“คีรีวง หมู่บ้านที่อากาศดีที่สุดในไทย”

ชื่อสถานที่สำหรับเช็กอินใน instagram นี้โผล่ขึ้นมาให้เลือกเป็นรายการแรกๆ เมื่อเราอัปโหลดรูปที่หมู่บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ดูเหมือนว่านักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาที่นี่เพราะประโยคสะดุดตาดังกล่าว และความถวิลหาอากาศบริสุทธิ์ที่หาได้ยากในเมืองแออัด

“อากาศดียังไง” เพื่อนคนหนึ่งถาม

คงไม่ใช่อากาศเย็นสบาย เพราะตอบได้ยากว่ากี่องศาเซลเซียสถึงจะกำลังดีสำหรับเนื้อตัวแต่ละคน แต่อากาศดีในที่นี้หมายถึงปริมาณสิ่งแปลกปลอมในอากาศนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับระดับมาตรฐาน อ้างอิงจากการตรวจสอบคุณภาพของอากาศของสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2552

อีกคำโปรโมตที่ฮิตไม่แพ้กันคือ ‘สโลว์ไลฟ์’ ด้วยบรรยากาศที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติและห่างจากตัวเมืองถึง 20 กิโลเมตร จึงเป็นสถานที่หลบเร้นความวุ่นวายในอุดมคติแห่งหนึ่ง

น่าเสียดาย วันที่เราไปถึงเป็นช่วงวันหยุดยาว อากาศที่บริสุทธิ์จึงรมกลิ่นควันรถยนต์ และสโลไลฟ์นั้นก็มาพร้อมกับการรอคิวกินอาหารที่ยาวนานสมใจ
อย่างไรก็ตาม คีรีวงทำให้เรารู้จักและเรียนรู้ความเป็นอยู่ของชุมชนพึ่งพาตัวเองในระยะใกล้

เขาโอบกอดฉัน

สะพานข้ามคลองท่าดี คือจุดถ่ายรูปยอดฮิต เพราะมองเห็นสายน้ำและขุนเขาระไอหมอกเป็นฉากหลัง ทำให้ชีวิตดูน่าอิจฉาขึ้นมานิดๆ

แต่เมื่อก่อนไม่มีทั้งชื่อ ‘คีรีวง’ หรือ ‘คลองท่าดี’ เพราะหมู่บ้านและคลองนั้นต่างมีชื่อเดิมคือ ‘ขุนน้ำ’ ด้วยอยู่ใกล้กับต้นน้ำจากยอดเขาหลวง เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2531 จึงเปลี่ยนชื่อคลองมาเป็นคลองท่าดี ส่วนชื่อคีรีวงนั้นเป็นการนำคำว่า ‘คีรี’ ที่แปลว่าภูเขา มารวมกับ ‘วง’ เพื่อสื่อว่านี่คือหมู่บ้านที่มีขุนเขาโอบล้อมเป็นวง

เรานั่งบนโขดหินกลางคลองแล้วแหงนมองไปรอบๆ ก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริง

อะไรทำให้คนกลุ่มหนึ่งมาตั้งหมู่บ้านปลีกวิเวกกลางหุบเขาเมื่อกว่า 200 ปีก่อน ในประวัติเล่าว่าคือบรรดาไพร่ที่หนีการเกณฑ์ทหารไปรบในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ถึงจะปลีกตัวออกมาหลบซ่อน คนในหมู่บ้านก็มีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวทะเลผ่านการแลกเปลี่ยนสินค้าไปทางลำคลอง

กลุ่มลูกไม้

ไพโรจน์ เนาว์สุวรรณ ดึงเชือกสีเขียวออกจากเกลียวมาถักเป็นเครื่องประดับอย่างแคล่วคล่อง เขาเป็นหนุ่มผมยาวไว้หนวดเครา ดูเผินๆ อาจเป็นคนคอนหน้าดุตามสเตอรีโอไทป์ แต่พอยิ้มและพูดหยอกล้อนักท่องเที่ยวคนโน้นคนนี้ เราก็รู้ว่าเขาเป็นคนมีลูกเล่นแพรวพราว

“ผมเป็นคนเรียนหลายที่ ไม่ใช่เรียนสูงนะ แต่เรียนมาก” เขาพูดกลั้วยิ้ม เล่าว่าตัวเองผ่านโรงเรียนช่างมาหลายแห่ง จึงมีเพื่อนฝูงเยอะ เวลาเพื่อนแวะเวียนมาหาที่บ้านในคีรีวงพร้อมของกินติดมือ เขาเกิดความเกรงใจอยากตอบแทน แต่ก็มองหาของมีค่าใดไม่เจอนอกจากบรรดาลูกไม้ในป่า จึงเก็บมาประดิดประดอยเข้ากับห่วงพวงกุญแจเก่าที่ไม่ใช้แล้วของแม่ กลายมาเป็นของที่ระลึกซึ่งผู้รับประทับใจ

“ทำเอาไว้ ฝากร้านขาย ผมขึ้นไปทำสวนข้างบน แล้วเขาก็เรียกให้ลงมารับเงินข้างล่าง” ไพโรจน์เล่าต่อด้วยแววตาขี้เล่นว่า ทีแรกทำเล่นๆ ไม่คิดว่าจะขายได้ แม้ว่าต่อมาจะได้นำสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ไปออกงานที่ดูไบ ได้เงินกลับมาเป็นกอบเป็นกำ และกลายมาเป็นวิทยากรแนะนำคีรีวงให้กับนักท่องเที่ยว แต่เขาก็ยังงงๆ ว่ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

เขาถักเชือกไปเรื่อยๆ คอยมองตามปมที่ผูกกันเพื่อหาตำแหน่งไปต่อ จนในที่สุดก็ได้สร้อยที่ทำจากลูกสวาด พืชท้องถิ่นที่เชื่อกันว่ามีอิทธิฤทธิ์ทำให้คนรักคนหลง เขาชูสร้อยเส้นนั้นให้เพื่อนของเราเพื่ออวดผลงานสั่งทำพิเศษ

ปัจจุบัน เขาเป็นประธานกลุ่มลูกไม้ กลุ่มงานฝีมือทำเครื่องประดับจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หนึ่งในกลุ่มชุมชนที่สร้างองค์กรพัฒนาตนเองในหมู่บ้าน ทั้งยังเปิดเครือข่ายโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพัก “ก็คงเพราะมีเมียเก่งด้วย” ไพโรจน์พูดหยอกเอินภรรยาที่เดินโฉบผ่านมาพอดี

สวนสมรม

ไพโรจน์เชิญชวนให้เราไปหยิบมังคุดที่หลังบ้านมาปอกกิน เพราะมันเยอะจนต้องกินทุกวัน มังคุดเนื้อหวานเปรี้ยวกำลังดี เคี้ยวแล้วสดชื่น เติมเต็มรสสัมผัสทั้งหาในคีรีวง

เพราะน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ คนที่นี่จึงปลูกผลไม้หาเลี้ยงชีพ แต่ไม่ใช่ว่าปลูกพืชชนิดเดียวกันทีละมากๆ แล้วรอเก็บเกี่ยวเป็นคราวๆ ไป แต่ปลูกสวนผลไม้ผสมหลายชนิด เรียกว่า สวนสมรม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ทำให้มีพืชผลกินตลอดปีและพืชไม่สุ่มเสี่ยงต่อการติดโรค ทั้งยังเป็นงานที่คนในครอบครัวร่วมกันทำ ตามวิถีชุมชนที่อยู่กันแบบเครือญาติ

“มาถึงแค่ตรงนี้ ยังไม่ถือว่าได้สัมผัสความเป็นคีรีวง” ไพโรจน์พูดกับนักท่องเที่ยวคนหนึ่งซึ่งเอ่ยขึ้นว่าหมู่บ้านเล็กกว่าที่คิด เขาเล่าต่อว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาพักแค่บริเวณด้านล่าง แต่การได้สัมผัสธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ที่แท้จริงนั้นจะต้องเดินขึ้นเขาไปชมวิถีชีวิตชาวบ้านบนนั้นสักหน่อย

ทั้งขนำที่สร้างไว้ดูแลสวนผลไม้ซึ่งไร้ไฟฟ้าและห้องน้ำ (ต้องใช้ส้วมจอบ คือขุดแล้วถ่าย) ทั้งพืชพรรณท้องถิ่น และความสูงชันของขุนเขา ซึ่งทั้งหมดนี้นักท่องเที่ยวคงไม่สามารถไปเองโดยลำพัง แต่ควรจะมีชาวบ้านนำทางไป

ถุงขยะในเมืองท่องเที่ยว

“ตอนกลางคืนเปิดหน้าต่างนอนได้เลย เย็นสบาย ไม่ต้องกลัวหรอก ชาวบ้านแถวนี้เขาดูแลกันเอง” ไพโรจน์พูด แต่แล้วก็ชะงักไปหนึ่งจังหวะ

“แต่ถ้ามีอะไรก็โทรหาผม เพราะว่าบางทีนักท่องเที่ยวเข้ามา เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร อาจมีมิจฉาชีพแฝงตัวมาขโมยของกันเอง”

ไพโรจน์บอกว่าแม้ที่นี่จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ห่างไกล แต่ก็มีการติดกล้องวงจรปิดในหลายๆ จุดเพื่อรักษาความปลอดภัย

วิถีชีวิตที่ดูแลกันเองได้นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อการท่องเที่ยวเฟื่องฟูขึ้นมา ปัญหาอื่นๆ ก็ต้องได้รับการแก้ไขด้วย เช่นเดียวกับเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ที่จู่ๆ ก็บูมขึ้นมา ทางถนนแคบๆ อาจเพียงพอแล้วสำหรับการปั่นจักรยานในวันก่อน แต่วันนี้ เมื่อทางวันเวย์ถูกริบพื้นที่กลายเป็นที่จอดรถของนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาหาความสงบ ทางถนนที่เคยพอเพียงก็เกิดอาการรถติดอย่างไม่น่าเชื่อ

ป้ายแผ่นหนึ่งติดอยู่ริมถนน ขอความร่วมมือให้นักท่องเที่ยวช่วยกันเก็บขยะออกไปด้วย (เพราะมีสมมติฐานว่าขยะจำนวนมหาศาลมาจากนักท่องเที่ยว) แต่ไม่ไกลจากบริเวณป้ายนั้นคือการชุมนุมกันของถุงขยะและแมลงวัน

ไพโรจน์เองก็บอกว่าไม่กล้านำถุงขยะไปวางไว้นอกบ้าน เพราะกลัวว่าคนอื่นจะแห่มาทิ้งตามๆ กัน

“ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบเรื่องขยะ” เขาตัดพ้อ เพราะเห็นว่าสนับสนุนการท่องเที่ยวได้ ก็น่าจะสนับสนุนเรื่องการจัดการขยะด้วย

จริงอยู่ที่จุดเด่นของหมู่บ้านคีรีวงคือการเป็นชุมชนที่จัดการตัวเองได้ แต่ปัญหาบางอย่างนั้นก็ถาโถมมาจากที่อื่น และซับซ้อนเกินกว่าจะแก้กันเองภายใน

ที่เหลือเราก็คงต้องคิดต่อว่าปัญหาขยะหรือปัญหาการท่องเที่ยวกันแน่ ที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้คีรีวงยังคงเป็น ‘หมู่บ้านอากาศดีที่สุดในไทย’ ต่อไป

ภาพ: อรสุรางค์ แสงสมสุรศักดิ์

Tags: , , , ,