ในสวนร่มรื่นที่อุดมด้วยต้นไม้ใหญ่ใกล้เคียงความเป็นป่า ในอำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ จักร์ เชิดสถิรกุล เล่าให้ฟังว่าที่มาของโครงการ Kaomai Estate 1955 (เก๊าไม้ เอสเตท 1955) ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง คือความพยายามหากระบวนการที่ทำให้อาคารเก่ากับต้นไม้อยู่ด้วยกันได้โดยไม่คุกคามซึ่งกันและกัน

“เรามักมองว่าต้นไม้กับอาคารเก่าอยู่คู่กันไม่ได้ ถ้าคุณเลือกจะเก็บอาคารเก่า คุณอาจจะต้องตัดต้นไม้ หรือถ้าคุณเลือกจะเก็บต้นไม้ไว้ คุณอาจต้องยอมปล่อยให้อาคารมันพังลง ไม่ใช่ว่าไม่มีทางเลือก แต่ความที่มันยุ่งยากหรืออาจต้องใช้งบประมาณมาก เจ้าของพื้นที่ส่วนมากจึงเลือกเก็บอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น” จักร์ กล่าว

จักร์ เชิดสถิรกุล

เขาเผยความลับให้ฟังทีหลังว่าเหตุผลของการจับปลาสองมือ (อย่างสร้างสรรค์) ของเขา ส่วนหนึ่งมาจาก ธวัช เชิดสถิรกุล พ่อผู้เพิ่งล่วงลับ และเป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ ซึ่งพ่อของเขากำชับไว้ว่าไม่ให้ใครตัดต้นไม้ต้นใดสักต้นในที่ดินเกือบ 50 ไร่แห่งนี้  

พร้อมไปกับกระบวนการออกแบบ จักร์จึงเทียวไปปรึกษาผู้ชำนาญการหลากแขนง ตั้งแต่นักอนุรักษ์อาคารเก่า ภูมิสถาปนิก นักพฤกษศาสตร์ ไปจนถึงสล่าพื้นบ้าน เพื่อหาวิธีการให้ความยั่งยืนฝังรากไปกับต้นไม้และอาคารเก่าได้

ผลสำเร็จหาใช้แค่การมีพื้นที่ไลฟ์สไตล์ที่เกิดจากการดัดแปลงอาคารโรงบ่มใบยาสูบร้าง ท่ามกลางแวดล้อมของต้นไม้ใหญ่อันร่มรื่น หากล่าสุดเก๊าไม้ เอสเตท 1955 ยังคว้ารางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากองค์กรยูเนสโก สำนักงานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก สาขา New Design in Heritage Context รางวัลที่มอบให้กับสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นใหม่หากยังคงรักษาคุณค่าดั้งเดิมของพื้นที่เอาไว้อย่างกลมกลืน อันเป็นรางวัลแรกที่ยูเนสโกมอบให้โครงการเอกชนในประเทศไทย

อธิบายอย่างรวบรัดเก๊าไม้ เอสเตทฯ เป็นที่รู้จักจาก ‘คาเฟ่โรงบ่ม’ ร้านกาแฟอันเป็นส่วนต่อขยายของ Kaomai Lanna Resort (เก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท) บูติกโฮเทลในอำเภอสันป่าตอง ที่ถือเป็นรีสอร์ทแห่งแรกในประเทศที่บูรณะอาคารโรงบ่มใบยาสูบเก่าให้กลายมาเป็นห้องพัก สร้างภาพจำจากอาคารสูงโปร่งที่ปกคลุมด้วยต้นตีนตุ๊กแกเขียวขจี จนถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คร่วมสมัยของเมืองเชียงใหม่ไปโดยปริยาย

กระนั้นการจะบอกว่าโครงการนี้เป็นแค่คาเฟ่กรุกระจกดีไซน์เก๋ที่รีโนเวทมาจากอาคารโรงบ่มฯ แฝดหลังเดียวในพื้นที่ (ในจำนวนโรงบ่มหลังเดี่ยวอีกกว่า 50 หลัง) ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะจักร์ยังให้ความสำคัญกับองค์ประกอบอื่นอีกสามส่วนเท่าๆ กัน นั่นคือถนนสายร่มรื่นที่เรียงรายด้วยโรงบ่มใบยาสูบ (ทางเดินสู่คาเฟ่), พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่ (ภายในโรงบ่มใบยาสูบ) และสนามหญ้าที่ทำหน้าที่เป็นลานอเนกประสงค์ ด้านหลังของคาเฟ่โรงบ่ม

“ทั้งสามส่วนสอดรับกันหมดครับ ผมตั้งใจให้พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของการบ่มใบยาสูบซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของที่นี่ รวมถึงอยากให้มันเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะจึงเปิดลานอเนกประสงค์ขึ้นมาสำหรับจัดกิจกรรม ขณะเดียวกันเราก็ต้องเลี้ยงตัวเองได้ในเชิงธุรกิจ จึงต้องมีคาเฟ่” จักร์อธิบาย

แต่เมื่อเราถามว่าอะไรคือหัวใจสำคัญ จักร์กลับบอกว่าเป็น ‘เรื่องราว’ ที่ซึ่งสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ห่อหุ้มไว้

ย้อนกลับไป 64 ปีก่อน ในปี พ.ศ.2498 หรือปี ค.ศ.1955 (ตามตัวเลขต่อท้ายชื่อของโครงการ) นั่นเป็นขวบปีภายหลังที่เจ้าชื่น สิโรรส ทดลองนำยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนียมาปลูกในจังหวัดเชียงใหม่จนได้ผลไม่นาน ที่ดิน 44 ไร่ริมถนนสายเชียงใหม่-ฮอดแห่งนี้ (ที่ตั้งของเก๊าไม้ เอสเตทฯ ในปัจจุบัน) จึงได้รับการบุกเบิกให้มาเป็นโรงบ่มใบยาสูบของ บริษัท แม่ปิงยาสูบ โดยครอบครัวของเจ้าชื่น ไปพร้อมกับช่วงเวลาอันเบ่งบานของอุตสาหกรรมยาสูบในภาคเหนือ

บริษัท แม่ปิงยาสูบ เริ่มต้นจากการสร้างโรงบ่มฯ แบบง่ายๆ ด้วยโครงสร้างไม้ไผ่สานแตะฉาบด้วยดินโคลน จำนวน 35 หลัง กระทั่งปี พ.ศ.2529 ธวัช เชิดสถิรกุล นักธุรกิจการเกษตรชาวเชียงใหม่ เข้ามาซื้อกิจการต่อ และก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟาร์มทุ่งเสี้ยว ขยับขยายโรงบ่มใบยาเพิ่มเป็น 50 หลัง ทั้งยังเปลี่ยนวัสดุก่อสร้างโรงบ่มให้คงทนแข็งแรงเพื่อประสิทธิภาพในการผลิต จนถึงปี พ.ศ.2538 ภายหลังที่บุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด ธวัชก็ตัดสินใจเลิกธุรกิจบ่มใบยาสูบ โดยหันมาเพาะครั่งและต้นไม้ขาย ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนอาคารโรงบ่ม ที่แต่เดิมตั้งใจจะทำเป็นบ้านพักตากอากาศสำหรับรับแขก หากในท้ายที่สุดก็กลายมาเป็นบูติกโฮเทลจำนวน 36 ห้อง จากอาคารโรงบ่มทั้งสิ้น 18 หลัง (แบ่งพื้นที่ห้องพักเป็นชั้นบนและชั้นล่างของอาคารโรงบ่ม) นั่นคือที่มาของ เก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท ธุรกิจที่เริ่มต้นในปี 2540 และยังคงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

“เรื่องราวของการเปลี่ยนผ่าน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พื้นที่เป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจบ่มใบยาสูบ ที่ทิ้งร่องรอยของอาคารโรงบ่มฯ ในยุคสมัยต่างๆ แตกต่างกันถึงสามรุ่นให้เราเห็น การที่คุณพ่อทำธุรกิจเพาะต้นไม้ จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยต้นไม้หลากสายพันธุ์ รวมไปถึงกระถางดินเผาที่เคยใช้อนุบาลต้นไม้ ก็ยังถูกนำมาจัดวางตบแต่งทั่วสวน และพื้นที่ของรีสอร์ทที่แปรสภาพมาจากอาคารโรงบ่ม กลายมาเป็นธุรกิจหลักของพื้นที่”

จักร์ร่ำเรียนมาทางสายการจัดการพลังงานทดแทนจาก The Earth Institute, Columbia University นิวยอร์ก เขาเคยทำงานในบริษัทที่ดูแลธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อนจะเข้ามาบริหารธุรกิจรีสอร์ทของครอบครัว ร่วมกับพี่สาวของเขา ขัตติรัตน์ เชิดสถิรกุล ความที่เขาเห็นศักยภาพของพื้นที่จากความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้และอาคารเก่า จึงชักชวนสตูดิโอภูมิสถาปนิกจากกรุงเทพฯ อย่าง Shma SoEn ให้รับหน้าที่ปรับปรุงภูมิทัศน์ และสตูดิโอ PAVA Architects มาร่วมพัฒนาอาคารโรงบ่มให้เป็นคาเฟ่และพิพิธภัณฑ์ รวมไปถึงสำนักงานหอพรรณไม้ (กรมอุทยานแห่งชาติ) มาทำฐานข้อมูลของต้นไม้ (พร้อมทำป้ายชื่อระบุสายพันธุ์ทุกต้น) แปรรูปมรดกของครอบครัวให้กลายเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ ให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่เฉพาะแค่แขกของรีสอร์ทมาใช้บริการ

เก๊าไม้ เอสเตท 1955 เกิดขึ้นเช่นนั้น เกิดพร้อมไปกับแผนการที่จักร์ตั้งใจเขียนเอกสารเสนอธุรกิจใหม่ของเขาให้ยูเนสโกพิจารณา

“เริ่มมาจากที่ดร.ริชาร์ด (Dr.Richard A Engelhardt – อดีตที่ปรึกษาคณะทำงานยูเนสโกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก) ชวนให้ทางเก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท ยื่นเอกสารเพื่อพิจารณารางวัลการอนุรักษ์อาคาร ตอนนั้นเราก็ยื่นไป แต่ปรากฏว่าด้วยเงื่อนไขบางอย่าง ทำให้เราไม่ได้ พอผมเริ่มพัฒนาพื้นที่เป็นเก๊าไม้ เอสเตทฯ ก็พอดีกับที่ยูเนสโกมีรางวัล New Design in Heritage Context ซึ่งของเราน่าจะตรงมากกว่า ก็เลยลองยื่นไปอีกครั้ง”

แม้จักร์เล่าด้วยน้ำเสียงราบเรียบ กระนั้นกระบวนการเสนอชื่อเข้ารับพิจารณาก็หาได้เรียบรื่นนัก เพราะเขาจำเป็นต้องค้นคว้าข้อมูลในแทบทุกมิติและทุกยุคสมัยของพื้นที่ ตั้งแต่ห้วงเวลาแห่งการบุกเบิกที่ดิน เทคนิคการก่อสร้างอาคารในแต่ละยุค กระบวนการบ่มใบยาสูบ การซื้อ-ขาย การเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ การทำฐานข้อมูลต้นไม้ เทคนิคการบูรณะอาคาร การมีส่วนร่วมของชุมชน แนวทางอนุรักษ์ ฯลฯ เหล่านี้คือกระบวนการที่ต้องใช้พลังงานในการได้มา แต่จักร์ก็มองว่า ในท้ายที่สุด หากการเสนอชื่อครั้งใหม่นี้จะไม่ได้รับรางวัล ก็ยังคงเป็นความพยายามที่คุ้มค่าอยู่ดี

“เหมือนกับเราต้องกลับไปเรียนรู้และทบทวนเรื่องราวของตัวเองใหม่หมดเลยครับ คือยูเนสโกเขาต้องการให้เราเสนอคุณค่าในพื้นที่ และกระบวนการอนุรักษ์คุณค่านั้นไว้ แต่การเข้าใจคุณค่าก็ต้องกลับมาสำรวจทุกสิ่งทุกอย่างใหม่หมด ซึ่งผมโชคดีที่ได้ทีมน้องสถาปนิกจาก PAVA มาช่วยค้นคว้าและเขียนเอกสารด้วย รวมไปถึงมีโอกาสได้ปรึกษาผู้รู้หลากแขนงมาก คือต้องค้นถึงขนาดที่ว่าสมัยก่อนสล่าเขาฉาบผนังอาคารโรงบ่มด้วยอะไร ก็ต้องไปตามหามา” จักร์พูดด้วยรอยยิ้ม

แม้จะออกตัวว่าถึงไม่ได้รางวัลก็ไม่ได้เสียใจอะไร หากในท้ายที่สุด คุณค่าที่ผู้เป็นพ่อริเริ่ม และลูกชายอย่างเขามาสานต่อก็ได้รับการยอมรับในระดับสากล เมื่อยูเนสโกมอบรางวัล UNESCO Asia-Pacific Awards for Cultural Heritage Conservation 2018 (รางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2561) สาขา New Design in Heritage Context ที่ซึ่งจักรไม่เพียงนำเสนอจุดเด่นของการเชื่อมร้อยการบูรณะอาคารใหม่ท่ามกลางบริบทของอาคารเก่า หากเขายังนำเสนอกระบวนการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ให้ยั่งยืนอยู่คู่กับสถาปัตยกรรมอีกด้วย

“ผมคิดว่ายูเนสโกเขาพิจารณารางวัลจากกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ คือเขาดูว่าเรามีกระบวนการเป็นมาอย่างไร และเรามีวิธีการจะอยู่กับพื้นที่อันเป็นมรดกแห่งนี้ต่อไปอย่างไร ซึ่งเอกสารที่เราเสนอไปก็ค่อนข้างชี้แจงได้ชัดเจน

ผมหวังว่าอย่างน้อยที่สุดก็อยากให้รางวัลนี้จุดประกายผู้ประกอบการรายอื่นๆ ให้หันมาสำรวจคุณค่าในพื้นที่ของตัวเองบ้าง เพราะบ้านเรามีธุรกิจหลายแห่งที่เกิดจากการบูรณะอาคารเก่าโดยรักษาบริบทดั้งเดิมไว้ ซึ่งก็ทำได้สวยมากทีเดียว ซึ่งไอ้การกลับไปสำรวจคุณค่าของพื้นที่ ไม่เพียงจะได้ประโยชน์ต่อเจ้าของพื้นที่ แต่องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์หรือภูมิปัญญาเชิงช่างหลากหลายก็จะได้รับการขุดค้นและเผยแพร่ออกสู่สาธารณะอีกทอด คือได้ประโยชน์ทั้งรูปธรรมและนามธรรมต่อคนอื่นไปพร้อมกัน” จักร์กล่าว

หลังจากนี้จักร์มีแผนจะพัฒนาอาคารโรงบ่มฯ อีกแห่งให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ใบยาสูบในภาคเหนือโดยเฉพาะ รวมไปถึงการทำโรงงานช็อคโกแลตภายในอาคารอีกหลังในอนาคต ขณะที่คาเฟ่โรงบ่มก็ยังคงพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนด้วยกาแฟและไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟรสผลไม้ที่ปลูกขึ้นมาในพื้นที่ รวมไปถึงกิจกรรมสร้างสรรค์อีกหลากหลายที่จัดขึ้นบริเวณสนามหญ้าด้านหลังในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ตามแต่วาระ       

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก The Momentum ทางอีเมล

* indicates required


 

Fact Box

  • เกี่ยวกับรางวัล UNESCO Asia-Pacific Awards for Cultural Heritage Conservation ยูเนสโกมอบให้แด่บุคคลและองค์กรภาคเอกชน หรือโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการบูรณปฏิสังขรณ์ หรือก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ภายใต้บริบทดั้งเดิมของพื้นที่ โดยโครงการที่ได้รับรางวัลคือโครงการที่สะท้อนความเข้าใจและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ อาทิ การคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของพื้นที่ การสืบสานเทคนิคและภูมิปัญญา การประยุกต์ปรับใช้ ผลดีของโครงการแก่สภาพแวดล้อมโดยรอบ และการสืบทอดวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่น
  • ในปี 2008 วัดปงสนุก จังหวัดลำปางก็เคยได้รางวัลเดียวกันนี้ในสาขา Award of Merit ซึ่งเป็นรางวัลในการอนุรักษ์โบราณสถานผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน ขณะที่ Kaomai Estate 1955 เป็นโครงการเอกชนรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลในสาขา New Design in Heritage Context โดยในปีนี้ได้รับร่วมกับ The Harts Mill ที่เป็นลานวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งปรับปรุงมาจากโรงโม่แป้งสาลีหลังเก่าในเมือง Port Adeliade ประเทศออสเตรเลีย https://bangkok.unesco.org/content/winners-announced-2018-unesco-asia-pacific-awards-cultural-heritage-conservation
  • Kaomai Estate 1955 ตั้งอยู่พื้นที่ด้านหลังของเก๊าไม้ล้านนา รีสอร์ท ถนนเชียงใหม่-ฮอด อำเภอสันป่าตอง ห่างจากสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ 27 กิโลเมตร เปิดทุกวัน โทร. 0 5348 1201, https://www.facebook.com/kaomaiestate1955/  
Tags: , , , ,