ภาพถ่ายของยาโรสลาฟ พอนซาร์ (Jaroslav Poncar) เหมือนหน้าต่างมุมมองกว้างที่ชวนให้รู้สึกว่าจังหวะชีวิตของผู้คน โมงยาม และฤดูกาลของโลกนั้นช่างงดงามและศักดิ์สิทธิ์

แม้ทุกภาพดูมีชีวิต สดใหม่ในสีและแสง อารมณ์ของผู้คน ไปจนถึงความเย็นเยียบของธารน้ำแข็ง และมนตราธวัชที่โบกสะบัดบนความสูงกว่า 3,500 เมตรของหิมาลัย แต่เมื่อเหลือบดู .. ใต้ภาพ เราจะพบว่าบางภาพบันทึกตั้งแต่ปี 1976

40 Years of Panorama Photography: Life with the FT-2 จัดโดยเซรินเดีย แกลเลอรี่ เป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ไม่เหมือนใครของช่างภาพชาวเช็กผู้นี้กับกล้อง FT-2 ที่เขาใช้บันทึกภาพพาโนรามาในอินเดีย อัฟกานิสถาน ทิเบต พม่า และกัมพูชา โดยเฉพาะดินแดนที่ยากแก่การเข้าถึงอย่างลาดักและซันสการ์ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และดินแดนมุสตางตอนบน ในประเทศเนปาล

FT-2 (Fotoapparat Tokareva 2) เป็นกล้องติดเลนส์ 50 มม.สัญชาติรัสเซียที่ผลิตขึ้นในปี 1958 สำหรับการถ่ายภาพพาโนรามาที่ให้ภาพใกล้เคียงกับมุมมองของตามนุษย์ ภาพที่ได้เหมือนกับการนำภาพที่ถ่ายด้วยกล้อง 135 มม.ติดเลนส์ 50 มม. มาเรียงต่อกัน 3 ภาพ ความประหลาดหรืออาจจะเรียกได้ว่าอัจฉริยภาพของกล้องนี้คือมันไม่มีช่องมองภาพ เมื่อกดชัตเตอร์ เลนส์จะหมุน 180 องศา ส่งแสงผ่านช่องเล็กแคบ (slit) ไปยังฟิล์ม คล้ายการทำงานของเครื่องสแกน ดังที่เรียกเทคนิคเลนส์หมุนนี้ว่า slit-scan

มันมีรูปทรงเป็นกล่องมากกว่ากล้อง ดูเผินๆ เหมือนจับกล้องโบเลกซ์ 16 มม. นอนตะแคง ผลิตมาพร้อมกับความเร็วชัตเตอร์เดียว นั่นคือ 1/100 และรูรับแสง F5 เบอร์เดียวอีกเช่นกัน กดชัตเตอร์แล้วตากล้องต้องกรอฟิล์มเอง แม้มันจะขาดหลายสิ่งที่ตากล้องทั่วไปมองหา แต่กลับมาพร้อมกับระดับน้ำสีแดงที่วางเด่นอยู่กึ่งกลางกล้อง เพราะมันคือตัวช่วยสำคัญสำหรับการคะเนองศาเส้นขอบฟ้าขณะวางองค์ประกอบภาพก่อนกดชัตเตอร์

ลักษณะเฉพาะอีกข้อของกล้องรุ่นนี้คือมันทำมาสำหรับกลักฟิล์มที่ผลิตในรัสเซียตอนนั้น จึงใส่กลักฟิล์ม 35 มม. ปกติไม่ได้ ยาโรสลาฟเล่าถึงความลำบากลำบนไว้ว่าคุณคิดดูว่าผมต้องเอาฟิล์มออกมาจากกลักมาตรฐาน ย้ายเข้าไปใส่ในกลักฟิล์มรัสเซียรุ่นเก่าด้วยมือ แล้วพอถ่ายเสร็จก็ต้องย้ายมันออกมาใส่กลักธรรมดาเพื่อส่งไปล้าง บางครั้งก็ต้องทำบนช่องเขาที่หนาวเย็นท่ามกลางอากาศเลวร้าย หลายๆ ครั้ง ผมทำไปก็สบถด่าไป แต่ถึงจะยากลำบากอย่างไร ผมก็ยังใช้เอฟทีทูเสมอมาผมรู้สึกว่ากล้องนี้ใช้งานได้อย่างใจ และให้ผลลัพธ์ของภาพพาโนรามาแบบที่ผมต้องการ

เขาใช้กล้องนี้บันทึกภาพพาโนรามามาตลอด 40 ปี ด้วยฟิลม์ 35-mm Kodak Ektachrome เพราะถูกใจกับเนื้อสีนวลเป็นธรรมชาติของฟิล์มรุ่นนี้ และใช้ม้วนสุดท้ายท่ีเขาเก็บไว้เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2016

ยาโรสลาฟ พอนซาร์เกิดเมื่อปี 1945 ที่กรุงปราก จบปริญญาตรีสาขานิวเคลียร์ฟิสิกส์ จาก Technical University Prague ก่อนได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก สาขาฟิสิกส์ทฤษฎี ที่ประเทศเยอรมนีตะวันตก (ในขณะนั้น) ต่อมาทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะ Imaging Sciences and Media Technologies ของ Cologne University of Applied Sciences และ Institute of Applied Optics and Electronics จนกระทั่งเกษียณในปี 2010

นอกจากนี้ เขายังมีความชำนาญพิเศษในการบันทึกภาพจิตรกรรมฝาผนัง และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บันทึกภาพจิตรกรรมฝาผนังอายุกว่าพันปีที่อัลชิและตาโบ ประเทศอินเดีย ในปี 1993 เขาเริ่มบันทึกภาพภาพสลักนูนต่ำที่นครวัด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ German Apsara Conservation Project (GACP) ทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบันทึกภาพถ่ายมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศอัฟกานิสถาน และเมื่อสองปีก่อน เขายังมีส่วนร่วมในโครงการของวิทยาลัยบูรพคดีและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน เดินทางไปบันทึกต้นฉบับและวัตถุที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาในเขตมุสตาง

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนงานเปิดนิทรรศการเพียงไม่กี่ชั่วโมง The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับช่างภาพวัย 73 ปีผู้นี้ ถึงเรื่องราวเบื้องหลังภาพสำคัญหลายชิ้น ถามถึงมุมมองของเขาต่อศิลปะภาพถ่ายและวิทยาการที่เปลี่ยนไป แต่อาจเป็นน้ำเสียงตื่นเต้นของเขาที่เจืออยู่ในเสียงแหบพร่าตามวัย ก่อนจะไปถึงคำถามอื่น เราอยากให้เขาเล่าถึงวัยเด็กของเด็กชายที่เพื่อนสนิทเรียกว่ายาโร

ผมเกิดที่ปราก สมัยนั้นเรายังเป็นเชโกสโลวาเกีย ทุกวันนี้เราเป็นสาธารณรัฐเช็ก ประกอบด้วยดินแดนหลักสองส่วนคือโมเรเวียและโบฮีเมีย คนเชื้อสายโมเรเวียที่เป็นคริสต์ออร์โทดอกซ์จะไม่ชอบถูกเรียกว่าเช็ก แต่ผมถือว่าผมเป็นเช็ก ภาษาแม่ของผมคือเช็ก แต่ผมโตมาในแคว้นโบฮีเมียเหนือ ห่างจากปรากประมาณ 60 กิโลเมตร ใกล้กับพรมแดนซูเดเตน (Sudeten) ดินแดนซึ่งคนเยอรมันและเช็กอยู่กันมาด้วยดีจนกระทั่งนาซีขึ้นมามีอำนาจ พ่อผมแต่งงานกับแม่ซึ่งเป็นชาวซูเดตัน ผมมีพี่น้องสามคน โชคไม่ดี ในปี 1948 พรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมามีอำนาจ พ่อถูกยึดทรัพย์และถูกจำคุกระยะหนึ่ง ผมยังจำได้ถึงความหวาดกลัวเวลาได้ยินเสียงระฆังในช่วงหัวค่ำ เป็นสัญญาณเตือนว่าตำรวจลับกำลังออกกวาดจับคนที่ต่อต้านรัฐบาล แต่เราก็มีวัยเด็กที่ดี พ่อชอบเดินทางและชอบเดินป่า

ตอนอายุเก้าขวบ ผมได้รับกล้องเป็นของขวัญวันคริสต์มาส มันเป็นกล้องราคาถูกที่สุดในตลาดตอนนั้น เพื่อนพ่อที่เป็นเจ้าของร้านขายยาอาจจะเป็นคนบอกพ่อให้ซื้อกล้องให้ผม และเขาสัญญาว่าจะช่วยสอนวิธีล้างฟิล์มให้ พออายุสิบขวบผมก็ล้างฟิล์มเป็น

ร้านขายยาที่ว่า คุณหมายถึงแบบที่เรียกกันว่า Chemist ใช่ไหม

ใช่แล้ว สมัยก่อนเขาจะขายเคมีภัณฑ์ด้วย ฉะนั้นเวลาซื้อหาน้ำยาล้างฟิล์ม ล้างรูป กระดาษอัด หรือแม้แต่ฟิล์ม ก็ต้องไปที่ร้านขายยา

คุณถ่ายรูปแต่เด็ก แล้วทำไมเลือกเรียนนิวเคลียร์ฟิสิกส์

ตอนห้าขวบ ผมได้ดูสโนว์ไวท์และคนแคระทั้งเจ็ดของดิสนีย์ และดูหนังทุกเรื่องที่สามารถหาดูได้ ผมอยากเป็นตากล้องหนัง จึงเอาจริงเอาจังกับการถ่ายภาพ ใฝ่ฝันว่าโตไปจะถ่ายหนัง แต่การเป็นลูกของคนที่ได้ชื่อว่านิยมระบบทุน ผมจึงไม่มีโอกาสเข้าเรียนที่ Film Academy ขณะเดียวกัน ถ้าไม่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ผมก็ต้องไปเป็นทหาร และชีวิตนี้ผมไม่ต้องการรับราชการทหาร ไม่มีวัน

เผอิญลูกพี่ลูกน้องของแม่ผมทำงานอยู่ในคณะนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ด้วยการใช้เส้นสายนิดหน่อย แต่ไม่ใช่ติดสินบนนะ ผมก็ได้เข้าเรียนในสาขานิวเคลียร์ฟิสิกส์ ผมหัวดีใช้ได้ แถมโชคดี ผมเป็นนักเรียนคนเดียวในคณะที่พูดภาษาเยอรมันได้คล่อง เพราะพ่อนิยมความเป็นสากล เขาเรียนภาษาเอสเปรันโต (Esparanto ภาษาประดิษฐ์เพื่อการสื่อสารระดับสากล) และเชื่อว่ายิ่งรู้มากภาษาเท่าไร ประตูชีวิตก็เปิดกว้างเท่านั้น พ่อจึงหาครูมาสอนภาษาเยอรมันให้ผมกับพี่สาวตั้งแต่ยังเด็ก

เมื่อเริ่มมีการติดต่อระดับมหาวิทยาลัยระหว่างเยอรมนีตะวันตกซึ่งเป็นประชาธิปไตย และเชโกสโลวาเกียที่ยังเป็นประเทศค่ายคอมมิวนิสต์ ผมทำหน้าที่เป็นล่าม และเมื่อรัฐบาลยอมรับทุนศึกษาต่อในประเทศเยอรมนีตะวันตก ผมก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่เยอรมนีตะวันตก ในปี 1966 ตอนเกิดเหตุการณ์ปรากสปริงในปี 1968 ผมอยู่ที่เยอรมนี แต่เมื่อสหภาพโซเวียตส่งกองกำลังเข้ายึดเชโกสโลวาเกีย ผมต้องขาดการติดต่อกับครอบครัว ไม่ได้เห็นหน้าพ่อแม่ถึงเจ็ดปี เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก

หลังจบปริญญาโท ผมทำปริญญาเอกต่อในสาขาฟิสิกส์ทฤษฎี และก็มีเวลามากพอที่จะรื้อฟื้นการถ่ายภาพที่ผมหลงใหล และตระเวนถ่ายรูปในเยอรมนีและฝรั่งเศส ผมกับเพื่อนยังวางแผนกันว่าหลังเรียนจบเราจะออกเดินทางสักหนึ่งปี ผ่านแอฟริกาแล้วไปเขมร ซึ่งสมัยนั้นคงต้องใช้เวลาสักปี

แล้วได้ไปจริงๆ ไหม

ได้ไป แถมยังได้งานจากสำนักข่าวเยอรมัน (Deutsche Press-Agentur: DPA) ด้วย ตอนนั้นผมถ่ายรูปแบบที่สมัยนี้คงเรียกว่า Street Photography และเพื่อนผมมีลุงซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายภาพของดีพีเอ เขาขอดูงานผม และพอรู้ว่าเราสองคนจะไปแอฟริกาก็ถามว่าระหว่างทริปจะทำงานส่งมาให้ดีพีเอได้ไหม โหทำไมจะไม่ได้ล่ะ เราจึงออกเดินทางไปแอฟริกาและอาระเบีย แต่ไปไม่ถึงเขมร (หัวเราะ) ผมส่งภาพและเรื่องสั้นๆ ไปให้ดีพีเอเป็นระยะ สมัยนั้นเวลาส่งรูปต้องมากับถุงเมลของสถานทูต ส่วนเรื่องก็ส่งทางเทเลกซ์

หลังกลับจากทริปนั้นผมเริ่มงานสอนที่มหาวิทยาลัยและเดินทางถ่ายรูปในช่วงปิดเทอม ตอนที่ผมไปอินเดียครั้งแรกในปี 1974 ผมทำงานเป็นช่างภาพอิสระให้กับดีพีเอด้วย ตอนแวะไปที่สำนักงานการท่องเที่ยวอินเดียในเดลี เพื่อถามว่าจะเดินทางเข้าลาดักได้ไหม เพราะเป็นเขตหวงห้ามสำหรับชาวต่างชาติ ก่อนหน้านี้ใครจะไปต้องขอใบอนุญาตพิเศษ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเพิ่งมีประกาศใหม่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ต่อไปนี้ไม่ต้องขอใบอนุญาตแล้ว ผมแทบไม่เชื่อหูตัวเอง ลาดักเปิดแล้ว ผมจึงเป็นคนที่ 30 ที่เดินทางเข้าลาดักในปีนั้น ระหว่างเดินทางไปเลห์ผ่านแม่น้ำสินธุ ผมนึกในใจว่าปีหน้าผมจะกลับมาล่องแก่งที่นี่ แล้วปีถัดมา ผมก็ได้ทำจริงๆ มันอันตรายมาก แต่ก็รอดชีวิตมาได้ นับจากนั้นลาดักก็เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของผม และวางแผนอีกว่าปีหน้าผมจะกลับไปถ่ายรูปที่ซันสการ์

การเดินทางเข้าลาดักและซันสการ์สมัยนั้นทำได้แค่ช่วงไม่กี่เดือนในฤดูร้อนที่หิมะละลาย อะไรทำให้คุณดั้นด้นไปถึงที่นั่น

จะเล่าให้ฟัง ตอนผมแปดขวบ เอ็ดมัน ฮิลารี และเทนซิง นอร์เกย์ พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จ และผมได้ดูหนังข่าวที่โรงหนัง สมัยนั้นยังไม่มีทีวี แต่จะมีการฉายหนังข่าวประจำสัปดาห์ก่อนหนังทุกเรื่อง ในข่าวบอกว่ามนุษย์พิชิตขั้วโลกแห่งสุดท้ายแล้ว ฮิลารีและเทนซิงไต่ถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ผมบอกกับตัวเองว่า ตายล่ะ แล้วจะเหลืออะไรให้ผมพิชิตล่ะ ผมเริ่มอ่านหนังสือที่หาได้ทุกเล่มเกี่ยวกับหิมาลัย เพราะนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเกี่ยวกับมัน ไม่นาน ผมก็รู้จักเชอร์ปาทุกคน นับแต่นั้น หิมาลัย การท่องโลก การผจญภัยคือสิ่งที่ผมต้องการ

พอได้กล้องเป็นของขวัญผมก็เริ่มถ่ายรูปและล้างอัดรูป และก็ยังสนใจแต่หิมาลัยกับทิเบต เพราะว่าแม่ผมอ่านหนังสือเรื่อง Lost Horizon (เขียนโดย James Hilton) เรื่องราวของแชงกรีลาดินแดนยูโทเปียบนเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งในภาษาเยอรมันหนังสือใช้ชื่อว่า Somewhere in Tibet ผมเลยฟุ้งฝันว่าฮิลารีและเทนซิงพิชิตเอเวอรสต์แล้ว แต่ผมจะหาแชงกรีลาให้พบ (หัวเราะ)

กระทั่งเรียนจบและทำงานก็ยังสนใจอยู่ เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นนักภูมิศาสตร์และเชี่ยวชาญเรื่องหิมาลัย เขาแนะนำว่าช่วงปิดเทอมของเราตรงกับฤดูมรสุม ฉะนั้นควรไปทางหิมาลัยตะวันตกแถบลาดัก คาราโครัม เพราะแถบนั้นไม่มีมรสุม เดินทางได้สะดวกกว่า ผมก็เริ่มศึกษาว่าลาดักอยู่ที่ไหน

คุณรู้จักกล้อง FT-2 ได้อย่างไร ดูเหมือนว่ามันไม่ใช่กล้องที่ใช้กันแพร่หลาย

ไม่เลย ที่ผมรู้จักมีเพียงแค่นักเรียนของผมคนหนึ่งที่มีและเคยใช้กล้องรุ่นนี้ ตอนที่กำลังวางแผนไปซันสการ์ ในปี 1976 ผมนึกอยากถ่ายพาโนรามา เพราะหิมาลัยนั้นช่างเหมาะกับภาพพาโนรามา เพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นนักเคมีและชอบสะสมกล้อง บอกว่ามีอยู่ตัวหนึ่งจะเอามาให้ลอง ผมนึกภาพว่าคงเป็นกล้องตัวใหญ่พร้อมขาตั้งและห่วงอยู่ว่าจะแบกขึ้นเขายังไง วันรุ่งขึ้น เราอยู่ในห้องแล็บ เขาล้วงเข้าไปในกระเป๋าเสื้อกาวน์แล้วบอกว่ายาโร เอ้านี่กล้องที่บอกมันตัวแค่ฝ่ามือ พกใส่กระเป๋าเสื้อแจ็กเก็ตไปได้เลย

ผมใช้มันถ่ายภาพพาโนรามาชุดแรกที่ซันสการ์ และก็ใช้มาตลอด แต่ผมก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้ธรรมชาติของกล้องตัวนี้พอดู อย่างเวลาใส่ฟิลเตอร์ ในท้องตลาดก็ไม่มีฟิลเตอร์ที่ใส่กันได้พอดีกับกล้องตัวนี้ แต่ก่อนผมใช้สก็อตช์เทปแปะยึดฟิลเตอร์ไว้ เพื่อนผมที่เป็นช่างกล้องทนไม่ได้ก็ออกแบบและทำที่ใส่ฟิลเตอร์ให้

กล้องรุ่นนี้ใช้เทคนิค slit-scan ความพิเศษของมันก็คือฟิล์มจะไม่ได้รับแสงทีเดียวเหมือนกล้องทั่วไป แต่ละรับแสงทีละนิดพร้อมกับการหมุนของเลนส์ ถึงกล้องจะสั่นนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะจุดที่เบลอจะเป็นแค่เศษเสี้ยวของภาพ แต่ภาพที่ได้จะมีความเพี้ยน (anamorphosis) สิ่งที่ผมต้องเรียนรู้คือ ซ่อนความเพี้ยนของภาพ ซึ่งจะเห็นได้ชัดถ้าถ่ายสถาปัตกรรมจากจุดที่เห็นเส้นต่างๆ ขนานกัน

(เขาชี้ไปที่แนวกำแพงในรูปจากอินเดียใต้ ที่เส้นรวมสายตาดูตีบเกินภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ 50 มม.ทั่วไป) ทีนี้ เห็นแล้วใช่ไหม (หัวเราะ) ถ้าผมไม่บอกคุณก็ไม่รู้สึกจริงไหม

กล้องตัวนี้ดูอึดและออกแบบมาอย่างรอบคอบจริงๆ แต่ก็ดูเรียบง่ายมาก

ใช่เลย ผมสามารถแกะมันออกเป็นชิ้นๆ ได้ภายในห้านาที กลไกของมันไม่มีอะไรซับซ้อน เมื่อใช้จนรู้มือ มีไขควงสักตัวผมก็สามารถปรับสปีดได้เอง อย่างในสภาพที่มีแสงน้อย บางทีผมก็ต้องลดสปีดลงไปเหลือ 1/60

คุณรู้ไหมว่ากล้องตัวนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่องานสอดแนม การข่าวสงคราม หรืออะไร

คงเป็นความลับที่โทคาเรฟเท่านั้นจะบอกได้ ผมใช้งานกล้องรุ่นนี้มาเกือบสามสิบปีโดยไม่ได้สนใจที่มาที่ไปของมันเลย ส่วนหนึ่งเพราะมันผลิตโดยรัสเซียที่ผมไม่ได้รู้สึกเป็นมิตรนัก อีกอย่าง สำหรับผม กล้องคือเครื่องมือถ่ายภาพ ตราบใดที่มันใช้งานได้อย่างที่ผมต้องการ ก็โอเคแล้ว จนวันหนึ่งมีสถาปนิกชาวออสเตรเลีย อีเมลมาขอใช้ภาพถ่ายจากลาดักของผมในเว็บไซต์ของเขา ผมบอกได้เลย แล้วก็ลืมไป

สองสามเดือนต่อมา ผมได้รับลิงก์ที่ตีพิมพ์ภาพถ่ายของผมและภาพเอฟทีทู และคำบรรยายที่ทำให้รู้ว่าคนที่ออกแบบกล้องตัวนี้คือเฟดอร์ โทคาเรฟ สหายของสตาลิน โทคาเรฟและมิคาอิล คาลาชนิคอฟ เป็นคู่หูกัน และสองคนนี้ก็ออกแบบอาวุธปืนไว้จำนวนมาก ลองกูเกิลชื่อโทคาเรฟสิ จะพบแต่ปืนพกและปืนสั้น เท่าที่รู้โทคาเรฟชอบกล้องถ่ายรูป จึงออกแบบเอฟทีทูขึ้นมา ให้ตายเถอะ กล้องบุคลิกเฉพาะตัวแบบนี้ ถ้าไม่ใช่สหายสตาลินเป็นคนออกแบบ คงไม่มีวันผลิตออกสู่ตลาดหรอก

คุณมี FT-2 อยู่กี่ตัว

หกตัว ผมต้องใช้สองตัว ตัวหนึ่งสี อีกตัวขาวดำ กระเป๋าขวาฟิล์มสี กระเป๋าซ้ายขาวดำ แต่ที่ซื้อไว้หกตัวเพราะผมต้องการกลักสำหรับโหลดฟิล์มไว้ล่วงหน้า

ภาพบน : Harvest Time in Gujarat, India (1991) Photo: Jaroslav Poncar ภาพล่าง: North Face of Mount Kailash, West Tibet (1987) Photo: Jaroslav Poncar

อยากฟังประสบการณ์เบื้องหลังของภาพที่คุณประทับใจบ้าง

(พลิกหาภาพในหนังสือชื่อ Ladakh 1974-2008) นี่เป็นภาพแรกที่ถ่ายด้วยเอฟทีทูและได้ใช้งาน ตอนนั้นปี 1976 ผมกับเพื่อนเดินทางไปกับคาราวานที่ขนส่งเสบียงให้กับข้าราชการที่ไปประจำการที่ลาดัก จนมาถึงปาดุม (Padum) ตอนนั้นใช้ม้า เพราะยังไม่มีถนน

ภาพพิธีกาลจักรนี้ก็ถ่ายในปีเดียวกัน เป็นกาลจักรครั้งที่สามที่อภิเษกโดยองค์ทาไลลามะที่ 14 ในแง่การเมืองและความปลอดภัยแล้วเป็นเรื่องยากมากที่รัฐบาลอินเดียจะอนุญาตให้องค์ทะไลลามะเสด็จไปยังลาดักซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับจีนและปากีสถาน ชาวบ้านรอฟังข่าวกันอย่างใจจดใจจ่อ พิธีเช่นนี้ถือเป็นเรื่องครั้งหนึ่งในชีวิต พอผมกลับจากซันสการ์มาที่ลามายูรู ก็เห็นว่าเขากำลังทาสีวัด ผมถามว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาบอกว่าอีกสองสัปดาห์ ทะไลลามะจะเสด็จมา และใครๆ ก็บอกว่าคงจะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะทะไลลามะองค์ก่อนๆ อภิเษกกาลจักรเพียงหนึ่งครั้งหรือมากที่สุดสามครั้ง

ตอนนั้นไม่ค่อยมีคนรู้จักลาดักนัก แต่สื่อใหญ่ๆ ก็มาจากทั่วโลก นิวส์วีก ไทม์ ทีวีเยอรมัน ทีวีฝรั่งเศส ผมเองได้เข้าเฝ้าทะไลลามะ เพราะผมถ่ายภาพพาโนรามาภาพนี้ซึ่งต้องยืนอยู่หน้าที่ประทับ เมื่อปี 2014 ผมมีโอกาสได้เข้าเฝ้าท่านอีกครั้ง และถวายภาพนี้พร้อมกับหนังสือรวมภาพ

ภาพ Darjeeling Toy Train นี้ คุณต้องรอนานไหมกว่าจะได้จังหวะรถไฟและแสงที่สวยแบบนี้

ผมเป็นพวกคลั่งดาร์จีลิง เพราะดาร์จีลิงเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ ตอนนั้นผมไปดาร์จีลิงกับเพื่อน และพักที่ไร่ชาอยู่ 5 วัน รถไฟจะผ่านเข้าโค้งนี้ตอนบ่ายสาม และผมก็ไปดักรอเพื่อเก็บภาพพาโนรามาทุกวัน แต่แสงเลวมาก จนกระทั่งวันสุดท้ายก่อนกลับ พอใกล้จะบ่ายสาม เพื่อนบอกไปกันเถอะ ผมบอกดูฟ้าสิ ไม่มีหวังหรอก แต่เรากำลังเล่นไพ่กันอยู่และก็อยากออกไปสูดอากาศบ้าง ก็เลยออกไปรอ

รถไฟกำลังไต่เนินใกล้เข้ามา ฟ้ายังปิด แล้วตอนที่รถไฟกำลังจะเข้าโค้งซึ่งจะเป็นจังหวะที่สวยที่สุด จู่ๆ ฟ้าก็เปิด และผมรู้ว่าไม่มีเวลาพอให้กดช็อตที่สอง เพราะการกรอฟิล์มต้องใช้เวลา ผมมีแค่คลิกเดียว ตอนนั้นผมสวดอ้อนวอนเทพยดาทั้งหิมาลัยเลยล่ะ ขอให้ฟ้าเปิดอีกสักอึดใจ แล้วในที่สุดก็คลิก ได้ภาพนี้มา

ภาพนี้ก็ตื่นเต้นพอกัน (หญิงชาวคุชราตกำลังยืนฝัดข้าวอยู่กลางทุ่ง) ระหว่างนั่งรถกลับเข้าเมือง ผมเห็นทุ่งนี้ จึงบอกคนขับแท็กซี่ให้จอด และคว้ากล้องออกมา ปกติในอินเดีย ทันทีที่คุณยกกล้องขึ้นมา จะมีเด็กกรูเข้ามาบังมุมที่กำลังจะถ่าย แต่ไม่มีใครนึกว่ามันเป็นกล้อง ผมจึงถอยออกมาสัก 20 เมตร แล้วกดชัตเตอร์ หลังเสียงคลิกเด็กก็แห่กันมาอย่างที่ผมกลัว แต่มันเป็นเฟรมสุดท้ายของฟิล์มม้วนนั้น และนั่นก็เป็นเอ็กตาโครมม้วนสุดท้ายสำหรับทริปอินเดียหนนั้น ผมบินกลับบ้านด้วยความรู้สึกว่า ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ผมจะได้ภาพเยี่ยมๆ ภาพหนึ่ง ผมรีบส่งล้าง และก็อย่างที่เห็น

ส่วนภาพนี้เป็นธารน้ำแข็งเซียเชนซึ่งถือเป็นธารน้ำแข็งนอกขั้วโลกที่ยาวที่สุด ทอดจากคาราโครัมในปากีสถานไปถึงนูบราในอินเดีย หลังจากร่วมทีมสำรวจแม่น้ำสินธุ ผมบอกนเรนทร์ กุมาร หัวหน้าทีมสำรวจชาวอินเดียซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ The High Altitude Warfare School (HAWS) ว่าทำไมเราไม่ไปสำรวจธารน้ำแข็งเซียเชน เขาบอกว่าไม่มีอะไรให้สำรวจ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ผมจึงขออนุญาตรัฐบาลอินเดียเพื่อจะเดินทางเข้าไปเอง แต่ถูกปฏิเสธ เพื่อนผมที่ร่วมทีมอยู่พบว่ามีนักไต่เขาชาวญี่ปุ่นได้รับอนุญาตให้เข้าถึงตอนหนือของธารน้ำแข็งนี้จากฝั่งปากีสถาน ผมรีบเดินเรื่องขออนุญาตจากฝั่งปากีสถานจนที่สุดก็ได้รับอนุญาต และได้เข้าไปถ่ายภาพ

พอนายนเรนทร์เห็นรูปของผมเข้า ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ และพยายามทำให้รัฐบาลอินเดียรู้สึกว่านี่มันเป็นการตบหน้ากันชัดๆ เพราะอินเดียถือว่าธารน้ำแข็งเซียเชนอยู่ในอาณัติของตน แต่ปากีสถานกลับอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา แล้วในปี 1984 ก็มีการประกาศสงครามช่วงชิงดินแดนเกิดขึ้น แม้จะยุติในเวลาไม่นาน ก็ยังมีการปะทะประปรายมาจนถึงทุกวันนี้ บางทีผมอดคิดไม่ได้ว่าภาพถ่ายของผมมีส่วนให้เกิดสงครามหรือเปล่า

สำหรับผมภาพที่สำคัญมากคือภาพบริเวณต้นธารของแม่น้ำสินธุที่เรียกกันว่าปากราชสีห์ (Lion’s Mouth) ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของยอดเขาไกรลาส ผมเป็นทีมที่สองที่ไปถึงที่นั่น แม้จะล้มเหลวที่หาแชงกรีลาไม่พบ แต่ก็ได้ไปถึงต้นน้ำของแม่น้ำสินธุที่ผมผูกพัน

เวลาได้กลับไปที่ที่เคยถ่ายภาพแล้วเห็นความเปลี่ยนแปลง คุณเคยรู้สึกเศร้าใจบ้างไหม

หลายที่เปลี่ยนไปมาก พูดได้ว่าลาดักที่ผมหลงรักไม่หลงเหลืออยู่อีกแล้ว ผมไม่ได้หมายถึงถนนหนทางหรือบ้านเมือง การตัดถนนและการพัฒนาหลายด้านเป็นเรื่องดีสำหรับชาวบ้าน ทำไมพวกเขาควรทนอยู่ในบ้านที่มีช่องหน้าต่างแคบๆ เมื่อรถบรรทุกเข้าไปถึง พวกเขาก็สามารถหาซื้อกระจกมาทำหน้าต่างบานโตๆ ได้ อย่างชาวบ้านในมุสตางทุกวันนี้สามารถซื้อแก๊สมาหุงหาอาหารแทนที่ต้องพึ่งแต่เชื้อเพลิงจากขี้ยักแบบแต่ก่อน ผมไม่ต่อว่าการเปลี่ยนแปลง พวกเขาไม่ควรต้องอยู่แบบเดิมๆ เพียงเพื่อเป็นสวนสัตว์ทางวัฒนธรรมสำหรับนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชม

ความเป็นคนลาดักที่แสนอบอุ่น น่ารัก จริงใจ ทุกวันนี้ก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปและผมเสียดายคือวิถีชีวิตพึ่งตนเอง ครั้งแรกที่ผมไป สิ่งที่เขาต้องการจากโลกข้างนอกมีเพียงเครื่องครัวของใช้ทำจากโลหะ พวกเขาไม่ได้ร่ำรวย ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน ไม่มีพืชเศรษฐกิจ พวกเขามีแต่บาร์เลย์ ธัญพืช น้ำมันจากมัสตาร์ด แต่นั่นก็เพียงพอสำหรับเขา ตอนนี้พวกเขาได้เห็นโลกข้างนอก วิถีชีวิตจึงเปลี่ยนไป พวกเขายอมได้ชื่อว่ายากจน และจำเป็นต้องพึ่งพาโลกภายนอก จำเป็นต้องใช้ข้าวของที่ในอดีตไม่มีความจำเป็น

ส่วนเรื่องเศร้าที่เห็นและจับต้องได้คืออัลชิ ตอนนี้มีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสินธุซึ่งเปลี่ยนภูมิทัศน์บริเวณนั้นไปอย่างสิ้นเชิง ผมช็อก ไม่อยากเชื่อ และที่เศร้าหนักขึ้นไปอีกก็คือ เขื่อนที่แลกมาด้วยสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้นี้ ไม่ได้ช่วยทำให้กำลังจ่ายกระแสไฟฟ้าในเลห์เมืองหลวงดีขึ้นกี่มากน้อย ถ้าพูดด้วยอีโก้ผมก็บอกได้ว่า ผมเคยเห็นวันคืนที่งดงามแล้ว อะไรที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่ธุระของผม ผมช่วยอะไรไม่ได้ แต่ลึกๆ ผมเศร้า เพราะอัลชิเป็นที่ที่ผมรักมาก

เวลาถ่ายภาพสีพาโนรามา ทำไมคุณเลือกใช้แต่ฟิล์ม Kodak Ektachrome

การถ่ายภาพเป็นเรื่องของความชอบนะ ผมชอบสีของมัน อย่างเวลาอัดขยายภาพขาวดำผมก็ใช้แต่กระดาษอักฟ่า ไม่เคยใช้อย่างอื่น ผมโตมากับเอ็กตาโครม อย่างสตีฟ แม็กเคอร์รี เขาเป็นช่างภาพฝีมือยอดเยี่ยมมาก (น้ำเสียงยกย่องอย่างชัดเจน) แต่เวลาผมเห็นภาพพรินต์ของเขาในนิทรรศการ ผมรู้สึกปวดมวนในท้อง เพราะสีของ Kodachrome ที่เขาใช้ ผมเองใช้โกดักโครมเฉพาะแต่งานบันทึกภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณ อย่างกรณีวัดอัลชิ เป็นต้น เพราะคุณสมบัติของอายุฟิล์มที่ยาวนาน เหมาะกับงานหอจดหมายเหตุ

แต่น่าเสียดาย โกดักเลิกผลิตเอ็กตาโครมแล้ว ตอนที่รู้ผมกว้านซื้อเก็บไว้ร้อยกว่าม้วน และถ่ายแบบกระเหม็ดกระแหม่มาก ผมถ่ายพาโนรามารูปสุดท้ายด้วยเอ็กตาโครม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ปี 2016

แล้วระบบดิจิทัลล่ะ คุณชอบมันบ้างไหม

มันไม่มีชีวิต ในยุคของการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม ในท้องตลาดมีโปรดักต์หลากหลายให้เลือก และคุณมักจะพบฟิล์ม กระดาษ เลนส์ หรือกล้องที่ให้ผลลัพธ์ตรงกับจริตของคุณ แต่ทุกวันนี้ มันเหมือนกันไปหมด เวลาไปดูนิทรรศการภาพถ่ายผมมักรู้สึกว่า ทุกอย่างช่างเพอร์เฟ็กต์จนดูแห้งแล้ง

ภาพถ่ายของผมไม่ได้คมกริบจากล่างซ้ายถึงบนขวา อาจมีจุดนั้นจุดนี้ที่ไม่โฟกัส ถ้ามีคนวิจารณ์ผมก็จะบอกว่า มันไม่สำคัญ สิ่งที่อยู่ในภาพนั้นต่างหากที่สำคัญ ผมบอกนักเรียนของผมเสมอว่า คุณค่าของภาพถ่ายไม่ได้อยู่ที่ความคมชัดไร้ที่ติ ภาพถ่ายที่มีค่าที่สุดของแมน เรย์ โยเซฟ สุเด็ก หรือการ์ติเยแบรซง ไม่ได้คมกริบ แต่มันมีอากาศ มีชีวิต ผมเองทำงานมาในทิศทางนี้

แต่ในขณะเดียวกัน ระบบดิจิทัลสามารถผลิตซ้ำสีแบบเอ็กตาโครมที่คุณชอบได้เสมอ

ดิจิทัลทำได้ทุกอย่าง ทุกสี ทุกสไตล์ แต่ปัญหาคือมันต้องเป็นสิ่งที่ตลาดชื่นชอบ ผมโตมากับภาพถ่ายขาวดำ ผมถ่ายด้วยเอ็กตาโครมมาพอแล้ว และได้เห็นวงการถ่ายภาพในจังหวะที่น่าสนใจ ก่อนต้นทศวรรษ 1970 ภาพสีเป็นเรื่องของแฟชั่น ภาพถ่ายโฆษณา และช่างภาพมืออาชีพ ไม่ใช่สำหรับมือสมัครเล่น ภาพถ่ายครอบครัว ภาพแต่งงานยังเป็นขาวดำทั้งสิ้น ตอนที่ผมเริ่มเป็นอาจารย์และพานักศึกษาไปทัศนศึกษาที่โรงงานโกดักในเยอรมนี โกดักกำลังปั้นกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ที่จะทำให้ฟิล์มสีราคาถูก และใครๆ ก็ถ่ายรูปสีได้ แล้วตอนที่ผมเกษียณ โกดักก็เจ๊งพอดี ลองนึกดู

แล้วคุณใช้กล้องดิจิทัลไหม

ใช้สิ เกิดเห็นมุมพาโนรามาสวยๆ ผมจะอดใจได้ยังไง

เทียบกับตอนใช้ FT-2 ชีวิตคุณคงง่ายขึ้นมาก

(คิดนาน) มันต่างกันนะ เอาเป็นว่ามันไม่ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นอะไร แต่การถ่ายภาพแบบอะนาล็อก มันมีเรื่องให้ใจเต้น อย่างเวลาคุณเดินทางในทิเบตเกือบ 3 เดือน หมดฟิล์มไป 200 กว่าม้วน เมื่อกลับมาถึงบ้าน ใจคุณจะเต้นไม่เป็นส่ำ มันจะออกมาเป็นยังไงนะ (ถูมือไปมา แววตาตื่นเต้น) แต่กับกล้องดิจิทัล ชิกชิกชิกตกเย็นก็โหลดรูปขึ้นมาดูได้ จะตัดต่อรูป ปรับสีปรับแสงยังไงก็ได้ ไม่มีอะไรให้ใจเต้น

ถึงคุณจะถ่ายภาพฟอร์แม็ตอื่นด้วย แต่คงเรียกได้ว่าภาพพาโนรามาคือลายเซ็นของคุณ คือวิธีที่คุณมองดูโลกรอบตัว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ตอนที่ผมเรียนจบปริญญาเอก อาจารย์ให้ของขวัญผมเป็นหนังสืออัตชีวประวัติของแวร์เนอร์ ไฮเซนแบร์ก ที่ถือกันว่าเป็นผู้บุกเบิกความรู้ด้านอะตอมฟิสิกส์ หนังสือเล่มนั้นชื่อ The Whole and The Part (Der Teil und das Ganze) เขาบอกผมว่า อาจารย์รู้ว่าเธอคงไม่เอาดีต่อทางฟิสิกส์ แต่ก็อยากให้เป็นที่ระลึก ดังนั้น นิทรรศการรวมผลงานครั้งแรกของผมจึงใช้ชื่อว่า Ladakh – The Whole and The Part สำหรับผมภาพที่ผมถ่ายในลาดักก่อนปี 1976 เป็นเพียงส่วนเสี้ยวที่ขาดมิติขององค์รวม นั่นเป็นเหตุผลที่ผมอยากได้กล้องพาโนรามา เพื่อจะสามารถเก็บภาพของแม่น้ำที่ไหลทอดตัวไปในความไพศาลของขุนเขา ไม่เช่นนั้น ผมรู้สึกว่าภาพที่ถ่ายก็เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของสัจจะ (Truth) ถ้าไม่เห็นบริบท มันก็เป็นแค่ลำน้ำ แค่โขดหิน

ทุกวันนี้การเดินทางครั้งใหม่ยังทำให้คุณตื่นเต้นอยู่ไหม

แล้วแต่อันที่จริงผมวางแผนจะไปมุสตางเป็นครั้งสุดท้าย แต่คนที่ผมทำงานด้วยเพื่อจะเก็บบันทึกคัมภีร์ทางศาสนาไม่สามารถมาได้ในเดือนสิงหาคม และผมก็ไปไม่ได้ในเดือนกันยายน เลยเปลี่ยนแผนจะไปลาดัก ไปเพื่อบอกลา อีกสองวันผมจะบินไปแล้ว

ทำไมถึงเรียกว่าไปบอกลา

ผมชักจะแก่แล้ว เพื่อนผมก็แก่กันหมดแล้ว รินโปเชที่วัดทิกเซปีนี้ท่านจะแปดสิบแล้ว เราเป็นเพื่อนกันมา 44 ปี กอนชก ปันเดเพื่อนชาวลาดักคนแรกที่ผมเจอตั้งแต่ปี 1974 ตอนนี้เขาก็อายุ 76 ปีแล้ว ฉะนั้นผมไปเสียตอนที่ทุกคนยังดีอยู่จะดีกว่า

นอกจากไปบอกลาแล้วคุณจะไปถ่ายรูปด้วยใช่ไหม

ก็เอากล้องไปด้วยน่ะ

ตอนนี้คุณใช้กล้องอะไร

โอลิมปัสดิจิทัล รุ่น E อะไรจำไม่ได้ รุ่นที่มีช่องมองภาพปกติน่ะ ไม่ใช่แบบวิดีโอ สำหรับผม ภาพถ่ายเป็นสื่อที่ต้องอัดขยายหรือพิมพ์ลงกระดาษ (printed media) ต่อให้ถ่ายด้วยกล้องดิจิทัล เวลากลับถึงบ้าน ผมก็ต้องพรินต์ออกมา แต่สมัยนี้ใครจะยังสนใจภาพพรินต์อีกล่ะ ไม่มีหรอก (หัวเราะ)

แต่ถึงใครเขาจะสนใจหรือไม่ คุณก็ไม่แคร์หรอกใช่ไหม

อืมผมมันพวกอัตตาสูง ถือใจตัวเองเป็นใหญ่ ทำอะไรก็เพราะชอบและพอใจแบบนั้น

แบบโบฮีเมียนแท้เลยใช่ไหม

อาจจะใช่ ผมเป็นเช็กและเป็นโบฮีเมียน อืมแต่ก็มีห่วงนะ ผมเองจะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ แล้วภาพถ่ายที่ผมถ่ายมาเป็นสิบๆ ปีล่ะ ผมมีภาพถ่ายสถาปัตยกรรมของนครวัดชุดใหญ่ที่สุดเท่าที่ใครจะมีได้ แต่คงไม่มีใครสนใจ เพราะทุกวันนี้ไม่ค่อยมีใครพร้อมจะใช้จ่ายกับเรื่องทางวัฒนธรรม และมันใช้เงินสูงที่จะดูแล ไม่ใช่แค่การจัดเก็บ แต่ยังหมายถึงการเข้าถึง เข้าชม และใช้งาน ซึ่งต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแล

ทำยังไงได้ล่ะ ดีที่สุดคือหลังงานเปิดนิทรรศการ รุ่งขึ้นผมน่าจะล้มฟาดแล้วตายไปเลย จะได้ไม่ต้องห่วงอะไรอีก

Fact Box

  • ระหว่างปี 1977-1987 ยาโรสลาฟ พอนซาร์ร่วมงานกับวูลฟ์กัง โคห์ล ถ่ายทำและผลิตภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประเทศเยเมน มาลี อินเดีย ปากีสถาน และทิเบต ให้กับสถานีโทรทัศน์เยอรมัน มีผลงาน อาทิ Through the Ice-Wilds of Eastern Karakorum, Where Cement is Taboo - Djenné, Ladakh - a Winter Tale และ Tibet - the Gate to Heaven ฯลฯ
  • ผลงานหนังสือภาพทั้งจากการเดินทางและงานบันทึกภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ได้แก่ Alchi - Ladakh’s Hidden Buddhist Sanctuary, The Loire Valley, Panorama of India, Angkor - A Photographic Portrait, Burma - The Land That Time Forgot, Himalaya - 40 Years of Travel on The Roof of The World, Paris Panoramic เป็นต้น
  • หลังเกษียณในปี 2010 เขาทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบันทึกภาพถ่ายมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศอัฟกานิสถานเป็นเวลาหนึ่งปี
  • ในปี 2015 ถึง 2017 เขาร่วมงานกับศาสตราจารย์ Christian Luczanits ในโครงการของวิทยาลัยบูรพคดีและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน เพื่อการเก็บบันทึกต้นฉบับและวัตถุที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่อยู่ในดินแดนมุสตางตอนบน ประเทศเนปาล
  • นิทรรศการ 40 Years of Panorama Photography: Life with the FT-2 จัดแสดงที่เซรินเดีย แกลเลอรี วันนี้ถึงวันที่ 26 สิงหาคม โดยในวันที่ 14 สิงหาคม เวลา 17.00 . ยาโรสลาฟ พอนซาร์ จะมาเล่าถึงประสบการณ์การถ่ายภาพพาโนรามาในหัวข้อ ‘Slit-scan Photography’
Tags: , , , , , , , , , , ,