เวทีประชุมระดับผู้นำของอาเซียน ปิดฉากเมื่อวันอาทิตย์ วาระส่วนใหญ่เป็นประเด็นสืบเนื่อง มีเพียงบางหัวข้อที่นับเป็นเรื่องใหม่

อาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 34 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ (22-23 มิ.ย.) หยิบยก 3 ประเด็นหลักที่เป็นสถานการณ์ในภูมิภาคขึ้นหารือกัน คือ เขตการค้าเสรี ข้อพิพาททะเลจีนใต้ และการส่งกลับชาวโรฮิงญา แถมพ่วงด้วยบางประเด็น อย่างเช่น ขยะทะเล ความริเริ่มอินโด-แปซิฟิก

มองในภาพรวม การประชุมสุดยอดอาเซียนรอบนี้ ยังไม่ปรากฏผลสำเร็จในเรื่องสำคัญๆ อย่างเป็นรูปธรรม ทุกประเด็นยังต้องขับเคลื่อน สานต่อ และรอฉันทามติของชาติสมาชิก

‘อาร์เซพ’ ตั้งเป้าปลายปี

ประเด็นที่ได้รับการจับตามาก ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้นำของประเทศเจ้าภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นความสำคัญ คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP – Regional Comprehensive Economic Partnership)

นายกรัฐมนตรีไทยเรียกร้องให้ชาติอาเซียนสรุปผลการเจรจาการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาร์เซพให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยบอกว่า อาร์เซพจะช่วยให้อาเซียนมีอำนาจต่อรอง และสามารถรับมือกับผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างคู่ค้าสำคัญของอาเซียน ซึ่งหมายถึงจีนกับสหรัฐฯ

ภาพ: Romeo GACAD / AFP

อาร์เซพมีสมาชิก 16 ประเทศ ครอบคลุม 10 ชาติอาเซียน บวกด้วยจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แนวคิดในการจัดตั้งมาจากจีน หากจัดตั้งสำเร็จ อาร์เซพจะนับเป็นกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุมประชากร 45 % ของโลก และมีจีดีพีรวมกันกว่า 1 ใน 3 ของโลก

กลุ่มนี้เริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2012 แต่จนบัดนี้ยังตกลงกฎกติกากันไม่จบ เพราะอินเดียกลัวสินค้าจีนหลั่งไหลเข้าไปแย่งตลาด ขณะที่ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ต้องการให้มีเงื่อนไขด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมด้วย

น่านน้ำพิพาท

ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เป็นอีกประเด็นที่อาเซียนต้องชำระสะสาง การแก้ไขปัญหาอธิปไตยเหนือเขตแดนให้ลุล่วงอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี หรือหลายชั่วอายุคน แต่อย่างน้อยอาเซียนหวังว่า หากประเทศคู่พิพาทสามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติในการเดินเรือ นั่นก็จะช่วยป้องกันความขัดแย้งได้

เมื่อวันเสาร์ ประเทศเจ้าภาพการประชุมบอกว่า อาเซียนคงสรุปร่างแรกของแนวทางปฏิบัติได้ภายในสิ้นปีนี้ และร่างสุดท้ายน่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2021 หลังจากใช้เวลาเจรจาจัดทำเอกสารนี้มานานหลายปี

โรฮิงญายังไร้รัฐ

เรื่องราวของชาวมุสลิมโรฮิงญาที่อพยพหนีการกวาดล้างของกองทัพเมียนมาเข้าไปพักพิงในบังกลาเทศกว่า 740,000 คน และบางส่วนเสี่ยงชีวิตลงเรือล่องมายังหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงเป็นประเด็นที่อาเซียนต้องหาทางคลี่คลาย เนื่องจากถือเป็นวิกฤตด้านความมั่นคงของมนุษย์ในภูมิภาค

ถ้อยแถลงปิดการประชุมเมื่อวันอาทิตย์ ระบุว่า ผู้นำอาเซียนสนับสนุนความพยายามของเมียนมาที่จะ “อำนวยความสะดวกแก่ผู้พลัดถิ่นที่จะกลับบ้านโดยความสมัครใจ และคืนสู่ถิ่นฐานอย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี”

ชาติอาเซียนที่แสดงความวิตกต่อปัญหานี้อย่างเด่นชัดกว่าใครเพื่อน คือ มาเลเซีย เมื่อวันเสาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ซัยฟุดดิน บิน อับดุลลาห์ บอกว่า การส่งกลับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องพ่วงเงื่อนไขการได้รับสัญชาติด้วย นอกจากนี้ ผู้ก่อเหตุสังหารหมู่และกระทำทารุณโหดร้ายต่อชาวโรฮิงญาสมควรได้รับโทษทัณฑ์

ที่ผ่านมา อาเซียนบอกว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจะเดินทางกลับไปยังเมียนมาภายใน 2 ปี ทว่าในความเป็นจริง ไม่มีใครสมัครใจกลับไปยังบ้านเกิดเลย เพราะวิตกเรื่องความปลอดภัย และรัฐบาลเมียนมาก็ไม่มีนโยบายที่จะให้สัญชาติแก่กลุ่มคนที่ชาวพม่าเรียกว่า พวกเบงกาลี

ขานรับ ‘อินโด-แปซิฟิก’

ประเด็นที่พอนับได้ว่า ‘ใหม่’ จากการประชุมรอบนี้ คือ การแสดงท่าทีต่อแนวคิดที่สหรัฐฯ นำเสนอเมื่อไม่นานมานี้ ว่าด้วยความริเริ่มอินโด-แปซิฟิก อย่างไรก็ดี ท่าทีของอาเซียนไม่ได้มีอะไรหวือหวาแหวกแนว เพียงแต่เดินตามกรอบของบรรทัดฐานระหว่างประเทศในเรื่องการแก้ไขความขัดแย้ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาเซียนรับรองเอกสารฉบับหนึ่ง เรียกชื่อว่า ‘ASEAN Outlook on the Indo-Pacific’ โดยบอกว่า แนวคิดดังกล่าวถือเป็น “ก้าวย่างสำคัญ” สำหรับภูมิภาค

เอกสารดังกล่าวยอมรับว่า ภูมิภาคนี้มีข้อพิพาททางทะเลที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะลุกลามเป็นความขัดแย้ง พร้อมกับเสนอให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกัน เพื่อ “แก้ไขข้อพิพาทโดยสันติ” และสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีความเชื่อมโยงกัน

สุดท้าย กรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล เป็นอีกหนึ่งผลผลิตจากการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามที่จะรับมือกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ค่อยได้รับความสำคัญเท่าที่ควร.

 

อ้างอิง:

Reuters, 23 June 2019

AFP via Channel News Asia, 23 June 2019

ภาพเปิด: REUTERS/Athit Perawongmetha

Tags: , , , , , , , , ,