ถ้าคุณคุ้นเคยกับคำว่าฆาตกรรมในห้องปิดตาย คุณคงพอนึกขนบของเรื่องเล่าทำนองนี้ได้ 

คนคนหนึ่งเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาในสภาพแวดล้อมจำกัด ผู้ที่อยู่รายรอบต่างมีพยานหลักฐานรองรับ ยอดนักสืบจึงต้องมองหาช่องโหว่ในเรื่องราว พร้อมค่อยๆ ไขปริศนาว่าใครคือคนร้ายที่แท้จริงกันแน่

Knives Out ก็เป็นภาพยนตร์ที่ดำเนินตามแนวทางนี้ (หรือที่มีชื่อเรียกเฉพาะทางว่าแนว whodunit) เรื่องราวโดยย่อเกิดขึ้นหลังการตายอย่างเป็นปริศนาคาห้องนอนของ ฮาร์ลาน ธรอมบีย์ (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) คุณปู่ผู้เป็นนักเขียนแนวสืบสวนชื่อดัง แรกเริ่มทุกคนคิดว่าเป็นการอัตวินิบาตกรรม เพราะจากสถานที่เกิดเหตุก็ไม่มีอะไรผิดปกติ จนกระทั่งเรื่องราวการตายของเขาคนนี้ไปเข้าหูของ เบอนัวต์ บลองก์ (แดเนียล เคร็ก) นักสืบ (ที่ในเรื่องบอกว่า) ชื่อดัง ผู้ได้รับไหว้วานให้มาสืบคดีนี้โดยที่เขาก็ไม่รู้ว่าผู้ว่าจ้างเป็นใคร รู้แต่ว่าผู้ต้องสงสัยแทบทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลในครอบครัวธรอมบีย์ 

ด้วยความที่คืนเกิดเหตุ เป็นวันฉลองครบรอบ 85 ปีของคุณปู่ ลูกหลานจึงอยู่กันพร้อมหน้า ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีบางคนไปทะเลาะกับคุณปู่ เมื่อคุณปู่สิ้นลมหายใจ คนเหล่านั้นจึงขึ้นแท่นเป็นตัวเก็งฆาตกรทันที และความตายของนักเขียนชื่อดังย่อมมาพร้อมกับพินัยกรรมมากมูลค่า นอกจากการสืบหาตัวผู้ร้าย Knives Out จึงเหมือนภาพยนตร์ครอบครัว เพียงแต่ไม่ได้มาในลักษณะทุกคนรักกัน แต่เป็นครอบครัวที่มีการกระทบกระทั่ง กระแนะกระแหน นินทาว่าร้าย หรือถึงขั้นชิงดีชิงเด่นแบบยอมไม่ได้

เรื่องราวทั้งหมดนี้ อาจฟังดูไม่สดใหม่สำหรับผู้ชื่นชอบภาพยนตร์/นิยายนักสืบ อย่างตัวละครนักสืบเบอนัวต์ บลองก์ หรือรูปแบบของคดีฆาตกรรมก็เหมือนถอดแบบมาจากอาชญนิยายของอกาธา คริสตี้ หนำซ้ำความหาญกล้าของชื่อไทยที่ถามท้าว่า “ใครฆ่าคุณปู่” ก็อาจถูกบางคนตอบได้ตั้งแต่ภาพยนตร์ดำเนินไม่ถึงครึ่งเรื่อง

แต่ก็เหมือนเรื่องเล่าของนักสืบหลายๆ เรื่อง หลายครั้งหลายหน เราพอคาดเดาได้ว่าคนร้ายคือใคร เพียงแต่ที่มาที่ไป กลวิธี หรือรายละเอียดตามรายทางต่างหากที่น่าสนใจมากกว่า

เช่นเดียวกันกับ Knives Out ที่ก็ถูกปรุงแต่งให้ถูกปากคนยุคปัจจุบัน คือไม่จำเป็นต้องวางเส้นเรื่องไว้ในอดีต แต่ตัวละครมีสมาร์ตโฟน เล่นโซเชียลมีเดียเป็นปกติเหมือนพวกเราในทุกวันนี้ หรือแม้กระทั่งคาแรกเตอร์นักสืบเบอนัวต์ บลองก์ ก็ไม่ได้สุขุมนุ่มลึกหรือรู้รอบไปทุกเรื่องแบบที่ยอดนักสืบในอดีตเป็นกัน กลับกันพี่ท่านนั้นชวนให้ผู้ชมไม่ไว้วางใจในฝีมือ มีอาการตื่นตระหนกให้ได้พบเห็น อีกทั้งบรรยากาศโดยรวมของเรื่องยังถูกเคลือบด้วยความตลกสนุกสนาน ยิ่งผสมกับความที่บรรดาผู้ต้องสงสัยทั้งหลายเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน นอกจากได้ร่วมลุ้นหาคนร้ายแล้ว ระหว่างดูผมจึงรู้สึกไม่ต่างกับเวลาไปงานรวมญาติที่แรกๆ ก็คุยกันดี แต่ผ่านไปสักห้านาทีก็ตีกันเรียบร้อย

ยิ่งเหตุผลของการตีกันเป็นเรื่องการเมือง (รวมถึงเงินๆ ทองๆ) ด้วยแล้วล่ะก็

อย่างไรก็ตาม การถกเถียงกันของผู้คนในครอบครัวธรอมบีย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่นำแสดงโดยดาราชื่อดังอย่าง คริส อีแวนส์, โทนี คอลเลตต์, เจมี ลี เคอร์ติส, ไมเคิล แชนนอน ก็มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและโยงใยมาสู่ตัวละครที่ดูด้อยกว่าทุกคนในครอบครัวอย่าง มาร์ธา คาเบรรา (อนา เดอ อาร์มาส) นางพยาบาลผู้ดูแลคุณปู่ 

มาร์ธาและครอบครัวเป็นชาวลาตินที่อพยพเข้ามายังอเมริกา—ทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย สำหรับคนในครอบครัวธรอมบีย์ พวกเขารับรู้แค่ว่าเธอเป็นนางพยาบาลที่มีมิตรไมตรี ทุกคนต่างชื่นชอบ แต่ก็ถูกทำความรู้จักเพียงแค่ผิวเผิน เพราะคนในครอบครัวธรอมบีย์ ไม่แม้แต่จะให้ความสนใจตัวตนของเธออย่างจริงจัง แม้แต่มาร์ธาเป็นคนชาติอะไร พวกเขายังไม่รับรู้ คนหนึ่งพูดว่ามาจากปารากวัย คนหนึ่งพูดว่ามาจากเอกวาดอร์ คนหนึ่งพูดว่ามาจากบราซิล ซึ่งเธอมาจากชาติไหนคงไม่สำคัญ เพราะสำหรับพวกเขา แม้ว่าจะเอ็นดูมาร์ธาขนาดไหน แต่เธอก็เป็นคนอีกชนชั้น เป็นเพียงแค่คนนอกในพื้นที่แห่งนี้เท่านั้น

พื้นที่ซึ่งมองไปแล้วจะเห็นบ้านหลังใหญ่ เห็นครอบครัวธรอมบีย์ใช้ชีวิตกันราวกับว่าสุขสบาย ดูไปแล้วก็ไม่ต่างจากภาพเปรียบเทียบสหรัฐอเมริกา (หรือที่ใดก็ได้) ในทุกวันนี้ ยิ่ง ไรอัน จอห์นสัน (ผู้กำกับที่เคยฝากผลงานมาแล้วอย่าง Looper และ Star Wars: Episode VIII — The Last Jedi) จัดแต่งให้ตัวละครหลากหลายช่วงวัยเหล่านั้นมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ทั้งในทางสุดโต่งอย่างหลานที่ชื่นชอบนาซี หรือในการถกเถียงผ่านมุมมองที่ว่าผู้อพยพสร้างความหนักใจให้พวกเขา—อเมริกันชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง อย่างไรบ้าง และต่อให้มีคนเห็นต่าง แสดงความเห็นคัดง้างกับเหล่าอนุรักษนิยมบ้าง แต่เมื่อถึงยามคับขัน ภาพยนตร์ก็เลือกนำเสนอว่าคนในตระกูลธรอมบีย์—ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์แบบไหน ล้วนหวงแหนพื้นที่ไม่ต่างกัน ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้คนนอกเข้ามาข้องเกี่ยว โดยเฉพาะเวลาที่คนเหล่านั้นได้ผลประโยชน์ เพราะพวกเขาต่างเชื่อว่าชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ล้วนเกิดจากน้ำพักน้ำแรงหรือการลงมือสร้างด้วยตัวเอง ใครจะมาตักตวงไปไม่ได้ การตายของคุณปู่จึงนำไปสู่การปะทะกัน ทั้งจากผู้คนในครอบครัว และจากการที่มีคนนำมาร์ธาเข้าไปเกี่ยวข้อง

เช่นเดียวกับการถกเถียงในวันรวมญาติ การแก่งแย่งกันเรื่องพื้นที่เกิดขึ้นแทบทุกแห่งหน การปะทะทางชนชั้นหรืิอแม้แต่การเขม่นกันของคนในครอบครัว/คนหลากเชื้อชาติ รอวันปะทุอยู่แทบทุกวัน 

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ผู้คนให้ความสนใจกันมากมาย บ้างเพื่อหาทางแก้ไข บ้างเพื่อหาทางปกปักไม่ให้พื้นที่ต้องถูกรุกราน แต่ก็เพราะเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งบางหนจึงถูกใครบางคนหยิบเรื่องทำนองนี้มาใช้เป็นเหยื่อล่อความสนใจ ส่วนหนึ่งก็เพื่อปกปิดการกระทำที่ไม่น่าไว้วางใจของใครคนนั้น และส่วนหนึ่งก็เพื่อปลุกใจให้มองเห็นว่ามีพวกเขาและพวกเราอยู่ในโลกใบนี้ 

ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นคนในครอบครัวหรือไม่ก็ตาม

เมื่อประเด็นดังกล่าวถูกนำมาสอดแทรกไว้ในหนังสืบสวนสอบสวนที่มีความขี้เล่นไม่ใช่ย่อยอย่าง Knives Out มันจึงเหมือนการเพิ่มมิติในเรื่องเล่า ทำให้การปะติดปะต่อเรื่องราวเพื่อหาว่าใครเป็นคนฆ่าของยอดนักสืบไม่ใช่แค่การหาว่าใครในคนเหล่านี้เป็นฆาตกรเหมือนในเรื่องเล่าที่เคยเป็นมา  

แต่อาจเป็นการหาว่าใครในคนเหล่านี้ที่จะไม่ทำให้เกิดเหตุนองเลือดครั้งต่อไปด้วยต่างหาก