เมื่อพูดถึงระบบฟังเพลงออนไลน์ (Online Music Streaming) ก็มีคำถามในใจว่า การฟังเพลงออนไลน์แบบนี้ ผู้ฟังได้คุ้มเสียหรือไม่ ถูกลิขสิทธิ์หรือเปล่า สุดท้ายแล้วเงินไปอยู่ที่ใคร คำถามลูกโซ่เหล่านี้เหมือนมีคำตอบโยงใยกันอยู่เช่นกัน
โดยปกติ เม็ดเงินในอุตสาหกรรมเพลงและรายได้ของศิลปินย่อมมาจากการขายเพลงผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงการออกทัวร์คอนเสิร์ต รายได้ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแบ่งหักตามเปอร์เซ็นต์ระหว่างค่ายเพลง นักแต่งเพลง-โปรดิวเซอร์ นักร้อง และอื่นๆ ลดหลั่นกันไป แต่ในบ้านเรา การฟังเพลงฟรีๆ หรือดาวน์โหลดเถื่อน ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมเพลง ซึ่งว่าไปแล้วก็แก้ยาก เพราะบ้านเราเพิ่งเริ่มมีระบบการฟังออนไลน์แบบนี้มาได้ไม่นาน เราจึงขอชวนดูระบบของอุตสาหกรรมเพลงเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ เพราะเขามีรายละเอียดที่น่าสนใจทีเดียว
คนเกาหลีใต้ฟังเพลงผ่านระบบออนไลน์สตรีมมิงกันเป็นส่วนใหญ่ (ถ้านึกถึงบ้านเราก็จะเป็นพวกแอปฯ ฟังเพลงบนมือถืออย่าง JOOX หรือแบบสากลก็คือ Apple Music) พวกเขาจะไม่เปิด YouTube แล้วกดฟังวนไปเรื่อยๆ พูดแบบนี้อาจจะแปลกใจ แต่การฟังเพลงออนไลน์ของเกาหลีใต้นั้นจะต้องเสียเงิน (ถ้าจะไม่เสียเงิน ก็ต้องเป็นการทดลองฟัง (preview) 15-30 วินาที หรือฟังไม่ได้เลย) มีทั้งแบบเติมเงินและแพ็กเกจ ถ้าจะให้คุ้มสุดๆ ก็ต้องซื้อแพ็กเกจเหมารายเดือน ซึ่งจะทำให้ฟังได้ไม่จำกัดเลยทีเดียว
เครือข่ายออนไลน์สตรีมมิงหลักๆ ของเกาหลีใต้ ได้แก่ Melon, Bugs และ Mnet หากนับรวมรายเล็กก็มีมากถึง 9 เครือข่าย เครือข่ายดิจิทัลเหล่านี้ไม่ได้ให้บริการแค่ฟังเพลงออนไลน์ แต่มีรูปแบบประหนึ่ง Google และ Yahoo ที่มีทั้งข่าวสารวงการบันเทิง ชาร์ตเพลง บล็อก เว็บบอร์ด ครอบคลุมไปถึงระบบทีวีออนไลน์ แต่จุดเด่นของบริการที่รู้จักกันในระดับโลกก็คือชาร์ตเพลงของเหล่าศิลปินนักร้องทั้งหลายนี่ล่ะ
ชาร์ตเพลงนั้นสำคัญมากสำหรับศิลปินเกาหลีใต้ เพราะยอดฟังเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่รายการเพลงต่างๆ จะใช้คำนวณคะแนน ยิ่งยอดฟังสูงเท่าไร โอกาสได้ชิงหรือชนะถ้วยรางวัลที่ 1 ของรายการเพลงยอดฮิตก็ย่อมสูงขึ้น ตามมาซึ่งการประกาศศักดาในวงการ เพราะสื่อต่างๆ ก็จะเล่นข่าวกันครึกโครม เป็นเหมือนรางวัลตอบแทนการทำงานหนัก และรายได้ส่วนแบ่งที่เกิดขึ้นจากระบบดิจิทัลก็ถือว่าพอรับได้
หากอ้างอิงจากระบบของ Melon แพ็กเกจรายเดือนแบบไม่จำกัด (unlimited) ราคาถูกแสนถูก เพียง 3,000 วอนต่อเดือน (ประมาณ 100 บาท) คนไทยฟังยังว่าถูก เมื่อเทียบกับค่าครองชีพของคนเกาหลีใต้ 3,000 วอนก็เท่ากับราคาหมูปิ้งสองไม้เลยนะ โดยรายได้ที่เกิดจากการฟังเพลง 1 เพลงต่อ 1 ครั้ง จะถูกนำไปแจกจ่ายตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ ดังนี้ 66 เปอร์เซ็นต์ให้ค่ายเพลง 16 เปอร์เซ็นต์ให้คนเขียนเนื้อร้องหรือนักแต่งเพลง 8 เปอร์เซ็นต์ให้นักร้อง และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ให้บริษัทออนไลน์สตรีมมิง (ในที่นี้คือ Melon) สำหรับศิลปินหรือนักร้อง สัดส่วนนี้คงฟังดูน่าเศร้า และศิลปินบางคนก็ออกมาโอดครวญแล้วเรื่องเปอร์เซ็นต์ขี้ปะติ๋ว ซึ่งหากราคาแพ็กเกจดังกล่าวถูกไปกว่านี้ รายได้ที่จะตกไปถึงพวกเขาก็ต้องลดลงไปด้วย
ระบบออนไลน์สตรีมมิงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีข้อแรกคือ การที่คนเกาหลีใต้ทั้งหมด (ทั้งระดับบุคคลไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ) ใช้รูปแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเลือกฟังเพลงของค่ายใด แพลตฟอร์มใด ก็ต้องจ่ายเงินอย่างถูกต้องโดยแท้จริง ทำให้มั่นใจได้ว่า ‘โอป้า’ ของพวกเราจะได้รับการสนับสนุนอย่างแน่นอน ข้อสังเกตคือระบบนี้มีความชาตินิยมสูงมาก ถ้าไม่ใช่คนเกาหลีใต้หรือคนที่อ่านภาษาเกาหลีได้ ก็จะเข้าใจรูปแบบของมันได้ยากสักหน่อย ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยให้เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศของเขาเอง
ข้อดีที่สองคือทำให้เกิดแรงผลักดันในการสร้างสรรค์งาน เพราะระบบนี้ทำให้ศิลปินเห็นผลตอบแทนที่ชัดเจนอยู่บ้าง ไม่ว่าจะมากหรือน้อยอย่างไร การแต่งเพลงหรือการทำเพลงกลายเป็นทางเลือกเสริมอีกช่องทางของเหล่านักร้อง ซึ่งนอกจากจะอยากปล่อยของสร้างชื่อ ก็ยังสร้างเงินจากการทำงานเบื้องหลังได้ด้วย และน่าสนใจทีเดียวที่หลายเพลงที่เราฟัง ตัวศิลปินนักร้องเองนั่นแหละที่มีส่วนร่วมในการแต่งเนื้อร้อง แต่งทำนอง ทำให้มีเอกลักษณ์ที่หลากหลายเฉพาะตัวของแต่ละคนแต่ละวงมากขึ้น
ศิลปินนักร้องหรือแรปเปอร์ทั้งหลายที่เราเคยคิดว่าเขามีดีแค่ลีลาเต้น หลายคนเป็นนักแต่งเพลงที่มีเพลงจดลิขสิทธิ์มากมาย และได้เงินเป็นกอบกำจากการทำงานเบื้องหลังพอสมควร ยกตัวอย่างศิลปินไอดอล K-pop ที่มีลิขสิทธิ์เพลงสูงสุด 5 อันดับ (จัดอันดับล่าสุดวันที่ 1 สิงหาคม 2017) ได้แก่ G-Dragon (วง Bigbang) 170 เพลง ยงจุนฮยอง (วง Highlight) 130 เพลง Zico (วง Block B) 102 เพลง บังยงกุก (วง B.A.P) 98 เพลง และ Miryo (วง Brown Eyed Girls) 88 เพลง
ข้อดีที่สามก็คือระบบนี้มีความเป็น real time แปลว่าเพลงเก่าไม่ได้หายไปจากสารบบทันทีที่ตกชาร์ต ลองนึกถึงบ้านเราสมัยก่อน เพลงที่ออกใหม่มักจะคงอยู่ในชาร์ต Top 20 ของรายการวิทยุหรือโทรทัศน์สักพัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เพลงก็จะหายไปด้วย ยากที่จะเห็นเพลงเก่ามากๆ วนกลับมาขึ้นชาร์ตได้อีก เพราะคนจะฟังอยู่ที่บ้านแล้วเท่านั้น แต่พอเป็นระบบออนไลน์ที่คนทั้งประเทศใช้ร่วมกัน บางเพลงที่คนยังฟังอย่างสม่ำเสมอ ทั้งๆ ที่ออกมาตั้งนานแล้ว หรือเพลงที่อยู่ดีๆ ก็เป็นกระแสขึ้นมา ทั้งที่ตอนปล่อยออกมาเมื่อ 5 ปีที่แล้วไม่ยักจะมีใครฟัง ก็สามารถตีชาร์ตขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ได้เหมือนกัน
แต่ในขณะเดียวกัน ข้อเสียและช่องโหว่ก็มีอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนรายได้กับชาร์ตเพลงเจ้าปัญหาที่ได้เอ่ยถึง ข้อเสียข้อแรกก็เพราะแพ็กเกจต่อเดือนมีราคาค่อนข้างถูก เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว รายได้ต่อการฟัง 1 ครั้งต่อ 1 เพลงก็เหลืออยู่ไม่กี่วอนที่จะตกมาถึงกระเป๋าศิลปินหรือคนทำเพลง
เรื่องนี้จะต่อเนื่องมาถึงข้อเสียที่สอง คือระบบนี้อาจไม่เอื้อประโยชน์แก่ศิลปินตัวเล็กตัวน้อย อย่างที่รู้กันว่าศิลปินที่มีฐานแฟนคลับกลุ่มใหญ่ แฟนๆ ก็พร้อมจะกระหน่ำ สตรีมมิงจนติดชาร์ตค้างฟ้า ฟังวนไปไม่หยุดไม่หย่อนกันจนออกเพลงใหม่อีกรอบ หรือแม้แต่ศิลปินบัลลาดหรือศิลปินเดี่ยวดังๆ อย่าง IU ก็มักจะครองชาร์ตเพลงอยู่แบบนั้น ทุกห้างร้านก็ต้องเปิดเพลงของเธอ อัลบั้มหนึ่งอาจมีเพลงของเธอค้างชาร์ตอยู่ครึ่งหนึ่งเข้าไปแล้ว เคราะห์ซ้ำกรรมซัด คนจำนวนมากก็ชอบเลือกฟังแต่เพลง Top 100 ศิลปินนอกชาร์ตก็คงเศร้าๆ ตามกันไป
ช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงแรกของการปล่อยเพลง คือหมุดหมายสำคัญที่สุดที่จะทำให้เพลงขึ้นแตะชาร์ตในอันดับใด เมื่อก่อน การอัพเดตชาร์ตจะเริ่มตอนเที่ยงคืน (และอัพเดตแบบ real time ทุก 30 นาที) ศิลปินที่มีฐานแฟนคลับก็จะมีแต้มต่อ เพราะแฟนคลับจะนั่งรอเวลาปล่อยเพลงและรีบสตรีมมิงจนทั้งอัลบัมขึ้นชาร์ต หรือแตะอันดับที่ 1 นำหน้าเพลงของศิลปินคนอื่นๆ กว่าที่คนทั่วไปจะตื่นขึ้นมาฟังก็ถือว่าสายไปเสียแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการของ KMCIA หรือ Korea Music Content Industry Association เปลี่ยนระบบการนับยอดฟัง โดยให้นับแค่ช่วงเวลาเที่ยงวันถึงหกโมงเย็น ถ้านอกเหนือจากช่วงเวลานี้จะปัดไปขึ้นยอดตอนตีหนึ่งวันถัดไป
แต่ถึงจะปรับเวลาแบบนี้ ก็ไม่ได้การันตีว่าศิลปินโนเนมหรืออินดีจะมีพื้นที่บนชาร์ตเพลง ไปจนถึงว่าพวกเขาอาจไม่ได้ทำรายได้จากระบบออนไลน์สตรีมมิงเลยด้วยซ้ำ
สำหรับบ้านเรา แอปฯ ฟังเพลงอย่าง JOOX ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยมีทั้งแบบฟังฟรีได้บางเพลงแลกกับการต้องทนโฆษณาพ่วงต่างๆ และแบบจ่ายเงินเป็นแพ็กเกจพร้อมโปรโมชัน เพื่อให้ฟังได้แบบไม่จำกัด ซึ่งสนับสนุนให้คนไทยฟังเพลงแบบถูกลิขสิทธิ์ แอปฯ มีตัวเลือกให้โหลดเพลงเพื่อฟังแบบออฟไลน์ได้ แม้จะมีข้อเสียอย่างคุณภาพเสียงที่ไม่เสมอต้นเสมอปลาย แต่ทีมพัฒนาแอปฯ ก็พยายามแก้ไขและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง
เราคิดว่าถึงตอนนี้คนไทยก็หันมาใช้ออนไลน์สตรีมมิงกันมากขึ้น แม้ยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่สนใจจะจ่ายเงินค่าสมาชิก แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะสามารถฟังได้ทุกเพลง ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องมีภาระซื้อซีดี แถมยังได้สนับสนุนวงการเพลงอีกด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราคิดว่าที่ระบบออนไล์สตรีมมิงของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จและเข้มแข็ง เพราะมันเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมเพลงบ้านเขา เป็นกลไกสำคัญของระบบทั้งหมดที่เดินหน้าไปเป็นแผง รวมถึงระบบอินเทอร์เน็ต Wi-Fi ที่รวดเร็วที่สุดในโลก การสตรีมมิงย่อมหมดปัญหากระตุกโหลดเพลงไม่ไปแน่นอน และถึงแม้มันจะมีช่องโหว่ที่ควรปรับแก้เพื่อความเป็นธรรมและความซื่อตรง แต่เราก็รู้สึกว่าระบบนี้น่าสนใจและน่าจะนำมาปรับใช้กับบ้านเรา ในภาพรวมของอุตสาหกรรมเพลง เหตุผลหลักเลยก็คือเพื่อให้คนสนับสนุนผลงานของคนทำเพลงที่ชอบ จะได้มากได้น้อยก็ยังดีกว่าที่ศิลปินต้องทำเพลงออกมาให้เว็บแจกไฟล์กันฟรีๆ ที่ดูไม่คุ้มเหนื่อยและไม่น่าจะทำให้ศิลปินมีกำลังใจ
ปี 2017 แล้ว ไม่ควรจะต้องมีศิลปินออกมาเรียกร้องให้หยุดสนับสนุนแผ่นผีซีดีเถื่อนกันเลยนะชาวไทย
Tags: G-Dragon, ZICO, B.A.P, Highlight, KMCIA, JOOX, MusicStreaming, K-Pop, MelonChart, Mnet, Brown Eyed Girls