ปัจจุบันหลายประเทศในทวีปเอเชียยังคงมีกฎหมายที่เคร่งครัด รวมถึงค่านิยมสืบทอดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ หลายพื้นที่ผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศจะถูกผลักออกเป็นคนชายขอบ ขณะที่ในอีกหลายประเทศ ผู้ชายที่มีคนรักเป็นผู้ชายต้องถูกชาวบ้านรุมปาหินจนเสียชีวิต นอกจากนี้ ข้อกฎหมาย ในหลายประเทศยังระบุชัดเจนเช่นกันว่า ชายที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนและพิสูจน์ได้ว่าเป็นเกย์จะไม่สามารถทำงานในกองทัพได้ และยังมีกฎหมายลงโทษจำคุก 10 ปี หากพบว่าคนเพศเดียวกันอยู่กินแบบใช้ชีวิตคู่ สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในทวีปเอเชีย

‘ภูฏาน’ ถือเป็นประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยมุมมองที่แตกต่างของคนต่างชาติที่มองเข้ามาในภูฏานนั้น ถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายชัดเจน ฝ่ายหนึ่งมองว่าประเทศนี้คือดินแดนที่สงบสุข ผู้คนใช้ชีวิตอย่างไม่เร่งรีบ และเป็นประเทศที่มีดัชนีความสุขพุ่งสูง ส่วนอีกฝ่ายกลับตั้งคำถามว่า ทำไมดัชนีความสุขของคนในประเทศถึงไม่สอดคล้องกับดัชนีความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ยาวไปจนถึงด้านเสรีภาพสื่อ ในที่สุด ประเด็นสังคมอย่างเรื่องความหลากหลายทางเพศในภูฏานก็ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อสภาตัดสินใจแก้ประมวลกฎหมายที่ลงโทษชาว LGBTQ+ มาเป็นไม่มีความผิดทางอาญาอีกต่อไป

แต่เดิมกฎหมายอาญามาตรา 213 และ 214 ของประเทศภูฏานระบุไว้ว่า ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบผิดธรรมชาติ หรือผู้ที่มีพฤติกรรมทางเพศผิดธรรมชาติ จะมีความผิดทางอาญาและถือเป็นอาชญากรรม ทว่าในปี 2020 เกิดการประชุมร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ปรึกษากันเพื่อลงมติแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้มีความเป็นสากลและเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติ 63 จากทั้งหมด 69 คน ลงมติเห็นชอบให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 213 และ 214 ยกเลิกบทลงโทษทางอาญา ก่อนจะเตรียมทูลเกล้าฯ ให้สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก (King Jigme Kheser Namgyel Wangchuck) ทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อออกกฎหมายอย่างเป็นทางการ

ถึงการแก้กฎหมายจะยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์และยังไม่เดินทางไปถึงจุดสิ้นสุด แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง หลายคนชื่นชมการแก้กฎหมายไม่เป็นธรรม ทาชิ เทเชน (Tashi Tsheten) ผู้อำนวยการกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศภูฏาน (Rainbow Bhutan) กล่าวว่าการผ่านร่างกฎหมายครั้งนี้คือการขยับเพดานด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประเทศ ถือเป็นชัยชนะที่น่ายินดีของชาว LGBTQ+

กฎหมายส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหรืออัตลักษณ์ทางเพศของประเทศเอเชีย โดยเฉพาะหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับอิทธิพลและวัฒนธรรมความคิดรวมถึงกฎหมายมาจากกฎหมายอาญาของอินเดียในช่วงทศวรรษ 1860 ที่ระบุว่ารักร่วมเพศเป็นอาชญากรรม และเป็นกฎหมายต่อต้านเกย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งความคืบหน้าครั้งนี้ทำให้ประเทศภูฏานกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศในทวีปเอเชียที่ผ่อนคลายความเข้มงวดที่มีต่อชาว LGBTQ+

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความยินดีปรีดายังคงมีอีกหลายเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป ไคลี่ ไนท์ (Kyle Knight) นักวิจัยอาวุโสผู้มีส่วนผลักดันโครงการสิทธิผู้หลากหลายทางเพศขององค์กร Human Rights Watch กล่าวถึงการแก้กฎหมายขอภูฏานว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความเท่าเทียมมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน หรืออะไรก็ตาม คุณก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้น ภูฏานจะต้องทำงานหนักต่อไปเพื่อพิสูจน์ว่าสิทธิของคนชายขอบในประเทศนี้ จะถูกคุ้มครองตามกฎหมายได้จริง ๆ

 

ที่มา

https://www.reuters.com/article/bhutan-bill-lgbt-idUSL4N2IQ2SZ

https://www.nytimes.com/2020/12/12/world/asia/bhutan-decriminalizes-gay.html

Tags: , , , , , , , , ,