จาก ‘กระบี่เย้ยยุทธจักร’ สู่ ‘กระบี่เย้ยจันทรา’

เรื่องราวความสัมพันธ์พิเศษของทั้งคู่เริ่มต้นด้วยความเห็นอกเห็นใจ โอ้เอ๋วเป็นคนเดียวในกลุ่มเพื่อนที่ไม่ได้ดูแคลนความฝันของเต๋ ที่อยากจะเป็นพระเอกหนังจีนแบบ ‘หยงเจี้ยน’ ในเรื่อง ‘กระบี่เย้ยจันทรา’ ซึ่งดัดแปลงมาจาก ‘กระบี่เย้ยยุทธจักร’ วรรณกรรมชิ้นดังของ ‘กิมย้ง’ ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก

การดัดแปลงชื่อของผลงานอมตะนี้คงไม่ได้มีนัยเพียงความสนุกสนานของการรับชม แต่การเปลี่ยนจาก ‘ยุทธจักร’ เป็น ‘จันทรา’ นั่นแฝงนัยทางเพศไว้อย่างเด่นชัด

คำว่า ‘ยุทธจักร’ หมายถึงแวดวงของจอมยุทธผู้รบรากันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งเจ้าแห่งยุทธภพ ถ้อยคำดังกล่าวมีนัยยะแฝงเรื่องของการใช้กำลังวังชา ความอยากเอาชนะ ความเป็นใหญ่ ซึ่งล้วนแต่แสดงถึงลักษณะของเพศชาย 

ส่วน ‘จันทรา’ หรือ ‘ดวงจันทร์’ ความหมายในทางวรรณกรรมนั้นถูกเปรียบเปรยเป็นดั่งหญิงสาวผู้เป็นที่รัก ดังที่อาจพบเห็นได้บ่อยในวรรณกรรมแทบจะทุกสัญชาติ แม้แต่วรรณคดีไทยเองก็ตาม เช่น รามเกียรติ์ อิเหนา ลิลิตพระลอ ฯลฯ

เมื่อตีความชื่อโดยรวมแล้ว ‘กระบี่’ อันมีรูปลักษณ์ดั่ง ’เพศ’ ของผู้ชายชัดเจน ‘เย้ย’ คือกริยาที่แสดงออกที่ปรารถนาให้อีกฝั่งเจ็บแค้น แสดงความไม่สนใจใยดี และ ‘จันทรา’ ซึ่งหมายถึงผู้หญิง

เราสามารถสังเกตความคิดเรื่องนัยทางเพศของผู้สร้าง ผ่านการตั้งชื่อของตัวละคร ซึ่งสารคดีเบื้องหลังการถ่ายทำของซีรีส์ชุดนี้ ตอนที่หนึ่ง ผู้สร้างเล่าให้ฟังว่า ‘เต๋’ ในภาษาจีนฮกเกี้ยนแปลว่า ‘น้ำชา’ และสอดคล้องกับคำว่า ‘เต๋จือ’ ซึ่งแปลว่า ‘เพศชาย’

หากพิจารณาสำนึกแห่งนัยทางเพศร่วมกับฉากของกระบี่เย้ยจันทรา ที่ตราตรึงอยู่ในหัวใจของเต๋ ฉากที่พระเอกกำลังต่อสู้และจะลงดาบตัวละครหญิงที่เข้ามาขัดขวางเพื่อไม่ให้หยงเจี้ยนไปฆ่าพ่อของเธอ ฉากสำคัญนั้นได้เผยให้ผู้ชมเห็นว่าเต๋ไม่คิดตั้งคำถามเลยสักนิดว่า เหตุใดหยงเจี้ยนถึงทำร้ายผู้หญิง ในทางตรงกันข้าม เขากลับมีท่าทางชื่นชมด้วยซ้ำ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเต๋ไม่ได้ซึมซับอุดมการณ์สุภาพบุรุษหรือลูกผู้ชายในอัตลักษณ์ของเขาเลยแม้แต่น้อย

หากถามต่อไปว่า ฉากนี้มีน้ำหนักมากพอที่จะตัดสินว่าความเป็นคนรักเพศเดียวกันของเต๋เกิดขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็กหรือไม่ ก็คงไม่เพียงพอ เพราะเต๋มีชุดคำอธิบายอื่นๆ เช่น เพราะแม่ของเขาชอบหยงเจี้ยน เขาจึงอยากเป็นหยงเจี้ยน รวมถึงฉากที่เต๋ไม่สามารถสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองกับรูปภาพของหยงเจี้ยนที่เขาแปะไว้ที่ฝาผนังห้องนอนได้ ในห้วงเวลาที่เขาสับสนกับเพศวิถีของเขาอย่างหนัก ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้สมมติฐานว่าเต๋เป็นคนรักเพศเดียวกันแต่เด็กไม่ชัดเจนนัก แต่มันก็มากพอที่จะเป็นความคลุมเครือและปูทางไปสู่การเปิดใจรักโอ้เอ๋วได้

กลับมาที่ชื่อของ ‘กระบี่เย้ยจันทรา’ สันนิษฐานเรื่องการดัดแปลงชื่อ อาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเมื่อเราพิจารณาร่วมกับความสัมพันธ์ของเต๋และตาล ผู้ซึ่งอดทนกับการที่เธอถูกทิ้งตลอดเวลา ผิดหวังซ้ำแล้วซำ้เล่ากับคำสัญญาของเต๋ที่เคยมีให้เธอ และน้อยครั้งมากที่เขาจะทำได้ และถึงแม้จะทำได้ ก็เป็นเพียงช่วงที่เขางอนหรือไม่สบายใจเรื่องโอ้เอ๋วเพียงเท่านั้น

ดังนั้นนัยยะความเปลี่ยนแปลงชื่อของหนังจีนที่ถูกวางในบริบทนี้ จึงบอกเราเป็นนัยๆ ว่า นี่เป็นเรื่องราวที่ความรักของผู้ชายที่จะเย้ยหยันผู้หญิง และนั่นคือคำตอบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนแรกเลยว่าตาลจะไม่มีทางเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในความสัมพันธ์เต๋-โอ้เอ๋วได้

 

มะพร้าวกับความบริสุทธิ์ที่ไม่บริสุทธิ์

ช่วงแรกเราจะเห็นว่าเต๋สยองกับมะพร้าวมาก เพราะกลิ่นของมะพร้าวสำหรับเขาไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่นัก ขนาดว่าแม่และพี่ชายของเขาคะยั้นคะยอให้ทานเพื่อความเป็นสิริมงคล เขายังปฏิเสธ จนกระทั่งมะพร้าวถูกผสมกลมกลืนเข้ากับอัตลักษณ์ของโอ้เอ๋ว 

ในฉากที่เขาบอกกับเต๋ว่า กลิ่นบนศีรษะของเขาเป็นกลิ่นของน้ำมันมะพร้าวที่เขานำมาใช้จัดแต่งทรงผม ท่าทีของเต๋ที่มีต่อมะพร้าวก็สั่นคลอนไปทีละน้อย และชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อความสัมพันธ์ของทั้งคู่พัฒนาไปสักระยะหนึ่ง คนดูเริ่มจับได้ว่าเต๋มีท่าทีเป็นห่วงเป็นใยโอ้เอ๋วแบบผิดสังเกต 

โดยเฉพาะฉากที่เขาตัดสินใจแอบตามไปส่งโอ้เอ๋วถึงท่าเรือที่บ้านของเขาอย่างเงียบๆ เต๋แสดงออกถึงความเปลี่ยนแปลงภายในใจของเขาที่มีต่อโอ้เอ๋ว ผ่านปฏิกริยาตอบสนองเมื่อได้กลิ่นของมะพร้าวบนศีรษะของโอ้เอ๋ว แทนที่เขาจะบ่นด้วยความรังเกียจ เขากลับชื่นชมกลิ่นนั้นจนโอ้เอ๋วประหลาดใจ หรือกระทั่งตัวเขาเองก็ประหลาดใจกับความเปลี่ยนแปลงนั้น

หลังจากฉากนั้น ผู้ชมจะเห็นถึงนัยอันซ่อนเร้นของ ‘มะพร้าว’ มากขึ้นอีกระดับ เพราะหลังจากทัศนคติในแง่ลบต่อกลิ่นของมะพร้าวที่เปลี่ยนไปแล้ว เต๋ยังพยายามทดลองทานมะพร้าวด้วยตัวเอง ฉากนั้นเป็นการลองทานมะพร้าวที่มีความเซ็กซี่มาก อาจพูดได้ว่าเซ็กซี่พอๆ กับฉากขูดมะพร้าวในภาพยนตร์เรื่อง ‘แม่เบี้ย’ ได้เลยด้วยซ้ำ

ฉากนี้เกิดขึ้นในที่มืดเปลี่ยว เสียงของลมหายใจที่ดังถี่รัวบางจังหวะ การสูดดมเนื้อมะพร้าว และรีบยัดเข้าไปในปากอย่างดุดัน อากัปกิริยาต่างๆ เหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นการแสดงออกทางแรงขับทางเพศภายในใจของเขา หรือพูดให้ชัดคือเป็นฉากแห่งการ ‘สำเร็จความใคร่ทางเพศด้วยตัวเอง’ ของเต๋ และมะพร้าวนั่นจะแทนใครไปไม่ได้นอกจากโอ้เอ๋ว อีกทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนของมะพร้าวที่มนุษย์อธิบายว่าเป็นฮอร์โมนเพศหญิง อาจทำให้เราเข้าใจเพศวิถีของโอ๋เอ๋วมากขึ้น แรงขับทางเพศของเต๋ที่เกิดขึ้นนั้นคงไม่ใช่เรื่องน่าตกอกตกใจอะไรนัก หากเราทราบถึงสรรพคุณของมะพร้าวที่มีส่วนช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้ ยังไม่รวมถึงกลิ่นของน้ำมะพร้าวที่ชวนให้เราคิดถึงอะไรต่อมิอะไร …

อีกประเด็นหนึ่งของมะพร้าวที่น่าสนใจคือ น้ำมะพร้าวถือเป็นน้ำบริสุทธิ์จากธรรมชาติในคติโบราณของทั้งไทยและจีน ช่วยชะล้างจิตใจให้บริสุทธิ์สดชื่น ดังที่จะเห็นได้จากการนำน้ำมะพร้าวมาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมการเกิดและการตาย

ฉากหนึ่งที่ทั้งคู่ดื่มน้ำพร้าวร่วมกันตอนทั้งขับมอเตอร์ไซค์มุ่งหน้าไปสู่แหลมพรหมเทพด้วยกัน ทั้งสองดื่มน้ำมะพร้าวร่วมกัน การดื่มน้ำบริสุทธิ์นี้อาจชวนให้เราตีความได้ว่าทั้งคู่ได้ชะล้างจิตใจของตัวเองให้บริสุทธิ์จากการกดขี่ทางเพศของสังคมที่ตีตราความรักของคนรักเพศเดียวกัน (ซึ่งจะขออธิบายขยายความฉากการดื่มน้ำมะพร้าวนี้ในเนื้อหาด้านล่างอีกครั้ง) เดินทางสู่เสรีภาพแห่งท้องทะเลที่พวกเขาเลือกเอง

แต่ความบริสุทธิ์นั้นบังเกิดขึ้นภายในใจเท่านั้น ไม่ใช่ในระดับของภาษาที่ถือเป็นปฏิบัติการทางสังคม และความคลุมเครือนี่เองที่ได้สร้างปัญหาใหญ่หลวงตามมาให้กับความสัมพันธ์ของเขาอีกครั้ง

 

ดอกชบาและความล้มสลายของรักชายขอบ

ดอกชบาเป็นดอกไม้ที่ปรากฏในซีรีส์เรื่องนี้บ่อยครั้งมาก ทั้งดอกชบาสีม่วงที่ปรากฏบนเสื้อชั้นในตาล และดอกชบาสีแดงที่ผู้ชมพอจะเดาออกว่าหมายถึงโอ้เอ๋ว

จะว่าไปแล้ว หากพูดถึงความหมายของดอกชบากับวรรณกรรมไทยนั้น คงจะหนีไม่พ้นภาพจำของ ‘เงาะป่า’ หรือตัวละครหญิงไทยแหวกขนบอย่าง ‘สมทรง’ ใน ‘คำพิพากษา’ ที่เป็นสัญญะแห่งชายขอบ

รวมถึงประวัติศาสตร์ความน่าอัปยศของดอกชบาในกฏหมายตราสามดวงที่เคยถูกใช้เป็นสื่อประจานหญิงสาวมากผัว ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่แสดงสัญญะแห่งความแปลกแยกและผิดแผกจากขนบของสังคม ซึ่งสอดรับกับความรักที่ไม่ได้เป็นไปตามอุดมคติของสังคมของเต๋และโอ้เอ๋ว แต่ชบากำลังจะเปลี่ยนความหมายของมันไปพร้อมๆ กับซีรีส์เรื่องนี้

หลังจากฉากที่โอ้เอ๋วสารภาพรักกับเต๋ที่ริมเปลที่ชายหาด ซึ่งถูกประดับประดาด้วยดอกชบาสีแดง ทั้งคู่ทัดดอกชบาสีแดงให้กันเป็นสื่อแทนรัก โอ้เอ๋วสารภาพความรู้สึกในใจของเขากับเต๋ และแม้ว่าฉากนั้นเต๋จะไม่กล้าพูดความในใจของเขาจนเป็นปัญหาตามมา แต่ดอกชบา — ‘พยานรัก’ ในวันนั้นก็ได้เบ่งบานในอัตลักษณ์ของเต๋ ปรากฏบนเสื้อผ้าของเขา

หลังจากเหตุการณ์ที่ริมชายหาดนั้น เสื้อผ้าถัดมาที่เต๋สวมใส่ เป็นเสื้อสีแดงเข้มและกางเกงสีเขียว นี่คงไม่ได้เป็นความผิดพลาดของแผนกจัดเตรียมเสื้อผ้าแน่ๆ แต่เป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่จะใช้แดงของดอกชบาและสีเขียวของใบและลำต้นชบาเพื่อยืนยันว่าเต๋รักโอ้เอ๋วเข้าแล้วอย่างไม่อาจถอนตัวได้ และความรักนั้นลึกซึ้งเกินกว่าจะแยกออกจากอัตลักษณ์ของตัวเองได้

ความรักที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความรักใสๆแบบคู่จิ้นหรือรักบริสุทธิ์ตามนิยามของ เพลโต (Platonic love) แต่เป็นความรักร้อนแรงที่เต๋ได้แสดงออกผ่านการกลืนกินมะพร้าวหรือแม้กระทั่งการสวมใส่เสื้อผ้าสีต้นชบา เดินไปหยิบกระดาษภาษาจีนขึ้นมาสูดดม และลงไปนอนดิ้นบนพื้นห้องนอนของเขาด้วยลมหายใจถี่รัว ในจังหวะที่เราตีความได้อีกครั้งว่าเขากำลังสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง

อีกฉากหนึ่งที่ดอกชบากลายเป็นสัญญะอันเย้ายวนอย่างชัดเจน คือฉากที่ตาลขอให้เต๋ระบายสีดอกชบาที่เธอวาด เธอคาดหวังว่าเต๋จะเลือกสีม่วงซึ่งหมายถึงเธอ แต่เธอกลับเลือกสีแดงซึ่งหมายถึงโอ้เอ๋ว ฉากนี้เป็นฉากที่ต้องตีความในเชิงจิตวิทยาถึงจะครบถ้วนทุกกระบวนท่า เพราะอากัปกิริยาท่าทางและเสียงลมหายใจของตาลสื่อสารกับคนดูว่าเหตุการณ์ในระหว่างบรรทัดมีอะไรมากกว่าการขอให้เต๋ระบายสีแน่นอน

‘ดินสอสี’ อาจตีความเป็นสัญญะของเพศชาย ‘ของเต๋’ และดอกชบาในที่นี้อาจแทนได้เท่ากับ ‘ช่องทางแห่งสัมพันธ์รัก’ ของตาล เต๋เลือกปฏิเสธสีม่วง ที่แทนด้วยช่องทางของผู้หญิง แต่กลับเลือกสีแดงที่แสดงถึงสัมพันธ์กับโอ้เอ๋ว ชวนให้คิดต่อไปได้ว่าเป็น ‘ช่องทางของชายรักชาย’ ซึ่งชวนให้คิดต่อไปไกลขึ้นอีกว่าเต๋ ‘เดินทางผิดช่องทาง’ จนทำให้ตาลตกใจ และหยุดกิจกรรมนั้นทันที เธอโมโหเต๋และสามารถปะติดปะต่อความคลุมเครือในความสัมพันธ์ เต๋-โอ้เอ๋ว ได้

นี่ถือเป็นอีกครั้งที่ดอกชบามีบทบาทสำคัญในเรื่องแต่ง แต่สิ่งที่พิเศษแตกต่างออกไป คือความพยายามสร้างความหมายใหม่ที่ตรงกันข้ามกับที่เคยเป็นมาในอดีต ดอกชบานับจากนี้จะไม่ใช่เพียงสื่อประจานสาวมากรัก คนชายขอบ หรือความรักต้องห้ามอีกต่อไป แต่มันกำลังจะเทียบเท่ากับดอกกุหลาบที่ใช้แสดงความรักความปรารถนาดี ความหมายใหม่ของดอกชบานี้จะเกิดขึ้นและเดินทางคู่ขนานไปพร้อมกับๆ การรับรู้ถึงความรักบนฐานของเพศวิถีที่หลากหลายที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถือเป็นความตั้งใจในเชิงลึกของเรื่องนี้เลยก็ว่าได้

 

งานวิวาห์ในศาลเจ้าต้องห้ามที่ห้ามรักไม่ได้

ฉากในศาลเจ้า เป็นอีกหนึ่งในหลายฉากที่ผู้ชมพูดถึงมากถึงความกล้าของตัวละครที่ล่วงละเมิดต่อข้อห้ามของสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมที่เข้ามากำหนดกฏเกณฑ์เพศวิถีของพวกเขา แต่นั่นไม่ใช่สิ่งเดียวที่เกิดขึ้นที่ศาลเจ้าแห่งนั้น

หลังจากที่โอ้เอ๋วสารภาพรักกับเต๋ที่เปลริมชายหาด ไม่นานเขาทั้งคู่เดินทางไปยังศาลเจ้าที่ปิดตายโดยใช้ทางห้ามเข้า เต๋อยู่ในชุดสีต้นชบาเพื่อยืนยันความรักที่เกิดขึ้นแล้ว เคียงบ่าเคียงไหล่กับโอ้เอ๋วในชุดดอกไม้จีนที่ดูละม้ายคล้ายคลึงกับชุดในพิธีมงคลของจีน ทั้งคู่สบตา คุกเข่าต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จุดธูปอธิษฐาน และเดินจูงมือกันก้าวเท้าข้างเดียวกันออกจากศาลเจ้า เต๋บอกกับโอ้เอ๋วว่า “ม้ากูบอกว่า ในวันสำคัญ ก้าวเท้าซ้ายออกจากบ้านก่อนจะเป็นเรื่องดี”

ก่อนหน้าจะเดินทางมาที่ศาลเจ้า ทั้งคู่ขับมอเตอร์ไซค์เลาะริมฝั่งทะเลไปด้วยกัน ดื่มน้ำมะพร้าว (พืชมงคลที่ใช้ในงานวิวาห์ ) ร่วมกัน เมื่อเสร็จพิธีในศาลเจ้า ก็วิ่งไปด้วยกันจนถึงปลายแหลมพรหมเทพที่เชื่อว่าเป็นหางของมังกร สัญลักษณ์แห่งความเป็นมงคลและความโชคลาภ อีกทั้งบนอกเสื้อของเต๋ยังเขียนว่า 月亮 ซึ่งแปลว่า แสงจันทร์ ซึ่งเป็นสัญญะแทนความรัก หรือคู่รักใหม่ หรือแม้กระทั่งความเป็นนิรันดร์

และคืนวันนั้นเป็นคืนแรกที่โอ้เอ๋วนอนค้างที่บ้านของเต๋ และความพยายามในเรือนหอครั้งแรกก็เกิดขึ้น … แม้ว่าจะไม่สำเร็จก็ตาม

ทั้งหมดนี้ เราจะเห็นพัฒนาการของความสัมพันธ์ผ่านสัญญะของสรรพสิ่งรอบตัวละคร และหากเข้าใจสิ่งเหล่านั้น ตอนจบของเรื่องก็จะเป็นสิ่งที่เราคาดเดาได้อยู่แล้ว

สิ่งที่ซีรีส์วายเรื่องนี้ทำ นอกเหนือจากการพยายามลดทอนแฟนตาซีชายรักชายให้ดูใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้นแล้ว มันคือความพยายามเปลี่ยนแปลงความหมายของสรรพสิ่งที่เคยมีนัยทางลบ หรือเป็นของต้องห้าม ให้กลายเป็นสิ่งสามัญและสวยงาม ขยายวงกว้างของบรรทัดฐานให้สามารถบรรจุคนทุกคนได้ โดยไม่มีใครถูกทิ้งให้อยู่ต่ำกว่าหรือถูกหลงลืมไป

ถือเป็นเรื่องน่ายินดีเหลือเกิน ที่ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ ตอกย้ำว่าความผิดหวัง ความรักที่เป็นไปไม่ได้ หรือโศกนาฏกรรมที่ไม่ใช่ไวยกรณ์เดียวในตอนจบของเรื่องแต่ง ที่ว่าด้วยชีวิตและความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันอีกต่อไป การปฏิวัติที่เกิดขึ้นในหัวใจของเต๋ หรือแม้กระทั้งในระดับของซีรีส์เรื่องนี้เผยให้เราเห็นแล้วว่า การปฏิวัติเป็นเรื่องของคนมีหัวใจ 

และคนไร้หัวใจต่างหากที่ลุกขึ้นมาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ…

อ้างอิง

https://waymagazine.org/jin_yong_go_west/

https://www.vogue.co.th/lifestyle/article/itoldsunsetaboutyouep3

Fact Box

แปลรักฉันด้วยใจเธอ (I told sunset about you) เป็นซีรีส์แนว Romantic Coming of Age ในโปรเจคพิเศษ BKPP Project ของสองนักแสดงวัยรุ่นชื่อดัง บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล (เต๋) และ พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร (โอ้เอ๋ว) ผลิตโดย นาดาวบางกอก  ภายใต้ความร่วมมือกับไลน์ทีวี เรื่องราวของ เต๋ และ โอ้เอ๋ว เพื่อนสนิทที่มีเหตุให้ต้องทะเลาะกันในวัยเด็ก และได้กลับมาพบกันอีกครั้งในช่วงเวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยใช้ฉากและบรรยากาศของเมืองภูเก็ตเป็นโลเกชั่นหลักในการถ่ายทำ

 

Tags: ,