เส้นสีฉวัดเฉวียนที่เด่นอยู่กลางภาพชวนให้รู้สึกถึงความเป็นอิสระ แต่ความทึบทึมของสีเขียวที่แผ่คลุมอยู่แทบทุกตารางนิ้วกลับบีบให้รู้สึกอึดอัด เสียงกีตาร์วังเวงตีขัดๆ ดังขึ้นจากที่ไหนสักแห่ง

อักขระแปลกตา เหมือนชุดคำสั่งที่ไม่รู้จัก ดึงดูดให้ลองอ่านซ้ำ เมื่อค่อยๆ อ่านทวน เนื้อเสียงหนักแน่นของนักร้องนักแต่งเพลงชาวอังกฤษ PJ Harvey เหมือนจะก้องขึ้นในที่นั้น

‘I Am Silenced

I Can Not Think Straight

It Is The Best Thing’

ท่อนหนึ่งจากบทเพลง ‘Beautiful Feeling’ คือชุดถ้อยคำที่เป็นส่วนหนึ่งของภาพและเป็นชื่อของภาพเขียนชิ้นนั้น ที่ประกอบอยู่ในภาพเขียนชุด Algorithm Adjustment ของจัสติน มิลส์ (Justin Mills)

ศิลปินชาวอังกฤษเจ้าของภาพเขียนตรงหน้า เล่าถึงเส้นสีกลางภาพว่า มาจากภาพถ่ายฝูงนกของช่างภาพชาวสเปนชื่อ Xavi Bou โดยเขาเล่าว่าผมใช้สิ่งต่างๆ ที่สนใจในการสร้างงาน ผมไม่ได้สนใจที่จะสร้างสไตล์เฉพาะตัว หรืออะไรที่เป็นเหมือนลายเซ็นของศิลปิน ผมเชื่อว่าเนื้อตัวของผมปรากฏอยู่เองแล้วในงานทุกชิ้น ผมชอบสร้างงานที่ชวนให้มองซ้ำและตีความได้แตกต่างหลากหลาย เป็นเหมือนปริศนามากกว่าจะเป็นความคิดที่ชัดเจนเพียงหนึ่งเดียว

จัสตินทำงานและใช้ชีวิตในเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 1996 เป็นศิลปินและดีเจที่เติมสีสันยามค่ำคืนให้แก่กรุงเทพฯ มากว่า 15 ปี สื่อหลักสำหรับเขาคือภาพเขียน ขณะที่เนื้อตัวอีกด้านคือดนตรีและบทกวี   

ผมชอบบทกวี เพราะมันเปิดแก่การตีความ อ่านซ้ำได้หนแล้วหนเล่า บทเพลงดีๆ ก็เหมือนกัน เปิดฟังในช่วงอารมณ์ที่ต่างกัน ความรู้สึกที่ได้ก็อาจเปลี่ยนไป

ในภาพเขียนชื่อ ‘Your Demons Can Not Go There As Long As Your Army Keeps Perfectly Still’ ที่มาจากคำร้องในเพลง Horses ของโทริ เอมอส (Tori Amos) สิ่งที่ดึงดูดสายตาผู้ชมคือลายเส้นไร้เดียงสารูปชายหญิงคู่หนึ่ง วาดโดย Odell Blenkinsop ลูกสาววัยห้าขวบของช่างภาพชาวอังกฤษออสเตรเลีย Philip Blenkinsop ความไร้เดียงสาที่ดูอบอุ่นนั้น ห้อมล้อมด้วยอักขระโบราณ ซึ่งเป็นคาถาเรียกปีศาจจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งบันทึกไว้โดย Doktor Johannes Faust —ทั้งหมดนี้ จัสตินนำมันมาอยู่ด้วยกันอย่างมีความหมาย

ผมชอบดีไซน์ของอักขระเหล่านั้น และมันดูขัดแย้งกับรูปวาดของเด็กที่ไร้เดียงสา เหมือนการคัดง้าง ขัดขืนระหว่างความสว่างกับความมืด พลังบริสุทธิ์และอำนาจมืดที่พยายามจะกดข่ม

ขณะที่เมื่อมองไปยังช่องสี่เหลี่ยมตรงมุมบนของภาพเขียน ในแวบแรก ชวนให้นึกถึงแผ่นชิปบนการ์ดนานาชนิดที่เราคุ้นเคย รวมถึงหน้าจอมือถือและคอมพิวเตอร์ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่เมื่อมองซ้ำ เราจะเห็นภาพขยายของภาพเขียนส่วนอื่น เหมือนว่ามันเจาะช่องให้เราได้สำรวจอะไรบางอย่าง แต่ในทางกลับกัน แวบหนึ่งของความรู้สึก ผู้ชมอาจฉุกคิดขึ้นว่า เขาเองก็กำลังถูกสอดส่องและจับตาอยู่เช่นกัน คล้ายว่านั่นเป็นคาถาปลุกผีที่รายล้อม หรือประสบการณ์ใกล้ตัวบางอย่างให้ปรากฏขึ้นในความรู้สึก

เหตุที่เล่นกับเรื่องนี้ เป็นเพราะในฐานะศิลปิน จัสตินรู้สึกว่าการทำงานศิลปะไม่สามารถละเลยหรือเพิกเฉยต่อความเป็นไปทางสังคม เทคโนโลยี และการเมือง

เป็นไปได้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผมคือยุคดิจิทัล ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา จอภาพไม่ว่าจอคอมพิวเตอร์ แลปท็อป สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต ดิจิทัลทีวี หรืออื่นๆ ได้แทรกซึมเข้ามาในชีวิตเรา และเปลี่ยนวิธีที่เราสื่อสารกันอย่างมหาศาล ข้อมูลแอนะล็อกถูกเปลี่ยนเป็นดิจิทัล แต่การเปลี่ยนให้เป็นดิจิทัลไม่ใช่สิ่งเลวร้ายในตัวมันเอง มีดที่อยู่ในมือหมอย่อมช่วยชีวิตคน แต่มีดนั้นก็อาจคร่าชีวิตคนเมื่ออยู่ในมือฆาตกร

เทคโนโลยีเป็นอะไรได้ถึงเพียงนั้นหรือยิ่งกว่านั้น นี่จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่มิลส์แทรกไว้ในตัวงาน

ในภาพเขียน The Tower #1 เขาใช้เรื่องราวจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่กล่าวถึงความอหังการของมนุษย์ที่พยายามจะสร้างหอคอยให้สูงเทียมสวรรค์พระเจ้าจึงลงโทษมนุษย์ด้วยการบันดาลให้พวกเขาพูดกันคนละภาษา จนไม่สามารถจะสื่อสารและเข้าใจกันได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้ก็คล้ายกับสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ เรามีอินเทอร์เน็ต เราใช้วิทยาการคอมพิวเตอร์ เราต่างตะโกนเพื่อสร้างความสนใจ แต่บ่อยครั้งก็เหมือนว่าไม่มีใครฟังใคร หรือเข้าใจใคร และการที่เราพยายามทำทุกอย่างแม้แต่ธรรมชาติให้เป็นดิจิทัล หรือกระทั่งการสร้าง AI ถ้าไม่ใช่ความอหังการแล้วคืออะไร

 อัลกอริธึมเป็นคำที่คนพูดถึงกันมากในตอนนี้จัสตินเล่าถึงที่มาส่วนหนึ่งของงานชุดนี้ ที่กลายเป็นชื่อชุดผลงาน ‘Algorithm Adjustment’ ด้วย

เวลาพูดถึงการมอนิเตอร์กิจกรรมที่เราทำผ่านระบบดิจิทัล การใช้งานโซเชียลมีเดีย การรวบรวม big data ซึ่งส่งผลและมีอิทธิพลต่อเราอย่างแยบยล

ดูอย่างหายนะที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด คนเราไม่ได้ใช้การวิเคราะห์และตั้งค่าอัลกอริธึมเพื่อทุนนิยม เพื่อขายของแค่นั้น แต่ยังใช้มันเพื่อบิดเบือนประชาธิปไตย เพื่อรักษาความมั่งคั่งและอำนาจไว้ในมือคนเพียงไม่กี่คน และผมว่าสิ่งนี้ชั่วร้าย น่าขนลุก

ในภาพเขียนอีกชิ้นที่แต้มสีค่อนข้างสดใส มองทีแรกคล้ายสวนสวยที่เห็นผ่านหน้าต่าง แต่ชั้นของสีที่ซ้อนทับคล้ายพิกเซลบอกเป็นนัยว่า สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่าเห็น การจำลอง (simulation) ไม่ได้มีแค่ในเกม การฝึกบิน หรือการทดลองทางอวกาศอีกต่อไป มันประชิดตัวและการรับรู้โลกของเราเข้ามาทุกที อย่างในงานศิลป์ชิ้นนี้เอง

‘Torn Between The Light and Dark Where Others See Their Targets’ ท่อนหนึ่งจากเพลง Quicksand ของเดวิด โบวี (David Bowie) คือชื่อของภาพเขียนที่แต้มสีสว่างคล้ายพิกเซลเป็นจุดดึงดูดสายตา แต่เมื่อมองไล่จุดเหล่านั้นและปรับสายตาอีกครั้ง ใครบางคนเหมือนถูกกักกันอยู่เบื้องหลังพิกเซลเหล่านั้น มันอาจเป็นพิกเซลที่บอกนัยถึงความจริงจำลอง หรืออาจเป็นแนวลวดหนามยามมองจากดวงตาที่เอ่อท้นด้วยหยาดน้ำตาของความเจ็บปวด พื้นหลังของภาพเป็นเส้นซิกแซกดูเก่าแก่

มันเป็นแนวอิฐของกำแพงคุกที่ใช้กันในอังกฤษยุคกลางจัสตินบอกเพียงเท่านั้น

การควบคุมกักขังแบบยุคกลาง ด้วยเครื่องมือยุคดิจิทัล อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก แต่มันก็ดูใกล้ตัวอย่างน่าขนลุก

ทุกวันนี้เรามักจ้องดูจอภาพ จนบางทีก็ลืมที่จะมองไปรอบๆ ตัว ในแง่หนึ่ง เรากำลังปะทะสังสรรค์กับความจริงในโลกผ่านจอ ความจริงที่ถูกทำให้เป็นดิจิทัล ผ่านการตั้งค่า คัดกรอง ปกปิด ปรับแต่ง เป็นชุดความจริงแบบจำลอง

ภาพเขียนของจัสตินดึงดูดสายตา แยบคาย และเข้มข้น มีแง่มุมให้ฉุกคิดถึงความมุ่งร้ายที่เราไม่ควรอดกลั้นอีกต่อไป แต่ถึงอย่างนั้น มันไม่ใช่มุมมองแบบดิสโทเปีย ท่ามกลางชั้นสีและฝีแปรงหนักแน่นเกรี้ยวกราด พื้นหลังสีทองดูพยายามจะแทรกตัวขึ้นมา

ทุกภาพผมจะลงพื้นด้วยสีทองก่อนเขียน สำหรับผมมันเป็นตัวแทนของ eternal ground คุณอาจเรียกว่าพระเจ้า ความดีงาม จิตวิญญาณ ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร มันคือคุณค่าเดิมแท้

และทุกภาพจะมีเส้นสีขาวไหลคาดจากขวาไปซ้าย ที่เรารู้สึกได้ว่าเกิดขึ้นอย่างอิสระ แทบจะไร้การควบคุม

เส้นสีขาวนี้มาจากทางขวา ซึ่งในวัฒนธรรมของผมหมายถึงอนาคต คนญี่ปุ่นหรืออาหรับ หรืออนาคตอาจจะมาจากทางซ้าย และมันเป็นสีขาว สำหรับผมมันคือการเติบโต ความรัก ความดีงาม นอกจากนี้ ผมใช้มันเป็นเครื่องมือปลุกชีวิตภาพเขียนชิ้นนั้น มันเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผมจะทำ และผมก็ชอบที่มันควบคุมไม่ได้” (ชมคลิป)

มันเป็นองค์ประกอบของภาพที่มองแล้วจะค่อนข้างขัดความรู้สึก เพราะปกติสีจะไหลไปตามแรงโน้มถ่วง แต่ครั้งนี้มันกลับคาดผ่านเฟรมไป เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่า มันดูขัดตา

ซึ่งผมคิดว่า งั้นก็ดีแล้ว!”

เมื่อรู้สึกสะดุด เรามักมองซ้ำ เมื่อขัดตา เรามักออกความเห็นแม้ในใจ ว่าอันที่จริงมันควรเป็นอย่างนี้อย่างนั้น แต่ที่แน่ๆ เราจะมองมันอีกครั้งให้เต็มตา และบางทีเราอาจจะเห็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นตรงหน้าก็ได้

Fact Box

  • จัสติน มิลส์ จบปริญญาตรีสาขาจิตรกรรม จากมหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร ปริญญาโทสาขาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยวิศว-ภารตี อินเดีย ใช้ชีวิตและทำงานในเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 1996
  • ทุกค่ำคืนวันเสาร์ พบกับดีเจจัสตินและดนตรีแนว eclectic ได้ที่ smalls
  • ชม Algorithm Adjustment ผลงานศิลปะชุดใหม่ของจัสติน มิลส์ ได้ที่ Cho Why และ BA:NANA:PRESS  ซอยนานา เยาวราช ระหว่างวันที่ 8-17 กุมภาพันธ์นี้
Tags: , ,