คนไทยส่วนใหญ่คงไม่แปลกใจที่ได้ยินว่าข้าราชการมักดูถูกประชาชน แต่ที่น่าตกใจก็คือ ระดับการดูถูกยุคนี้ ถึงขั้นเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าประชาชน ‘โง่’ อย่างเปิดเผย
การดูหมิ่นครั้งล่าสุด เกิดขึ้นผ่านเอกสารทางการที่ข้าราชการชวนข้าราชการต้อนรับนายกรัฐมนตรี กรณีนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กแบบคนปากพล่อยสนุกปาก
ภายใต้กระแสความไม่พอใจอย่างรุนแรงจากประชาชน ปฏิกิริยาจากระบบราชการมีแค่ส่งผู้ว่าราชการจังหวัดออกมายกมือไหว้ขอโทษ จากนั้นก็บอกว่าจะอบรมเจ้าหน้าที่ให้เขียนจดหมายให้ดีขึ้น และปิดท้ายด้วยการแก้ประโยคที่ว่า “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” เป็น “ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรู้ความเท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง”
ขณะที่ข้าราชการใหญ่ที่สุดโยนความผิดไปให้ข้าราชการระดับล่างที่พิมพ์เอกสาร แพะในระบบราชการก็ได้แต่ร้องไห้ขอความเห็นใจของประชาชน (ที่เพิ่งด่าไปว่าโง่) ส่วนนายกรัฐมนตรีไม่พูดอะไรที่ควรพูด ทุกคนแสดงท่าทีเอกฉันท์ว่า โอเคกับการแทนคำว่า ‘โง่’ เป็นอบรมให้ประชาชนเท่าทันความเปลี่ยนแปลง
เรากำลังอยู่ในประเทศที่กลไกบริหารประเทศจากบนสุดถึงล่างสุดเห็นพ้องต้องกันว่า ข้าราชการรู้เรื่องโลกดีกว่าประชาชน จนคู่ควรจะไปประทานแสงสว่างแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนขอนแก่นหรือคนอีสานที่เป็นจุดเกิดเรื่องนี้
น่าสลดใจว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ระบบราชการพัวพันกับการดูถูกประชาชน เพราะปี 2558 ก็เกิดเหตุที่นักพูดโนเนมพูดถึงคนอีสานด้วยอวัจนภาษาที่แสนเหยียดหยาม งานนั้นเจ้าภาพคือทหารกองกำลังรักษาความสงบของมหาสารคาม โดยรัฐมนตรียศพลเอกสั่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำหนังสือราชการรับรองให้นักพูดไปอเมริกา
กลไกบริหารประเทศจากบนสุดถึงล่างสุดเห็นพ้องต้องกันว่า ข้าราชการรู้เรื่องโลกดีกว่าประชาชน จนคู่ควรจะไปประทานแสงสว่างแก่ประชาชน
แม้การดูถูกคนอีสานจะทำให้เกิดปฏิกริยาสังคมที่รุนแรงจนนักพูดคนดังกล่าวไม่อาจอยู่ในสารบบของบุคคลผู้มีชี่อเสียงได้อีกต่อไป หน่วยราชการที่ว่าจ้างนักพูดให้ปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนทั่วอีสานและต่างประเทศ ก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ แม้แต่ยกมือไหว้ให้เรื่องจบอย่างที่ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นทำ
ท่ามกลางระบบราชการที่สาดอวิชชาหมิ่นคนอีสานจนแทบเป็นปรากฏการณ์สามัญแห่งยุคสมัย นักวิชาการฝรั่งด้านไทยศึกษาชื่อดังอย่าง ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ (Charles F.Keyes) กลับเสนอแนวคิดว่า คนอีสานเป็น ‘Cosmopolitan Villagers’ หรือ ‘ชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง’ ซึ่งมีชีวิตที่แยกไม่ออกจากโลกาภิวัตน์จนเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลง
จินตภาพเรื่องคนอีสานของอาจารย์เริ่มต้นจากข่าวเล็กๆ ในวันที่ 19 มีนาคม 2553 เรื่องกรรมกรไทยในอิสราเอลตายจากจรวดที่ยิงจากฉนวนกาซ่า อาจารย์เชื่อมโยงว่า ในอิสราเอลมีกรรมกรไทย 30,000 คน และมีคนไทยอีกเป็นล้านที่ขายแรงงานในตะวันออกกลาง ลิเบีย ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา
คนไทยพอจะรู้กันว่า คนอีสานไปขายแรงงานมากที่สุดในประเทศไทย อาจารย์คายส์ต่อยอดเรื่องนี้โดยระบุว่า ‘ชาวบ้าน’ อีสานอยู่ในห่วงโซ่แรงงานระดับโลกตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งแปลว่ามีคนอีสานเป็นล้านที่ใช้ชีวิตในประเทศแถวหน้าแบบนี้ หรือพูดอีกนัยคือ อีสานเป็นส่วนหนึ่งของโลกมากกว่าที่คนไทยเข้าใจ
ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ (Charles F.Keyes) เสนอแนวคิดว่า คนอีสานเป็น ‘Cosmopolitan Villagers’ หรือ ‘ชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง’ ซึ่งมีชีวิตที่แยกไม่ออกจากโลกาภิวัตน์จนเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลง
นอกจากจะเข้าสู่โลกผ่านการขายแรงงานต่างแดน คนอีสานที่ไปทำมาหากินในกรุงเทพฯ หรือภาคอื่นๆ ยังมีอีกมหาศาล คนเหล่านี้สั่งสมประสบการณ์จากอาชีพต่างๆ จนพัฒนาเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กอย่างอู่แท็กซี่ ร้านค้า ร้านข้าว ฯลฯ ได้ไม่น้อย ซึ่งในภาพรวมก็คือการเข้าถึงเศรษฐกิจสมัยใหม่กว่าที่ราชการประเมิน
ขณะที่คนไทยเห็นภาพ ‘ชาวบ้าน’ อีสานเป็นชาวนาเป่าแคนกลางทุ่งแบบละครนายฮ้อยทมิฬ ในความจริง คนอีสานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและบริการนอกประเทศนานแล้ว ไม่ต้องพูดถึงคนอีกมหาศาลที่ทำงานในเมืองหลักของประเทศ เช่นเดียวกับคนที่การขยายตัวของอินเทอร์เนตทำให้รู้ทันความเปลี่ยแปลง
ตรงข้ามกับความเข้าใจผิดในหมู่ราชการและคนไม่น้อย ว่าอีสานคือดินแดนของชาวบ้านที่ไม่รู้เรื่อง จน ไร้การศึกษา ถูกนายทุนหลอก เป็นเหยื่อนักการเมือง ฯลฯ อาจารย์คายส์บอกว่า คนอีสานรู้เรื่องโลกสมัยใหม่ และรู้ว่าประชาธิปไตยสำคัญ จนมาชุมนุมเมื่อปี 2553 เพื่อต่อต้านระบบการเมืองที่ถูก ‘ชี้นำ’
นอกจากโลกาภิวัตน์จะทำให้คนอีสานระดับหมู่บ้านเชื่อมต่อกับโลกมากกว่าที่ข้าราชการคิด เศรษฐกิจอีสานยังมีพลวัตสูงจนเป็นแรงเหวี่ยงให้คนเปลี่ยนสู่ความเป็นสมัยใหม่ไม่หยุด เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงด้าน Connectivity ที่ทำให้คนอีสานเข้าถึงโลกง่ายขึ้นจนไม่ควรถูกราชการมองว่า ‘โง่’ และ ‘ไม่เท่าทัน’
ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘เติบโตต่ำกว่าศักยภาพ’ ที่การลงทุนภาคเอกชนแทบไม่เพิ่ม การเติบโตของประเทศอยู่กลุ่มท้ายแถวอาเซียนมาสี่ปี ไม่ต้องพูดถึงเรื่องรายได้ที่เป็นจริงของประชาชนที่แทบไม่ขยับ ไม่ว่าภาครัฐจะอัดฉีดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ไหนก็ตาม
สภาวะที่เศรษฐกิจประเทศชะงักงัน ทำให้คนแต่ละกลุ่มต้องปรับตัวด้วยวิถีทางที่แตกต่างกัน การฟื้นตัวจากสภาพเศรษฐกิจถดถอยจึงเป็นหลักฐานว่า ใครจัดการกับความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจจริงระหว่างปี 2557-2560 แสดงให้เห็นว่าอีสานมีศักยภาพฟื้นตัวที่น่าประทับใจ
การฟื้นตัวจากสภาพเศรษฐกิจถดถอยเป็นหลักฐานว่า ใครจัดการกับความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด ซึ่งตัวเลขแสดงให้เห็นว่าอีสานมีศักยภาพฟื้นตัวที่น่าประทับใจ
จากปี 2557-2560 ซึ่งเป็นปีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรายภาคอัพเดทข้อมูลรายปีครบถ้วน อีสานยกระดับจากภาคที่การลงทุนเอกชนโตติดลบที่สุด เป็นภาคเดียวที่เป็นบวกในปี 2559 และโตสูงสุดในปีถัดมา ซึ่งแสดงว่า อีสานมีสมรรถนะแก้ปัญหาจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับภาคอื่นได้อย่างดี
อนึ่ง การเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนในอีสานช่วงครึ่งแรกของปี 2560 อยู่ที่ 5.8 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนของประเทศในช่วงเวลาเดียวซึ่งอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ด้วย ไม่ต้องพูดถึงเม็ดเงินลงทุนจริงในอีสาน ที่ต้องเพิ่มขึ้นมหาศาลเพื่อดันการลงทุนที่ -4.7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2557 เป็น +5.8 เปอร์เซ็นต์ในเวลาเพียงสี่ปี
เปรียบเทียบการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนปี 2557-2560 (ร้อยละ)
2557 | 2558 | 2559 | 2560 (ครึ่งแรก) | |
---|---|---|---|---|
อีสาน | -4.7 | -2.7 | 3.1 | 5.8 |
เหนือ | -3.2 | -5.5 | -4.7 | 2.2 |
ใต้ | -3.0 | -3.7 | -2.1 | -1.2 |
น่าสังเกตว่าการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในภาคอีสานดำเนินไปในทิศทางเดียวกับการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน เพราะตัวเลขสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้อีสานช่วง 2558-2559 มีการเติบโตจาก -2.5 เป็น 1.0 ดีกว่าของภาคเหนือซึ่งอยู่ที่ -1.2 และ -0.7 ในช่วงเวลาเดียวกัน
มีหลายเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนควักเงินใส่อีสาน สวนทางการลงทุนระดับประเทศและระดับภาคที่ซบเซา เงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจและการจ้างงานเติบโตขึ้น ยิ่งช่วงปี 2560 การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในกิจการขนาดใหญ่โดยต่อเนื่อง คนอีสานจึงมีชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ขยายตัวตลอดเวลา
คนอีสานไม่เพียงเป็น ‘ชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง’ เพราะเชื่อมต่อกับโลกภายนอกอย่างที่อาจารย์คายส์อธิบาย แต่พลังทางเศรษฐกิจในภาคยังเปลี่ยนชาวบ้านเป็นคนงาน ผู้ประกอบการ พ่อค้ารายย่อย แรงงานบริการ เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก เศรษฐีร้อยล้าน ฯลฯ จนคนอีสานไม่ได้มีแต่พ่อใหญ่หรือไอ้จ่อยอย่างราชการมโน
Connectivity หรือความเชื่อมโยงกับเมืองหลักและภูมิภาคอื่น เป็นตัวแปรที่ผลักดันให้ผู้คนอีสานเชื่อมต่อกับโลกขึ้นไปอีก เพราะ Connectivity หมายถึง Flow หรือการไหลเข้าออกของประชากร ทรัพยากร ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งโอกาสจะขยับขยายไปที่อื่น (Mobility) ซึ่งจะมีผลกับจินตภาพของผู้คนโดยตรง
ถ้าอีสานในอดีตเปลี่ยนช้าเพราะไกลเมืองท่าและศูนย์กลางอำนาจ โครงข่ายคมนาคมข้ามพรมแดนกำลังสลายไม่ให้เรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างที่ผ่านมา อีสานที่ห่างกรุงเทพฯ และอ่าวไทย กลับใกล้เมืองท่าในเวียดนามและพื้นที่เศรษฐกิจในจีน ทิศเหนือและทิศตะวันออกคือเส้นทางสู่อนาคตของอีสานแทนที่ทิศใต้ที่เคยเป็น
ราวสิบปีแล้วที่ถนนสาย R12 เชื่อมนครพนมกับมณฑลกว่างซีของจีน ขณะที่ R9 เชื่อมมุกดาหารกับฮานอย ซ้ำยังเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือโครงข่ายถนนในห้าประเทศอินโดจีนที่จะเชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิค ผ่านเมาะละแหม่งของพม่า และดานังของเวียดนาม
ทุกวันนี้ นครพนมห่างจากท่าเรือน้ำลึกหวุ่งอ๋างของเวียดนาม 330 ก.ม. และห่างจากฮานอย 592 ก.ม. แต่ไกลจากกรุงเทพ 736 ก.ม.ส่วนมุกดาหารอยู่กลางเส้นทางขนส่งสินค้า ที่ลดเวลาจาก 16 เหลือ 6 วัน เพราะไม่ต้องอ้อมไปช่องแคบมะละกา ขณะที่ไฮสปีดไทยจีนเชื่อมโยงหนองคายกับคุนหมิงและอาจถึงรัสเซีย
ในแผนที่ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ที่ก่อตัวขึ้น อีสานคือเมืองท่าทางบกที่เต็มไปด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อผู้คนมหาศาล เมืองท่าทางทะเลทำให้เมืองธรรมดาพัฒนาเป็นเมืองใหญ่ไปนับไม่ถ้วน อีสานที่เป็นเมืองท่าทางบกจึงมีทรัพยากรมากพอจะทำให้อีสานโตแบบเดียวกัน
ถ้าอีสานในอดีตเปลี่ยนช้าเพราะไกลเมืองท่าและศูนย์กลางอำนาจ โครงข่ายคมนาคมข้ามพรมแดนกำลังสลายไม่ให้เรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างที่ผ่านมา
เมืองท่าคือการเชื่อมต่อกับโลกาภิวัตน์ และอะไรที่เชื่อมต่อกับโลภาภิวัตน์ย่อมเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่งที่เร็วเสมอ ยิ่งกว่านั้นก็คือ พัฒนาการของอีสานที่มีเมืองเอกหลายแห่งอย่างโคราช ขอนแก่น อุบลฯ หรืออุดรฯ จะทำให้การเคลื่อนตัวของประชากร ทรัพยากร และข้อมูลข่าวสารไหลไปยังอีสานชั้นในง่ายขึ้นโดยปริยาย
อีสานที่กรุงเทพฯ มองว่าไกลและไร้ทรัพยากร กำลังเปลี่ยนใหญ่จนเกินที่คนในกรุงเทพฯ อาจจินตนาการถึง กรุงเทพฯ จะสำคัญน้อยลงแน่ เมื่อเทียบกับภูมิภาคที่มูลค่าการค้าที่ผ่านด่านศุลกากรปี 2559 มีราวสามแสนล้าน เช่นเดียวกับระบบราชการที่กรุงเทพฯ ใช้คุมประชากร ซึ่งอาจมีความหมายจริงเพียงแค่ออกบัตรหรือระเบียบที่ทำชีวิตวุ่นวาย
ตรงกันข้าม ที่ระบบราชการมองว่าอีสาน ‘โง่’ หรือ ‘รู้ไม่ทันความเปลี่ยนแปลง’ อีสานคือภูมิภาคที่โลกาภิวัตน์ขึ้นเตียงกับชาวบ้านนานแล้ว จากประสบการณ์ของพ่อแม่พี่น้องที่ไปทำงานต่างแดนหนึ่งชั่วคน จากเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ขยายตัวขึ้น รวมทั้งจากการเชื่อมต่อกับอนาคตใหม่ที่อยู่นอกประเทศออกไป
ระบบราชการเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือให้รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์กรุงเทพฯ คุมประชาชน แต่เมื่อรัฐแทบไม่ทำอะไร โอกาสจะมีชีวิตที่ดีของประชาชนย่อมขึ้นอยู่กับโลกไม่หยุด อวิชชาว่าประชาชนโง่คือยากล่อมประสาทของระบบราชการเพื่อสะกดจิตตัวเอง ในยุคที่ราชการมีอำนาจนำด้วยการยึดอำนาจอย่างเดียว
Tags: เศรษฐกิจไทย, เศรษฐกิจ, อีสาน, ราชการ, Charles F.Keyes, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, การปกครอง