ความรักระหว่างเพศเดียวกันไม่ได้เป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ของโลกยุคใหม่ หากแต่มีมานานแล้ว เช่นที่พบเห็นได้ในอารยธรรมเก่าแก่ต่างๆ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากอันหนึ่งก็คือ เทพปกรณัมกรีกโรมัน ซึ่งมีเรื่องราวความรักระหว่างคน(และเทพ)เพศเดียวกันอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว (แม้แต่วีรบุรุษชื่อก้องโลกอย่าง เฮอร์คิวลีส ก็ว่ากันว่ามีคนรักหนุ่มนะเออ!)

เนื่องในโอกาสที่เดือน Pride Month เพิ่งผ่านไปในเดือนก่อน ประกอบกับกระแสเรื่องสมรสเท่าเทียม (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ พรบ. คู่ชีวิต) กำลังเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูเรื่องราวความรักระหว่างเพศเดียวกันในเทพปกรณัมกรีกโรมัน* โดยเน้นไปที่เรื่องราวที่เป็นที่มาของคำศัพท์ในภาษาอังกฤษด้วย

แกนีมีด (Ganymede)

เวลาที่เราได้ยินชื่อเมืองทรอย (Troy) สิ่งแรกที่เรามักจะนึกถึงก็คือสงครามเมืองทรอย (Trojan War) เห็นภาพม้าไม้เมืองทรอย (Trojan horse) ซึ่งเป็นกลอุบายที่ทัพกรีกใช้ลอบนำทหารผ่านประตูเมืองเข้าไปในเมืองทรอย จนทำให้ตีเมืองทรอยแตกได้สำเร็จ (คำว่า Trojan horse จึงถูกนำมาใช้เรียกไวรัสประเภทที่ปลอมตัวมาเหมือนเป็นซอฟต์แวร์ที่ไม่มีพิษมีภัย แต่เมื่อเข้ามาในคอมพิวเตอร์ของเราได้แล้ว ก็จะเริ่มสร้างความฉิบหายในรูปแบบต่างๆ)

แต่เฉกเช่นที่ประจวบคีรีขันธ์ไม่ได้มีแค่หัวหิน อันที่จริงแล้วเมืองทรอยก็ไม่ได้มีแค่ตำนานสงครามเมืองทรอย

เมื่อย้อนกลับไปสมัยก่อนเกิดสงครามเมืองทรอยสักสามสี่ชั่วคน เมืองทรอยเคยมีเจ้าชายองค์หนึ่ง นามว่า แกนีมีด (Ganymede) เป็นชายหนุ่มรูปงามหล่อเหลาชนิดที่ว่าถ้าเป็นปัจจุบันคงได้ลงเพจ Trojan Cute Boys ไปแล้ว 

ในที่สุด ความหล่อนี้ก็ไปเตะตาซุส (Zeus) มหาเทพผู้ปกครองเทพทั้งปวงและขึ้นชื่อเรื่องความมักมากในกาม มีภรรยาและลูกหลานมาก (จนอาจต้องใช้พื้นที่เท่าสนามฟุตบอลจึงจะเขียนสาแหรกครอบครัวได้ครบ)

ด้วยความที่ซุสเป็นเทพ อยากได้อะไรก็ต้องได้ จึงแปลงกายลงมาเป็นอินทรียักษ์ (นกอินทรีเป็นสัญลักษณ์ของซุส บางตำนานก็ว่าซุสไม่ได้แปลงกายลงมาเอง แต่ใช้นกอินทรีบริวาร) ลงมาคว้าตัวเจ้าชายคิวท์บอยของเราขึ้นไปบนภูเขาโอลิมปัส (Mount Olympus) อันเป็นนิวาสสถานของเหล่าทวยเทพเพื่อบำเรอกามของตัวเอง ทั้งยังมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นคนรินเหล้าองุ่น (cupbearer) ให้กับเทพทั้งหลายอีกด้วย

นอกจากนั้น ว่ากันว่าในภายหลัง ซุสยังนำแกนีมีดไปไว้บนท้องฟ้าเป็นหมู่ดาวราศีกุมภ์ (Aquarius) เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าชายเมืองทรอยคนนี้อีกด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากแกนีมีดเป็นบริวารของซุส ซึ่งชาวโรมันรู้จักกันในนาม จูปิเตอร์ (Jupiter) ชื่อ แกนีมีด จึงถูกนำไปใช้ตั้งชื่อดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของดาวพฤหัส (Jupiter) ด้วย

นอกจากนั้น ด้วยความที่แกนีมีดมีชื่อละตินว่า Catamitus จึงเป็นที่มาของคำว่า catamite ในภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้เรียกเด็กหนุ่มที่ชายที่สูงอายุกว่าดูแลไว้และมีความสัมพันธ์ทางเพศด้วย ออกแนวเลี้ยงต้อยหรือเป็นเด็กเก็บของเสี่ยเบาๆ

ไฮยาซินทัส (Hyacinthus)

กาลครั้งหนึ่ง เคยมีเจ้าชายเมืองสปาร์ตา (Sparta) องค์หนึ่ง มีนามว่า ไฮยาซินทัส (Hyacinthus) เป็นผู้ที่มีรูปโฉมหล่อเหลาจนมีทั้งมนุษย์และเทพมารุมตอม (กรุณาจินตนาภาพหมู่ภู่ภมรกับดอกไม้ ไม่ใช่แมลงวันกับก้อนอึ) หวังให้รับรัก ไม่ว่าจะเป็น ทามีริส (Thamyris) นักขับกวีที่เป็นมนุษย์ธรรมดา เซฟิรัส (Zephyrus) เทพแห่งลมตะวันตก และอพอลโล (Apollo) เทพแห่งดนตรี การพยากรณ์ การรักษา และอื่นๆ อีกมากมาย

ด้วยความหล่อเลือกได้ ไฮยาซินทัสจึงเลือกอพอลโล เทพหนุ่มผู้มีโปรไฟล์ระดับเอบวก และปฏิเสธไม่รับรักจากชายคนอื่นๆ ที่มาตามตื๊อ

ต่อมาวันหนึ่ง ไฮยาซินทัสกับอพอลโลออกไปเล่นโยนจักรกัน แต่บังเอิญว่าเซฟิรัสดันมาเห็นคู่รักคู่นี้พอดี ภาพคนที่ตนเคยหมายปองกระจุ๋งกระจิ๋งกับชายอื่นมันช่างบาดใจ ทำให้เซฟิรัสเกิดอาการหึงหวง บันดาลลมให้พัดจักรที่อพอลโลเขวี้ยงออกไปหมุนติ้วออกนอกเส้นทางไปโดนหัวของไฮยาซินทัสเข้า เป็นเหตุให้ไฮยาซินทัสถึงแก่ความตาย

อพอลโลโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่งที่สูญเสียชายคนรักไป จึงเสกให้เลือดของไฮยาซินทัสที่หยดลงบนพื้นหญ้าผุดขึ้นเป็นดอกไม้สีน้ำเงิน บนกลีบใบมีลวดลายคล้ายคำว่า AI AI ซึ่งเป็นคำอุทานในภาษากรีกที่ใช้แสดงความเศร้าโศก ถ้าเทียบกับภาษาไทยก็ทำนอง โอ้ อนิจจา เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่ไฮยาซินทัส เกิดเป็นดอกไฮยาซินท์ (hyacinth)

แต่ในภายหลัง ชื่อไฮยาซินท์นี้ได้ถูกนำไปใช้เรียกดอกไม้อีกชนิดแทน ซึ่งก็คือดอกไฮยาซินท์ที่คนเลี้ยงต้นไม้หลายคนรู้จักกันในปัจจุบัน (สรุปคือดอกไฮยาซินท์ของคนโบราณกับในปัจจุบันใช้ชื่อเดียวกัน แต่เป็นคนละชนิดกัน)

นอกจากนั้น ชื่อ ไฮยาซินท์ ยังไปโผล่ในพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีให้เห็นดาษดื่นในประเทศไทย นั่นก็คือ ผักตบชวา หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า water hyacinth นั่นเอง (สาเหตุอาจมาจากเพราะดอกผักตบชวาหน้าตาคล้ายดอกไฮยาซินท์)

ซิกนัส (Cygnus)

กาลครั้งหนึ่ง เคยมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ เฟอีทอน (Phaethon) เป็นเด็กที่มีแม่เลี้ยงมาคนเดียวแบบซิงเกิลมัม เกิดมาไม่เคยได้เจอหน้าพ่อ แต่เฟอีทอนก็จะเที่ยวบอกคนอื่นเสมอว่าพ่อของตน คือ เฮลิออส (Helios) ผู้เป็นสุริยเทพ ทำหน้าที่ขี่รถม้าลากดวงอาทิตย์ข้ามขอบฟ้าทุกวัน เนื่องจากแม่ตนเองบอกไว้อย่างนั้น อย่างไร เพื่อนๆ ก็ไม่ค่อยจะยอมเชื่อและล้อเฟอีทอนว่าเป็นลูกไม่มีพ่อ เฟอีทอนจึงตัดสินใจออกเดินทางไปยังที่ประทับของเทพเฮลิออสเพื่อหาข้อสรุปให้หายคลายแคลงใจ

ปรากฏว่าเมื่อสองพ่อลูกได้เจอกัน เทพเฮลิออสก็ยืนยันว่าตนคือพ่อของเฟอีทอนจริง พร้อมทั้งบอกว่าจะให้ขอพรได้ข้อหนึ่ง (ทำนองว่าเพื่อให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลงที่ไม่ได้ดูแลลูก) เฟอีทอนจึงขอขี่รถม้าลากพระอาทิตย์ของพ่อหนึ่งวัน จะได้ขี่ไปอวดเพื่อนๆ ให้เห็นกับตาว่าตนเองเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเฮลิออสจริงๆ 

เทพเฮลิออสไม่อยากให้พรข้อนี้กับลูกเลย เพราะรู้ว่ารถม้านี้มนุษย์ธรรมดาไม่น่าจะบังคับทิศทางได้ นอกจากนั้น ถ้าขับนอกเส้นทาง อาจทำให้เกิดหายนะบนโลกได้ แต่เมื่อเทพบอกว่าจะให้พรแล้วก็คืนคำไม่ได้ จึงต้องยอมให้เฟอีทอนขี่รถม้าลากพระอาทิตย์ของพ่อ 

และแล้ว สิ่งที่เฮลิออสกลัวก็เกิดขึ้นจริง เพราะเฟอีทอนควบคุมรถม้าไม่ได้และขับเข้ามาใกล้พื้นโลกมากจนพื้นที่บางส่วนแห้งเหือดกลายเป็นทะเลทราย ซุสเห็นแล้วว่าหากปล่อยให้ขับแบบนี้ต่อไป โลกจะถึงกาลดับสูญเสียก่อน จึงใช้อสุนีบาตฟาดลงมาที่รถม้า ทำให้เฟอีทอนตกลงไปในแม่น้ำอีริดานัส (Eridanus) และเสียชีวิต

ปรากฏว่าหลังจากร่างของเฟอีทอนตกลงไปในแม่น้ำ ก็มีชายหนุ่มคนหนึ่งนามว่า ซิกนัส (Cygnus) มาดำผุดดำว่ายพยายามหาศพ ทั้งยังมานั่งร้องเพลงเศร้าคร่ำครวญอยู่ริมแม่น้ำ 

ส่วนที่ซิกนัสแลดูจะโศกเศร้าเกินเพื่อนนั่นก็เพราะชายหนุ่มคนนี้ว่ากันว่าไม่ได้เป็นแค่เพื่อนของเฟอีทอน แต่เป็นคนรักนั่นเอง (คนรักตายทั้งทีนะ!)

ด้วยความสงสารที่เห็นซิกนัสดำผุดดำว่ายไม่ยอมหยุด ทวยเทพจึงเสกซิกนัสให้กลายเป็นหงส์ในที่สุด

ทั้งนี้ชื่อ Cygnus เป็นคำในภาษาละติน (รับมาจากกรีกอีกทอด) ที่แปลว่า หงส์ และเป็นที่มาของคำในภาษาอังกฤษสองคำ นั่นคือคำว่า cygnet ที่แปลว่า ลูกหงส์ และ cygnine ซึ่งเป็นศัพท์ยากที่ใช้บรรยายอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับหงส์ 

*ผู้เขียนเลือกเรื่องโดยใช้เกณฑ์คือต้องเป็นเรื่องจากเทพปกรณัมกรีกโรมันที่เกี่ยวข้องกับที่มาของคำในภาษาอังกฤษ ไม่ได้มีเจตนาเลือกแต่คู่รักชายชายแต่อย่างใด

บรรณานุกรม

http://oed.com/

http://www.etymonline.com/

Buxton, Richard. The Complete World of Greek Mythology. Thames & Hudson: New York, 2004.

Graves, Robert. The Greek Myths: The Complete and Definitive Edition. Penguin Books: London, 2011.

Grimal, Pierre. Dictionary of Classical Mythology. Penguin Books: London, 1991. 

Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. Grand Central Publishing: New York, 1999.

Hard, Robin. The Routledge Handbook of Greek Mythology. Routledge: New York, 2004

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

March, Jenny. Dictionary of Classical Mythology. Oxbow Book: PA, 2014.

March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.

Morford, Mark, et al. Classical Mythology. 11ed. OUP: New York, 2019

Stuttard, David. Greek Mythology: A Traveller’s Guide from Mount Olympus to Troy. Thames & Hudson: London, 2016. 

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

Tags: , ,