เกือบสิบปีที่แล้ว ผับแห่งหนึ่งในลอนดอนมีแต่ความเวิ้งว้างไร้ร้างผู้คน แต่เด็กชายอาร์ชี มาร์แชลล์ (Archy Marshall) หรือที่รู้จักในตอนนี้ว่า ‘King Krule’ ก็นั่งเล่นกีตาร์อย่างเมามันส์แบบไม่สนใจใคร

“พวกเพื่อนผมมันไม่ค่อยชอบเพลงของผมเท่าไหร่ ช่างแม่ง แต่ผมก็ชวนพวกมันมาดูนะ เผื่อแม่งจะเปลี่ยนใจ”

เขาเล่นดนตรีอยู่ในผับนานหลายสัปดาห์ แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือในผับไร้ซึ่งผู้คน ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปคือสำเนียงกีตาร์ของเขาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

พรสวรรค์ของอาร์ชี มาร์แชลล์ เหมือนกับลูกแอปเปิลที่หล่นลงมาอยู่ที่โคนต้น เขาเกิดมาในครอบครัวศิลปินโดยแท้จริง ปู่และลุงของเขาเป็นศิลปินไฟน์อาร์ต พ่อเป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์รายการทีวีและเคยทำวงดนตรีร็อก แม่ของเขาเคยทำเพลงดั๊บ-แจ๊ซ และมีพี่ชายเป็นวิชวลอาร์ทิสต์

อาร์ชี มาร์แชลล์ เริ่มแต่งเพลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ พออายุล่วงเข้าสู่เลขสิบ เขาก็เริ่มงอแงไม่อยากไปโรงเรียน ไม่ใช่ด้วยเหตุผลใจแตกอยากเตร็ดเตร่ แต่ด้วยเหตุผลที่เขารู้จักตัวเองเป็นอย่างดี และในที่สุดเขาก็เลือกเรียนดนตรีเฉพาะทางที่ BRIT School

ในช่วงวัยที่คาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนคำนำหน้าจากเด็กชายเป็นนาย อาร์ชี มาร์แชลล์ ปล่อยเพลงของตัวเองออกมาในชื่อ ‘Zoo Kid’ และมี EP ออกมาหลายชุด ชื่อเสียงที่ค่อยๆ สะสมอย่างเงียบๆ ด้วยลายเซ็นเฉพาะตัวที่มีการร้องแบบกึ่งบ่นกึ่งพูด ผสมดนตรีบลู แจ๊ซ และพังก์เข้าด้วยกันอย่างปั่นป่วน จนถูกเรียกว่าบลูเวฟ (Bluewave) ที่ให้ความรู้สึกเหมือนโยนสีลงไปในเครื่องซักผ้า ฟังดูเหมือนจะเละเทะ แต่มันกลับน่ามองและมีเสน่ห์แบบเมามันส์

หลังจากนั้นหนึ่งปี เขาก็เปลี่ยนชื่อเป็น ‘King Krule’ ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่อง King Creole ของเอลวิส เพรสลีย์ (เดาว่าเขาคงไม่อยากให้มันดูตลกแบบชื่อ Backstreet Boys ที่ตอนตั้งชื่อคงลืมคิดไปว่าคนเราเป็น Boy กันได้แค่ไม่กี่ปี)

ในวงการเพลงอังกฤษ เป็นเรื่องธรรมดาที่ดาวรุ่งมักจะถูกอวยไว้ก่อน ซึ่ง King Krule ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เขากลับเลือกที่จะอยู่เงียบๆ และทำเพลงในที่ของตัวเองไปเรื่อยๆ จนในที่สุด อัลบั้มเต็มชุดแรก 6 Feet Beneath The Moon ก็ถูกกลั่นออกมาในวันที่เขามีอายุครบ 19 ปี โดยมีพี่ชายเป็นคนออกแบบปกอัลบั้ม

6 Feet Beneath The Moon คือการต่อยอดซาวนด์บลูเวฟที่ถูกนำมาพัฒนาและปั่นออกมาแบบถูกจังหวะและพอเหมาะพอเจาะ ทำให้อัลบั้มชุดแรกของเขาออกมาครบรส ไม่ดิบและไม่น่าเบื่อเกินไป กลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มยอดเยี่ยมประจำปี 2013 และเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่เด็กอายุเท่านี้จะทำเพลงได้เก๋าและเนียนกริ๊บขนาดนี้

ความโด่งดังของเขาเหมือนกับการปลดเบรกมือและปล่อยให้รถพุ่งลงจากเนินสูง ไม่เพียงแค่คนฟังเพลงและนักวิจารณ์เท่านั้นที่ชื่นชม แม้แต่บียอนเซ่ก็เคยแชร์เพลงเขาลงโซเชียลเน็ตเวิร์ก และคานเย เวสต์ ถึงขนาดเอ่ยปากชวนให้เขาทำเพลงให้ ซึ่งแน่นอนว่า King Krule ปฏิเสธ

ความดังที่ถาโถมเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้เขาไม่อยากกดดันตัวเองมากเกินไป

หลังจากออกอัลบั้มเต็มชุดแรก เขาปล่อยให้ผลงานถูกพูดถึงมากกว่าที่จะเป็นตัวเขา อาร์ชี มาร์แชลล์ หันหลังให้กับชื่อเสียง พยายามทำตัวลึกลับ และทำเพลงของตัวเองภายใต้ชื่ออื่นมากมาย ทั้งโปรเจกต์ฮิปฮอปในชื่อ Edgar the Beatmaker โปรเจกต์โพสต์-ดั๊บสเต็ป ภายใต้ชื่อ Edgar the Breathtaker โปรเจกต์แอมเบียน-ฮิปฮอปกับชื่อ DJ JD Sports และอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ดูเป็นรูปเป็นร่างที่สุดคือ Archy Marshall

โปรเจกต์ภายใต้ชื่อ Archy Marshall ถูกปล่อยออกมาแบบเงียบๆ ในช่วงปลายปี 2015 เขาปล่อยมัลติมีเดียอัลบั้ม A New Place 2 Drown ที่ทำร่วมกับพี่ชาย แจ็ก มาร์แชลล์ มันเป็นโปรเจกต์ที่มีทั้งเสียงและภาพ คือนำหนังสือรวมงานเพนท์ติ้ง ภาพถ่าย บทกวี และหนังสั้นไว้ด้วยกัน

“โปรเจกต์นี้เป็นเหมือนการบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ของเราสองคน และสิ่งที่เรามองโลกภายนอก”

เพลงในอัลบั้มนี้แตกต่างจากโปรเจกต์ King Krule อย่างชัดเจน A New Place 2 Drown พาเราดำดิ่งไปกับซาวนด์แอมเบียน ทริปฮอป และบีตส์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดนตรีฮิปฮอปยุค 1990s ของนิวยอร์ก มันเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตอนที่เขาไปร่วมทำเพลงกับวง Mount Kimbie

ไม่ใช่เพียงแค่ดนตรีที่มาร์แชลล์หลงใหล ศิลปะแบบกราฟิตีก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขาสนใจ “ผมไม่รู้เหมือนกันว่าชอบมันตอนไหน จำได้แค่ว่าผมเห็นมันมาตลอดตั้งแต่เด็ก เต็มไปหมดตามท้องถนน ตอนนั้นผมรู้สึกว่า ไอ้บ้าเอ้ย มันคืออะไรวะเนี่ย แม่งดูลึกลับ น่าค้นหา ชวนมองและน่าหลงใหล สำหรับผม ตอนที่ผมเริ่มเพนต์กราฟิตีใหม่ๆ ผมรู้สึกว่ามันเหมือนการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่พอทำไปเรื่อยๆ แม่งเริ่มส่วนตัวขึ้นเรื่อยๆ จนบางทีแม่งอาจกลายเป็นอะไรที่ปัญญาอ่อนก็ได้”

เห็นได้ชัดว่าสิ่งแวดล้อมและบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เป็นตัวเขาในแบบทุกวันนี้ และเมื่อเขาตัดสินใจจะทำอัลบั้มเต็มชุดที่สอง เขาจึงออกจากแฟลต แล้วย้ายกลับมาอยู่บ้านแม่แถวอีสต์ ดัลวิช (East Dulwich) ในลอนดอน

หลังจากใช้เวลาสามปี ในที่สุด อัลบั้ม The Ooz ก็ถูกปล่อยออกมาในปี 2017 — The Ooz เป็นศัพท์แสลงที่เขากับพี่คิดขึ้นมาตอนเด็ก

The Ooz เป็นอัลบั้มที่พาเขากลับสู่ตัวตนของตัวเองอีกครั้ง เป็นจักรวาลในรูปแบบของ King Krule ที่ผสมผสานความดิบและบลูเวฟแบบอัลบั้มชุดแรก และความล่องลอยสวยงามแบบอัลบั้ม A New Place 2 Drown บวกกับแรงบันดาลใจที่ได้จากหนังของเดวิด ลินช์ วรรณกรรมของ ดับเบิลยู. เอช. ออเดน และวิดีโอเกม

“ตอนที่ทำอัลบั้มนี้ ผมออกไปเที่ยวกับเพื่อนที่ผับแห่งหนึ่ง วันนั้นผมได้เจอคนแปลกหน้าสองคน ซึ่งสุดท้ายก็เข้ามาในชีวิตผม แล้วทำให้ทิศทางในอัลบั้มชุดนี้แตกต่างออกไป”

คนแรกที่เขาพูดถึงคือนักแซกโซโฟนชาวสเปน อิกนาซิโอ ซัลบาดอเรส ซึ่งอาร์ชี มาร์แชลล์ เห็นคลิปที่เขายืนเล่นแซกโซโฟนอยู่ใต้สะพานในลอนดอน แล้วชื่นชอบจนต้องเอ่ยปากชวนมาเล่นดนตรีในอัลบั้มนี้

คนที่สองคือผู้หญิงนิรนามชาวบาร์เซโลนา ผู้เหมือนเป็นมิวส์ของ King Krule

“ทุกคืนที่เราอยู่ด้วยกัน ผมจะนั่งเล่นกีตาร์ แล้วเธอจะนั่งอยู่ตรงนั้น เธอดูสวยมากทุกครั้งสำหรับผม เธอคือส่วนสำคัญมากๆ ที่ทำให้อัลบั้ม The Ooz ออกมาเป็นแบบนี้” เขาเล่าถึงช่วงเวลาโรแมนติกในตอนนั้น

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทั้งสองคนเลิกรากันไปแล้ว — ใครอยากได้ยินเสียงของผู้หญิงคนนี้ ลองฟังดูได้จากเพลง ‘Bermondsey Bosom’ โดยพาร์ต Left เป็นเสียงของเธออ่านบทกวีเป็นภาษาสเปน ส่วนพาร์ต Right เป็นเสียงของพ่ออาร์ชี มาร์แชลล์ อ่านบทกวีเป็นภาษาอังกฤษ

ความยอดเยี่ยมของ The Ooz ยิ่งตอกย้ำความเป็นอัจฉริยะของอาร์ชี มาร์แชลล์ และเป็นการสลัดภาพจากดาวรุ่งพุ่งแรงเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมที่พร้อมจะเป็นตำนานบทใหม่ ในขณะที่เขามีอายุเพียง 23 ปี

Tags: , , , , ,