เทศกาลหนังปกาเกอะญอออนไลน์ ‘Online FFFest : Karen Film Festival 2020 บินข้ามลวดหนามออนไลน์’ ประกอบไปด้วยหนังที่ทำขึ้นโดยชาวปกาเกอะญอเอง รวมถึงหนังที่ว่าด้วยเรื่องของพวกเขาโดยเพื่อนของพวกเขา รวมทั้งหมด 19 เรื่องด้วยกัน

หนังทั้งหมดจะฉายทาง https://vimeo.com/ondemand/onlinefffest ในวันที่ 17-23 เมษายนนี้ โดยเทศกาลนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ บิลลี่-พอละจี ผู้ผลักดันให้โครงการผลิตหนังสั้น ‘เกี่ยวก้อย’ ที่กำลังจะหยุดลงในปี 2556 ได้ดำเนินต่อเนื่องมาอีก 5 ปี บิลลี่เชื่อมั่นว่า หนังจะพาความคิด ความรู้สึก และตัวตน ของคนปกาเกอะญอ ไปได้ไกลเกินกว่าที่ขาและเสียงของเขาจะไปถึง

หนังที่จะฉายในเทศกาลนี้ ประกอบไปด้วยหนังในความดูแลของมูลนิธิ ‘เพื่อนไร้พรมแดน’ ซึ่งสร้างโดยคนปกาเกอะญอจำนวน 11 เรื่อง กับหนังเกี่ยวกับคนปกาเกอะญอที่สร้างโดยเพื่อนของพวกเขาอีก 8 เรื่อง เรียบเรียงเป็น 3 โปรแกรม 3 แง่มุมตัวตนคนปกาเกอะญอ พร้อมซีรีย์ 3 ตอนคั่นรายการ 

รายได้จากการจัดเทศกาลออนไลน์นี้จะมอบให้กับเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตตะนาวศรี เป็นกองทุนสนับสนุนชุมชนปกาเกอะญอ-โผล่ว ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันระบาดของโควิด-19 และไฟป่าในขณะนี้

“มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เป็นองค์กรเอกชนไทยที่ทํางานเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัยในประเทศไทย โดยมีฝ่ายงานหลักด้านการผลิตสื่อทางเลือกทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์ ดนตรี ภาพยนตร์ สื่อออนไลน์ กิจกรรม วัฒนธรรม และงานด้านการเสริมสร้างศักยภาพด้านสิทธิมนุษยชนและการสื่อสารให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและ เยาวชนในสังคม ทั้งนี้ เพื่อเผยแพร่สร้างความตระหนักและเข้าใจในสังคมไทยต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชนที่หลากหลาย” นี่คือข้อความที่มูลนิธิระบุไว้ทางหน้าเพจ

ในปี 2554 มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนร่วมกับเครือข่าย ตัดสินใจเปิดอบรมการผลิตภาพยนตร์สั้นในประเด็นของคนชาติพันธุ์ ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติขึ้นที่เชียงใหม่ ในชื่อโครงการเกี่ยวก้อย และเทศกาลภาพยนตร์และศิลปะในชื่อ บินข้ามลวดหนาม ซึ่งจัดต่อเนื่องกันร่วมทศวรรษ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ ในหมู่บ้านของพี่น้องชาติพันธุ์ และในกรุงเทพฯ ตลอดระยะเวลาสิบปีนี้ โครงการเกี่ยวก้อยได้สร้างคนทำหนังที่น่าสนใจมากมาย ทั้งจากคนชาติพันธุ์ที่ลุกขึ้นมาทำหนังบอกเล่าเรื่องของตัวเองด้วยตนเองอย่าง ดาโพ มรดกพนา และ ต้าคว้า ไปจนถึงพี่เลี้ยงในโครงการที่ได้รับทุนมาทำหนังด้วยอย่าง ศุภโมกข์  ศิลารักษ์ หรือ เชวง ไชยวรรณ

เทศกาลนี้จะสะท้อนให้เห็นว่ามีคนทำหนังเกี่ยวกับชาติพันธุ์และคนทำหนังที่เป็นคนกะเหรี่ยง ลาหู่ ปกาเกอะญอ และพี่น้องอีกมาก ที่สำคัญ หนังสั้นหนังยาวเหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่ ขายความทุกข์ยากหรือเรื่องราวชวนฟูมฟายหากเต็มไปด้วยพลังชีวิตที่พร้อมจะเปล่งเสียของตนเองออกมา ซึ่งแต่ละเรื่องเต็มไปด้วยรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/events/631820180708877/

Tags: , , ,