ในโอกาสที่โครงการกำลังใจฯ ดำเนินการมาครบ 14 ปี เราได้ร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โครงการฯ ในเรือนจำกลางจังหวัดระยอง ทั้งได้สนทนากับ กรรณิการ์ แสงทอง ที่ปรึกษาของโครงการฯ และกรรมการกองทุนกำลังใจฯ ถึงความคืบหน้าล่าสุดของโครงการฯ นี้ รวมถึง พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ หรือ พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ เช่นกัน
สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเครื่องชี้วัดที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่ผ่านโครงการกำลังใจฯ เมื่อพ้นโทษกลับคืนสู่สังคม มีการทำผิดซ้ำเพียงร้อยละ 10.16 เมื่อเทียบกับอัตราการทำผิดซ้ำทั่วประเทศที่ร้อยละ 23.74
บ้านกึ่งวิถี (Halfway House)
“เป็นการสร้างความเข้มแข็ง การสร้างความหวังใหม่ รวมทั้งดูแลในเรื่องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น”
กระบวนการที่มีส่วนทำให้สถิติการกระทำผิดซ้ำลดลงนั้น กรรณิการ์เรียกว่า ‘การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย’ ซึ่งปัจจุบันได้รับการต่อยอดเกิดเป็นนวัตกรรมในการดูแลผู้ต้องขังที่เรียกว่า ‘บ้านกึ่งวิถี’ หรือ Halfway House
บ้านกึ่งวิถีมีลักษณะเป็นที่พักพิงชั่วคราวให้แก่ผู้กระทำผิดซึ่งใกล้จะครบกำหนดโทษปลดปล่อย หรือเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือผู้ต้องขังพ้นโทษใหม่ๆ และมีความจำเป็นในเรื่องที่อยู่อาศัย มักจัดเป็นบ้านสำหรับ 10-12 คน โดยมุ่งอบรมเรื่องศีลธรรมและส่งเสริมการฝึกอาชีพเป็นสำคัญ เพื่อให้มีความคุ้นเคยกับชีวิตปกติภายนอกนั่นเอง
เรือนจำในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ ฯลฯ ต่างใช้โปรแกรมบ้านกึ่งวิถีกันอย่างกว้างขวาง อย่างในประเทศสิงคโปร์จะมีโครงการช่วยเหลือผู้พ้นโทษเพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมปกติให้เร็วที่สุดนับตั้งแต่วันแรกที่ได้รับการปล่อยออกมาจากเรือนจำจนครบกำหนดเวลาหนึ่งปี และสิงคโปร์ก็นับเป็นประเทศที่มีการจัดการปัญหาของผู้พ้นโทษได้อย่างมีระเบียบและประสบความสำเร็จมากที่สุดประเทศหนึ่ง
สำหรับประเทศไทยนั้น มีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้พ้นโทษในรูปแบบบ้านกึ่งวิถีแห่งแรกโดยกรมราชทัณฑ์เมื่อปี 2517 โดยการดำเนินงานของมูลนิธิพิบูลสงเคราะห์โดยใช้ชื่อว่า ‘บ้านสวัสดี’ ทั้งให้บริการที่อยู่อาศัยชั่วคราวแก่ผู้พ้นโทษ มีอาหารให้สองมื้อ ติดต่อหางานให้ทำ จัดส่งกลับภูมิลำเนาเดิม เป็นต้น ปัจจุบันมีบ้านกึ่งวิถีเกิดขึ้นจำนวนไม่น้อย แต่มักอยู่ภายใต้การจัดการโดยเอกชนและได้รับงบประมาณบางส่วนจากภาครัฐ
กรรณิการ์ขยายความถึง ‘บ้านกึ่งวิถี’ ในการดำเนินการของโครงการกำลังใจฯ ให้ฟังว่า
“ในภาพใหญ่แล้ว พระองค์ภาท่านทรงดูแลโครงการกำลังใจฯ ในเรื่องยาเสพติด โดยเฉพาะการดูแลผู้กระทำผิดซึ่งมีหลายกลุ่ม ท่านมองว่าผู้ที่อยู่ในเรือนจำคือผู้ที่อ่อนด้อยที่สุด และเพื่อการดำเนินกิจกรรมที่ไม่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ภาครัฐทำอยู่แล้ว จึงมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยหรือการให้กำลังใจไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ต้องขังหญิง เด็กติดผู้ต้องขัง เด็กและเยาวชนที่กระทำผิด และกลุ่มผู้ขาดโอกาสอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม
“นวัตกรรมล่าสุดที่ทางโครงการฯ วางแผนและพูดคุยกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมคุมประพฤติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดก็คือ บ้านกึ่งวิถี หรือในต่างประเทศเรียกกันว่า Halfway House ซึ่งเกิดจากแนวคิดในการจัดหาที่พักพิงก่อนที่ผู้ต้องขังจะกลับไปสู่บ้านปกติของตนเอง เป็นการสร้างความเข้มแข็ง การสร้างความหวังใหม่ รวมทั้งดูแลในเรื่องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะบางคนติดคุกนานไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมหรือสังคมปกติได้ทันที บ้านกึ่งวิถีนี้ไม่ได้ใช้เป็นเพียงที่นอนเท่านั้น แต่มีการฝึกอบรมสร้างอาชีพด้วย
“การจัดตั้งบ้านกึ่งวิถีโดยกรมคุมประพฤตินั้นตามกฎหมายจริงๆ แล้วยังไม่สามารถจัดตั้งได้ เพราะต้องผ่านการวิเคราะห์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการก่อน บ้านกึ่งวิถีที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นของเอกชน ตามหลักการคือ เอกชนจัดตั้งบ้านกึ่งวิถีขึ้นมา ถ้าต้องการให้ขึ้นทะเบียนเป็นบ้านกึ่งวิถีที่รัฐมนตรีประกาศหนดตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมก็ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐาน อันได้แก่ สถานที่ต้องมีความพร้อม มีที่หลับที่นอน มีคณะกรรมการบ้านกึ่งวิถีซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคนในชุมชน มีกระบวนการและแผนการทำงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็จะไปตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติตามนั้นหรือเปล่า หลังจากนั้น หากผ่านการเห็นชอบและพิจารณาว่าเข้าตามเกณฑ์มาตรฐาน กรมคุมประพฤติจะสนับสนุนงบประมาณให้ตามความเหมาะสม
“อย่างไรก็ตาม บ้านกึ่งวิถีในประเทศไทยไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ต้องขังไปอยู่ เป็นความสมัครใจ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนไปอยู่บ้านนี้ เพราะคนไทยไม่ค่อยเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเท่ากับต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ต้องขังมาอยู่บ้านกึ่งวิถีได้เป็นเรื่องของการสร้างความไว้วางใจ ซึ่งเป็นบทบาทของเจ้าหน้าที่ที่ต้องเข้าไปพูดคุยกับผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้ต้องขังเห็นประโยชน์และสมัครใจในการเข้าไปอยู่ด้วยตนเอง
“ขณะนี้โครงการกำลังใจฯ มีการดำเนินการจัดตั้งบ้านกึ่งวิถีแห่งใหม่ชื่อว่า บ้านกึ่งวิถีกาแลตาแป ชุมชนบางนารา จังหวัดนราธิวาส โดยมีการเตรียมกลยุทธ์และวางแผนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ได้แก่ หนึ่ง การเตรียมความพร้อมของที่ดิน การปรับปรุงเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง การทำโครงสร้าง การบริหารจัดการ ด้านที่สอง การแก้ไขฟื้นฟูช่วยเหลือสงเคราะห์ จากข้างในเรือนจำเชื่อมโยงสู่ภายนอก มีโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย มีการส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาคต่างๆ สาม เรื่องการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่ไปบอกชุมชนว่าจะมีการจัดตั้งบ้านกึ่งวิถี แต่ใช้วิธีไปตรวจสอบว่าคนในชุมชนอยากได้อะไร ไปทำความเข้าใจกับเขา ชวนชาวชุมชนไปเยี่ยมคุกว่าผู้ต้องขังอยู่กันอย่างไร และข้อสุดท้ายคือ กระบวนการจัดการฐานข้อมูล ทั้งนี้เพื่อสามารถนำข้อมูลมาประเมินผลได้ ว่าการอยู่บ้านกึ่งวิถีหกเดือน เกิดผลอย่างไร รวมทั้งกระบวนการติดตามผลซึ่งคิดว่าจะติดตามเป็นเวลาสามปี ในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบพื้นที่ ตรวจสอบความต้องการคนในชุมชน และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
จิตตมนต์ ปัญญาบำบัด
“ในสภาพของใจคนทุกคนเป็นผู้ต้องขังทั้งนั้น เพียงแต่ว่าขังอยู่ในอะไร”
นอกจากรูปแบบของบ้านกึ่งวิถีแล้ว อีกนวัตกรรมของการเตรียมความพร้อมของผู้ต้องขังก่อนพ้นโทษก็คือ โครงการ ‘จิตตมนต์ ปัญญาบำบัด’ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2560-2561 ณ แดนหญิง ก่อนขยายผลสู่แดนชาย เรือนจำกลางระยอง ภายใต้การสอนของ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ หรือ พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
กระบวนการที่เป็นรูปธรรมของโครงการจิตตมนต์ปัญญาบำบัด คือการจัดให้มีผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งมารับบทบาทนักเรียนภายใต้การบรรยายหลักธรรมของพระ ดร. อนิลมาน ซึ่งเป็นการทดลองทฤษฎีของพระพุทธเจ้าที่ว่าการแสดงธรรมสามารถปรับเปลี่ยนความคิดด้านลบของคนได้ โดยเริ่มต้นที่การนำการ์ตูนเมืองนิรมิตแห่งจิตตนครมาเป็นบทเรียนในการเดินเรื่อง เพื่อเปลี่ยนความคิดของผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการ ในขณะเดียวกันก็มีการนำบทเรียน แง่มุมต่างๆ จากประสบการณ์ชีวิตของ พระ ดร. อนิลมาน มาบรรยายประกอบ
ห้องเรียนของโครงการจิตตมนต์ ปัญญาบำบัดมีลักษณะคล้ายการเรียนการสอนนักศึกษาที่เปิดกว้าง เพราะเน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนกล้าแสดงออกทางความคิด กล้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สามารถโต้แย้งกันโดยไม่ชี้ถูกผิด ผู้ต้องขังจึงมีโอกาสได้ฝึกการใช้ความคิด เขียน อ่าน ได้ใช้ปัญญาไตร่ตรองและทบทวนการกระทำที่ผิดพลาดของตนเอง ซึ่งเป็นโครงการที่นักเรียนหรือผู้ต้องขังที่เข้าร่วมเห็นว่าเป็น ‘กำลังใจ’ และความสร้างสรรค์ให้พวกเขาได้เรียนรู้และพิจารณาความถูกต้องได้ด้วยปัญญาของตนเอง
แม้ว่าโครงการจิตตมนต์ฯ จะจบลงแล้ว แต่พระ ดร.อนิลมานก็ยังเดินทางมาให้คำปรึกษาและติดตามผลอยู่เสมอ ดังเช่นครั้งนี้ที่เรือนจำกลางระยอง ท่านลงรายละเอียดถึงโครงการให้ฟังว่า
“จิตตมนต์ มาจากคำว่า Counselling ซึ่งในภาษาไทยไม่มีคำนี้ก็เลยสร้างคำขึ้นมาให้ตรงกับภาษาอังกฤษมากที่สุด Counselling ตรงกับภาษาบาลีว่า ‘มนต์’ ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่าแนะแนวให้คำปรึกษา แต่คนไทยเอามาใช้กับคำว่าบทสวดมนต์ แล้วเข้าใจผิดๆ จึงกลายเป็นความเชื่องมงาย ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ความศักดิ์สิทธิ์นี้ตามหลักพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพราะสวดมนต์ แต่เกิดขึ้นได้เพราะประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอน อรหัง-คือไม่มีกิเลส สัมมาสัมพุทโธ-คือรู้ในสิ่งที่ถูกด้วยตัวของเราเอง ก็หมายความว่า เราพยายามที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้องด้วยตัวเราเองเพื่อกำจัดกิเลส ไม่ได้แปลว่ากราบไหว้พระพุทธเจ้า
“ดังนั้น จิตตมนต์ก็คือกระบวนการคิด กระบวนการทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ตรงกับคำว่า Cognitive Transformation Therapy ถ้าถามว่าแล้วกระบวนการตรงนี้เป็นการเทศน์สั่งสอนไหม-ก็ไม่ใช่ เป็นการกระตุ้นทางจิตวิทยาไหม-ก็ไม่ใช่ แต่อะไรคือใช่-ก็ไม่รู้ อาตมาไม่ได้เรียนจิตบำบัดมา ไม่ได้เรียนบริหารจัดการมา เปรียบเสมือนอาจารย์มีหน้าที่ขึ้นชก จะรู้ว่าคู่ต่อสู้คือใครก็ตอนที่ขึ้นเวทีนั่นแหละ บางทีก็ต้องดูว่ามวยไม้ของเขาเป็นแค่ไหน แล้วเราต้องใช้มวยท่าไหน-ก็แค่นั้นเอง
“กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่ได้มีหลักสูตร ทางโครงการฯ บอกว่าเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยก็คือในส่วนของโครงการฯ แต่สำหรับตัวอาตมา เขานิมนต์ไปสอน ไปเทศน์ ก็ไปตามที่เขาเขียนบทกำหนดมา ส่วนเทคนิคหรือวิธีการที่เกิดขึ้นก็เกิดจากบริบทในแต่ละครั้ง
“ถ้าถามว่าอาตมาสอนอะไรนักโทษ ก็ต้องบอกก่อนว่า สำหรับอาตมา ไม่มีคำว่านักโทษ ไม่มีคำว่าผู้ดี เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะสอนใครก็ไม่เห็นต่างกันตรงไหน ตัวเราก็เป็นนักโทษระดับหนึ่ง เราเป็นนักโทษกิเลส ทุกคนติดอยู่ในพันธะบางอย่าง ในสภาพของใจคนทุกคนเป็นผู้ต้องขังทั้งนั้น เพียงแต่ว่าขังอยู่ในอะไร เราชอบแยกบุคคลตามเสื้อผ้า ถ้าตราบใดที่อาตมาสอนคน ไม่ว่าจะเป็นนักโทษ ตำรวจ ใส่เสื้อผ้าแบบไหน ทำอาชีพอะไร คนก็คือคนเหมือนกัน”
Fact Box
ติดตามรายละเอียดและข้อมูลอื่นๆ ของโครงการกำลังใจฯ เพิ่มเติม ได้ที่ www.kamlangjai.or.th