ในยุค Mobile First อุปกรณ์พกพาอย่างมือถือและแท็บเล็ตค่อยๆ เริ่มมีบทบาทแซงคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและแล็ปท็อป ซึ่งนอกจากการเชื่อมต่อต้องไม่มีข้อจำกัดแล้ว ภาคธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ ยังใส่ใจเรื่องความปลอดภัยกันมากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 61 ซัมซุงจัดงาน ‘Samsung Business Forum 2018: Next Mobile Economy’ เพื่อยกระดับธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่ และได้พูดถึงธุรกิจแบบ Business to business (B2B) โดยกล่าวแนะนำ Knox (น็อกซ์) ระบบรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์ซัมซุง ที่ติดตั้งมาในอุปกรณ์เกือบทุกรุ่นที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน และผู้ใช้บริการระดับบุคคลได้ใช้ประโยชน์จาก Knox มานานแล้วโดยที่หลายคนไม่รู้ตัว แต่ตอนนี้ ซัมซุงพร้อมจะนำ Knox เข้าสู่สนามธุรกิจที่ต้องเชื่อมอุปกรณ์มากมายเข้าด้วยกัน ซึ่งการเชื่อมต่อนี้มาพร้อมกับความต้องการการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง
วิชัย พรพระตั้ง รองประธานองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ พูดถึงยุคสมัยที่ศักยภาพการเชื่อมต่อรวดเร็วกว่าเดิมมาก อย่าง AIS Next G ที่มาพร้อมกับความเร็วระดับ 1 GB ต่อวินาที หรือเร็วขนาดที่ดาวน์โหลดหนังทั้งเรื่องในเวลาไม่กี่วินาที นำไปสู่ Next Mobile Economy เพราะเมื่อไม่มีข้อจำกัดในการส่งข้อมูลในระยะเวลาสั้นๆ อีกต่อไป ภาคธุรกิจก็สามารถนำเทคโนโลยีเคลื่อนที่มาใช้ในการทำงานกันแบบเรียลไทม์ได้มากขึ้น และจากที่ Cisco ประเมิน ภายในปี 2020 คนแต่ละคนจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายจำนวนเฉลี่ยมากถึง 6.58 อุปกรณ์ต่อคน
“บนโลกธุรกิจ คุณมีข้อจำกัดมากไม่ได้” วิชัยกล่าว และบอกว่า ‘พื้นที่’ และ ‘จังหวะเวลา’ กลายเป็นจุดเฉือนเอาชนะกันในการแข่งขัน โดยเฉพาะในโลกที่ไทม์โซนแทบไม่มีความหมาย
แต่ทั้งนี้ การจะนำเทคโนโลยีการเชื่อมต่อมาใช้ในองค์กร ก็ต้องคิดเผื่อเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเขากล่าวว่า ซัมซุงมีโซลูชันพื้นฐานตั้งแต่ชิปเซ็ต ฮาร์ดแวร์ และ Knox ซึ่งจะตอบโจทย์ได้ และซัมซุงเองก็ต้องอาศัยพาร์ทเนอร์มาดำเนินการในส่วนที่เชี่ยวชาญ ซึ่งตอนนี้มีถึง 12 ราย ในจำนวนนี้รวมทั้ง IBM ผู้จัดการระบบหลังบ้านและคลังเก็บข้อมูล (data storage) หรือ SCANDIT ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีการสแกนบาร์โค้ด เป็นต้น โดยซัมซุงทำหน้าที่เติมเต็มในฐานะอุปกรณ์ปลายทาง (end device)
กล่าวโดยสรุปก็คือ คีย์เวิร์ดสำคัญใน Mobile Economy ได้แก่ Open – เปิดกว้างต่อการเชื่อมต่อ , Security – มาพร้อมกับความปลอดภัย และ Partnership – การร่วมมือ ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันที่เป็นประโยชน์
อย่างไรก็ตาม วิชัยกล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ Mobile Economy ของแต่ละองค์กร ต้องเจอกับความท้าทาย 3 ประการ คือ แรงงานคนในองค์กร (workforce) ที่ต้องได้รับการผลักดันและเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีให้พร้อมรับมือเครื่องมือใหม่ๆ การขจัดกระบวนการทางเอกสาร (paper process) และโครงสร้างไอทีแบบดั้งเดิมที่ทำต่อๆ กันมา (legacy IT infrastructure) เช่น ความเคยชินกับการทำงานบนแล็ปท็อปหรือพีซี ซึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน
ดร.มารุต มณีสถิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที นิยามว่า Knox คือแพลตฟอร์มระบบรักษาความปลอดภัย (security platform) ที่ฝังลงมาอยู่ถึงในอุปกรณ์เลยในตัว คือมีการเข้ารหัส 7 เลเยอร์ ตั้งแต่ชิปในตัวเครื่อง ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนกุญแจยืนยันตัวตน และมี authentication มากกว่า 2 ระดับ ทำให้รักษาความปลอดภัยจากตัวเครื่องได้ไปจนถึงซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน ถือเป็นระบบที่ปลอดภัยในระดับหน่วยงานทหาร และปัจจุบัน มีการนำไปใช้งานในการทำงานของกราวด์เซอร์วิสในสนามบินสิงคโปร์ และหน่วยงานความมั่นคงในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร จีน และสิงคโปร์ เป็นต้น
“Knox เป็นส่วนผสมระหว่างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ทำให้แฮ็กไม่ได้ เนื่องจากตัวยืนยัน (authorization) ต่างๆ ถูกเก็บไว้ในชิป แต่ถ้ามีการแฮ็กจริงๆ ระบบจะทำลายข้อมูลตัวเองทันที”
การชู Knox ขึ้นมาเป็นตัวเอกในการแถลงข่าวครั้งนี้ ก็เพื่อให้ภาคธุรกิจมั่นใจในความปลอดภัยของอุปกรณ์ซัมซุง เพื่อนำอุปกรณ์ของค่ายนี้ไปรองรับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกต่างๆ ที่องค์กรนำมาใช้ เช่น ไบโอเมตริกส์ ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน ฯลฯ ซึ่งต้องรันอยู่บนอุปกรณ์ที่ได้รับการปกป้องความปลอดภัยขั้นสูง
“เราพลิกโฉมความหมายของที่ทำงาน” วิชัยกล่าวและขยายความว่า ต่อไป องค์กรไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เยอะ ทำงานที่ไหนก็ได้ นำไปสู่การสร้างโมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ๆ ซึ่งการเกิดขึ้นของหน่วยงาน Samsung Enterprise ในขั้นแรกจะเน้นไปที่การรักษาความปลอดภัยก่อน และในสเต็ปต่อไปคือการร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน
วิชัยพูดถึง Software Development Kit (SDK) ที่เปิดให้นักพัฒนานำไปสร้างแอปพลิเคชันที่อยู่บนฐานความปลอดภัยของระบบ Knox
“SDK ของซัมซุงมีมูลค่ามหาศาล ในโลกสมัยก่อน ถ้าเกิดคุณอยากได้เครื่องมือดิจิทัล สมมติมีโรงงาน แล้วบอกว่าอยากได้เครื่องมือเก็บสต็อก คุณจะต้องลงทุนไปจ้างทำทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ สุดท้ายต้องทำเรื่อง MOQ (Minimum Order Quantity) เพราะมีเรื่อง R&D เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะต้องทำเป็น 20,000-30,000 ตัวถึงจะคุ้ม แต่บน Knox สามเครื่องก็ทำ ห้าเครื่องก็ทำ ไม่มีสเกล เพราะเครื่องมือทุกตัวมันมี Knox อยู่ในนั้นแล้ว เพียงแต่คุณต้องเขียนแล้วใส่โซลูชันเข้าไปในนั้น”
Tags: ความมั่นคงไซเบอร์, Samsung, สมาร์ตโฟน, smartphone, Knox, Mobile Economy