*มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์

โรเบิร์ตเป็นทนายในสำนักงานกฏหมายมีชื่อ เรียกได้ว่าเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง เขาทำงานล็อบบี้ให้บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย งานรับใช้นายทุนทำเงินงดงาม เขาและเมียเพิ่งมีลูกเล็ก เธอกำลังท้องคนที่สอง ตอนที่ชาวนาสองคนเข้าในออฟฟิศ เรียกหาเขา บอกว่ายายของเขาแนะนำให้มาหา พวกนั้นขนกล่องใส่วิดีโอมาหลายม้วน บอกให้โรเบิร์ตเปิดดู พวกเขาคิดว่าบริษัทเคมีภัณฑ์ชื่อดังกำลังเอาสารพิษมาทิ้งแถวบ้าน ทำให้มันไหลปะปนกับแม่น้ำ พวกสัตว์เลี้ยงที่ดื่มกินพากันล้มตาย พวกเขาคิดว่าจะฟ้องบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านัั้น  

โรเบิร์ตคิดว่าพวกเขาบ้า เพราะต่อให้มันจริงก็ไม่มีทางฟ้องชนะ อย่างไรก็ตามเขาขับรถกลับไปเวสต์เวอร์จิเนีย เปิดเพลง Take Me Home, Country Roads ฟัง กลับไปหายายแล้วเพิ่งรู้ว่าชาวนาคนนั้นชื่อเอิร์ล เป็นเพื่อนเก่าของยาย เขาเพิ่งรู้ว่าเขาเคยไปพักที่นั่นในฤดูร้อนแสนสุขเมื่อนานมาแล้ว เขาแวะไปหาเอิร์ล ซึ่งพาเขาไปดูแม่น้ำ แผ่นดินที่ดูธรรมดา เพียงแต่หินถูกฟอกจนขาว มีหลุมศพของสัตว์เลี้ยงนูนเป็นปุ่มปมทั้งแผ่นดิน และเขาเห็นกับตาว่าวัวที่เลี้ยงไว้มีอาการประหลาด เขากลับบ้านมาดูวีดีโอและคิดว่ามันเป็นเรื่องจริง เขาเข้าไปขอร้องเจ้านายซึ่งเป็นเพื่อนของเขาด้วยให้รับคดีนี่ และเมื่อเขาเริ่มกระบวนการ เอกสารจำนวนเท่าภูเขาเลากาถูกส่งมา เขาทำงานแทบจะคนเดียว แต่ก็สาวไปจนพบสารชื่อ PFOA ที่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร และเขาค้นพบว่าสารนี้ซึ่งในเวลาต่อมาเอาไปทำ เทฟลอน ที่ใช้ในการเคลือบกระทะไม่ให้ติดนี่เองคือตัวปัญหา และตอนนี้บ้านของทุกคนก็ล้วนเต็มไปด้วยเทฟลอน 

และนี่คือการต่อสู้ของเขา ทนายตัวคนเดียวที่ไม่มีลูกไม้อะไรนอกจากความดื้อด้านนำไปสู่การสู้กับบริษัทดูปองท์ บริษัทเคมีระดับยักษ์ที่กินเวลาเกือบครึ่งชีวิตของเขา จนแทบจะเอาทุกอย่างไปจากเขา ความเชื่อมั่นในตัวเอง ความรักจากภรรยาที่เป็นทนายเช่นกัน ลูกๆ ที่ห่างเหิน และบริษัทที่อยู่ยากขึ้นทุกวัน

Todd Haynes เป็นหนึ่งในคนทำหนังอเมริกันที่สำคัญและได้รับการยกย่อง เราอาจรู้จักเขาจาก Poison (1991) หนังเกย์ที่ประกอบด้วยสามเรื่องสั้นๆ และเต็มไปด้วยการทดลองทั้งภาพและเสียง Safe (1995) หนังที่พูดถึงแม่บ้านสาวที่ค่อยๆ มีอาการภูมิแพ้ต่อทุกสิ่งอย่างบนโลกนี้ Far From Heaven (2002) หนังน้ำเน่าแบบยุค 50s ที่พูดถึงรักต้องห้ามข้ามชนชั้นและเชื้อชาติของหญิงแม่บ้าน I’m Not There (2017) หนังชีวิต Bob Dylan ที่สวิงสวายสุดขีดด้วยการเอานักแสดงมากหน้าต่างเพศกันมารับบท Bob Dylan ที่ก็ไม่ใช่ Bob คนเดียวแต่มีตัวตนของคนอื่นเช่น Arthur Rimbaud ติดมาด้วย และ Carol (2015)หนังเลสเบี้ยนยุค 50s ที่อ่อนโยนนุ่มนวลและรวดร้าว 

การมองสังคมอเมริกันสมัยใหม่หลังสงครามโลกด้วยสายตาแบบเควียร์ ดูจะเป็นอะไรที่ Todd Haynes ให้ความสนใจ จึงน่าแปลกใจไม่น้อยที่เขาหันมาทำหนังดราม่าขึ้นโรงขึ้นศาลว่าด้วยประเด็นสิ่งแวดล้อม

หนังชวนให้นึกถึง Spotlight (2015) หนังที่สร้างจากเรื่องจริงเช่นกัน ว่าด้วยทีมนักข่าวของ Boston Globes ที่ลงมือสืบสวนคดีล่วงละเมิดทางเพศในโบสถ์แห่งหนึ่งแล้วแผ่ลามออกไปจนสะเทือนวงการสงฆ์ในอเมริกา ในฐานะของหนังสืบสวนสอบสวนเพื่อจะเอาผิดระบบอันใหญ่โต Spotlight เลือกใช้วิธีลดทอนอารมณ์ดราม่าของการเชิดชูวีรบุรุษคนใดนหนึ่งที่เสียสละ หรือฉายภาพรันทดของเหยื่อ หรือแม้แต่สร้างสัตว์ร้ายน่ากลัวขึ้นมา หากมันเป็นหนังที่มุ่งมองไปยังกระบวนการทำงาน แบบเดียวกับหนังสารคดีของ Frederick Wiseman กล่าวคือในหนังสารคดีของ Wiseman เขาจะเอากล้องเข้าไปในที่ต่างๆ สถานการณ์ต่างๆ ในโรงเรียน ในโรงพยาบาลบ้า ในค่ายมวย ในมหาวิทยาลัย ในโรงระบำโป๊ หรือในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กล้องตั้งนิ่ง สังเกตการณ์โดยไม่แทรกตัวเองเข้าไปอยู่ในเรื่องราว การสังเกตการณ์ของเขาไม่โฟกัสกระทั่งการแสวงหาเรื่องดราม่า เขาจับจ้องการทำงาน เข้าไปดูการประชุม การถกเถียง ทำตัวล่องหนขณะเฝ้ามองสิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือ ‘กระบวนการทำงาน’ หนังของเขาทำให้เราเห็นการขับเคลื่อนของสถาบันต่างๆ และไดเลมม่าของมันโดยไม่สามารถเลือกข้าง หรือเป็นส่วนหนึ่ง สิ่งที่ Wiseman เฝ้ามองและเชิดชูคือระบบ การทำงานเป็นทีม เราจึงเห็นความสำคัญแม้แต่ช่างไฟ หรือยาม ในพิพธภัณฑ์แห่งชาติ เห็นการโต้เถียงเผ็ดร้อนของโปรดิวเซอร์กับช่างเย็บเสื้อ ทุกคนทำหน้าที่ของตนประสานเป็นทีมเดียวกันขับเคลื่อนระบบบางอย่าง หนังของ Wiseman อาจจะเป็นหนังให้ข้อมูล แต่มันไปไกลกว่านั้น เพราะมันไม่พยายามจะคัดเลือกหรืออธิบายกระบวนการด้วยซ้ำ ทั้งหมดเกิดขึ้นในการเฝ้าสังเกต และจัดระเบียบระบบในหัวเรา

Spotlight อาจจะต่างกับหนังของ Wiseman ตรงที่มันเป็นหนังเล่าเรื่อง หากในหนังตระกูลนี้ (ลองนึกถึง Contagion (2011, Steven Soderbergh) , Zodiac (2007, David Fincher) หรือ Zero Dark Thirty (2012, Katherine Bigelow) ) สิ่งที่หนังต้องการไม่ใช่หัวจิตหัวใจ ไดเลมม่าทางจริยธรรม หรือภาพชีวิตของใครคนใดคนหนึ่ง หนังเหล่านี้อาจเต็มไปด้วยดารา แต่แทบไม่มีมนุษย์ ตัวละครเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเฟืองของระบบ ของกระบวนการ ในการเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หนึ่ง พื้นที่หนึ่ง สนามหนึ่ง กระบวนการหนึ่ง ตัวละครไม่จำเป็นต้องมีชีวิตจิตใจ เขาอาจเป็นแค่เครื่องมือของระบบ ไม่มีชีวิตส่วนตัว มีแค่ทำหน้าที่มุ่งหน้าไปสู่การเป็นตัวแทนของการทำงานหนักของระบบขนาดใหญ่  ในการสืบสวนการะระบาดของโรค การตามหาฆาตกรโรคจิต การไล่จับบินลาเดน หรือ การตามข่าวบาทหลวงข่มขืนเด็ก

แต่ความพิเศษของหนังคือการที่หนังทอนความตื่นเต้นในเชิงการเป็นหนังสืบสวนออกเกือบทั้งหมด เราไม่มีตัวร้าย พระ และศาสนจักร เป็นเพียงภาพคลุมเครือไร้ตัวตนนอกกรอบภาพยนตร์ ไม่มีการแทรกแซงแบบโทรขู่ ส่งคนตามล่า ไล่ฆ่า มีเพียงการปรึกษาหารือในวงเหล้านิดหน่อยๆ ไม่มีฉากบีบคั้น ทุกอย่างถูกทอนจนเหลือแค่กระบวนการของการทำข่าว สืบพยาน ค้นข้อมูล ทุกอย่างเป็นกระบวนการทำงาน และงานมากกว่าคน กระทั่งประสบการณ์ของเหยื่อ ยังถูกทอนออกจนเราไมไ่ด้รู้เลยจริงๆ ว่าใครโดนทำอะไรอย่างไร แต่ภายใต้การทอนทั้งหมดออกจนเหลือแต่กระบวนการ เราก็ได้เห็นบรรยากาศคุกคามของผู้คนในสังคมเคร่งศาสนา หนังสามารถเพิ่มความเข้มข้นตรงนี้ได้หมด แต่การที่หนังเลือกทอนมันออกทำให้มันชัดเจนมากขึ้นว่านี่คือการต่อสู้ของระบบกับระบบมากกว่าระบบกับคน

Dark Waters ดำเนินเรื่องด้วยวิธีการคล้ายคลึงกัน ตัวละครต่างๆ ถูกทอนออกเป็นฉากหลัง มีเพียงชาวนา Earl เท่านั้นที่อาจจะมีบทดราม่าในฐานะที่เขาเป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการที่แท้จริง หลังจากนั้น หนังเล่าเรื่องโดยมุ่งไปที่กระบวนการหาข้อมูลของทนายบ๊อบ หนังทอนกระทั่งการปะทะคารมเผ็ดร้อนในศาลหรืองานเลี้ยง หนังทอนตัวร้ายในฐานะองค์กรออกไปจนเราแทบมองไม่เห็น มีตัวละครเพียงตัวเดียวที่เป็นตัวแทนของบริษัท Dupont และเขาดูแทบไม่มีพิษสงกับการสอบสวนของบ๊อบ ทุกอย่างถูกเอาออกจนหนังแทบจะเล่าเรื่องโดยไม่มีความเร้าใจใดๆ มีเพียงข้อมูล การทำความเข้าใจข้อมูล การตัดสินใจ สรุปคดีฟ้อง เดินหน้าสู่คดีใหม่ หนังมีฉากการคุกคามเพียงสองฉากสั้นๆ ไม่มีการเทศนาเรื่องความถูกต้อง สิ่งเดียวที่ชัดเจนในหนังคือ ‘เวลา’

หนังฉายภายให้เห็นว่าการต่อสู้นั้นยืดเยื้อยาวนานอย่างไร ปีถูกระบุชัดเจนทั้งจากตัวเลขบนจอ กับการเติบโตของลูกๆ ของโรเบิร์ต ตัวร้ายกลายเป็นระบบที่มองไม่เห็นแต่สามารถทำให้การพิจารณาคดีถูกเลื่อน ถูกลดรูป ถูกทำซ้ำ กระทั่งกระบวนการวิทยาศาสตร์ของการเก็บข้อมูล เล่ห์กลของบริษัทกลายเป็นเอกสารมากกว่าคน ชีวิตผู้คนถูกลดรูปเป็นค่าตอบแทนที่บ๊อบให้เอิร์ลเก็บไปตั้งต้นใหม่ แต่เขาไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะเขาและเมียกำลังจะตาย ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนถูกทำเพื่อให้ผู้ฟ้องร้องและทนายท้อถอยไปเอง ไม่จำเป็นต้องทำมากกว่านั้น เวลากัดกินผู้คน ชาวนาล้มตาย ลูกชายเติบใหญ่ บ๊อบเองก็ล้มป่วยหนักไปในเวลาอันยาวนานนั้น 

“ระบบมันพึ่งไม่ได้ พวกนั้นอยากให้คิดว่าระบบมีเพื่อปกป้องเรา แต่มันหลอกลวง มีแต่เราเท่านั้นที่จะปกป้องเรา เราต้องทำเอง ไม่มีคนอื่น ไม่มีบริษัท ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ ไม่มีรัฐ มีแค่เรา”

หากภาพยนตร์ของ Wiseman อธิบายการทำงานของระบบ เชิดชูมันในฐานะสหวิทยาการของตะวันตกที่ขับเคลื่อนโลก Spotlight ฉายให้เห็นภาพของการทำงานเป็นระบบในการคัดง้าง สำรวจตรวจสอบระบบ Dark Waters ก็เป็นเหมือนการแสดงให้เห็นว่าระบบได้กลายเป็นปีศาจที่หาทางซ่อมแซมตัวเอง ระบบการตรวจทานคัดง้างถูกแก้ไข ปรับปรุงปิดช่องโหว่โดยระบบ และมีแต่มนุษย์ กับความดื้อด้านไม่รู้จบเท่านั้นที่จะต่อสู้กับมันได้

ฉากจบของหนังจึงจับใจอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่อยู่ข้างระบบคือเวลา เวลาที่ทำให้คนพ่ายแพ้ แต่เวลาก็อยู่ข้างมนุษย์ด้วย การปรากฏตัวของบ๊อบในตอนจบจึงเป็นเครื่องยินยันอันยิ่งใหญ่ว่า ‘เรา’ อาจไม่มีเงิน มีทรัพยากร มีอำนาจ แต่สิ่งเดียวเรามีคือความดื้อด้านนี่คืออาวุธชนิดเดียวสำหรับการต่อสู้ 

อย่างไรก็ตาม ความดื้อด้่านของบ๊อบ ล่วงเลยไปจนถึงการทำงานของทีมข่าวเจาะ Boston Globes ใน Spotlight จะเกิดขึ้นได้ เป็นไปได้ แม้จะยากลำบาก จะใช้เวลา จะเสี่ยงอันตรายขนาดไหน มันก็เป็นไปได้เพราะสังคมมีบรรทัดฐานร่วมกันที่จะใช้ระบบต่อสู่กับระบบ การยอมรับในกติการ่วมกัน สู้กันภายใต้กรอบของระบบ โดยไม่มี/ไม่ยอมให้อำนาจนอกระบบสอดมือเข้ามายุ่งเกี่ยวทั้งในการขัดขวาง และช่วยเหลือ 

มันจะเป็นอย่างไรในโลกที่หนังสือพิมพ์ไม่สามารถสืบค้น เจาะลึกข่าวคอรัปชั่นที่สำคัญของสังคมนั้นได้ ไม่สามารถเขียนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันทางสังคมได้ ไม่มีการสนทนาโต้แย้ง มันจะเป็นอย่างไรในสังคมที่นักกฎหมายไม่สามารถใช้กฎหมายอย่างเสมอหน้าได้กับคนทุกชนชั้น และต้องสมยอมให้กับผู้มีอำนาจต่อให้เรามีระบบการทำงานย่อยที่ดีเพียงไหน หรือมีความดื้อด้านเพียงไร ก็มีแต่เพียงความล้มเหลวเท่านั้นที่รอคอยอยู่ 

ในขณะที่เราดู Dark Waters เราเจ็บปวดกับการต่อสู้กับระบบของบ๊อบที่แลกมาด้วยชีวิต เรายังสามารถเจ็บปวดซ้ำสองได้อีกเพราะหนังอาจจะพูดเรื่องการต่อสู้กับระบบ แต่เราอยู่ในโลกที่ระบบพังทลายไปแล้วหรือไม่ก็ไม่มีอยู่ ความดื้อด้านจึงไม่มีความหมาย การต่อสู้จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ มีเพียงการลงโทษเท่านั้นที่กระจ่างชัดและเป็นจริง