จากธุรกิจที่เกือบเจ๊งตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรก และถูกมองว่าไม่น่าจะรอดได้นาน 4 ปีผ่านไป HUBBA Thailandก้าวขึ้นมาเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ (Coworking Space) อันดับหนึ่งของไทยและเพิ่งเปิดอีก 2 สาขาเมื่อต้นปี คือ Discovery HUBBA ที่ Siam Discovery และ HUBBA-TO ที่ Habito Mall ตามคำชักชวนของสยามพิวรรธน์ และแสนสิริ

HUBBA ยังจับมือกับ Thumbsup ผลิตคอนเทนต์ออนไลน์เกี่ยวกับสตาร์ทอัพทาง Techsauce.co และจัดงานสัมมนา Techsauce Summit เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในวงการสตาร์ทอัพไทยจนได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี

แต่หมุดหมายที่ HUBBA ปักไว้อยู่ไกลกว่านั้น หลังจากได้เงินระดมทุนรอบ pre-series A มากถึง 350,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 10 ล้านบาท เอม-อมฤต เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและนักวางกลยุทธ์แห่ง HUBBA แอบบอก The Momentum ว่าเขามีแผนจะขยายสเกลธุรกิจเพิ่มอีก 140 สาขาทั่วประเทศ รวมทั้งในอาเซียนภายในปี 2020

น่าสนใจว่าทำไมผู้บุกเบิกกระแสโคเวิร์กกิ้งสเปซของไทยถึงคิดการใหญ่และทำได้ ‘ถึง’ ขนาดนี้

เปลี่ยนจุดยืนใหม่ในวันที่ใกล้ล้ม: ทลายกรอบของ ‘สเปซ’ ไปสู่การสร้าง ‘คอมมูนิตี้’

ก่อนจะมาเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซชื่อดังที่มีสาขาเปิดบริการราวๆ 8 แห่ง (รวมสาขาที่ลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่าง Punspace เชียงใหม่ และ Toh Lao เวียงจันทน์) อย่างทุกวันนี้ ชาล และอมฤต เจริญพันธ์ (เอม) สองพี่น้องผู้ก่อตั้ง HUBBA Thailand เริ่มต้นธุรกิจจากการเห็น ‘อินไซต์’ ของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานอิสระกันมากขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการใหม่ที่มองหาพื้นที่ทำงานราคาประหยัด แต่การทำงานในร้านกาแฟก็ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริงๆ

ทั้งสองมองว่านี่คือโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่ยังมีช่องว่างอีกเยอะในไทย แต่ปรากฏว่า HUBBA เกือบต้องปิดตัวลง เพราะแทบไม่มีใครรู้จัก หรือเข้าใจคำว่า ‘โคเวิร์กกิ้งสเปซ’ ด้วยซ้ำ

ทั้งคู่จึงปรับกลยุทธ์พลิกบทบาทจาก Coworking Space Builder มาเป็น Community Builder เน้นการสร้างวัฒนธรรมการแบ่งปันและช่วยกันผลักดันธุรกิจให้โต แทนที่จะจัดสรรแค่พื้นที่ให้คนมานั่งทำงาน พร้อม Free Wi-Fi HUBBA โดยเดินหน้าเน้นจัดกิจกรรม อีเวนต์ และโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพและเทกสตาร์ทอัพทุกเดือน เพื่อดึงดูดกลุ่มคนที่สนใจด้านนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคอมมูนิตี้ จนมีคนเวียนแวะมาเป็นประจำ

“ตอนแรกมั่นใจมากว่าโคเวิร์กกิ้งสเปซเป็นคอนเซปต์ที่สุดยอด แต่บางทีเราก็ลืมเข้าใจตลาดว่าไอเดียที่เวิร์กในเมืองนอก คนไทยอาจไม่เข้าใจ มันต้อง localize ต้องใช้เวลา บางอย่างมันเร็วเกินไป”

ตอนแรกมั่นใจมากว่าโคเวิร์กกิ้งสเปซเป็นคอนเซปต์ที่สุดยอด แต่บางทีเราก็ลืมเข้าใจตลาดว่า ไอเดียที่เวิร์กในเมืองนอก คนไทยอาจไม่เข้าใจ มันต้อง localize ต้องใช้เวลา บางอย่างมันเร็วเกินไป

HUBBA = ฮับที่มีพร้อมทุกอย่างที่คนอยากมา

เมื่อธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซเริ่มบูมและเป็นที่รู้จักในบ้านเรามากขึ้น การจะเป็นสตาร์ทอัพที่อยู่รอดได้นานและแตกต่างจากคู่แข่ง ต้องมีจุดยืนที่แข็งแรง HUBBA จึงขยายสเกลธุรกิจไปสู่ ‘Ecosystem Builder’ หรือผู้วางระบบนิเวศของธุรกิจ ที่ให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่มา HUBBA สามารถเข้าถึงบริการอันหลากหลาย เช่น เข้าร่วมกิจกรรมและลงเรียนคอร์สธุรกิจกับ HUBBA Academy ขอคำปรึกษาจาก HUBBA X ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ การออกแบบ และไอที หรือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพทางเว็บ Techsauce.co และงานสัมมนาประจำปี Techsauce Summit หรือขอคำแนะนำเรื่องการประกอบอาชีพกับ HUBBA HIRED

ที่สำคัญ การลุยตลาดนี้ก่อนใครทำให้เอม อมฤตเรียนรู้ว่าการจะดึงดูดให้คนที่ทำงานอยู่ที่บ้านหรืออยู่ใกล้อยากเปลี่ยนมาที่ HUBBA ได้ จะต้องมีกิจกรรมและบริการที่ทำให้คนไม่อยากพลาด หรือกลัวตกกระแส (Fear of Missing Out: FOMO) เพราะมีที่นี่แค่ที่เดียว

“ถ้ามันไม่มีกระแส ก็ต้องสร้างกระแส ตราบใดที่เราให้คุณค่ากับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องและทำให้ดีเราก็จะรอด”

ทางเลือกใหม่ของการศึกษานอกมหาวิทยาลัย

ยิ่งไปกว่านั้น เอม อมฤตยังมองว่าในอนาคตคนรุ่นใหม่จะไม่จำเป็นต้องเรียนที่มหาวิทยาลัยอีกต่อไป แต่เลือกเรียนสิ่งที่ตรงกับความสนใจเฉพาะด้านและเรียนรู้ทดลองการทำธุรกิจจริงด้วยตัวเอง ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรง

“ภายในปี 2020 หรืออนาคตอันใกล้ เราอยากให้ใครก็ตามที่อยากทำธุรกิจนึกถึง HUBBA และรู้ว่าที่นี่มีทั้งพื้นที่ การบริการ กิจกรรม คอมมูนิตี้ ทุกอย่างพร้อมที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จ และดีพอที่คุณไม่ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้ คุณสามารถเรียนไป ทำงานไป ระดมทุนและสร้างธุรกิจได้ คนจะรู้สึกว่าไม่เห็นต้องเรียนเลย 4 ปีก็ลืม คืนอาจารย์หมดแล้ว แต่ถ้ามาเรียนที่นี่ คุณได้ฝึกงาน ได้ลองผลิตจริง และเอาสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในธุรกิจ อยากเรียนรู้อะไรเมื่อไร ก็เข้าไปในคลาสต่างๆ ได้ แล้วก็สนุกกว่า

จากฮับของชาว ‘สตาร์ทอัพ’ สู่แพลตฟอร์มของ ‘ผู้ประกอบการยุคใหม่’

จากหนึ่งในผู้ปลุกกระแสวงการสตาร์ทอัพ HUBBA เริ่มมองหาตลาดที่ใหญ่กว่าเดิม เพราะสตาร์ทอัพเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้น เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ประกอบการที่จะขยายตัวเร็วมากในอนาคต ไม่ว่าจะฟรีแลนซ์ อินคิวเบทีนส์ (Incubateens) คนขายของออนไลน์ และดิจิทัลโนแมด

เขาและพี่ชายจึงตั้งเป้าว่า HUBBA จะมุ่งสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่เปรียบเสมือน ‘ผู้ช่วยผู้ประกอบการ’ แบบเต็มตัว เพราะทุกคนจะเป็นผู้ประกอบการและดิจิทัลโนแมดที่ทำงานและทำธุรกิจได้ทุกที่ทุกเวลา เนื่องด้วยอิทธิพลของเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีและความรู้ที่แพร่หลาย

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม HUBBA-TO จึงเป็นคอมมูนิตี้สเปซที่ให้คนต่างอาชีพ ต่างความสนใจ มาทำงานร่วมกันแบบ Co-Creation ขณะที่ Discovery HUBBA มุ่งเจาะกลุ่มผู้ประกอบการรีเทล ร้านค้าออนไลน์ และ Online-to-Offline (O2O) รวมทั้งวางแผนพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ในเฟสสอง เพื่อขยายการบริการให้สมาชิกเข้าถึงคอมมูนิตี้ของ HUBBA ได้ทุกหนทุกแห่งในทุกโอกาส

“เราอยากช่วยให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จจริงๆ ไม่ใช่แค่ให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจแบบปลุกยักษ์ในตัวคุณ แต่เราเข้าใจเส้นทางการเดินทางของผู้ประกอบการในฐานะที่เราทำธุรกิจและผ่านมาหมดแล้วเหมือนกัน ถ้าคุณไม่มีผลิตภัณฑ์ ลองมาอบรมที่ HUBBA Academy ไหม ให้สมาชิกของเราลองช่วยดูไหม ให้ Techsauce ช่วยโปรโมตไหม ถ้าคุณต้องการหาทุน เราเป็นพาร์ตเนอร์กับ Asiola (เว็บระดมทุนออนไลน์) และกองทุนต่างๆ ทั่วอาเซียน เราสามารถเดินไปพร้อมกับคุณได้”

คิดใหญ่เพื่อโอกาสมหาศาล

หลังจากผ่านพ้นวิกฤตและกลายเป็นที่น่าจับตามองในฐานะสตาร์ทอัพที่มีอนาคตไกล ทั้งยังระดมทุนได้ 10 ล้านบาท แต่นักกลยุทธ์คนนี้ก็ไม่ได้คิดว่าจะให้ HUBBA หยุดอยู่แค่ในไทย เมื่อเมืองไทยกลายเป็น Ecosystem ที่มีศักยภาพต่อการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนไปแล้ว HUBBA จึงตั้งใจจะระดมทุนอีกครั้งเพื่อขยายสเกลธุรกิจไปสู่ 140 สาขาทั่วประเทศ รวมทั้งบุกตลาดอาเซียนภายในปี 2020

พร้อมกันนี้ยังจะปรับบทบาทจากการดูแลกลุ่มสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการในสาขาต่างๆ มาสู่ระบบคลาวด์ โดยยังคงรักษาดีเอ็นเอของ HUBBA เอาไว้ เพื่อตอกย้ำอัตลักษณ์ของแบรนด์ อันประกอบด้วยความทะเยอทะยาน ความเป็นกันเอง และลูกบ้า

“ถ้าเรามองว่าโอกาสข้างหน้าคือในปี 2035 จะมีดิจิทัลโนแมด ซึ่งทำงานที่ไหนก็ได้ในโลกเพิ่มเป็น 1 พันล้านคน มีสตาร์ทอัพเกิดใหม่อีก 1 หมื่นรายจากการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชนภายในปี 2018 มีคนทำงานฟรีแลนซ์นับไม่ถ้วน ถ้าเราโตปีละ 1-2 ที่ เราโตไม่ทันเขาแล้ว ยังมีพื้นที่อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ รวมทั้งออฟฟิศสเปซในคอนโด 8 ล้านตารางเมตรทั่วกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันมีแค่ 1 หมื่นตารางเมตรเท่านั้นที่เป็น Coworking Space โอกาสที่เราจะชักชวนให้คนมาสนใจธุรกิจนี้ยังมีอีกมหาศาล”

Go Beyond the Hype: เมื่อทุกคนอยากให้เมืองไทยเป็นซิลิคอนวัลเลย์ ทำอย่างไรให้ไปไกลกว่ากระแส?

หลายคนอาจมองว่าธุรกิจสตาร์ทอัพได้ระดมทุน 1-2 รอบก็เก่งแล้ว และการขยายธุรกิจก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่วิสัยทัศน์การวางแผนธุรกิจสำหรับอนาคตข้างหน้าอย่างเป็นระบบขั้นตอนและเป้าหมายชัดเจน ทำให้ The Momentum อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจนี้จึงมองการณ์ไกล คิดการใหญ่ และกล้าลุยกล้าเสี่ยงขนาดนี้

เอม อมฤตจึงเฉลยให้ฟังว่าสังคมไทยมีคนทำธุรกิจสเกลเล็กๆ เยอะแล้ว แต่ยังมีคนอีกกลุ่มที่ต้องการจะไปไกลกว่านั้น ดังนั้นบทบาทของการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem Builder) จึงสำคัญต่อการพาธุรกิจสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการไปให้ไกลกว่าการระดมทุนได้ 1-2 รอบ หรือเข้าถึงแค่ตลาดภายในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการช่วยเหลือ แบ่งปัน และเติบโตไปพร้อมกัน แทนที่จะก๊อปสินค้า กั๊กไอเดีย หรือแย่งตลาด แต่ไม่มีใครคิดค้นอะไรใหม่ๆ เหมือนอย่างที่ผ่านมา

“ทุกคนอยากให้เมืองไทยเป็นซิลิคอนวัลเลย์ เป็นฮับของนวัตกรรมสร้างสรรค์ เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามีเวิร์กช็อป สถานที่ และกิจกรรมมากมาย แต่ไม่เชื่อมโยงกัน สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สุดท้ายแล้วผู้ประกอบการ นักออกแบบ และคนทำธุรกิจทุกคนอยากประสบความสำเร็จ แต่ไม่มีคนปั้น ไม่มีคนช่วยเหลือส่งเสริม เพราะเราไม่สนับสนุนวัฒนธรรมของผู้ประกอบการ”

ต้องดูกันต่อไปว่า การสร้างระบบนิเวศของ HUBBA จะมีส่วนในการพาเมืองไทยเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งใหม่ได้จริงหรือไม่

ทุกคนอยากให้เมืองไทยเป็นซิลิคอนวัลเลย์ เป็นฮับของนวัตกรรมสร้างสรรค์ เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามีเวิร์กช็อป สถานที่ และกิจกรรมมากมาย แต่ไม่เชื่อมโยงกัน สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม