ความเท่าเทียมที่ต้องผลักดันต่อ
ในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการรับรองสิทธิกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทยนั้น ยังมีกฎหมายที่เตรียมจะผลักดันให้บังคับใช้เป็นรูปธรรม คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ… ซึ่งได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยมีร่างของนายธัญวัฒน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าชื่อ ส.ส. 20 คนขึ้นไป เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ… ประกบไปอีกร่าง ซึ่งเนื้อหาร่างทั้งสองมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้น เป็นกฎหมายที่ให้สิทธิในการจดทะเบียนคู่ชีวิตเพศเดียวกัน แต่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘Civil partnership bill’ ไม่ใช่ ‘Same sex marriage’ เพราะยังไม่ให้สิทธิคู่ชีวิตในการรับสวัสดิการรัฐของอีกฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากเป็นกฎหมายการเงินมีความยุ่งยากในการแก้ไข และไม่ให้สิทธิในการหมั้นในกฎหมายคู่ชีวิต
ขณะที่ร่างของนายธัญวัฒน์จะเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 1448 เปลี่ยนคำว่า ‘ชายหญิงสมรสกัน’ เป็น ‘บุคคลสมรสกัน’ และต้องแก้ ปพพ. มาตราอื่นที่เกี่ยวข้องตามมาด้วย เพราะกฎหมายไทยมีการแบ่งเพศจากการใช้คำว่า ‘ชายหญิง’ ‘สามีภรรยา’ ‘บิดามารดา’ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำได้ยากเพราะต้องรื้อกฎหมายในหมวดของครอบครัวจำนวนมหาศาล
แต่เมื่อย้อนกลับไปดู ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ… กลับยังไม่มีการบรรจุระเบียบวาระในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เรื่องนี้ นางสาวชมพูนุท นาครทรรพ คณะทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีการผลักดันร่างตั้งแต่ร่างแรกที่มีการทำปฏิญญาอัมพวา ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่า
“ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ… ยังค้างอยู่ในชั้นคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เพราะโดนตีกลับให้ไปศึกษาใหม่ใน 3 ข้อ คือ 1. ความจำเป็นของการมีกฎหมายนี้ 2. ความอ่อนไหวทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม และ 3. ความต้องการที่แท้จริงของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายผู้ผลักดันกฎหมายคู่ชีวิตทำไปแล้ว แต่ต้องกลับไปทำใหม่อีก โดยจะให้ใช้วิธี focus group มันก็เหมือนทำประชาพิจารณ์กันใหม่ ตั้งโจทย์กันใหม่ ทั้งที่การจัดรับฟังความเห็นเราทำกันไปแล้ว 5 รอบ ก็ยังไม่รู้ว่ากฎหมายคู่ชีวิตจะได้บรรจุระเบียบวาระเข้าสภาฯ เมื่อไหร่
“กลายเป็นว่า กฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิตภาครัฐยังไม่ออกเสียที ภาคเอกชนเขาก้าวหน้ากว่า ตรงที่บางเรื่องเขาทำไปก่อน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องการประกันชีวิตกับคู่ชีวิตเพศเดียวกัน, การปล่อยกู้ร่วมคู่รักเพศเดียวกันได้ เขาทำไปก่อนเพราะภาคสังคมต้องการ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เรื่องสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่หลายพรรคการเมืองสนใจ และหลังๆ ก็หยิบยกเรื่องนี้มาหาเสียง ซึ่งก็เป็นเรื่องของการหวังผลทางการเมือง เนื่องจากมีการประเมินว่ากลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทยนี่น่าจะมีถึง 10% และเป็นฐานคะแนนเสียงที่สำคัญ แต่พอถึงกระบวนการผลักดันให้กฎหมายต้องออกมาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ให้สิทธิที่ LGBTQ+ พึงมีตั้งแต่กำเนิดกลับล่าช้า
“พ.ร.บ.คู่ชีวิตเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันสมรสกันได้ แต่ถ้าเราดูโมเดลในต่างประเทศจะพบว่า กฎหมายการจดทะเบียนการใช้ชีวิตร่วมกันมันมีระดับของมัน อย่างเป็น Civil partnership หรือเป็น Same sex marriage ตรงนี้เป็นประเด็นน่าสนใจว่า ทำไมเราไม่ผลักดันกฎหมายเราให้เป็นระดับได้บ้าง สมมติว่า คนคู่หนึ่งที่เป็นเกย์กับผู้หญิงเขาดูแลกัน แต่ต้องการแค่จัดการผลประโยชน์ในทรัพย์สินร่วมกัน ต้องการการตัดสินใจสุขภาพของแต่ละฝ่ายได้ ก็ควรจะมีสิทธิ์จด Civil partnership เหมือนกัน ไม่ใช่แค่ให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันจดทะเบียนด้วยกฎหมายตัวนี้เท่านั้น และอยากให้ไปถึงขั้นว่า รักเพศเดียวกันก็ใช้สิทธิจดทะเบียน Same sex marriage ได้ แต่กฎหมายมันต้องบังคับใช้ไประยะหนึ่ง จนเราเห็นความสำคัญของสิทธิที่พวกเขาพึงได้ก่อน แล้วก็มีการแก้ไข หรือเร็วที่สุดก็อย่างที่ว่าคือ แก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าเมื่อไรที่กฎหมายจะผ่านมติวิปแล้วบรรจุเข้าระเบียบวาระเสียที ขึ้นอยู่กับพวกเขาจะให้เราในปีนี้หรือไม่”
กฎหมายรับรองเพศ
นอกจากการผลักดันกฎหมายคู่ชีวิต การเป็นหนึ่งในอนุกรรมการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศแล้ว ชมพูนุทยังเป็นผู้ที่ผลักดันให้มีการออกกฎหมายเพื่อกลุ่มข้ามเพศ (transgender) ให้ได้ใช้สิทธิตามเพศใหม่ของเขา หญิงข้ามเพศก็ใช้สิทธิเป็นผู้หญิง ชายข้ามเพศก็ใช้สิทธิเป็นผู้ชายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการประชุมรับฟังความเห็นไปหลายครั้ง และผลักดันให้สามารถยกร่างให้แล้วเสร็จในปีนี้ให้ได้ ขั้นตอนอยู่ที่การนำเอาผลการรับฟังความเห็นทั้งหมด ส่งไปยังนิติกรของกรมกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อยกร่างกฎหมาย จากนั้นนำเสนอต่อนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ต่อไป
“เดิมทีเราใช้คำว่ากฎหมายรับรองเพศ” ชมพูนุทอธิบาย “ต่อมาเราเปลี่ยนเป็น ร่าง พ.ร.บ.เพศสภาวะ พ.ศ… เพราะการรับฟังความเห็นมันมีข้อโต้แย้งว่า เพศเป็นอัตลักษณ์ของบุคคล ทำไมต้องมีการรับรอง ซึ่งเราก็มีการประชุมพูดคุยกับทีมงานนับสิบ เอ็นจีโอหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มฟ้าสีรุ้ง กลุ่มแทนเจอรีน มูลนิธิเพื่อนกะเทยไทย กลุ่มเอ็มพลัส ซึ่งแต่ละกลุ่มเขาก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน และภาคประชาชนก็จะเสนอร่างของตัวเองขึ้นประกบด้วย”
“ปัญหาที่เราพบคือ หากมีการรับรองเพศโดยไม่มีการแปลงเพศ จะกลายเป็นประเด็นปลายเปิดที่มีความยุ่งยาก เช่น คนคนหนึ่งจะขอจดรับรองเพศเพื่อหนีการเกณฑ์ทหาร แล้วต่อมาไปจดทะเบียนเปลี่ยนกลับ หรือมีการเปลี่ยนเพศเพื่อหนีคดีอาชญากรรม การยกร่างทำให้มีเนื้อหาสำคัญคือ 1. คุณสามารถเปลี่ยนเพศเมื่ออายุครบ 18 ปี 2. เมื่อมีการเปลี่ยนเพศ คุณสามารถใช้คำนำหน้านามตามเพศใหม่ และใช้สิทธิตามเพศใหม่ เช่น สิทธิในความเป็นภรรยา สิทธิในความเป็นมารดา หรือกลุ่มชายข้ามเพศก็ใช้สิทธิตามเพศใหม่ได้เช่นกัน อย่างถ้าคุณเปลี่ยนเพศก่อนแต่งงาน คุณก็แต่งงานด้วย ปพพ.1448 ได้ 3. เราไม่จำกัดว่าผู้เปลี่ยนเพศจะต้องไม่มีบุตร ส่วนที่ยังพูดคุยกันอยู่คือการเปิดเผยข้อมูลเพศเดิม ซึ่งต้องให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ด้วย เบื้องต้นเรามองว่า กลุ่มที่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลทางเพศเดิมคือทางการแพทย์ เพื่อการรักษาโรคให้ตรงกับเพศกำเนิด และกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันการเปลี่ยนเพศหนีคดี”
“เรื่องการได้รับการปฏิบัติตามเพศใหม่ เป็นสิ่งที่กลุ่มข้ามเพศเขาเรียกร้องมามาก ซึ่งเขาถูกเลือกปฏิบัติเพราะรูปลักษณ์ไม่ตรงคำนำหน้านาม เช่น การทำธุรกรรม การทำพาสปอร์ต ก็โดนจับตามองแปลกๆ ไปจนถึงว่า การใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ พอคำนำหน้านามเป็นชายก็ต้องอยู่วอร์ดผู้ป่วยชาย ซึ่งอาจโดนบุรุษพยาบาลตรวจร่างกาย บางครั้งมันมีความรู้สึกถึงการคุกคามหรือความไม่ปลอดภัย การผลักดัน พ.ร.บ.เพศสภาพความจริงมีแผนตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะทางพรรคประชาธิปัตย์ที่ดูแล พม. เน้นเรื่องความเสมอภาคทางเพศ แต่ติดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ทำให้เราไม่ได้ประชุมกันมากนัก ยืนยันว่า เดิมเราเองก็ไม่ต้องการให้เปลี่ยนเพศก่อน เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องเจตจำนง แต่ถ้าไม่ต้องเปลี่ยนเพศมันก็ไปพันกับกฎหมายอื่นๆ อีกมาก เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร กฎหมายเกี่ยวกับคำนำหน้านามของกระทรวงมหาดไทย กฎหมายทะเบียนราษฎร มันจะเป็นเรื่องปลายเปิดที่พูดคุยกันแล้วไม่จบไม่สิ้น ซึ่งเราก็คิดเหมือน พ.ร.บ.คู่ชีวิตว่า ถ้าผ่านวาระแรกเข้าไปในชั้น กมธ. แล้วจะมีการพูดคุยเรื่องนี้เปิดกว้างขึ้น”
ร่างของภาคประชาชน
ชมพูนุทอธิบายว่า กฎหมายรับรองเพศนั้น มีการยกร่างของภาคประชาชนขึ้นมาประกบด้วย กฎหมายดังกล่าวชื่อ ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคล พ.ศ… ซึ่งร่างนี้ นายกิตตินันท์ ธรมธัช ประธานสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยได้ผลักดันออกมาเป็นร่างก่อน ชมพูนุทสรุปว่า สาระสำคัญของกฎหมายภาคประชาชนคือยึดเรื่องเพศเป็นเรื่องเจตจำนง ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเพศ
เมื่อตรวจสอบดูจากตัวร่าง ส่วนที่สำคัญคือ หมวดที่หนึ่ง สิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศสภาพและลักษณะทางเพศของบุคคล มาตรา 5 ความว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในร่างกายของตัวเองโดยบริบูรณ์ การกำหนดเจตจำนงในอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคล ย่อมได้รับการคุ้มครองและรับรองทางกฎหมาย บุคคลย่อมมีเสรีภาพที่จะพัฒนาเพศภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ ลักษณะทางเพศ ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตัวเอง และต้องได้รับการรับรองโดยการบันทึกไว้ในข้อมูลประวัติทะเบียนราษฎร รวมถึงเอกสารทางทะเบียนราษฎร หรือเอกสารทางราชการที่ออกตามความในกฎหมายอื่นใดที่บุคคลจำเป็นต้องแสดงเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตนเองทั้งในทางแพ่ง อาญา ปกครอง”
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่มาตรา 6 ซึ่งระบุว่า “สิทธิและเสรีภาพในการกำหนดเจตจำนงในอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามมาตรา 5 บุคคลจะต้องไม่ถูกบังคับ กำกับ หรือแทรกแซงให้ต้องเข้าถึงบริการสุขภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะเพศ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามกฎหมาย” หมายถึงว่า บุคคลที่จะได้รับการรับรองความเป็นเพศตามเพศใหม่ ไม่ต้องเปลี่ยนเพศนั่นเอง ซึ่งเนื้อหาในหมวดสอง การจดทะเบียนนั้น ตามมาตรา 8 กำหนดให้บุคคลที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิเป็นผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทะเบียนราษฎรในส่วนของเพศ เครื่องหมายระบุเพศสภาพต่อนายทะเบียน หรืออาจยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งก็ได้ ซึ่งผู้ยื่นคำร้องขอให้นายทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อตัว ชื่อรอง ตามบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 ในคราวเดียวกันก็ได้
สำหรับความในมาตรา 10 การกรอกข้อมูลในการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ในวงเล็บหนึ่ง เพศที่ผู้ยื่นคำร้องประสงค์ให้ถูกระบุในทะเบียนราษฎร ได้แก่ เพศชาย (male) เพศหญิง (female) และ ‘ไม่ระบุเพศ’ (X) เมื่อผู้ยื่นคำร้องประสงค์ที่จะรับรองอัตลักษณ์ทางเพศเป็นเพศสภาพอื่นๆ หรือไม่ประสงค์ให้มีการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตน รวมถึงกรณีบุคคลที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาไม่ชัดเจน
กล่าวคือ gender X นี้ สำหรับกลุ่ม non–binary ที่ไม่ระบุตัวเองเป็นเพศใดเพศหนึ่ง และกลุ่มเพศสภาพเลื่อนไหล หรือ gender fluid ที่มีความเชื่อว่า เพศเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ การเป็นเพศไหนก็คือการ ‘ทำซ้ำ’ พฤติกรรมทางเพศของเพศนั้นในช่วงเวลาหนึ่ง และเปลี่ยนรูปแบบของเพศได้ตามความพึงพอใจ เช่น บางคนอาจเคยเป็นหญิงข้ามเพศที่ยังไม่เปลี่ยนเพศ แล้วกลับมาเป็นเพศชาย หรือหญิงข้ามเพศที่เปลี่ยนมาเป็นหญิงรักหญิง ส่วน ‘บุคคลที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาไม่ชัดเจน’ คือกลุ่มเพศกำกวมหรือ intersex ที่มีทั้งอวัยวะเพศหญิงและชายในคนเดียวกัน ทั้งนี้ มีการกำหนดต่อไปไว้ในวงเล็บสองว่า เอกสารราชการจะต้องมีเครื่องหมายไม่ระบุเพศด้วย และตามมาตรา 11 เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องจากผู้ยื่นคำร้องแล้ว ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนราษฎรให้เสร็จภายในสิบห้าวัน
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังคุ้มครองไปถึงกลุ่มเพศกำกวม โดยกำหนดไว้ในหมวดสาม การจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของเด็ก และเด็กที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาไม่ชัดเจน เนื้อหาสำคัญอยู่ที่มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้แทนโดยชอบธรรมและบุคลากรทางการแพทย์ บังคับ หรือแทรกแซงทางการแพทย์ใดๆ ต่อเด็กที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาไม่ชัดเจน จนกว่าเด็กนั้นจะสามารถให้ความยินยอมด้วยตัวเองได้ หากเด็กมีความประสงค์ที่จะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้แสดงความยินยอมภายใต้การดูแลของคณะกรรมการสหวิชาชีพ กล่าวคือ การเลือกจะเป็นเพศใดเพศหนึ่งของเด็กเพศกำกวม ตามร่างกฎหมายนี้ให้เป็นเจตจำนงของเด็กเองเหมือนที่ทำในประเทศมอลตาและโปรตุเกส
ส่วนผลของการจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคล ถูกระบุไว้ในหมวดสี่ มาตรา 19 เมื่อผู้ยื่นคำร้องได้รับการเปลี่ยนแปลงเพศ และเครื่องหมายระบุเพศสภาพในข้อมูลประวัติทะเบียนราษฎร และเอกสารทะเบียนราษฎรแล้ว ให้ผู้ยื่นคำร้องมีสภาพบุคคลตามกฎหมาย ตลอดจนมีสิทธิและหน้าที่ตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพที่ได้รับการรับรองเพศแล้ว ส่วนการคุ้มครองเรื่องการเปิดเผยข้อมูลทางเพศเดิมนั้น อยู่ในหมวดหก มาตรา 24 การเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่เกิดจากการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคลภายใต้ พ.ร.บ. นี้ ย่อมได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเปิดเผยข้อมูลประวัติทะเบียนราษฎร เอกสารทางทะเบียนราษฎรทั้งที่มีอยู่ก่อนและภายหลังการจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพแก่บุคคล นิติบุคคล หรือส่วนราชการใด จนกว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้ยื่นคำร้อง เว้นแต่จะได้มีข้อยกเว้นที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานเพศเดียวกัน กฎหมายรับรองการข้ามเพศ เป็นกฎหมายที่มีร่างอื่นนอกจากร่างของรัฐบาลประกบทั้งสิ้น ก็ต้องรอดูมติของภาครัฐบาล วิปรัฐบาล ว่าจะยอมรับหรือตีตกฉบับไหนต่อไป กระทั่งนำทุกร่างมาศึกษาในชั้น กมธ. เมื่อผ่านสภาฯ วาระแรก เพื่อให้ได้เนื้อหาที่ดีที่สุด
ความหวังที่ยังคงรอ
ในวันวาเลนไทน์ เทศกาลแห่งความรัก ก็มีการพูดถึงประเด็นการสมรสเพศเดียวกันอีกครั้ง ซึ่งก็พูดกันมาครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เป็นสิทธิที่กลุ่ม LGBTQ+ พึงมี เพื่อให้ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้คำว่า Love Wins ได้อย่างเต็มปาก แต่กระบวนการก็กลับล่าช้า ทั้งที่กระบวนการผลักดันทางสังคมของกลุ่ม LGBTQ+ เป็นไปอย่างเข้มข้น ซึ่งอาจต้องให้มีใครเป็นปากเสียงที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญเพียงใดในสภาผู้แทนราษฎร ให้เสียงมันหนักแน่นกว่า ส.ส. ที่เป็น LGBTQ+ เพียงไม่กี่คนพูด แต่ ส.ส. ทุกคนต้องเห็นว่า เรื่องเพศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ต้องให้ความเคารพ
ชมพูนุทสรุปว่า “ปัจจัยเบื้องต้นของการเลือกปฏิบัติเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องเพศ ถ้าเราอยากแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติ การกีดกัน ก็ต้องยอมรับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มันไม่ใช่แค่หญิงชาย แต่รวมถึงกลุ่มหลากหลายทางเพศจะต้องไม่ได้รับการเลือกปฏิบัติ การตีตรา เป็นสิทธิที่มนุษย์พึงได้ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งการผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตก็ยังมีความยุ่งยากแล้ว ในส่วนของ พ.ร.บ.เพศสภาวะก็ยังไม่รู้ว่าเป็นแบบไหน ผู้ชายบางคนอาจกลัวว่าจะถูกสาวข้ามเพศหลอกให้แต่งงานแล้วมีทายาทไม่ได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเกิดผู้ชายหรือผู้หญิงคู่รักคู่นั้นสักคนเป็นหมันก็มีทายาทไม่ได้เช่นกัน และเชื่อว่าโดยเพศสรีระแล้ว คงไม่ใช่อะไรที่หลอกกันง่ายๆ หรือหากจะสร้างครอบครัวเขาก็ต้องไม่มีการปกปิดความจริงกัน ความหวังที่สำคัญคือการมีกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ที่ครอบคลุมชัดเจนเสียที เพื่อให้รู้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ ไม่มอง LGBTQ+ ด้วยชุดความเชื่อที่ไม่ดีแบบเดิมๆ เคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีความเท่าเทียมกัน สอดคล้องกับความเป็นเสรีนิยมในโลกยุคใหม่”
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยังต้องเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป แม้จะขับเคลื่อนมาเป็นเวลานาน ทั้งกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน กฎหมายรับรองเพศสภาวะ ซึ่งหวังให้ผู้มีอำนาจเห็นความสำคัญของการรับรองสิทธิเสียที ไม่ใช่มอง LGBTQ+ เพียงแค่เป็นกลุ่มที่รับรู้ว่ามีตัวตน แต่ไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิ จะสนใจเฉพาะมิติที่กลุ่มนี้มีกำลังจับจ่ายใช้สอย หรือให้ความสนใจเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องหาเสียงเตรียมเลือกตั้งเท่านั้น
Tags: LGBTQ, civil partnership, same sex marriage, human rights