“แผนที่สำคัญที่สุดและทำให้ชื่อเสียงประเทศไทยขจรขจายไปถึงต่างแดน และช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับฟื้นขึ้นมา คือ แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือที่เรียกกันว่า Eastern Seaboard (ESB) ซึ่งเป็นแผนที่จำเป็นต้องเร่งทำในขณะนั้น โดยผมเปรียบประเทศไทยเป็นเหมือนร้านชำที่อยู่ในตรอก เพราะขณะนั้นเรามีเพียงท่าเรือคลองเตยซึ่งเป็นท่าเรือขนาดเล็ก ทำให้ต้องเปลี่ยนขึ้นเรือใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์ หรือเรือที่เข้าท่าเรือคลองเตยได้มีระวางแค่หนึ่งหมื่นตัน บางครั้งน้ำตื้นก็ผ่านสันดอนเข้ามาไม่ได้ … เพราะฉะนั้น ผมจึงหาหนทางและสถานที่ที่จะต้องออกสู่ทะเลและสร้างท่าเรือน้ำลึกให้ได้ เพื่อยกฐานะเศรษฐกิจของไทยจากร้านชำที่อยู่ในตรอกมาเป็นห้างที่อยู่บนถนนใหญ่”

เสนาะ อูนากูล

 

อาจารย์เสนาะ อูนากูล รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เคยบอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวของท่าน ซึ่งแยกไม่ออกจากเรื่องราวการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ไว้ในหนังสือ พลังเทคโนแครต ซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อเดือนกันยายน 2556

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) อาจารย์เสนาะ อูนากูล คือบุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลัง ‘แผนงานพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก’ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการ “ยกฐานะเศรษฐกิจของไทยจากร้านชำที่อยู่ในตรอกมาเป็นห้างที่อยู่บนถนนใหญ่” ตามข้อความในหนังสือที่ยกมาข้างต้น

36 ปีต่อมา ห้างสรรพสินค้าบนถนนใหญ่ก็ดูจะเล็กเกินไป และไม่อาจดึงดูดเงินลงทุนจากในและต่างประเทศเพื่อยกฐานะเศรษฐกิจของประเทศได้อีก ประกอบกับนโยบาย ‘ประเทศไทย 4.0’ ที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศให้เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเป็นรูปธรรม ‘โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor: EEC) ในพื้นที่สามจังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของแผนงานพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) จึงถือกำเนิด เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและการต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม โดยคาดหวังจะยกระดับประเทศไทยแบบ ‘พลิกฝ่ามือ’ และนำความ ‘โชติช่วงชัชวาล’ กลับมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังคงอยู่กับชีวิตประชาชนในพื้นที่ คำถามอื่นๆ อันเกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้ก็มีขึ้นพร้อมๆ กัน The Momentum จึงนำเรื่องนี้มาพูดคุยกับ ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) และอดีตนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ผู้ทำหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศไทยมาโดยตลอด

 

30 กว่าปีที่ผ่านมา ความสำคัญของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program) ต่อเศรษฐกิจไทยคืออะไร

สมัยก่อน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้ทำการค้าขายมาก เราก็มีการนำเข้า-ส่งออกบ้าง มาถึงช่วงหนึ่ง เราก็คิดว่าเราน่าจะผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เราก็เลยเริ่มผลิตของเอง เพื่อที่จะทดแทนการนำเข้า ตอนนั้นก็มีบริษัทในเครือสหพัฒน์เกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์คือผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ต่อมา ในช่วงปี 2518-2523 เราก็เปลี่ยนนโยบายของประเทศ บอกว่าเราจะไม่ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าแล้ว เราอยากจะเป็นประเทศผู้ส่งออก

ขณะเดียวกัน ในช่วงนั้นญี่ปุ่นก็เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเยอะ เพราะช่วงนั้นค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งมาก เนื่องจากถูกอเมริกาบีบ บอกว่าค่าเงินของคุณอ่อนไป ทำให้คุณส่งของไปขายในอเมริกาได้เยอะ แต่เราขายของให้คุณไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้น คุณควรจะทำให้ค่าเงินของคุณแข็ง จนถึงขนาดต้องเซ็นสัญญา เรียกว่า Plaza Accord พอเซ็นสัญญา ญี่ปุ่นก็พยายามทำตามสัญญา คือทำให้ค่าเงินของตัวเองแข็ง พอค่าเงินแข็ง ก็ทำให้การทำธุรกิจในญี่ปุ่นมีราคาแพง จึงเริ่มออกมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งค่าเงินอ่อนกว่าและค่าแรงถูกกว่า และมาลงทุนในประเทศไทยกันมาก โดยเฉพาะธุรกิจรถยนต์

พอเขาย้ายมาลงทุน ประกอบกับการที่เราอยากจะเป็นประเทศผู้ส่งออก ซึ่งก็ทำให้เขาผลิตสินค้าขายในประเทศไทยและส่งออกได้ด้วย รัฐบาลไทยก็คิดว่า ถ้าเราจะส่งออกจริงจัง เราจะต้องมีที่ให้เขามาตั้งโรงงานเพื่อทำการผลิต คือต้องมีนิคมอุตสาหกรรม แล้วก็ต้องมีท่าเรือ ไม่อย่างนั้นจะส่งออกสินค้าได้อย่างไร เลยเป็นที่มาว่าเราควรจะมีพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในประเทศไทยที่เป็นเขตอุตสาหกรรม และมีท่าเรืออยู่ใกล้ๆ ซึ่งก็คงไม่มีที่ไหนจะเหมาะเท่าที่อ่าวไทย เราก็เลยทำอีสเทิร์นซีบอร์ดตรงนั้น

ในปัจจุบัน การส่งออก 90 เปอร์เซ็นต์ส่งออกทางเรือ โดยผ่านทางอีสเทิร์นซีบอร์ด เพราะเราไม่มีทางออกทางอื่น เราไม่มีท่าเรือใหญ่ๆ อยู่ทางภาคใต้ เพราะฉะนั้น ถามว่าอีสเทิร์นซีบอร์ดมีความสำคัญกับประเทศไทยแค่ไหน แค่เป็นท่าเรือส่งออกก็มีความสำคัญมากแล้ว ไม่อย่างนั้นเราคงส่งออกขนาดนี้ไม่ได้ ในฐานะที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรก ใครที่อยากลงทุนเขาก็จะมาลงทุนตรงนี้ รวมทั้งมีสิทธิพิเศษมอบให้ มันจึงทำให้อุตสาหกรรมในประเทศไทยเริ่มบูม

อีสเทิร์นซีบอร์ดมีความสำคัญกับประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะมันเป็นจุดเปลี่ยน มันทำให้เรากลายเป็นประเทศผู้ส่งออก และเป็นการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เศรษฐกิจของเราจึงยกระดับขึ้นมาได้

ทำไมโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) จึงเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้

รัฐบาลคิดว่าตอนนี้อีสเทิร์นซีบอร์ดค่อนข้างจะเต็ม และอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม คือพวกปิโตรเคมีและรถยนต์ รัฐบาลก็เลยคิดว่าอยากจะพัฒนาพื้นที่นี้เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานเข้าไป เพราะอุตสาหกรรมดั้งเดิมอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่ในอีอีซีจะมีพื้นที่ที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเราต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องนำคนเหล่านั้นมาจากต่างประเทศ หมายความว่าบริษัทญี่ปุ่นหรือบริษัทอเมริกันจะมาตั้ง เขาก็อาจจะต้องนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามา เพราะธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้เรายังไม่ค่อยมีประสบการณ์ รัฐบาลเลยคิดว่าในอีอีซีควรจะเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาทำงาน มีโรงเรียนนานาชาติ มีการคมนาคมที่ดี มีสนามบินใหม่ คือพยายามคิดว่าจะทำอะไรที่จะช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น

ในแง่จังหวะและเวลา คิดว่าเหมาะสมแค่ไหน

ส่วนตัวคิดว่าทำก็ดีกว่าไม่ทำ ถ้าเราทำเร็วกว่านี้ก็น่าจะดี อย่างที่ก็เห็นกันว่าเศรษฐกิจไทยโต 2-3 เปอร์เซ็นต์มาหลายปีแล้ว เพราะเราไม่มีเครื่องยนต์ใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเรายังคงพึ่งพาเครื่องยนต์เดิมๆ ขณะเดียวกัน เราก็เห็นอยู่ว่ามีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลอาจจะยังไม่พร้อม เพราะการทำโครงการใหญ่ขนาดนี้ต้องการรัฐบาลที่มีความตั้งใจและสามารถดำเนินการได้จริง

รัฐบาลก่อนๆ เขาอาจจะคิด แต่ยังทำไม่ได้ เพราะเป็นห่วงว่าฉันจะอยู่อีกกี่ปี ฉันต้องทำอย่างอื่นก่อน เพื่อที่จะ ‘ได้ใจ’ ประชาชน เพราะโครงการแบบนี้ใช้เวลานาน และมันก็ไม่ได้ลงไปถึงรากหญ้าจริงๆ ถ้าเราดูรายละเอียดของโครงการอีอีซี มันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเกษตรโดยตรง เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องพร้อมที่จะทำโครงการแบบนี้ ซึ่งดีกับประเทศในระยะยาว แต่ในระยะสั้นอาจจะไม่ได้ลงไปถึงคนในระดับรากหญ้า

เศรษฐกิจไทยโต 2-3 เปอร์เซ็นต์มาหลายปีแล้ว เพราะเราไม่มีเครื่องยนต์ใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

อันที่จริง เราน่าจะทำตั้งนานแล้ว แต่เราอาจจะยังไม่พร้อม ตอนนี้เราก็เลยพยายามทำ ซึ่งมันก็ดี เพราะตอนนี้เราไม่มีอะไรใหม่เลย โครงการนี้ก็เหมือนกับเป็นอะไรที่ทำให้เราตื่นตัวขึ้นมา โดยเฉพาะนักลงทุนไทย เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของไทยในต่างประเทศเยอะขึ้นมาก ขณะนี้เงินที่ออกจากประเทศไทยเพื่อการลงทุนนั้นแซงเงินลงทุนที่เข้าประเทศของเราแล้ว เนื่องจากธุรกิจใหญ่ๆ เขามองว่าโอกาสในประเทศไทยมีน้อย กำลังซื้อในประเทศก็มีจำกัด เขาจึงออกไปลงทุนข้างนอก ไม่ว่าจะในประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือบางธุรกิจก็ไปยุโรปและอเมริกา เพราะช่วงที่ยุโรปและอเมริกามีวิกฤต หลายธุรกิจเขาก็ขายกิจการในราคาถูก ซึ่งมีธุรกิจไทยหลายธุรกิจไปซื้อกิจการในยุโรปและอเมริกา

ถ้าเราไม่มีอะไรใหม่ เศรษฐกิจของเราก็คงจะโตได้ช้า โครงการนี้จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่คำถามก็คือจะทำได้แค่ไหน

ทีดีอาร์ไอวิเคราะห์โครงการนี้อย่างไรบ้าง  

จากที่ทีดีอาร์ไอวิเคราะห์ เราก็เห็นว่ารัฐบาลพยายามชักจูงนักลงทุน คือรัฐบาลจะสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มีทั้งท่าเรือ สนามบิน รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ รวมทั้งมีนโยบายเพื่อจะชักชวนธุรกิจมาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งแบ่งเป็นการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)

นอกจากนั้น อีอีซีมีคณะกรรมการคล้ายกับอีสเทิร์นซีบอร์ด ใครอยากจะลงทุนก็มาติดต่อกับคณะกรรมการชุดนี้ แล้วก็จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ต้องไปติดต่อ 7-8 กระทรวงกว่าจะทำธุรกิจได้

ทีดีอาร์ไอวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆ อย่างการพัฒนาอู่ตะเภาเป็นศูนย์ธุรกิจซ่อมบำรุงเครื่องบินและโลจิสติกส์อาเซียนน่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นสนามบินที่มีอยู่แล้ว และเขาก็เจรจากับกองทัพอากาศเรียบร้อยแล้ว ส่วนการพัฒนาท่าเรือแฉลมฉบับระยะที่ 3 ความท้าทายก็คือถ้าจะขยายก็ต้องเอาที่เพิ่ม เอาที่เพิ่มก็คือต้องไปคุยกับชุมชน และต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะใช้เวลานาน และต้องใช้พลังพอสมควร ท่าเรือมาบตาพุดและสัตหีบก็เช่นกัน คือต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการต่อต้านจากชุมชน

ประเทศไทยมีทางเลือกอื่นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจหรือไม่

ทางเลือกอื่นก็มีอยู่ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็ให้สิทธิประโยชน์ทั่วประเทศอยู่แล้ว แต่เหมือนกับว่ายังไม่ค่อยเห็นผล ขณะเดียวกันก็ไม่มีสิ่งที่เหมือนกับเป็นตัวชูโรงที่จะมากระตุ้นการลงทุน แต่อีอีซีจำกัดแค่สามจังหวัด ถ้ามาลงทุนในสามจังหวัดนี้ จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ส่วนตัวมองว่าการพัฒนาและการปฏิรูปอย่างอื่นก็ยังต้องทำ แต่อีอีซีเหมือนกับโครงการพิเศษซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจอีกครั้ง และนักลงทุนก็มองเห็นโอกาสอีกครั้ง

อีกประเด็นคือหลายๆ อย่างที่เราทำในพื้นที่อื่นในประเทศไม่ได้ เช่น ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกยังมาตั้งในประเทศไทยไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายไทยหลายฉบับเป็นกฎหมายเก่าซึ่งไม่อนุญาตให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศมาตั้ง แต่ในอีอีซีอนุญาตให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศมาตั้งได้ หรือการที่จะนำนักวิชาชีพเข้ามาทำงาน ถ้าเป็นพื้นที่อื่นในประเทศทำไม่ได้ เพราะการที่จะเข้ามาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร เป็นหมอ เป็นพยาบาล ต้องมีใบประกอบวิชาชีพของไทย ซึ่งใบประกอบวิชาชีพต้องสอบเป็นภาษาไทย เพราะฉะนั้น ในจังหวัดอื่นทั่วประเทศจึงไม่มีหมอ พยาบาล หรือวิศวกรจากต่างประเทศเข้ามาทำงานได้ แต่ในอีอีซีจะผ่อนปรนกฎระเบียบบางอย่างที่ล้าสมัย เราเคยพยายามผ่อนปรนทั่วประเทศ แต่ไม่สำเร็จ เพราะเจอแรงต้านเยอะมาก เพราะฉะนั้น อีอีซีจึงเหมือนกับเป็นพื้นที่ทดลองอะไรใหม่ๆ ที่เราอยากจะทำ เราก็จะลองทำที่นี่ ถ้าเราทำแล้วเห็นผลดี เราก็อาจจะโน้มน้าวทั่วประเทศให้ทำบ้าง

ในอีอีซีจะผ่อนปรนกฎระเบียบบางอย่างที่ล้าสมัย เราเคยพยายามผ่อนปรนทั่วประเทศ แต่ไม่สำเร็จ  เพราะฉะนั้น อีอีซีจึงเหมือนกับเป็นพื้นที่ทดลองอะไรใหม่ๆ ที่เราอยากจะทำ

 

สิทธิประโยชน์ที่มากขึ้น จะดึงดูดนักลงทุนได้จริงหรือไม่

ถ้าเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ อย่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ หรืออุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเหล่านี้เราเก่งในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เราแค่ต่อยอด ซึ่งเราก็ต้องคิดด้วยว่าทำไมธุรกิจจะมาอยู่ในอีอีซี บางธุรกิจอาจจะอยู่ในพื้นที่อีอีซีอยู่แล้ว อย่างโรงพยาบาลอาจจะเห็นว่ามีลูกค้ากลุ่มใหม่ที่จะเข้ามา แต่อย่างอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เขาก็เหมือนกับไม่ได้อะไรเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์ที่เขาได้จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว คือเขาจะตั้งที่ไหนก็ได้ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมนี้ต้องใช้วัตถุดิบ เพราะฉะนั้น เขาอาจจะอยากอยู่ใกล้กับวัตถุดิบมากกว่าจะอยากตั้งโรงงานในอีอีซีก็ได้

ส่วนที่เป็น 5 อุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายังไม่ได้ทำ และเราอยากจะเริ่มทำ อาจจะยากกว่าการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม เพราะเราไม่ได้มีฐานความรู้ อาจจะยกเว้นอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เพราะเรามีสนามบินอู่ตะเภา แต่อย่างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ถ้าเราจะผลิตเองก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่เคยทำ และต้องแข่งกับประเทศที่เขาทำมาก่อน อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้ราคาน้ำมันก็ไม่ได้สูงเหมือนแต่ก่อน จึงยากจะบอกได้ว่าเขาจะมาลงทุนในอีอีซีหรือไม่

 

โครงการนี้มีโอกาสเป็นไปตามแผนงานมากน้อยแค่ไหน

โครงการแบบนี้ต้องมองระยะยาว ไม่ใช่แค่ 1-2 ปี และมันก็เกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลใหม่ว่าเขาจะทำต่อไหม เนื่องจากรัฐบาลนี้ตั้งใจมาก เขาจึงให้อำนาจกับคณะกรรมการเยอะ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ก็จะไปลุยกับทุกกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อที่จะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญ คณะกรรมการก็อาจจะไม่แข็งแกร่งเหมือนกับทุกวันนี้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นคำถามที่อยู่ในใจของนักลงทุน ตอนที่ไปคุยกับนักลงทุน เขาก็จะบอกว่า ที่เขายังไม่มาลงทุน เพราะเขาเป็นห่วงว่าถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่อยู่แล้ว ในอนาคตจะเป็นอย่างไร และเขาก็ยังรอดู พ.ร.บ. อีอีซีที่จะออกมา และที่บอกว่าจะแก้ไขกฎระเบียบ จะทำได้ไหม

อีกเรื่องหนึ่งที่พูดกันเยอะ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ คือเรื่องทรัพยากรมนุษย์ เขาบอกว่าให้เขามาตั้งอุตสาหกรรมที่ไฮเทค แล้วเขาจะหาคนจากที่ไหน ให้เขาเอาคนเก่งๆ จากประเทศของเขามาได้ไหม ซึ่งเขาก็รอดูว่าที่บอกว่าจะผ่อนคลายกฎระเบียบ จะทำได้ไหม ขณะเดียวกัน เราก็อย่าลืมว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว เรามีคู่แข่ง ถ้าเขาไปผลิตที่เวียดนาม เขาอาจจะสามารถจ้างคนเวียดนามที่มีทักษะในราคาที่ถูกกว่าในประเทศไทยได้ นักลงทุนเขากังวลเรื่องทักษะของคนไทย

มีคนถามเยอะว่าโครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยบูมเหมือนกับที่อีสเทิร์นซีบอร์ดทำได้ไหม คิดว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นการเปลี่ยนจากประเทศที่ผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเป็นประเทศผู้ส่งออก ซึ่งเป็นการพลิกเศรษฐกิจของประเทศ แต่โครงการนี้เหมือนกับเป็นการต่อยอดให้เราผลิตของที่ไฮเทคมากขึ้น ผลิตบริการที่ไฮเทคมากขึ้น ซึ่งคงไม่ถึงกับพลิกเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , ,