อิตาลีเริ่มแบนการใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่ผัก ผลไม้ และขนมอบแล้ว ออกกฎให้เปลี่ยนมาใช้ถุงที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้แทน แต่ถุงทุกถุงมีราคาที่ต้องจ่าย ฟังดูเป็นเรื่องราวดีๆ และรักโลกใช่ไหม แต่กลายเป็นว่า กฎหมายใหม่นี้เป็นประเด็นถกเถียงอันร้อนแรงทางการเมืองของอิตาลีไปเสียได้
กฎหมายเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้นี้ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา ทำให้คนอิตาลีต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 1-3 เซนต์ต่อการใช้ถุงพลาสติกหนึ่งใบ ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้จะปรากฏบนใบเสร็จด้วย และหากเจ้าของร้านไม่สามารถเก็บเงินค่าถุงจากลูกค้า ก็จะเป็นฝ่ายถูกปรับเสียเอง
รัฐบาลออกกฎนี้เพราะต้องการปฏิบัติตามกฎหมายสหภาพยุโรป ว่าด้วยปัญหาเรื่องถุงพลาสติกเมื่อปี 2015 และเรียกได้ว่าอิตาลีแทบจะเป็นประเทศแรกที่เปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้
ต่อให้มีเจตนาดีด้านสิ่งแวดล้อม แต่มาตรการนี้ก็ถูกมองว่าใช้ไม่ได้
หลังจากกฎหมายนี้ประกาศใช้ ก็เกิดการต่อต้านขึ้นทั่วประเทศ ทั้งที่ร้านค้าและที่ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งในโลกออนไลน์ซึ่งปรากฏภาพล้อเลียนและส่งต่อกันทางโซเชียลมีเดีย เช่น ภาพสโนว์โวท์ชะงักงันไม่ยอมกินแอปเปิลอาบยาพิษที่ไม่ได้ใส่ในถุงพลาสติก บางคนก็บอกว่า แทนที่จะต้องจ่ายเงิน คนอิตาลีก็ต้องเริ่มซื้อผลไม้แบบชั่งแยกทีละลูกแล้ว ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง ถึงกับขึ้นป้ายขออภัยที่ต้องเก็บเงินจากลูกค้าที่ประตูทางเข้า
นอกจากนี้ อิตาลีจะมีเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 มีนาคม และเรื่องนี้ถุงพลาสติกกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปได้ เมื่อผู้นำฝ่ายค้านกล่าวหาว่า มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมที่รัฐบาลประกาศใช้นี้ เพิ่มภาระให้กับครอบครัวอิตาลีมากขึ้น
ไม่ใช่ร้านค้าทุกแห่งที่เต็มใจปฏิบัติตาม “เราจ่ายภาษีไปแล้ว ตอนนี้เขาจะถูกเก็บเงินค่าอากาศอีก” ลิโอนาร์โด แมสสิโม เจ้าของร้านขายผักและผลไม้ในตลาดกลางกรุงโรมกล่าว “ผมไม่ปฏิบัติตาม คุณบังคับผมให้เก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้หรอก ถ้าอยากจะปรับผม ก็มาเลย แต่ในความเป็นจริงก็คือ ประชาชนทนเรื่องนี้ไม่ได้”
เพื่อบรรเทาความขุ่นเคืองใจ กระทรวงสาธารณสุขอิตาลีแนะนำว่า ประชาชนสามารถนำถุงพลาสติกที่ไม่เคยใช้งานมาจากบ้านได้ แต่ยังเตือนว่า “การใช้ถุงพลาสติกซ้ำเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากแบคทีเรีย” ซึ่งยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ตัวแทนจาก Legambiente สมาคมสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลีออกมาวิจารณ์ว่า นี่น่าจะเป็นคำพูดของคนที่ไม่เคยไปซูเปอร์มาร์เก็ต ทำราวกับว่าผักและผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ตผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว เพราะผักที่ขายก็ยังมีดินติดอยู่เลย เขาตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลไม่นำถุงตาข่ายที่ใช้ซ้ำได้แบบที่ใช้กันในเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ มาใส่ผักและผลไม้
“เหลือเชื่อที่กฎหมายของอิตาลีก้าวหน้ากว่าของสหภาพยุโรป แต่รัฐบาลจัดการได้แย่มาก พวกเขาทำให้กฎหมายที่ทันสมัยนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง แล้วเราก็กำลังอยู่ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง”
มาร์โค เบลโปลิตี นักวิจารณ์ทางการเมืองเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “การปฏิวัติ 2 เซนต์” โดยอธิบายว่านี่เป็นเทอร์โมมิเตอร์วัดระดับความไม่สบายใจของอิตาลี และเรียกร้องให้นักการเมืองหันมาสนใจปัญหานี้ แต่นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าการถกเถียงเรื่องการเก็บค่าถุงจนกลายเป็นประเด็นทางการเมือง นับเป็นจุดต่ำสุดใหม่ของการโต้เถียงทางการเมืองของอิตาลี
“ทุกคนมักบอกว่าตัวเองรักสิ่งแวดล้อมและเยาะเย้ยทรัมป์ที่ไม่คำนึงถึงเรื่องโลกร้อน แต่ถ้าต่อว่าพวกเขาบ้างว่า ได้ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมอีกบ้างนอกจากการกระทำเชิงสัญลักษณ์อันน้อยนิดนี้ พวกเขาจะไม่พอใจ” มาร์โค เจรบาโซนี นักประวัติศาสตร์ เขียนไว้ในบทบรรณาธิการหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ Il Messaggero
แต่ละปี ชาวอิตาลีใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้ราว 9 – 10 พันล้านใบ หรือราวคนละ 150 ใบ ค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกรายปีของครอบครัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4-12.50 ยูโร แต่ความย้อนแย้งอยู่ตรงที่ว่าการเก็บค่าถุง 1-2 เซ็นต์ ก่อให้เกิดการต่อต้านรุนแรงกว่าการขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม ค่าไฟฟ้า และค่าทางด่วนเพิ่ม 5 เปอร์เซ็นต์เสียอีก
น่าสนใจว่า ความไม่พอใจนี้เกิดจากความเดือดร้อนของผู้คนล้วนๆ หรือเพราะมันถูกปั่นเป็นประเด็นทางการเมืองกันแน่
ที่มา
https://www.nytimes.com/2018/01/08/world/europe/italy-plastic-bags.html
https://www.esmmagazine.com/italy-payment-biodegradable-bags/53956
Tags: Italy, EU, สิ่งแวดล้อม, ถุงพลาสติก, อิตาลี