ชั่วโมงนี้ใครยังไม่รู้จักเธอคงต้องเรียกว่าเอาต์ สำหรับศิลปินสาวผิวสีคนเก่ง เจเนลล์ โมเน (Janelle Monae) ด้วยผลงานทั้งภาพยนตร์ฮอลลีวูดอย่าง Hidden Figures และ Moonlight อีกทั้งผลงานอัลบั้มเพลงแนวอาร์แอนด์บีผสมอิเล็กทรอนิกส์ป็อป The ArchAndroid (2010) และ The Electric Lady (2013) ที่ถูกเสนอชิงรางวัลแกรมมี่ถึง 6 สาขา 

ในปี 2018 นี้ เธอกลับมาอีกครั้ง กับอัลบั้มใหม่ที่สร้างกระแสฮือฮาได้ไม่น้อย ทั้งจากซาวนด์เพลงติดหู และการเผยตัวตนที่โดนใจชาวเควียร์จนเรากด repeat ฟังวนรัวๆ

หากจะพูดถึงเอกลักษณ์ในงานเพลงของเจเนลล์ สิ่งแรกที่นึกถึงคงหนีไม่พ้นความหลงใหลในหนังไซ-ไฟของเธอ ที่สอดแทรกเข้ามาในทุกๆ รายละเอียดของภาพและเสียงตั้งแต่อัลบั้มแรก เธออ้างอิงถึงหนังขาวดำสุดคลาสสิกอย่าง Metropolis และเล่าเรื่องตัวเองผ่านแอนดรอยด์ใส่สูทขาวดำชื่อซินดี้ เมย์เวทเธอร์ (Cindi Mayweather) ผู้ต้องต่อสู้เพื่ออิสรภาพ

“ฉันพูดถึงแอนดรอยด์เพราะฉันคิดว่า หุ่นยนต์เป็นเสมือนนิยามใหม่ของคนชายขอบในสังคมอนาคต” เจเนลล์ให้สัมภาษณ์ “คุณอาจจะเปรียบเทียบได้กับผู้ชายที่เป็นเกย์ หรือผู้หญิงผิวสี เป็นต้น” แม้ว่าอัตลักษณ์ของเธอจะดูแตกต่างจากศิลปินหญิงอาร์แอนด์บีผิวสีคนอื่นๆ ในตลาดอย่างเห็นได้ชัด เราอาจพูดได้ว่าในสองอัลบั้มแรก เจเนลล์ซ่อนตัวตนอยู่เบื้องหลังเรื่องราวของหุ่นยนต์ซินดี้ไว้ตลอด เมื่อถูกถามถึงเพศสภาพของเธอ เจเนลล์จะตอบเพียงว่า “ถ้าคุณฟังเพลงในอัลบั้มของฉัน คุณจะรู้เอง” ซึ่งถ้าเราไปลองสืบดูจริงๆ ก็รังแต่จะงงยิ่งขึ้น ด้วยคำใบ้ที่กำกวม อาทิ ในเพลง Mushrooms & Roses เราจะได้ยินเธอพรรณนาความรักของเธอกับ ‘Mary’ และในเพลง Q.U.E.E.N., เราจะได้ยินเสียงประสานเพี้ยนเป็น ‘queer’ แทน 

แต่แมรี่คือใคร? ความเควียร์มีความสำคัญอย่างไร? ความหมายของหุ่นยนต์ของเธอคืออะไรกันแน่?

ทั้งหมดนี้ถูกไขกระจ่างในอัลบั้มที่สาม “Dirty Computer”!

อัลบั้มนี้เกี่ยวกับอะไร? ขอเล่าผ่าน emotion picture หรือหนังสั้นที่ร้อยเรียงเพลงต่างๆ ในอัลบั้มเข้าด้วยกันในความยาว 46 นาที ตอนต้นของคลิปนี้เราจะได้ติดตามเรื่องของ ‘Jane 57821’ นำแสดงโดยเจเนลล์ เป็นกบฏในโลกอนาคตผู้เฉลิมฉลองอิสรภาพของตัวเอง โดยเฉพาะอิสระที่จะรักกับกบฏผู้ร่วมอุดมการณ์ ชื่อ ‘Zen’ (รับบทโดย เทสซ่า ธอมป์สัน (Tessa Thompson) นักแสดงสาวที่มีข่าวลือว่าเป็นแฟนกับเจเนลล์ในชีวิตจริงด้วย) อีกทั้งชุมชนคนเควียร์ที่เปิดกว้างยอมรับตัวตนของกันและกัน

เราจะเห็นพวกเขาตั้งแต่เพลงแรก Crazy, Classic, Life โดยแต่ละคนแต่งตัวเป็นตัวของตัวเองอย่างสุดโต่ง ในขณะเดียวกันล้วนอ้างอิงถึงเควียร์ไอคอนในอดีต โดยเฉพาะ ปรินซ์ ผู้เป็นเสมือนไอดอลและเมนเทอร์ของตัวเจเนลล์เองด้วย อัตลักษณ์ของเขาเข้ามาสิงเธอเต็มๆ ในเพลง Make Me Feel ตั้งแต่การเล่นเบสแบบฟังค์ และอิเล็กทริกกีตาร์ riff ไปจนถึงวิธีการร้องและเต้นของเธอ เป็นความเซ็กซี่ที่ก้าวข้ามกรอบของเพศ เรียกได้ว่าถ้าปรินซ์ยังมีชีวิตอยู่เขาคงภูมิใจไม่น้อย 

“I’m always left of center, and that’s right where I belong

I’m the random minor note you hear in major songs

And I like that.”

นอกจากนี้ ด้วยการกำกับศิลป์ที่ฉูดฉาด ฉากในคลับย้อนยุค 80s รวมถึงตัวละครหญิงรักหญิง อาจจะทำให้หลายๆคนนึกถึงแซน จูนิเปโร (San Junipero) ของซีรีย์ชื่อดัง Black Mirror ด้วยก็ได้ ซึ่งน่าจะเป็นการอ้างอิงที่จงใจโดยศิลปิน เพราะเนื้อเรื่องต่อมาใน emotion picture นี้มีความคล้ายกับตัวซีรีส์มากๆ กล่าวคือ ภาพแห่งความอิสระที่เรากำลังดูอยู่นั้น จะถูกเปิดเผยว่าเป็นเหมือนภาพฝันหรือทรงจำ ซึ่งกำลังถูกลบออกจากสมอง Jane 57821 โดยตัวเธอนั้นถูกจับมาทรมานทรกรรมในแล็บภายใต้การควบคุมของนักวิทยาศาสตร์ผู้ชายผิวขาวสองคน มิหนำซ้ำ Zen คู่รักของเธอ ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Mary Apple’ (!) และดูเหมือนจะถูกล้างสมองไปแล้วด้วยอีกคน  

พวกเขาเรียกเธอว่า ‘Dirty Computer’ เป็นระบบปฏิบัติการที่ออกนอกลู่นอกทาง จำเป็นจะต้องถูกชำระล้าง ในมิวสิกวิดีโอเพลง Take a Byte เธอพูดถึงการเป็นหญิงสาวที่ไม่ตรงตามขนบธรรมเนียมของใครๆ ขณะที่เธอถูกพันธนาการด้วยเชือก shibari (ศิลปะการมัดเชือกบนร่างกายมนุษย์แบบญี่ปุ่นโบราณ)

“I’m not the kind of girl you take home to your mama now

I tell you no lies (I tell no lies)

Your code is programmed not to love me but you can’t pretend

Oh, what a surprise”

อีกซีนสุดพีคที่เราได้เห็นกันในหนังสั้นนี้ คือฉากประกอบเพลง Pynk (featuring Grimes) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงชื่อคล้ายกันของ Aerosmith โดยในเพลงนี้ Jane และเหล่าผองเพื่อนได้ไปเต้นรำกลางทะเลทราย ในชุดสีชมพูที่บานฟูตรงหว่างขา! อีกทั้งภาษาภาพสีชมพูสารพัดที่ถูกใส่เข้ามา ทั้งการเอานิ้วแหย่รูโดนัท หยดน้ำกลางกลีบส้ม การเลียลิ้น กางเกงในที่มีสโลแกน “I grab back”, “sex cells”, “cosmic mother” อีกทั้งท่าออกกำลังกายหมู่ สื่อถึงเซ็กซ์ระหว่างสาวๆ อย่างโจ่งครึ่ม

ที่พีคที่สุดคือฉากที่เทสซ่าโผล่หัวออกมาแลบลิ้นอยู่กลางกลีบสีชมพูของเจเนลล์ เป็นสัญลักษณ์ของทั้งการเกิดใหม่และคลิตอริสไปพร้อมๆ กัน ปลดแอกความต้อง ‘ซ่อนเร้น’ ธรรมชาติของความเป็นหญิง (แถมยังเอามาเป็นท่าเต้นต่ออีก) ยิ่งถ้าอ่านเนื้อเพลงเราจะเข้าใจว่า เธอเลือกที่จะหยิบ สีชมพู ซึ่งถูกยัดเหยียดให้เป็นสีของเด็กหญิงทั่วโลก เอามาใช้ปลดปล่อยตัวเองอย่างแสบสัน

“Pink like the inside of yours, baby
Pink behind all of the doors, crazy
Pink like the tongue that goes down, maybe
Pink like the paradise found
Pink when you’re blushing inside, baby
Pink is the truth you can’t hide, maybe
Pink like the folds of your brain, crazy
Pink as we all go insane”

เจเนลล์เปิดเผยตัวในบทสัมภาษณ์กับ Rolling Stone ว่าเธอเคยมีความสัมพันธ์ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย “ก่อนหน้านี้ฉันนึกว่าตัวเองเป็นไบ-เซ็กชวล” เธอกล่าว “แต่พอฉันได้รู้เกี่ยวกับแพนเซ็กชวล (pansexual) ฉันก็ถึงบางอ้อว่ามันตรงกับตัวฉันมาก”

นอกจากความเสรีทางเพศแบบ pansexual แล้ว อีกธีมสำคัญที่เราสังเกตเห็นชัดขึ้นในอัลบั้มนี้คือแอโฟรฟิวเจอริสม์ (Afrofuturism) หรือการตีความอนาคตในบริบทของวัฒนธรรมแอฟริกัน อย่างในฉากของเพลง Django Jane, ที่แทบจะเหมือนฉากจากหนัง Black Panther บวกกับกลิ่นอายฮิปฮอปที่มาพร้อมกับลีลาการแรปไฟแลบ บอกให้รู้ถึงความเก๋าในรากเหง้าของเธอด้วย

โดยรวมแล้ว อัลบั้ม Dirty computer ยังคงเล่าเรื่องต่อจากสองอัลบั้มก่อนหน้า ว่าด้วยการหลบหนีการกดขี่ที่มีฉากหลังเป็นโลกอนาคต แต่ในที่สุดเราก็ได้มองข้ามหุ่นยนต์ และเห็นตัวตนความเป็น ‘มนุษย์’ ที่มีทั้งเพศสภาพ มีทั้งพื้นเพ และเหตุผลที่ต้องการจะเป็นอิสระ

อย่างไรก็ดี ในฉากสุดท้ายของหนัง เราจะเห็นตัวละครหลังทั้งสองสาวช่วยกันหนีออกไปจากที่กักกัน แต่เมื่อออกไปแล้วจะไปที่ไหน? นี่อาจเป็นสัญญาณของจุดเริ่มต้นใหม่บนวิถีดนตรีสำหรับเจเนลล์ โมเน ก็เป็นได้

Tags: , , , , , ,