เดวิด เฮล (David Hale) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายกิจการด้านการเมือง สหรัฐอเมริกา แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งสถานการณ์การเลือกตั้งในอินโดนีเซียและไทย ประเด็นชนกลุ่มน้อยที่ตั้งใจจะไปหารือกับรัฐบาลเมียนมา พร้อมทั้งตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอาเซียนและจีน รวมทั้งความคืบหน้าประเด็นเกาหลีเหนือ ในงานแถลงข่าวระหว่างมาเยือนกรุงเทพฯ เมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเขาบอกว่าทริประยะเวลาหนึ่งสัปดาห์นี้เป็นทริปแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

เทียบอาเซียน-จีน ประเด็นการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย

    เดวิด เฮล กล่าวว่าในวันที่ 1-3 พ.ค. เขาจะไปเยือนเมียนมาเพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย รวมทั้งสนับสนุนการรักษาสันติภาพและการเปลี่ยนผ่านเมียนมาสู่ประชาธิปไตย

“สำหรับเรา อาเซียนเป็นต้นแบบของความอดกลั้นและความเคารพต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และโอบอุ้มความหลากหลายไว้ ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนจากประเทศอื่นๆ บางประเทศ เช่นจีน อย่างที่เราได้เห็นการออกมาตรการที่ตรงกันข้าม อย่างปฏิบัติการกดขี่คุกคามชนกลุ่มน้อย” เดวิด เฮล กล่าวในแถลงการณ์เปิดงาน

มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องโรฮิงญา ซึ่งไทยในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ต้องเจอกับความท้าทาย เรื่องนี้นายเฮลให้ความเห็นว่า ผู้แทนของประเทศต่างๆ ในอาเซียนน่าจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรพัฒนานโยบายอย่างไรถึงจะดีที่สุด แต่สำหรับสหรัฐฯ คือการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อช่วยปกป้องคนในพื้นที่ และจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกดขี่กลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ตามที่ปรากฏในข้อกล่าวหาและหลักฐานต่างๆ

และนับตั้งแต่สิงหาคม ปี 2017 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ถือเป็นผู้บริจาครายใหญ่ คิดเป็นเงินเกือบ 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อจัดการกับภัยคุกคามด้านมนุษยธรรมอื่นๆ ที่กำลังเป็นปัญหาในเมียนมา

ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียและไทย

    นายเฮลได้กล่าวถึงการเยือนอินโดนีเซียในวันก่อนหน้า และแสดงความยินดีกับประชาชนชาวอินโดนีเซียที่จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นภายในวันเดียวกันเป็นครั้งแรก

สำหรับประเทศไทย นายเฮลแสดงความยินดีและความปรารถนาดีในวาระพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

“ขอแสดงความยินดีอย่างจริงใจต่อประชาชนชาวไทยต่อการเลือกตั้ง ผมมาที่นี่เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการหลังการเลือกตั้ง และเพื่อหารือเกี่ยวกับการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ ประเด็นหลักในการพบปะครั้งนี้ คือความร่วมมือหลักๆ ที่เรามีกับประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก นอกเหนือไปจากความตกลงแบบทวิภาคี ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเป็นผู้นำของไทยในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และความร่วมมือ ACMECS (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy)”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เนื่องจากผลการเลือกตั้งในไทยยังคงไม่แน่นอน ทั้งที่ผ่านมาเป็นเดือนแล้ว สหรัฐฯ จะมีนโยบายต่อไทยอย่างไร นายเฮลตอบอย่างกว้างๆ ว่า ไทยเป็นพันธมิตรและเพื่อนที่มีสายสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มายาวนานกว่า 200 ปี และมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอันแน่นแฟ้น ทั้งยังมีความร่วมมือด้านอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งด้านความมั่นคง การลงทุน สาธารณสุข และอาชญากรรมข้ามชาติ เขายืนยันตามแถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ รู้สึกยินดีที่ประชาชนไทยให้การสนับสนุนอย่างขันแข็งเพื่อกลับคืนสู่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และชื่นชมการทำหน้าที่อย่างจริงจังของสื่อมวลชนตั้งแต่ก่อนและหลังเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย

“แต่เราก็ได้รับฟังข่าวคราวและรับทราบข้อกังวลเกี่ยวกับกระบวนการหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเราก็ยืนอยู่ข้างประชาชนชาวไทยที่คาดหวังให้เกิดกระบวนการที่ยุติธรรมและโปร่งใส เราหวังว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาจะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนไทย ซึ่งรอคอยโอกาสที่จะแสดงเจตนานี้ผ่านการเลือกตั้งมานาน และนี่ก็เป็นเป้าหมายของทุกสังคมประชาธิปไตย”

เฮลเน้นไปที่คำว่า ‘กระบวนการ’ โดยย้ำว่าไม่ได้เจาะจงไปที่พรรคใดพรรคหนึ่งหรือผลลัพธ์แบบใดแบบหนึ่ง ส่วนกรณีที่สถานทูตสหรัฐฯ ได้ส่งตัวแทนไปสังเกตการณ์คดีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จนเกิดเป็นกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการเลือกข้างอย่างไม่เหมาะสมในทางการทูต เฮลตอบว่า สหรัฐฯ ปฏิบัติเช่นนี้เหมือนกันกับในหลายๆ ประเทศเมื่อใดก็ตามที่มีกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

“เราสนับสนุนกระบวนการ เราไม่ได้ต้องการเลือกข้างปัจเจกบุคคลหรือพรรคการเมืองใด เจตนาเรามีเพียงเพื่อสร้างความมั่นใจว่า กระบวนการดังกล่าวยุติธรรมและโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหรือนอกการเลือกตั้ง หรือในกระบวนการหลังการเลือกตั้ง ต่อบุคคลต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

“สิ่งที่สำคัญสำหรับเราก็คือ กระบวนการนี้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติมากๆ สำหรับประเทศต่างๆ เช่นไทย ที่จะเป็นที่สนใจของประเทศอื่นรวมทั้งสหรัฐฯ เราหวังให้ประเทศไทยแข็งแกร่ง ซึ่งประเทศไทยจะแข็งแกร่งได้ ผลการเลือกตั้งก็ต้องสะท้อนเจตนาของประชาชนในประเทศ เป็นเรื่องธรรมชาติที่มิตรประเทศต่างก็อยากมีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในกระบวนการพิจารณาคดี เพื่อให้แน่ใจว่ามันเป็นไปตามมาตรฐานของนานาชาติ  นั่นก็คือเจตนาของเรา เราทำแบบนี้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เหตุการณ์นี้ไม่มีอะไรผิดปกติเลย

“ผมคิดว่าประชาชนไทยเองก็อยากจะสังเกตการณ์ด้วยตาของพวกเขาเองเหมือนกัน เมื่อมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย”

สำหรับประเด็นที่ว่า เมื่อใดสหรัฐฯ จะแต่งตั้งทูตประจำประเทศไทยคนใหม่ เฮลบอกว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลาดำเนินการ ทั้งความตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเจ้าบ้าน และการรับรองจากสภาคองเกรส “แต่ต้องเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ได้สะท้อนความสัมพันธ์ที่เรามีระหว่างกัน”

ยกย่องอาเซียน สานความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก

นายเฮลยกย่องคุณค่าต่างๆ ที่อาเซียนได้นำเสนอออกมา ทั้งการให้ความเคารพต่ออธิปไตยและความเท่าเทียมของแต่ละประเทศ เคารพต่อสิทธิของรัฐทุกรัฐ และดำรงอยู่ร่วมกันโดยไม่มีการบีบบังคับ

“เราชื่นชมอาเซียนที่สนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือ (Freedom of Navigation) ในทะเลจีนใต้ รวมทั้งความร่วมมือของอาเซียนในการปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่อประเด็นเกาหลีเหนือเพื่อให้นำไปสู่เป้าหมายการสละอาวุธนิวเคลียร์”

และแม้ว่ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐฯ อาจจะดูทับทางกันกับ ‘อินโด-แปซิฟิก เอาต์ลุก’ ของอาเซียน นายเฮลกล่าวว่า วิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคนี้คือต้องการให้เป็นภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งน่าจะไปทางเดียวกันกับวิสัยทัศน์ของอาเซียนอยู่แล้ว

“เราต้องการเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ขยายออกไปสู่ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ”

ไม่คาดหวังให้ใครเลือกข้าง จีนหรือสหรัฐฯ

    การที่ผู้นำไทยแสดงทีท่าเข้าหาจีน ประเด็นนี้จะกระทบความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ไหม เฮลตอบว่า ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ นั้นเป็นอิสระจากความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศอื่นๆ และสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ

“ชัดเจนว่าจีนเป็นผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ แต่เราไม่มีทางคาดหวังให้ประเทศใดๆ ในเอเชียต้องเลือกระหว่างสหรัฐฯ หรือจีนอย่างใดอย่างหนึ่งได้แบบ zero-sum game เราไม่คาดหวังให้ใครตัดสินใจเลือกอะไรแบบนั้นได้ และเราเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนในประเด็นที่ยึดเอาผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง และสร้างความร่วมมือกันในประเด็นต่างๆ เช่นการปฏิบัติต่อเกาหลีเหนือ หรือการรับมือวิกฤตฝิ่นในสหรัฐฯ

“แต่เราเองก็มีจุดยืนต่อประเด็นคุณค่าต่างๆ หากมันขัดแย้งกับสิ่งที่จีนทำ เราก็พร้อมจะปกป้องคุณค่าและผลประโยชน์เหล่านี้ ซึ่งรวมทั้งการตอบโต้ด้วยนโยบายการค้า ผมเองก็หวังว่าประเทศอื่นๆ จะมองจีนในมุมมองเดียวกัน”

เกาหลีเหนือ

    นายเฮลตอบคำถามเกี่ยวกับความคืบหน้าประเด็นเกาหลีเหนือว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดตามความตั้งใจเดิมที่มีมาตั้งแต่ก่อนการพบปะที่ฮานอยและหลังจากนั้น แม้ผลลัพธ์ที่ฮานอยจะจบไปโดยไร้ข้อตกลง

“อันที่จริง สิ่งที่เกิดขึ้นที่ฮานอยไม่ได้เป็นไปในทางลบทั้งหมด ฮานอยได้ขยายโอกาสให้เราได้แลกเปลี่ยนข้อตกลงในรายละเอียด และช่วยลดช่องว่าง มันยังเป็นโอกาสให้เราได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าเราต้องการการสละอาวุธนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิง เราชื่นชมความร่วมมืออันเป็นหนึ่งเดียวกันจากกลุ่มประเทศในอาเซียน นอกจากการคว่ำบาตรแล้ว เรายังขอให้ประเทศต่างๆ ลดความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตที่มีกับเกาหลีเหนือ

“ทั้งนี้ การได้จัดซัมมิตที่ฮานอยยังมีความหมายมาก เพราะว่าผู้นำเกาหลีหนีจะได้มองเห็นภาพของเส้นทางที่แตกต่าง และประโยชน์ที่ประชาชนชาวเวียดนามได้รับ”

การไปเยือนปูตินของคิมจองอึน อาจทำให้ดูเหมือนว่า เกาหลีเหนือมีทางเลือกใหม่ที่ทำให้ไม่ต้องเข้าหาสหรัฐฯ หรือไม่ นายเฮลตอบสั้นๆ ว่า “สหรัฐฯ ก็จะยังปฏิบัติตามมติของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเราหวังว่าประเทศทั้งหลาย รวมทั้งจีนและรัสเซีย จะเคารพและปฏิบัติตามมตินี้ด้วย”

ต่อจากการมาเยือนไทย เดวิด เฮล จะไปเยือนเมียนมาต่อด้วยญี่ปุ่น ตามลำดับ

Tags: , , ,