ผู้นำไทยรับมอบหน้าที่การเป็นประธานอาเซียนแล้ว ตำแหน่งหมุนเวียนที่ว่านี้มาพร้อมกับประเด็นโรฮิงญา ที่แม้ว่าทั่วโลกจะมองเป็นวิกฤต แต่ประเทศในอาเซียนมองเรื่องนี้เป็นกิจการภายในของเพื่อนบ้าน ซึ่งก็คาดการณ์ได้ว่า ประชาคมภูมิภาคภายใต้การขับเคลื่อนของไทย จะมีบทบาทจำกัดต่อกรณีโรฮิงญาไม่เปลี่ยนแปลง

ในสัปดาห์นี้ ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวิกฤตชาวโรฮิงญานับว่ามีสีสันมาก ขณะที่พม่ากับบังกลาเทศต่างโทษกันไปมาที่ไม่สามารถส่งชนชาติส่วนน้อยชาวมุสลิมที่หลบหนีการกวาดล้างของกองทัพพม่ากลุ่มนี้จากค่ายพักพิงในบังกลาเทศกลับไปยังรัฐยะไข่ในพม่าได้ อองซาน ซูจี ผู้นำพม่า ก็เจอกระแสประณามอย่างหนักหน่วงระหว่างไปร่วมประชุมอาเซียนที่สิงคโปร์

นอกจากเสียงต่อว่าต่อขานจากนอกกลุ่มอาเซียนแล้ว ประเทศมาเลเซียยังตำหนิผู้นำโดยพฤตินัยของพม่าอย่างชนิดแหวกวิถีปฏิบัติของประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันเลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม เดาเรื่องนี้ล่วงหน้าได้เลยว่า ถึงแม้สมาชิกบางประเทศวิจารณ์การจัดการปัญหาโรฮิงญาของพม่า แต่ชาติสมาชิกทั้งหลายในนามกลุ่มอาเซียนจะยังคงแทบไม่มีบทบาทในเรื่องนี้ต่อไปเหมือนเดิม แม้ถึงคิวที่ไทยซึ่งมีพรมแดนติดกับพม่าและเผชิญผลกระทบจากปัญหานี้ ได้นั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนในปี 2019 ก็ตาม

‘ซูจี’ รับศึกหนัก

ตลอดสามวันที่ร่วมประชุมที่สิงคโปร์ ซูจีเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากนานาชาติ เมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเคยรณรงค์ให้ปล่อยตัวเธอจากการกักบริเวณในบ้านพัก ประกาศถอดถอนรางวัลเกียรติยศสูงสุดด้านสิทธิมนุษยชนที่เคยมอบให้ ด้วยเหตุที่เธอ “วางเฉย” ต่อการทารุณกรรมต่อชาวโรฮิงญา

ในวันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด พูดกับนักข่าวก่อนการประชุมผู้นำอาเซียน ว่า “คนที่เคยถูกกักตัวควรรู้ซึ้งถึงความยากลำบาก และไม่ควรสร้างความทุกข์เข็ญแก่คนที่ประสบชะตากรรมเลวร้าย แต่ดูเหมือนว่าอองซาน ซูจี พยายามแก้ตัวให้กับเรื่องที่ไม่อาจแก้ตัวได้”

ในวันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 0รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ ซึ่งมาประชุมแทน โดนัลด์ ทรัมป์ พูดกับนางซูจีว่า การใช้ความรุนแรงและการเข่นฆ่าชาวโรฮิงญา เป็นเรื่องที่ไม่อาจอภัยได้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด พูดกับนักข่าวก่อนการประชุมผู้นำอาเซียน ว่า “คนที่เคยถูกกักตัวควรรู้ซึ้งถึงความยากลำบาก และไม่ควรสร้างความทุกข์เข็ญแก่คนที่ประสบชะตากรรมเลวร้าย

ย้อนไปเมื่อเดือนสิงหาคม คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติออกรายงานระบุว่า การกวาดล้างชาวโรฮิงญาของรัฐบาลพม่ามีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นี่ยังไม่นับบุคคลมีชื่อเสียงหลายรายที่เคยตำหนิติเตียนรัฐบาลพม่าในเรื่องนี้ เช่น อาร์คบิชอป เดสมอนด์ ตูตู เจ้าของโนเบลสาขาสันติภาพ และบิล ริชาร์ดสัน อดีตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น

อย่างไรก็ตาม เวทีอาเซียนในปีนี้ไม่ได้แสดงท่าทีต่อกรณีชาวโรฮิงญา ซึ่งพม่ากับบังกลาเทศกำลังงัดข้อกันในเรื่องการส่งกลับผู้อพยพ ว่าไปแล้ว ประเด็นนี้แทบไม่ได้อยู่ในโฟกัสของอาเซียนมาแต่ไหนแต่ไร

‘วิถีอาเซียน’

อาเซียนเคยพยายามเข้ามามีบทบาทด้านมนุษยธรรมในประเด็นโรฮิงญาครั้งหนึ่งเมื่อคราวการประชุมสุดยอดครั้งที่ 30 เมื่อเดือนเมษายน 2017 โดยเสนอว่า จำเป็นต้องมีคณะทำงานเพื่อรับมือกับ “วิกฤตและสถานการณ์เร่งด่วนที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายอย่างผิดปกติของบุคคลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

น่าสังเกตว่า แม้กระทั่งจะเอ่ยคำว่า ชาวโรฮิงญา อาเซียนยังหลีกเลี่ยง นัยว่าไม่ต้องการให้เกิดความขุ่นข้องกับรัฐบาลพม่าซึ่งเรียกชนชาติส่วนน้อยชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ผู้ไร้รัฐเหล่านี้ว่า “พวกเบงกาลี” ซึ่งหมายถึงคนที่มาจากบังกลาเทศ

แต่หลังจากข่าวคราวอันน่าตระหนกที่มีชาวโรฮิงญาเสี่ยงชีวิตล่องเรือมายังไทยและประเทศอื่นๆ จางหายจากหน้าสื่อ บทบาทของอาเซียนก็ดูจะแผ่วลง

ถ้าถามว่าอาเซียนจะทำอะไรมากกว่านี้หรือไม่ หากประเมินจากแบบอย่างในอดีต คำตอบคงมีว่า ไม่!

ถึงแม้อาเซียนมีกลไกที่เรียกว่า คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights- AICHR) แต่นักสิทธิมนุษยชนดูจะไม่คาดหวังบทบาทจากกลไกที่ว่านี้กันนัก นั่นเป็นเพราะรู้ดีว่า หลักการและวิถีปฏิบัติที่อาเซียนยึดถือเป็นคัมภีร์นั้น ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาในหลายกรณี

กรณีปัญหาที่อาเซียนจะแสดงบทบาทอย่างจำกัดก็คือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยของรัฐ ปัญหาที่ชาติสมาชิกถือเป็นกิจการภายใน การไม่แทรกแซงถือเป็นหลักการสำคัญในกฎบัตรก่อตั้งอาเซียน ขณะเดียวกัน หลักฉันทามติ ก็เป็นวิถีปฏิบัติมาโดยตลอด อาเซียนจะมีบทบาทเฉพาะในประเด็นที่สมาชิกทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันเท่านั้น

แม้กระทั่งจะเอ่ยคำว่า ชาวโรฮิงญา อาเซียนยังหลีกเลี่ยง นัยว่าไม่ต้องการให้เกิดความขุ่นข้องกับรัฐบาลพม่าซึ่งเรียกชนชาติส่วนน้อยชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ผู้ไร้รัฐเหล่านี้ว่า “พวกเบงกาลี” ซึ่งหมายถึงคนที่มาจากบังกลาเทศ

ประธานใหม่อาเซียน

ประเทศไทยโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับมอบหน้าที่การเป็นประธานอาเซียนจากนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์อย่างเป็นทางการเมื่อ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ประเด็นที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘วาระสำคัญของอาเซียน’ อย่างเรื่องโรฮิงญา กลายเป็นของแถมที่พ่วงมากับเก้าอี้ประธานหมุนเวียนของไทยในปีหน้า

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมองผู้อพยพโรฮิงญาเป็นภัยคุกคามและภาระด้านงบประมาณ วิธีที่หน่วยงานความมั่นคงจัดการกับ ผู้อพยพทางเรือเหล่านี้ คือ ผลักดัน ถ้าลอยเรือเข้ามาก็ให้เสบียงเพื่อให้เดินทางต่อไป ถ้าพบเจอบนฝั่งก็ส่งเข้าศูนย์พักพิงชั่วคราว ไม่มีนโยบายให้พำนักยาวนาน

ล่าสุด มีรายงานว่า ระหว่างการประชุมอาเซียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ เสนอกับบรรดาผู้นำชาติสมาชิกว่า ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) น่าจะมีบทบาทช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รองรับสนับสนุนการส่งกลับ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนในรัฐยะไข่

เวลานี้ สิ่งที่ชาวโรฮิงญาบางส่วนที่ต้องการกลับไปอยู่ในถิ่นฐานบ้านเก่าและที่ดินทำกินผืนเดิม กำลังชุมนุมเรียกร้องในค่ายพักพิงในบังกลาเทศว่า ก่อนที่จะถูกผลักดันส่งตัวกลับเข้าไปในพม่า ก็ต้องการได้สัญชาติในฐานะเป็นพลเมืองของรัฐ  และได้หลักประกันความปลอดภัย ซึ่งความต้องการเหล่านี้ไปไกลกว่าเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาก แต่ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องในอำนาจอธิปไตยของพม่า เป็นกิจการภายในที่รัฐบาลและกองทัพพม่าคงไม่อยากให้ภายนอกเข้าไปก้าวก่าย

ดังนั้น จึงต้องคอยดูกันว่า อาเซียนภายใต้สถานะประธานของไทยจะมีบทบาทตอบสนองความต้องการที่เป็นรูปธรรมของชาวโรฮิงญาได้แค่ไหน

 

(หมายเหตุ: เพิ่มเติมข้อมูลช่วงท้ายเกี่ยวกับท่าทีประเทศไทยต่อเรื่องโรฮิงญา เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2561)

อ้างอิง:

 

Tags: , ,