ยุโรปอนุมัติการใช้ยารักษามะเร็งที่มีชื่อว่า larotrectinib เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งในแบบที่เรียกว่า Tumour-agnostic หรือการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า หลังใช้การรักษากับเด็กหญิงวัย 2 ขวบแล้วได้ผล
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีรักษามะเร็งให้หายขาด การรักษามะเร็งทำได้ในหลากหลายวิธีทั้ง การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด ฮอร์โมน ยารักษาตรงเป้า การปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์
มีการศึกษาในเรื่องของยารักษาตรงเป้าอย่างกว้างขวางในโรคมะเร็งเกือบทุกชนิด ยารักษาตรงเป้า (targeted therapy) คือ ยารักษาโรคมะเร็งที่ไม่มีผลฆ่าตัวเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งได้จากการขัดขวาง/หยุดยั้งขบวนการในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เช่น ต้านการเจริญเติบโตของเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็ง จึงมีผลให้เซลล์มะเร็งขาดอาหาร ดังนั้น จึงควบคุมโรคมะเร็งได้
ปัจจุบันการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า ใช้รักษาได้ผลเพียงในโรคมะเร็งบางชนิดและบางระยะเท่านั้น เช่น ในระยะดื้อต่อยาเคมีบำบัด นอกจากนี้ ยารักษาตรงเป้าส่วนใหญ่ยังจัดเป็นยาที่อยู่ในขั้นตอนของการศึกษา เป็นยาที่มีราคาสูงมาก จึงเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้ และยังไม่บรรจุอยู่ในยาหลักของการประกันสุขภาพของรัฐบาล แต่จะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆ ไปตามคำแนะนำ/ชี้แจงของแพทย์
การอนุมัติใช้ยา larotrectinib ในครั้งนี้เกิดจากการรักษาเด็กหญิงวัย 2 ขวบชื่อ ชาร์ล็อตต์ สตีเวนสัน จากเมืองเบลฟาสต์ ประเทศอังกฤษ เธอเป็นมะเร็งที่เรียกว่า infantile fibrosarcoma มะเร็งที่เกี่ยวพันกับเนื้อเยื่อในร่างกาย เชื่อว่าเกิดจาก การกลายพันธ์ุของยีนซึ่งอาจจะมาจากพันธุกรรม หรือเกิดขึ้นเอง ก็ได้ ทําให้เกิดความผิดปกติของการแบ่งเซลล์รวมทั้งการเจริญเติบโต ในกรณีของชาร์ล็อตต์ เนื้องอกของชาร์ล็อตต์เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่าฟิวชั่นของยีน NTRK ซึ่งแตกต่างไปจากมะเร็งเนื้อเยื่อทั่วไป เพราะมักจะพบในสมอง ตับ ไทรอยด์ ซึ่ง NTRK นั้นค่อนข้างที่จะพบได้ยาก
สิ่งที่ทำให้การรักษาครั้งนี้เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจก็คือปกติยารักษาแบบบตรงเป้าใช้ในการรักษามะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งหลอดลม แต่การใช้รักษาหนูน้อยชาร์ล็อตต์ซึ่งเป็นมะเร็งเนื้อเยื่อ NTRK และได้ผลนี้ทำให้วงการแพทย์มีความหวังว่ายารักษาตรงเป้าจะสามารถรักษามะเร็งได้ทุกชนิด
ผลดีนอกจากจะเป็นการใช้ยาเพียงตัวเดียวที่รักษามะเร็งได้ทุกชนิดแล้ว การใช้ยารักษาตรงเป้ายังช่วยลดผลข้างเคียง หรือความเจ็บปวดอื่นๆ ที่เกิดจากการรักษามะเร็งในแบบอื่นๆ ได้ ซึ่งจะทำให้การรักษามะเร็งนั้นสร้างผลข้างเคียงหรือความเจ็บปวดน้อยลง อันจะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ โดยเฉพาะกับเด็ก ที่อาจจะไม่สามารถทนกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการรักษามะเร็งในแบบอื่นๆ ได้
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/health-49798628
https://www.chulacancer.net/faq-list-page.php?id=336
https://med.mahidol.ac.th/cancer_center/sites/default/files/public/pdf/Papers/COMMONSOFTTISSUE.pdf
ภาพ : Bayer
Tags: มะเร็ง, การรักษาโรคมะเร็ง, ยารักษาโรคมะเร็ง