ช่วงเช้าวันที่ 13 มิ.ย. 2557 คงไม่ใช่เช้าที่ดีนักของจิตรา คชเดช เธอเดินทางกลับจากการทำธุระที่ประเทศสวีเดน แต่เมื่อถึงบ้านเกิดเมืองนอน แทนที่จะพบกับการต้อนรับที่อบอุ่น เธอกลับถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับกุมที่สนามบินด้วยความผิดที่ถูกปฏิบัติเหมือนจะเป็นเรื่องร้ายแรง คือ มารายงานตัวต่อ ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ’ (คสช.) ช้าเกินไป

จิตราเป็นอดีตคนงานในโรงงานผลิตชุดชั้นในไทรอัมพ์ เคยเป็นประธานสหภาพแรงงาน เคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้าง จนวันหนึ่งจิตราก็ถูกเลิกจ้างเสียเอง การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมไม่ได้ไกลห่างจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองนัก ครั้งหนึ่ง เธอตัดสินใจลองลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ร่วมกับพรรคใหม่ที่ชื่อว่า พลังประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งถูกสั่งให้เป็นโมฆะ จึงไม่มีใครรู้ผลว่าเธอได้รับการเลือกตั้งหรือไม่

หลังจากการเลือกตั้งเป็นโมฆะไปแล้ว ในช่วงต้นปี 2557 เธอก็เดินทางไปทำธุระที่สวีเดน แต่ระหว่างอยู่ที่สวีเดนนั้นเอง คสช. ก็ทำรัฐประหารและเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยึดสถานีโทรทัศน์วิทยุทุกแห่ง และออกประกาศ/คำสั่งติดต่อกันหลายสิบฉบับ

เป็นปรากฏการณ์ที่หลายคนจดจำได้ว่า คสช. ออกโทรทัศน์วันละหลายครั้ง ประกาศกติกาใหม่ๆ ออกมา พร้อมเรียกชื่อคนหลายร้อยคนให้เดินทางเข้ารายงานตัวกับ คสช. รายชื่อที่ถูกเรียกมีตั้งแต่นักการเมือง นักกิจกรรม อินฟลูเอนเซอร์ในสื่อออนไลน์ ทั้งที่รู้จักกันในวงกว้าง และในวงเล็กๆ

ไม่ได้ไปรายงานตัว คดีไปไกลถึงศาลทหาร

คนส่วนใหญ่ก็เข้ารายงานตัวตามที่ถูกเรียก แต่ยังมีบางคนไม่ได้ไปรายงานตัว ต่อมาวันที่ 26 พ.ค. 57 คสช. ก็ออกประกาศ ฉบับที่ 41/2557 กำหนดว่า ใครที่ถูกเรียกแล้วไม่มารายงานตัวให้ถือว่ามีความผิด โทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

แต่ประกาศฉบับนี้ไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้สำหรับคนที่มีเหตุขัดข้อง ติดธุระ หรือไม่สามารถเดินทางมาได้จริงๆ

จิตราเป็นหนึ่งในนั้น เพราะวันที่ 1 มิ.ย. 57 คสช.ก็ออกคำสั่งที่ 44/2557 มีชื่อเรียกให้จิตรามารายงานตัวด้วย แต่เนื่องจากเธออยู่ที่สวีเดน ยังทำธุระไม่เสร็จ และจองตั๋วเครื่องบินกลับประเทศไทยไว้เป็นวันที่ 13 มิ.ย. จิตราจึงไม่สามารถมารายงานตัวต่อ คสช. ภายในกำหนดได้จริงๆ แต่จิตราก็พยายามแสดงออกให้เห็นถึงเจตนาบริสุทธิ์ โดยเดินทางไปยังสถานทูตไทยในสวีเดนเพื่อเข้ารายงานตัวต่อตัวแทนของรัฐไทยเท่าที่พอจะทำได้ แต่สถานทูตกลับไม่รับรายงานตัว เพราะไม่เคยมีแนวปฏิบัติเรื่องการรายงานตัวต่อ คสช. มาก่อน

หลังจากนั้น เธอก็ยังพิมพ์หนังสือแจ้งเหตุขัดข้องส่งมาทางอีเมล ขอให้เพื่อนที่อยู่ในประเทศไทยนำไปยื่นต่อ คสช. ด้วยหวังว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีและลงโทษ

ที่ศาลทหาร ไม่เพียงแต่รายล้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้น ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีและอัยการที่ฟ้องคดีก็ล้วนเป็นทหาร เป็นสถานที่ที่จิตราต้องใช้เวลาอีกหลายปีต่อสู้คดี

แต่ไม่เป็นผล เธอถูกจับทันทีที่ก้าวเท้าเข้าประเทศบ้านเกิด คืนแรกเมื่อกลับเข้าประเทศไทย ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพาเธอไปที่กองปราบปรามทันที เมื่อถูกจับก็ต้องถูกขัง ภายใต้ยุครัฐประหาร คดีข้อหาการเมืองต้องไปขึ้น ‘ศาลทหาร’ (ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557)

แม้ต่อมาศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว แต่ด้วยกฎระเบียบโบราณของศาลทหาร แทนที่จะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านได้ เธอต้องถูกพาตัวให้เข้าไปในเรือนจำก่อนเพื่อจะไป ‘ปล่อยตัว’ จากเรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง ที่นั่น เธอต้องถูก ‘ต้อนรับ’ อย่างดีจากผู้คุม ทั้งให้ถอดเสื้อผ้า ตรวจภายใน ให้คลานเข่า ฯลฯ ด้วยกิริยาที่ทำให้เธอรู้สึกถูกปฏิบัติเหมือนไม่ใช่คน

แม้ยังไม่เริ่มพิจารณาคดีว่าทำผิดหรือไม่ แต่ชีวิตก็เหมือนถูกลงโทษไปแล้วตั้งแต่โดนตั้งข้อหา

ที่ศาลทหาร ไม่เพียงบรรยากาศเก่าโบราณ รายล้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้น ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีและอัยการที่ฟ้องคดีก็ล้วนเป็นทหาร เป็นสถานที่ที่จิตราต้องใช้เวลาอีกหลายปีต่อสู้คดี

สุดท้ายก็ชนะคดี แต่…

จิตราพยายามจะพิสูจน์ว่าเธอไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่รายงานตัวตามคำสั่งเรียก แต่ไม่สามารถมารายงานตัวได้จริงๆ เพราะอยู่ต่างประเทศและทำทุกวิถีทางแล้วที่จะแสดงเจตนาบริสุทธิ์

แต่การพิสูจน์เรื่องนี้ก็ไม่ได้ง่ายนัก เธอต้องใช้เวลาต่อสู้คดีอยู่นานกว่าสามปี เพราะศาลทหารมีระเบียบปฏิบัติที่ล้าหลัง พิจารณาคดีไม่ต่อเนื่อง เมื่อนัดสืบพยานได้หนึ่งวัน ก็ต้องเลื่อนไปอีกเป็นเดือนกว่าจะสืบพยานกันต่อทีละวัน แล้วก็เลื่อนไปอีก วนไปวนมาเช่นนี้ เธอก็มีภาระต้องเทียวไปเทียวมาศาลทหารหลายต่อหลายรอบตามที่มีนัด ทั้งที่ประเด็นในคดีก็ไม่มีปัญหาอะไรซับซ้อน

ฝ่ายอัยการผู้ฟ้องคดีที่เป็นนายทหาร ก็พยายามจะพิสูจน์เพื่อจะเอาผิดจิตราเรื่องนี้ให้ได้ โดยย้ำว่าคำสั่งของ คสช. เมื่อสั่งแล้วเป็นกฎหมายที่ทุกคนต้องทำตาม จิตราทราบแล้วว่ามีคำสั่งให้ไปรายงานตัว และตั๋วเครื่องบินสามารถจองใหม่ได้ทุกวัน แต่จิตราไม่ได้ทำ

จนกระทั่งวันที่ 3 ก.ค. 60 สามปีของการอยู่กับคดีไม่ไปรายงานตัว ศาลทหารก็พิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นแล้วว่า จิตราดำเนินการตามสมควรเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว

เรียกได้ว่า คดีเป็นอันสิ้นสุด จบลงด้วยดี แต่ทรัพยากร เวลา และความรู้สึกจำนวนมากที่สูญเสียไปไม่สามารถเอากลับคืนได้

คดีเป็นอันสิ้นสุด จบลงด้วยดี แต่ทรัพยากร เวลา และความรู้สึกจำนวนมากที่สูญเสียไปไม่สามารถเอากลับคืนได้

นอกจากคดีของจิตราแล้ว ยังมีคนอีกอย่างน้อย 13 คนที่ถูกดำเนินคดีฐาน ‘ไม่มารายงานตัว’ ตามคำสั่ง คสช. บางคนตั้งใจจะไปรายงานตัวแต่ไปช้ากว่ากำหนด หลายคนที่ไม่มีเพื่อนฝูงหรือทนายความคอยช่วยเหลือก็ตัดสินใจรับสารภาพทันทีเมื่อขึ้นศาล นอกจากคดีของจิตราแล้ว ศาลทหารพิพากษาเหมือนกันหมดทุกคดี คือ ให้จำคุกสองเดือน ปรับ 3,000 บาท รอลงอาญา

อีกหลายคนที่มีชื่อเสียงและเลือกต่อสู้คดี เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองพรรคเพื่อไทย หรือ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ไม่ได้รายงานตัวเพราะอยู่ต่างประเทศและถูกจับกุมขณะเดินทางกลับมาที่สนามบิน กรณีนี้เหมือนกันกับจิตรา แต่คดียังพิจารณาไม่เสร็จ ด้วยกระบวนการที่ล่าช้า คดีของทั้งสองคนก็ยังอยู่ในระหว่างสืบพยาน และเลื่อนไปอีกเป็นเดือนแล้วก็นัดสืบพยานใหม่ วนไปเช่นนี้จนไม่แน่ว่าเมื่อใดจะได้รู้ผล

ทั้งความผิดฐานไม่มารายงานตัวต่อคสช. ทั้งการประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร และคดีความมั่นคงอีกมาก เป็นมาตรการขั้นรุนแรงที่ คสช. ประกาศออกมาเพื่อสร้างความกลัวและใช้จัดการกับผู้ที่อาจจะคิดต่อต้านการรัฐประหาร แม้เวลาผ่านมาสามปีกว่า ศาลทหารก็ยังทำหน้าที่พิจารณาคดีของพลเรือนที่คั่งค้างอยู่อีกหลายร้อยคดี ทั้งที่ศาลยุติธรรมของพลเรือนในระบบปกติก็ยังใช้งานได้

Fact Box

นับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศไปแล้ว 208 ฉบับ คำสั่ง 127 ฉบับ และออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 179 ฉบับ รวมแล้วมีจำนวนมากถึง 514 ฉบับ

Tags: , , , ,