‘เฟซบุ๊ก’ คือสื่ออันทรงพลังที่นักการเมืองยุคนี้ใช้นำเสนอตัวเอง เนื่องจากเข้าถึงมวลชนมหาศาล สามารถสื่อสารสิ่งที่ต้องการโดยไม่ต้องรอไมค์จากสื่อมวลชนมาจ่อ แถมนำเสนอภาพลักษณ์ที่ต้องการได้อย่างเต็มที่

จนครั้งหนึ่งแจ้งเกิด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้กลายเป็นที่รู้จักของประชาชนในฐานะ ‘รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ เป็นพื้นที่วิจารณ์การเมืองและแสดงทัศนะเรื่องต่างๆ อันร้อนแรงของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก่อนจะถูกตัดสินจำคุกในคดีรื้อบาร์เบียร์ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า

“โซเชียลมีเดียจึงเป็นพื้นที่ของผม ให้คนที่เลือกและไม่เลือกเห็นว่าแต่ละวันผมทำอะไร และทำให้ได้ฟังเสียงคนที่หลากหลายด้วย”

รวมถึงการถูกใช้เป็นพื้นที่สื่อสารกับกลุ่มผู้สนับสนุนและโต้ตอบทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ กปปส. ในช่วงชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2556-2557

ทว่าทุกสิ่งได้สะดุดลง โดยคำสั่งและการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

นักการเมืองระดับ ‘บิ๊กเนม’ ที่เคยมีบทบาทในช่วงก่อนรัฐประหาร เปลี่ยนท่าทีจากการตั้งสเตตัสแสดงทัศนะทางการเมือง มาโพสต์ภาพการพบปะชาวบ้าน ออกงานสังคม ร่วมงานการกุศล ฯลฯ

ว่ากันว่าแม้นักการเมืองจะไม่พูดเรื่องการเมือง แต่ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ย่อมหวังผลทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ

The Momentum จึงลองจับตาและวิเคราะห์ท่าทีของ 6+1 นักการเมือง ‘บิ๊กเนม’ ผ่านความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียตลอดปีที่ผ่านมาว่า แต่ละ ‘ท่าน’ กำลังคิดและทำอะไร?

Photo: facebook.com/Y.Shinawatra

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร | Yingluck Shinawatra: 5,798k likes+

ความเคลื่อนไหวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วงต้นปี 59 ส่วนใหญ่จะโพสต์ภาพกิจกรรมชีวิตประจำวันและภารกิจเดินทางไปต่างจังหวัด โดยเขียนข้อความสั้นๆ บรรยายว่าไปทำอะไร ที่ไหน เนื่องในโอกาสอะไร หรือบางครั้งข้อความที่เขียนก็สั้นมากอย่าง

“สวัสดีเช้าวันเสาร์ค่ะ”แต่หลังจากแฟนเพจมียอดครบ 5 ล้านไลก์ และเริ่มทำแคมเปญ ‘5 เหตุผลที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องมาจังหวัดฉัน’ โดยให้แฟนๆ โหวตผ่านการกดไลก์ว่า อยากให้ยิ่งลักษณ์ไปจังหวัดไหนมากที่สุด (อันดับ 1 กาฬสินธุ์ อันดับ 2 บึงกาฬ อันดับ 3 แพร่) เพื่อไปชมแลนด์มาร์กและของดีในจังหวัดต่างๆ เหมือนทำกิจกรรมพบปะแฟนๆ โดยในแต่ละทริปจะมี ส.ส. ในพื้นที่ไปด้วย หากมองในมุมการเมืองน่าจะเป็นการหยั่งเสียงว่ามีคนสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน

ในช่วงที่ปล่อยแคมเปญ ยิ่งลักษณ์เริ่มมีการตั้งสเตตัสด้วยข้อความที่ยาวขึ้น โดยเล่าประสบการณ์ที่ได้เจอจากการไปทัวร์จังหวัดต่างๆ เช่น การได้พบปะชาวบ้าน ฯลฯ และลดการโพสต์ภาพกิจกรรมส่วนตัวในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ทุกวันพุธจะมีการหยิบภาพเก่าๆ มาเขียนเล่าเรื่องความทรงจำและประสบการณ์ที่ได้เจอใน

#เก็บมาเล่าส่วนการแสดงจุดยืนทางการเมืองของยิ่งลักษณ์มีสอดแทรกในบางโพสต์ โดยเน้นแสดงถึงความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจาก ‘โพสต์หลังวันลงประชามติ’ ในวันที่ 8 สิงหาคม ซึ่งมีข้อความบางส่วนว่า “เสียใจและเสียดายกับประเทศที่กำลังจะก้าวถอยหลังไปใช้รัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตยแต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง”

พีกที่สุดคือการโพสต์ คลิปร้องเพลงอวยพรวันเกิด ทักษิณ ชินวัตร ที่มีอารมณ์ซึ้งๆ ในวันที่ 26 กรกฎาคม โดยช่วงต้นคลิปมีความในใจสั้นๆ ว่า “เรามีข้อจำกัดที่เหมือนกัน น้องไปได้ทุกที่ในประเทศไทย ยกเว้นต่างประเทศ พี่ชายก็เดินทางไปได้ทุกที่ ยกเว้นประเทศไทย…”

นอกจากคลิปดังกล่าว นานๆ ที เธอก็จะโพสต์ “คิดถึงพี่ชาย” สักครั้ง ซึ่งมองได้ว่านอกจากความสัมพันธ์ส่วนตัว นี่อาจเป็นการหยั่งเสียงและความนิยมของสองพี่น้องตระกูลชินวัตรก็เป็นได้

“…อยากให้เร่งคืนความสุข ที่เป็นการคืนอำนาจ สิทธิ อิสรภาพ และเสรีภาพ รวมทั้งการแก้ไขความขัดแย้งแทนการคืนความสุขบนความอึดอัดด้วยการกดไว้เพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่มากกว่า เพื่อให้ประชาชนนั้นได้มีโอกาสเลือกหนทางชีวิตด้วยตัวของเขาเอง นั่นคือหนทางออกที่ดีที่สุด…”

22 พฤษภาคม 2559, Yingluck Shinawatra

Photo: facebook.com/thaksinofficial/

ทักษิณ ชินวัตร | Thaksin Shinawatra: 2,444k likes+

เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ ทักษิณ ชินวัตร มากนัก (รู้แต่ว่าเขาอยู่ต่างประเทศ) เพราะนานๆ ครั้งเขาจะเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย แต่การขยับตัวแต่ละครั้งของทักษิณนั้นน่าสนใจ เหมือนเขามีจังหวะในการสื่อสารเมื่อมีเรื่องตั้งใจจะสื่อสารเท่านั้น อย่างเช่นโพสต์ “ทุกวันนี้ผมเงียบมาตลอด…” ที่อัพเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พาดพิงว่าเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มคนที่สร้างความวุ่นวายในประเทศ จนนักข่าวการเมืองคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตถึงจังหวะการสื่อสารของทักษิณว่า เขาจะสื่อสารเพื่อตอบโต้ และสื่อสารช่วงที่รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ

หลังจากนั้นทักษิณก็เคลื่อนไหวอีกไม่กี่ครั้งผ่านคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาแสดงวิสัยทัศน์และความเห็นในเชิงเศรษฐกิจ อาทิ ‘เศรษฐกิจจีน’ และไม่มีการแสดงความเห็นทางการเมืองแต่อย่างใด

“…ผมไม่จำเป็นต้องไปจ้างใคร ให้เสียเงินเสียทอง เพื่อประจานนายกฯ ไทย ให้เสียภาพลักษณ์ประเทศหรอกครับ ประวัติศาสตร์มีให้เห็นอยู่เสมอว่า เผด็จการฯ ที่ลุแก่อำนาจ ด่ากราดคนที่พูดจาไม่ถูกใจ ดูถูกคนยากจนว่าโง่ ใช้อำนาจเกินขอบเขต และปกครองประเทศโดยไม่เห็นหัวประชาชนนั้น ล้วนแล้วแต่แพ้ภัยตัวเองทั้งนั้น…”

22 เมษายน 2559, Thaksin Shinawatra

Photo: www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | Abhisit Vejjajiva: 2,364k likes+

ดูเหมือนเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะหมดไปกับการร่วมงานบรรยายและงานเชิงวิชาการ ทั้งเป็นวิทยากร ผู้ร่วมประชุม ผู้เข้าฟัง และบางครั้งก็เป็นประธานในพิธี หัวข้อการบรรยายที่อภิสิทธิ์พูดค่อนข้างกว้างขว้าง มีทั้งการศึกษา ‘บทบาทของมหาวิทยาลัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษ’ และมีบางครั้งที่ร่วมอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง ‘สิทธิเสรีภาพของพลเมืองในรัฐธรรมนูญจากพฤษภาคม‘35 ถึงพฤษภาคม‘59’ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้นก็เป็นการออกงานสังคมบ้างประปราย อาทิ การร่วมพิธีทอดผ้าป่า เข้าพบเอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย

ถึงแม้เฟซบุ๊กจะมีความเคลื่อนไหวทุกวัน แต่ก็เป็นเพียงการสื่อสารอัพเดตสถานการณ์เท่านั้น ผ่านการโพสต์ในทำนองทำอะไร คุยกับใคร กินข้าวที่ไหน หากจะมีการแสดงความคิดเห็นหรือทัศนะใดๆ ทางการเมือง จะสื่อสารอย่างมีวาระชัดเจน เช่น การโพสต์คลิปที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘ต้องถาม’ ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์ และในสถานการณ์สำคัญ เช่น ‘การแถลงจุดยืนประชามติ’ เป็นต้น

นักข่าวการเมืองคนหนึ่งให้มุมมองว่า อภิสิทธิ์ถือเป็นนักการเมืองที่ค่อนข้างระมัดระวังและไม่เอาตัวเข้าเสี่ยงกับคำสั่ง คสช.

“…รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อเสียมากกว่า จึงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประเทศไทยต้องการรัฐธรรมนูญปราบโกง เป็นประชาธิปไตย ประเทศไม่ควรจะต้องเลือกระหว่างเผด็จการ กับคอร์รัปชัน สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะเดินหน้าต่อไปได้…”

10 เมษายน 2559, Matichon Online

Photo: www.facebook.com/KornChatikavanijDP

กรณ์ จาติกวณิช | Korn Chatikavanij: 611k likes+

‘หล่อโย่ง’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ใช้เวลาช่วงเว้นวรรคทางการเมืองไปกับการเขียนหนังสือ Dare to do – กล้าลุย ไม่กลัวล้ม เป็นประธานโครงการ ‘เกษตรเข้มแข็ง’ ร่วมมือกับชาวนาและนักธุรกิจกลุ่มหนึ่ง สร้างแบรนด์ข้าว ‘อิ่ม’ ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ดีที่ปลอดสารเคมี และล่าสุดกับการก่อตั้งสตาร์ตอัพของตัวเองในชื่อ Refinn

ขณะเดียวกันก็ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางแสดงความคิดเห็นประเด็นทางสังคมและการเมืองอย่างตรงไปตรงมา อาทิ ปัญหาการเชื่อมต่อรถไฟสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน เตาปูน-บางซื่อกรมขนส่งทางบกสั่งห้ามบริการ grab bike และ uber motoสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีมาตรฐานในโครงการก่อสร้างที่ชะอำข้อคิดเห็นเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ รวมถึงประเด็นเรื่อง FinTech และ Startup ที่กรณ์แสดงความคิดเห็นมากขึ้นหลังรับตำแหน่งประธานชมรม FinTech แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

“ผมไม่ได้ถือว่าเป็นประเด็นการเมือง แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่เกิดขึ้นจริง สะท้อนถึงความเดือนร้อนหรือปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นจริง และไม่เคยลงเรื่องเกี่ยวกับการเมือง การลงประชามติรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เพราะหนึ่ง-ไม่ได้ถนัด สอง-รู้สึกว่าเรื่องทำนองนี้ชวนทะเลาะมากเกินไป เพราะแนวความคิดตอนนี้แตกต่างและหลากหลายมาก”

“ผมเขียนเองคนเดียว อ่านคอมเมนต์ และเขียนตอบแฟนเพจด้วยตัวเอง” เนื่องจาก กรณ์ ให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่จะโพสต์แต่ละเรื่องมาก ไม่ว่าจะวิธีเขียน หรือแม้กระทั่งคำที่ใช้

“เพราะจากประสบการณ์ นักการเมืองไทยต้องระมัดระวังการถูกบิดเบือน ตัดตอน จะไปขัดหูขัดตาใคร และอีกหลายๆ เรื่อง ต้องระมัดระวังมาก”

แม้จะเอ่ยปากว่า ไม่เคยพูดถึงประเด็นทางการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจน คือกรณ์ จาติกวณิช ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางสื่อสารจุดยืนและทัศนะด้านการเมืองได้อย่างน่าสนใจ

“พลังของโซเชียลมีเดียมันชัดเจนอยู่แล้ว เราสื่อสารได้โดยตรง โต้ตอบได้ทันที และเราจับกระแสของสังคมได้ด้วยตัวเราเองทันที โอ้…มันมีค่ามหาศาล”

“…การผูกขาดเป็นภัยต่อระบบทุนนิยมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ คล้ายๆ กับการผูกขาดทางการเมืองก็เป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย”

4 พฤษภาคม 2559, Korn Chatikavanij

Photo: www.facebook.com/suthep.fb

สุเทพ เทือกสุบรรณ | Suthep Thaugsuban: 2,882k likes+

หลังลาสิกขาเมื่อ 28 กรกฎาคม ปีที่แล้ว สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือที่แม่ยก กปปส. เรียก ‘ลุงกำนัน’ พลิกบทบาทจากผู้นำทางการเมืองมาเป็นประธาน ‘มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย’ ที่เน้นการทำกิจกรรมเพื่อสังคม และมีบทบาทหลักๆ ในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิ ความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊กส่วนใหญ่จึงเป็นภาพการร่วมกิจกรรมการกุศล อัพเดตภาพและข่าวความเคลื่อนไหวของมูลนิธิ เช่น เชิญชวนเข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มูลนิธิจัดตั้งเพื่อสร้าง ‘โรงเรียนในฝัน’ ที่ให้ผู้เรียนรู้จักและอยู่ในธรรม ขณะที่บทบาททางการเมืองไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก ถ้าจะมีก็เป็นการแสดงทัศนคติในเชิงบวกที่ไม่ขัดกับรัฐบาล เช่น การเอ่ยชื่นชมร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ‘มีชัย’ ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้วิกฤตประเทศได้

ด้าน เถกิง สมทรัพย์ หนึ่งในทีมดูแลแฟนเพจ ‘Suthep Thaungsuban’ ให้ข้อมูลว่า สเตตัสต่างๆ ที่โพสต์ สุเทพไม่ได้โพสต์เอง แต่มีทีมดูแลเพจที่ทำงานเหมือนกองบรรณาธิการข่าวเป็นคนจัดการ โดยก่อนที่จะโพสต์จะมีการหารือว่าช่วงนี้จะเอาเรื่องอะไรขึ้นโพสต์ มีเพียงบางโพสต์เท่านั้นที่คุณสุเทพจะมาดูโดยตรงและขอให้โพสต์ เช่น โพสต์ที่เซลฟีกับหลานชาย

“ช่วงนี้ทำงานมูลนิธิฯ หนัก ไม่ได้เจอหลานพอมานาน ขอเซลฟีกันสักหน่อย”แต่สุเทพก็เปลี่ยนท่าทีมาแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยประกาศผ่านเฟซบุ๊กสั้นๆ ในวันที่ 23 มิถุนายนว่า “ตั้งแต่ 24 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป ผมจะพูดเรื่องรัฐธรรมนูญทุกวัน ตอนบ่ายสองโมง” เพื่อสนับสนุนการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม อย่างหนักหน่วง จนนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์เอารูปสุเทพขึ้นปก แล้วเขียนว่า ‘สู้ไม่ถอย ภาค 2’

The Momentum ถามเถกิงว่า โพสต์แสดงความเห็นชื่นชมร่างรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในโพสต์ที่แสดงถึงจุดยืนทางการเมือง ทั้งๆ ที่บรรยากาศการโพสต์ก่อนหน้านี้และหลังจากนั้นแทบจะไม่พูดถึง การโพสต์ในลักษณะเช่นนี้มีการประเมินความเสี่ยงทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน

“ลุงกำนันวางมือทางการเมืองแล้วครับ ส่วนการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นแค่การแสดงความเห็นในฐานะคนไทยคนหนึ่งเท่านั้น”

หากมองโดยรวม แม้สุเทพจะออกหมัดการเมืองอย่างหนักหน่วงช่วงกลางปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนวันโหวตรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะกลับมายืนเต้นฟุตเวิร์กที่ขอบเวทีอีกครั้ง ด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในฐานะประธาน ‘มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูป’

ถึงจะไม่หวือหวาเหมือนการเปิดหน้าชกทางการเมือง แต่เชื่อได้ว่าสุเทพน่าจะไม่ลาเวทีแห่งนี้ง่ายๆ และอย่างน้อยน่าจะหวังผลทางการเมืองในระยะยาว

“…ผมชอบรัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่คำปรารถ…”

24 เมษายน 2559, Suthep Thaugsuban

Photo: facebook.com/Nattawut.UDD

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ | นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: 237k likes+

เพจ ‘นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ มีจุดประสงค์ชัดเจนในการสื่อสารทางการเมือง โดยให้น้ำหนักกับการโพสต์คลิปรายการ เข้าใจตรงกันนะ ซึ่งเป็นรายการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ตัวเองเป็นผู้ดำเนินรายการ (ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18:20-19:10 น. ทางช่อง Peace TV) รวมถึงการ Facebook Live วิพากษ์การทำงานของรัฐบาล อาทิ การผ่านงบประมาณแผ่นดินกว่า 2.7 ล้านล้านบาท ของสภาฯ ใน 2 ชั่วโมงครึ่ง และงบกลาโหม 210,700 ล้าน ที่เพิ่มจากปีก่อนกว่า 4,000 ล้าน เป็นต้น

และในช่วงก่อนการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญได้มีการเผยแพร่คลิป เพลงแหล่ประชามติ ที่แต่งขึ้นเพื่อแสดงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในยุค คสช. สลับกับการโพสต์ภาพนักเรียนผู้ขาดแคลนที่ได้รับทุนจากโครงการ ‘ด้วยรักและแบ่งปัน’ ที่โพสต์ทุกวัน และมีจุดเริ่มต้นจาก

สเตตัสในเฟซบุ๊กที่โพสต์เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 59“ผมนั่งอ่านเรียงความ ‘ครอบครัวของฉันในวันที่ไม่มีจำนำ’ ทุกชิ้น ความจริงที่ว่ายังมีครอบครัวชาวไร่ชาวนาอีกมา ขัดสน แร้นแค้น และต้องการความช่วยเหลืออัดแน่นอยู่เต็มอก

ซ้ำร้ายสภาพเศรษฐกิจซึ่งผู้รู้หลายท่านพูดตรงกันว่าปีนี้ ‘เผาจริง’ ยิ่งทำให้ชะตากรรมของคนจนส่อเค้ามหาวิกฤต

…ผมเป็นลูกชาวบ้านหลานชาวนา ดิ้นรนหาเงินเรียนเองจนจบการศึกษา รู้ดีว่าโอกาสที่ได้รับในยามยากทรงคุณค่าแค่ไหน ทุนการศึกษา 5,000 บาท อาจไม่มาก แต่สำหรับหลายชีวิตก็เพียงพอให้เดินต่อได้ มาช่วยกันเป็นหลังพิงให้อนาคตของชาติกันครับ”

ดูเหมือนณัฐวุฒิจะแสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจนว่าอยู่ข้างประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มรากหญ้าและชนบท–ฐานเสียงของ นปช. และพร้อมที่จะสื่อสารความคิดทางการเมืองเกือบทุกโพสต์ แม้กระทั่งโพสต์อวยพรวันเกิดของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“สุขสันต์วันเกิดครับ ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจาก ‘การเลือกตั้ง’ ของประชาชน”

“ผมไม่โกรธนายกฯ ที่เห็นศูนย์ปราบโกงเป็น ‘อากาศธาตุ’ เพราะเป็นสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ แต่ผมไม่ยอมรับถ้าใครจะมองเสรีภาพของประชาชนเป็นเพียงความว่างเปล่า…”

8 มิถุนายน 2559, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

Photo: Pool New, Reuters/profile

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรีคนนี้ไม่ใช้โซเชียลมีเดีย แต่สื่อสารผ่านช่องทางของสื่อในโลกเก่าที่ง่ายต่อการควบคุมอย่างวิทยุและโทรทัศน์ ผ่านรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ ทุกค่ำวันศุกร์ เวลา 20:15 น. ครั้งหนึ่ง นักข่าวเคยถาม พล.อ.ประยุทธ์ ว่า จะมีการเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจอย่างเป็นทางการหรือไม่?

“ไม่เปิด”

คือคำตอบสั้นๆ จากท่านนายกรัฐมนตรี

 

DID YOU KNOW?

  • สุเทพ เทือกสุบรรณ และ ทักษิณ ชินวัตร เกิดเดือนและปีเดียวกัน คือ กรกฎาคม พ.ศ. 2492
  • ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือนักการเมืองไทยที่มีจำนวนคนไลก์เพจมากที่สุด (5,451,849 Likes+) มากกว่าเพจ ‘เนย โชติกา’ ซึ่งเป็นเพจดาราหญิงที่มีคนติดตามมากที่สุด (และมากกว่าเพจ ‘Mild Jiravechsoontornkul’ ของ น้องมายด์-วิรพร จิรเวชสุนทรกุล เน็ตไอดอลสาวสุดฮอตอีกด้วย!)
  • ขณะที่เพจของ Suthep Thaugsuban เป็นเพจนักการเมืองที่มีจำนวนคนไลก์เป็นอันดับสอง
  • ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนประชากรประมาณ 68 ล้านคน มีจำนวนคนใช้เฟซบุ๊ก 38 ล้านแอ็กเคานต์ ส่วนใหญ่เป็นคนอายุระหว่าง 20-29 ปี (37%) เมื่อเทียบกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศจำนวน 50,585,118 คน (ชาย 24,465,842 คน หญิง 26,119,276 คน) จะพบว่าทุกๆ 100 คน มีคนใช้เฟซบุ๊กมากถึง 73 คน!
  • นักการเมืองที่มีเว็บไซต์ส่วนตัวคนแรก คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ [อ้างอิง: บทความวิชาการสื่อสังคมออนไลน์กับการสื่อสารการเมืองไทย โดย นันทวิช เหล่าวิทยา]
Tags: , , , , , , , , ,