ตั้งแต่ปี 1948 ญี่ปุ่นเริ่มใช้กฎหมายสุพันธุศาสตร์ (Eugenics Protection Law) ในช่วงที่ญี่ปุ่นขาดแคลนอาหาร และเร่งฟื้นตัวจากการแพ้สงคราม ทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งถูกบังคับให้ทำหมัน ด้วยเหตุผลว่าเพื่อ ‘ป้องกันไม่ให้ประชากรรุ่นหลังเกิดมาด้อยคุณภาพ’ กฎหมายนี้เพิ่งยกเลิกไปเมื่อปี 1996
เมื่อวันที่ 24 เมษายน รัฐสภาญี่ปุ่นได้ผ่านกฎหมายชดเชยแก่ผู้ที่ถูกบังคับให้ทำหมัน เหยื่อของกฎหมายนี้จำนวนมากพิการทางร่างกาย หรือการรับรู้ รวมทั้งป่วยจากโรคทางจิต โรคเรื้อน รวมถึงมีปัญหาด้านพฤติกรรม
ระหว่างปี 1948-1996 มีผู้ถูกบังคับให้เข้ารับการผ่าตัดทำหมัน 25,000 คน ซึ่งมีอย่างน้อย 16,500 คนที่ไม่ได้ยินยอมโดยสมัครใจ คณะกรรมการสุพันธุศาสตร์ (eugenics board) เป็นผู้ที่มีอำนาจในการระงับกระบวนการได้ หากมีการร้องขอให้ทบทวน
การทำหมันพุ่งสูงสุดในช่วงปี 1960-1970 มีการผ่าตัดครั้งครั้งสุดท้ายคือปี 1993
กฎหมายใหม่ระบุว่า “ขอโทษอย่างลึกซึ้ง” และสัญญาว่าจะจ่ายเงินค่าชดเชย 3.2 ล้านเยนให้กับเหยื่อ ที่เคยเป็นวัยรุ่นหรือคนหนุ่มสาวตอนที่มีการใช้นโยบาย
นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะออกแถลงการณ์ขอโทษและกล่าวว่า ทุกความพยายามจะเป็นไปเพื่อทำให้มั่นใจว่าสังคมจะไม่เลือกปฏิบัติกับผู้พิการ
“ในช่วงที่กฎหมายบังคับใช้ มีประชาชนมากมายกลายเป็นผู้ที่ถูกทำให้ไม่มีลูกด้วยเหตุผลว่าพวกเขาพิการหรือมีโรคเรื้อรังอื่นๆ เรื่องนี้ทำให้พวกเขาทุกข์ใจมาก”
“เนื่องจากรัฐบาลดำเนินการตามกฎหมายนี้ หลังจากการไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง ผมต้องขอโทษจากส่วนลึกของหัวใจ”
ตามกฎหมายนี้ เหยื่อมีเวลา 5 ปีสำหรับยื่นขอเงินชดเชย และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว ศาลเพิ่งมีคำตัดสินในเรื่องนี้คดีแรก หลังจากเหยื่อ 20 รายฟ้องร้องรัฐบาลเพื่อให้จ่ายเงินชดเชย และออกมาขอโทษ
ที่มา:
https://japantoday.com/category/politics/Diet-enacts-law-to-compensate-forced-sterilization-victims