และพบว่า ไม่มีการบันทึกใดๆ การฟ้อนรำแบบปังงาลัย การถ่ายทอดความรู้ในการฟ้อนนี้เป็นการจำท่วงท่าการรำของแต่ละคน และดัดแปลงตามรูปแบบของตน ฉันเฝ้าสังเกตและฝึกฝนท่วงท่าการรำแต่ละท่า จดบันทึก วาดภาพ และค้นคว้าเอกสารต่างๆ ฉันใช้เวลากับนางรำแต่ละคนยาวนานมาก เพื่อเรียนรู้การเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่าง ๆ สิ่งนี้คือสิ่งที่ฉันเรียกว่า movement vocabulary มีความสำคัญมากและควรค่าแก่การอนุรักษ์ (Preservation)
ในการฟ้อนรำชุดหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยการเคลื่อนไหวมากถึง 30 ท่า ลองนึกดูสิว่า ท่วงท่าการเคลื่อนไหวจะมีมากขนาดไหน และถ้าไม่ได้รับการบันทึกไว้สิ่งเหล่านี้ย่อมสูญหายไปตามกาลเวลาอย่างแน่นอน ระหว่างที่ฉันบันทึกท่าฟ้อนรำ หลายคนที่ฉันทำงานด้วยถึงกับน้ำตาไหล เพราะว่า ทำให้พวกเธอได้รื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับท่ารำที่เคยเห็นคนรุ่นก่อนหน้าแสดง
แต่สำหรับฉัน การบันทึกไว้ ไม่ใช่เพียงการบันทึกเป็นตัวหนังสือ วิดีโอ หรือทำสารคดี แต่ควรเป็นการบันทึกและถ่ายทอดประวัติศาสตร์ผ่านตัวตนร่างกายที่มีชีวิต (living body) นั่นหมายความว่า ตราบเท่าที่ยังมีคนฟ้อนรำ ตราบนั้นประวัติศาสตร์จึงมีชีวิตได้
การทำงานของฉันจึงไม่ใช่ทำเพื่อบันทึกประวัติศาตร์ประเพณีการฟ้อนรำเพื่อนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ มันมีคำสองคำมีความหมายใกล้เคียงกันแต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว คือคำว่า Preservation กับ Conservation สำหรับคำแรก Preservation หมายถึง การรักษาการเคลื่อนไหวท่วงท่าที่ทรงคุณค่ามากมายมหาศาลเหล่านั้น ส่วนคำว่า Conservation คือการประยุกต์ movement vocabulary ต่างๆ เพื่อให้มีความร่วมสมัยและใช้ได้กับผู้ชมในปัจจุบัน ฉันต้องการทำทั้งสองสิ่งนี้
ความยากในการค้นคว้าของคุณคืออะไร
ฉันใช้เวลาในการทำหนังสือเล่มแรกนานถึง 13 ปี เครื่องบันทึกภาพและเสียงของฉันอยู่ติดตัวฉัน นั่นคือหัวสมอง ฉันเป็นพวกปฎิเสธเทคโนโลยี และช่วงราวปี 1970 ที่เกาะลูซู ยังไม่เจริญนัก ยามค่ำคืน ฉันจุดเทียนและยืนร่ายรำอยู่ด้านหน้า เพื่อให้เกิดเงาตกกระทบไปที่กำแพง ฉันดูเงาสะท้อนเพื่อทบทวนท่วงท่าในการฟ้อนรำและจดบันทึก ตัวหนังสือทุกตัวในงานของฉันผ่านการเขียนด้วยมือ และใช้เครื่องพิมพ์ดีด
จนถึงตอนนี้คุณก็ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานหรือคะ
ฉันเป็นพวกต่อต้านเทคโนโลยี ทุกวันนี้ ฉันยังใช้เครื่องพิมพ์ดีดในการทำงาน ช่วงได้รับรางวัลแมกไซไซ มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ เขาแอบยืนฟังเสียงเคาะแป้นพิมพ์ของฉันอยู่ตั้งนานสองนาน ฉันเหมาซื้อตลับหมึกของเครื่องพิมพ์ดีดไว้สำหรับใช้ให้นานที่สุด มีอยู่ครั้งนึง ฉันหัวเสียมาก เพราะตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ตัวหนึ่งมันใช้ไม่ได้ ฉันแทบไม่เป็นอันทำอะไรต้องหาทางติดต่อช่างเพื่อส่งซ่อม (หัวเราะ)
คุณอาจเป็นนักเขียนคนสุดท้ายที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีด
ก็อาจจะใช่ แต่คุณรู้มั้ย ที่สหรัฐอเมริกา ตอนนี้เริ่มมีคนคิดว่า การใช้เครื่องพิมพ์ดีดช่วยป้องกันการแฮ็กทางคอมพิวเตอร์ได้ เราอาจจะหันกลับมาใช้กันก็ได้ ใครจะรู้
คุณใช้โทรศัพท์มือถือไหม
ไม่ใช้ค่ะ ฉันมีโทรศัพท์ที่บ้าน ถ้าคุณจะโทรไป เลือกช่วงเวลาเช้าๆ ฉันรับสายแน่นอน
มีคนขนานนามคุณว่าเป็นศิลปิน บ้างบอกว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ด้านการเต้นรำ บ้างบอกเป็นนักการศึกษา เป็นนักวิจัย คุณชอบเรียกตัวคุณว่าเป็นอะไรคะ
ศิลปินและนักเขียน คนส่วนใหญ่ชอบนึกว่าฉันเป็นศิลปินอย่างเดียว แต่ฉันเป็นนักเขียนด้วย
เดือนตุลาคมปีนี้ คุณอายุครบ 75 ปี ยังมีอะไรที่อยากทำบ้าง
มีหนังสืออีกอย่างน้อย 4 เล่มที่ฉันกำลังเขียน เล่มแรกเป็นการปรับปรุงหนังสือเรื่องปังงาลัยซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1983 เล่มที่สองเป็นเรื่องเทคนิคและวิธีการฟ้อนรำปังงาลัย เล่มนี้สำคัญมากสำหรับอนาคต เพราะจะมีวิธีการ เทคนิคการรำที่ครูจะสามารถนำไปสอนผู้เรียนเพื่อสืบทอดความรู้นี้ต่อไป เล่มที่สามเป็น เรื่องการฟ้อนรำในอุษาคเนย์
การค้นคว้ามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ฉันรู้ว่า ท่าฟ้อนรำปังงาลัยมีการเคลื่อนไหวที่ใกล้เคียงกับท่ารำในสังคมกัมพูชา บาหลี ไทย พม่า ตอนนี้ฉันกำลังค้นคว้าวิจัยเรื่องการเต้นรำในอุษาคเนย์ นี่เป็นเหตุให้ฉันมาค้นคว้าเรื่องนี้ที่เชียงใหม่ และมีแผนจะไปสุโขทัย ส่วนอีกเล่มหนึ่งจะเป็น ความทรงจำของฉันในเรื่องการฟ้อนรำ อ่อ คุณคงไม่รู้ว่า ฉันเกือบตายหลายครั้งละ สารคดี 20 นาที ที่คุณดูเมื่อตอนต้น เป็นการทำเตรียมไว้เพื่อใช้เผยแพร่
คุณมีปัญหาเรื่องสุขภาพ?
ฉันเคยปวดหลังมากและก็พยายามฟื้นตัวเองด้วยการบริหารร่างกาย ซึ่งเป็นท่าที่ใช้ฝึกฝนร่างกายทุกวัน จนสามารถกลับมาฟ้อนรำได้อีก และฉันมีโรคประจำตัวที่แพทย์หาสาเหตุไม่ได้ แต่โดยทั่วไป ฉันเป็นคนแข็งแรง
คุณเป็นคนมีพลังมาก ๆ ไม่เคยเหนื่อยเลยหรือ
ไม่ค่ะ ฉันไม่ชอบอยู่เฉยๆ ถ้าขืนให้ฉันนอนเยอะไป ฉันป่วยแน่นอน คนที่เจอฉันมักบอกว่า ฉันเป็นพวกพลังเยอะ การเดินทาง พบปะ พูดคุยผู้คน เราได้ปลดปล่อยพลังงานในตัวเรา และได้รับพลังงานใหม่ ๆ มากขึ้น ทำให้เรามีแรงที่จะทำงานต่อไป นั่นเป็นวิถีของฉัน.
Tags: Ligaya Fernando-Amilbangsa, Pangalai, traditional dance