ห่างออกไปราวหนึ่งชั่วโมงจากท่าเรือเมืองพัทยา นัยน์ตาคู่สีฟ้ากำลังจับจ้องกับคลื่นทะเลที่ม้วนตัวเข้ากระทบหาดทรายสีขาวซีดของ ‘เกาะสาก’ เสียงถอนหายใจบางเบาดังลอดมาตามแรงลม ก่อนที่เจ้าของดวงตาคู่นั้นจะละสายตาออกจากเวิ้งน้ำกว้าง ก้มหน้าลงสู่ผืนทรายเบื้องล่าง ค่อยๆ หยิบ เก็บ กวาด สารพัดสิ่งอันไม่ควรมีอยู่บนชายหาดใส่ลงในถุงกระสอบ
สองขาพาเขาเดินจากขอบหาดด้านหนึ่งไปยังสุดขอบหาดอีกด้าน มือข้างหนึ่งของเขาจับหูถุงกระสอบลากครูดไปกับผืนทราย ภายในถุงอัดแน่นไปด้วยขวดพลาสติกที่ใกล้ล้นออกมาเต็มที เผลอให้แอบคิดเล่นๆ ว่าหรือขวดพลาสติกมันแบ่งตัวได้แบบอะมีบากันนะ ทำไมมันถึงได้มีมากมายอย่างล้นเกินถึงเพียงนี้
นอกจากรับจ็อบเก็บขยะริมหาดแล้ว ดร.เวย์น ฟิลลิปส์ ผู้สอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูธรรมชาติบริเวณ เกาะสาก-พัทยา โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ การฟื้นฟูแนวปะการังให้กลับมาสวยงามดั่งเดิม พ่วงด้วยความเชื่อที่ว่า นักท่องเที่ยวสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูธรรมชาติได้
หรือพูดให้สั้น มนุษย์กับธรรมชาติสามารถอยู่ด้วยกันได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้
อะไรคือจุดเริ่มต้นของการเข้ามาฟื้นฟูธรรมชาติในเกาะสาก
ผมเคยเดินทางมาพัทยาครั้งแรกตั้งแต่ประมาณปี 2004 ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งหลังจากจบปริญญาเอก เมื่อก่อนผมมาดำน้ำที่นี่เกือบทุกอาทิตย์ แต่พักหลังๆ ผมเริ่มรู้สึกว่ามันอันตราย เพราะมีทั้งสปีดโบ๊ท เจ็ตสกี ผมเลยเลิกไป และคิดว่าที่นี่คงหมดหวังแล้ว แต่หลังจากนั้น ผมก็มาคิดได้ว่าถ้าเราหมดหวัง ทุกอย่างมันจะสิ้นหวังจริงๆ ดังนั้น ประมาณปี 2013 ผมเลยเข้ามาทำงานที่เกาะนี้
หลังจากนั้น ผมพานักศึกษาในคลาสประมาณ 20 คนมาที่เกาะนี้ และตกใจมาก เพราะชายหาดเต็มไปด้วยพลาสติก พวกเราเลยช่วยกันเก็บขยะ และลองนำมาแยกดูว่ามีอะไรบ้าง คุณรู้ไหม ในพื้นที่แค่ 100 ตารางเมตรของหาด เราเก็บรองเท้าได้มากกว่า 500 คู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมาก หลังจากนั้น ผมจึงพานักศึกษามาที่นี่แทบทุกเดือน และเริ่มช่วยกันคิดว่าเราควรจะทำอย่างไรกันดี
ครั้งล่าสุดที่เราร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) ทำโครงการ EU Beach Cleanup ภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงเราเก็บขวดพลาสติกได้มากกว่า 3,000 ชิ้น
รากของปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ขยะพลาสติก แต่มันอยู่ที่พฤติกรรมของพวกเรา ถึงแม้เวลาที่เรามาเที่ยวทะเลเราจะไม่ทิ้งขยะพลาสติกไว้ที่หาดทราย แต่เราก็ยังคงใช้พลาสติกเวลาเราอยู่กรุงเทพฯ ซึ่งพลาสติกที่พัดมาเกยหาดนี้อาจจะเป็นพลาสติกอันเดียวกับที่เราใช้ก็ได้ ดังนั้น เราทุกคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันทั้งหมด หาดทรายถึงจะสะอาดขึ้น และแนวปะการังถึงจะฟื้นฟูขึ้น
รากของปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ขยะพลาสติก แต่มันอยู่ที่พฤติกรรมของพวกเรา
อะไรคือปัญหาที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติบนเกาะสากตอนนี้
สิ่งหนึ่งที่เราค้นพบคือ การท่องเที่ยวบนเกาะส่งผลต่อการพังทลายของแนวปะการัง ไม่ว่าจะเป็น การทอดสมอของเรือ การเหยียบแนวปะการัง ตลอดจนความมักง่ายต่างๆ ของธุรกิจท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นทุกวัน
แต่ความมหัศจรรย์ของปะการังคือ มันสามารถฟื้นฟูตัวเองได้อย่างรวดเร็ว สมมติว่า เราดึงมันออกจากที่หนึ่งและนำไปปลูกอีกที่ มันสามารถเติบโตกลับขึ้นมาได้เหมือนเดิม ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาผมเห็นแนวปะการังมากมายที่ถูกฟอกขาว แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันก็ฟื้นฟูตัวเองกลับมาได้อีกครั้ง แต่นั่นเป็นเพราะมันถูกทำลายด้วยฝีมือของธรรมชาติ ไม่ใช่มนุษย์
ปัญหาสามประการที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวคือ ประการแรก เรือทุกลำในประเทศไทยมีห้องน้ำที่ต่อตรงลงสู่ทะเล ซึ่งของเสียที่ถูกปล่อยลงมามีโอกาสทำให้แนวประการังติดเชื้อโรคได้ ประการที่สอง นักท่องเที่ยวชอบโยนขยะหรืออาหารที่กินแล้วลงสู่ท้องทะเล ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งระบบ
ประการที่สามคือ การขาดความรู้ของกลุ่มไกด์นำเที่ยว เมื่อช่วงสองสามปีที่แล้ว ผมได้ดำน้ำสำรวจพฤติกรรมกลุ่มนักท่องเที่ยวรอบแนวปะการังเกาะสาก และพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพวกเขาสัมผัสปะการังทุกๆ 2 นาที และส่วนมากเป็นไกด์ท่องเที่ยวเองด้วยซ้ำ ผมยังพบอีกว่า นักท่องเที่ยวจะสัมผัสปะการังมากกว่าถึง 2 เท่า หากพวกเขาอยู่กับไกด์นำเที่ยว
ครั้งหนึ่งที่ผมนั่งดูไกด์นำเที่ยวยืนบนแนวปะการังอยู่ประมาณ 10 นาที ก่อนเดินเข้าไปทักเขาว่า “คุณรู้ตัวไหมว่ากำลังเหยียบอยู่บนแนวปะการัง” แต่เขากลับตอบว่า “ไม่ใช่ ผมกำลังยืนอยู่บนก้อนหินต่างหาก” มันสะท้อนว่า พวกเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ พวกเขาทำลายธรรมชาติอย่างไม่ตั้งใจ
ไกด์นำเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมที่ผิด ดังนั้น หน้าที่ของเราอีกส่วนหนึ่งคือ แบ่งปันความรู้ที่ถูกต้องกับไกด์ท่องเที่ยว เพื่อให้พวกเขาสามารถถ่ายทอดพฤติกรรมที่ดีต่อการอนุรักษ์ไปให้นักท่องเที่ยวต่อได้ นอกจากนี้ ควรต้องมีมาตรการลงโทษสำหรับไกด์ท่องเที่ยวที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ อย่างการตักเตือน หรือพักงาน ตลอดจนไล่อออก
พวกเราไม่สามารรอให้ภาครัฐมาจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ทั้งหมด เพราะทะเลมันกว้างสุดลูกหูลูกตา เราจึงต้องให้ไกด์เหล่านี้เป็นหูเป็นตาช่วยในการอนุรักษ์ พวกเขาต้องเป็นส่วนหนึ่งที่คอยตักเตือนกันและกัน และที่สำคัญอีกอย่างคือ นักท่องเที่ยวไม่ใช่พระเจ้า ไกด์ท่องเที่ยวต้องมีสิทธิ์ที่จะตักเตือนนักท่องเที่ยวได้ด้วย
ทำไมถึงเลือกที่จะเข้ามาฟื้นฟูพัทยา ซึ่งหลายคนมองว่าหมดหวังไปแล้ว
นักดำน้ำคนหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังว่า “หากคุณได้ดำน้ำลงไปในใต้ทะเลของพัทยา คุณจะเข้าใจว่าความสวยงามเป็นอย่างไร” มันเป็นสถานที่สวยงามแถมห่างจากกรุงเทพฯ เพียงสองชั่วโมง แต่ทุกวันนี้ การท่องเที่ยวได้ทำลายหาดทรายสีทองแสนสงบ ก่อนแทนที่มันด้วยขยะพลาสติกและเสียงโวยวาย
ผมอยากให้ทุกคนเชื่อว่าพัทยาเคยเป็นสถานที่แสนวิเศษ และกลับมาช่วยกันฟื้นฟูพัทยาให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง ทุกคนควรได้มีโอกาสนอนเฉยๆ บนหาดทรายสีทอง ซึมซับบรรยากาศเงียบสงบ และได้รู้สึกเบาสบายกับการทำตัวเอื่อยเฉื่อยในวันหยุด
เมื่อพัทยาที่สวยงามกลับคืนมา มันก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาได้อีกครั้ง ซึ่งระยะทางที่ห่างจากกรุงเทพฯ เท่านี้ถือว่าเป็นอะไรที่เหมาะสมมาก แนวปะการังที่นี่เป็นปะการังที่ยอดเยี่ยม มันเคยตายไปหลายครั้งและฟื้นขึ้นมาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ดังนั้น มันจึงบอกชัดเจนว่าทำไมเราควรรักษาพันธุ์ปะการังที่เข้มแข็งของที่นี่เอาไว้ ปะการังเกาะสากมีอะไรบางอย่างที่ปะการังที่อื่นไม่มี เช่นความสามารถในการปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอดในความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ มันคุ้มค่าต่อการรักษา เรายังไม่หมดหวัง ไม่หมดหวังเลยจริงๆ
ช่วยเล่าเกี่ยวกับโครงการแนวปะการังเทียมที่กำลังมีแผนจะทำให้ฟังหน่อย
พวกเรานำแกนของกระดาษทิชชู่ มาเคลือบด้วยปูนซีเมนต์เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ก่อนแปะเข้ากับแก้วหรือขวดที่ถูกทิ้งลงทะเลจากเรือของนักท่องเที่ยว หรือที่เราเก็บได้จากชายหาด เพื่อเป็นกระถางให้ปะการังเติบโตและนำชิ้นส่วนของปะการังมาแปะเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ เรายังนำขยะจำพวกแก้วที่เก็บได้มาเปลี่ยนให้กลายเป็นทรายแล้วใส่เข้าไปด้วย ซึ่งจากที่เราสังเกตที่ผ่านมามันก็เติบโตได้เป็นอย่างดีทีเดียว
เราอยากให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการดูแลแนวปะการัง เช่น ขณะที่ดำน้ำลงไปก็ใช้แปรงขัดถูกระถางให้สะอาด เพราะตราบใดที่กระถางสะอาด ปะการังที่เพาะเลี้ยงอยู่ภายในก็จะมีพื้นที่เติบโต และที่สำคัญสาหร่าย (Algae) ก็จะไม่สามารถแย่งสารอาหารของพวกมันได้
ปัญหาอีกอย่างคือการประมงทำให้ปลาที่กินสาหร่ายเหล่านี้มีจำนวนลดลง รวมถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ให้อาหารแก่พวกปลาก็ทำให้พฤติกรรมของพวกปลาเปลี่ยนแปลงไป สาหร่ายจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น และทำลายแนวปะการัง ในทางเดียวกัน เมื่อแนวปะการังถูกทำลายลง ปลาเหล่านี้จะไม่มีที่พักอาศัยและแหล่งอาหาร พวกมันก็จะลดจำนวนลง และส่งผลต่อวัฏจักรอาหารของมนุษย์อีกทอดหนึ่ง
ทุกคนพูดว่า “มาสิ มาช่วยโลกกันเถอะ” ใช่ โลกมันก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้มันช่วยพวกเราเองต่างหาก โลกสามารถดูแลตัวเองได้ และมันจะยังคงอยู่ต่ออีกแสนนานหลังจากพวกเราทั้งหมดจากไป ดังนั้น สิ่งเหล่านี้มันก็เพื่ออนาคตของพวกเราเอง และเราสามารถเริ่มต้นได้โดยการหยุดทำพฤติกรรมที่ทำร้ายระบบนิเวศ
อีกโครงการหนึ่งที่เราพยายามจะทำคือ เก็บเซลล์ผสมพันธุ์จากแนวปะการังบนเกาะสาก นำมาปรับปรุง และปลูกลงในกระถางที่เตรียมไว้ เพื่อให้มันสามารถอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในอนาคตได้ มันอาจฟังดูเป็นเรื่องใหม่ในบริบทของไทย แต่ไม่ใช่ของโลก
ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้แนวปะการังหายไป แต่ผมกลับเป็นห่วงว่า ผู้คนต่างหากที่จะทำลายมันก่อนภาวะโลกร้อนเสียอีก ดังนั้น สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่คือ ลดความเสี่ยงในทุกด้านเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับการมาถึงของภาวะโลกร้อนต่อแนวปะการัง ผมเชื่อว่าแนวปะการังจะสามารถทนต่อภาวะโลกร้อนได้ ถ้าเราสร้างพื้นที่ให้มันได้หายใจและฟื้นฟูตัวเองบ้าง
ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้แนวปะการังหายไป แต่ผมกลับเป็นห่วงว่า ผู้คนต่างหากที่จะทำลายมันก่อนภาวะโลกร้อน
ต้องใช้เวลานานแค่ไหนเราถึงจะเห็นผลลัพธ์ของแนวกะปารังเทียมที่สร้างขึ้น
ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ บางสายพันธุ์อย่าง ปะการังกิ่งก้าน (Branching corals) พวกมันเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต็ถูกทำลายลงได้โดยง่ายเช่นกัน แต่สายพันธุ์ที่มีส่วนสำคัญต่อระบบนิเวศในเกาะสาก ในบางปีอาจจะโตไม่ถึงหนึ่งเซนติเมตรด้วยซ้ำ มันเป็นสาเหตุให้เรากังวลต่อการท่องเที่ยว เพราะทุกสิ่งที่เราทำมาตลอดสามารถถูกทำลายลงได้จากการทอดสมอของเรือในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ผมเคยทำงานกับคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามสร้างแนวปะการังเทียมเหมือนกัน ผมบอกกับเขาว่า “สิ่งที่คุณทำทั้งหมดอาจหายไปในวันพรุ่งนี้ด้วยการทอดสมอเรือเพียงครั้งเดียว” แต่พวกเขากลับตอบว่า “ไม่เป็นไรหรอก พวกผมเพียงต้องการแสดงให้เห็นว่ามีคนที่ใส่ใจเรื่องเหล่านี้อยู่” และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ความพยายามของพวกเขาก็หายไปกับสมอเรือ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่ค่อนข้างเสียทั้งเงินและเวลา
ดังนั้น ผมจึงพยายามที่จะติดต่อกลุ่มท่องเที่ยวให้เปลี่ยนมาใช้สมอรูปแบบใหม่ที่ส่งผลต่อปะการังน้อยกว่า หากเป็นสมอรูปแบบเดิม พวกเขาจะใช้เชือกผูกเข้ากับแนวปะการัง ซึ่งมันทำให้ปะการังตาย แต่สำหรับสมอรูปแบบใหม่ รูปร่างมันคล้ายกับหัวน็อตที่ฝังลงในผืนทรายใต้น้ำเท่านั้น
แนวปะการังเทียมจะส่งผลแง่ลบต่อระบบนิเวศไหม
คุณเคยเห็นที่ภาครัฐนำก้อนลูกบาศก์ปูนขนาดใหญ่ไปไว้ตามจุดต่างๆ ใต้น้ำเพื่อเป็นที่หลบภัยของปลาไหม แง่หนึ่งมันกลายเป็นที่หลบภัยให้กับปลาบางสายพันธุ์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ขนาดของมันก็อาจสร้างปัญหาได้เหมือนกัน พวกเราเคยพบว่าลูกบาศก์ปูนเหล่านั้นถูกกระแทกจากสมอเรือหรืออะไรก็ตาม และถูกน้ำพัดไปทับแนวปะการัง
แต่สำหรับกระถางซีเมนต์ที่เราออกแบบมันมีปัญหาน้อยมากจนแทบไม่มีเลย แม้ว่าคอนกรีตจะมีความเป็นกรดในตอนแรก แต่เมื่อมันอยู่ในน้ำได้สากพัก ความเป็นกรดก็จะลดลงและปะการังก็จะงอกได้เหมือนเดิม แต่ที่เราต้องระวังมากเป็นที่สุดเลยคือ การนำไปวาง เพราะความซุ่มซ่ามของเราอาจทำให้เราเหยียบแนวปะการรังจนตายได้
ภาคการท่องเที่ยวตอบสนองต่อโครงการของคุณอย่างไรบ้าง
ประมาณปี 2017 พวกเราเคยทำงานร่วมกับบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง เราเข้าไปบอกพวกเขาว่า “คุณช่วยให้ทุนเราได้ไหม เพราะเรากำลังทำงานช่วยเหลือธุรกิจของคุณอยู่” และเขาก็ตกลงนะ เขาหาอุปกรณ์ดำน้ำมามอบให้แก่เรา แต่เมื่อเราบอกว่า คุณต้องมาที่มหาลัยมหิดลและเซ็น MoU กับเราด้วย หลังจากนั้น ทุกอย่างก็ช้าลงไปหมด ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจแต่มหาวิทยาลัยเองก็ช้า ซึ่งพวกเราไม่สามารถทำงานได้ถ้าปราศจากลายเซ็นในข้อตกลง
ในมุมมองของผม ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งคือเรื่อง ‘ความไว้ใจ’ ในฐานะองค์กรทางการศึกษา เราควรได้รับความเชื่อใจจากทุกฝ่าย เพราะไม่ได้มีจุดมุ่งหมายทางธุรกิจ เรามาเพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์มากขึ้นด้วยซ้ำ นักท่องเที่ยวเดินทางมาเมืองไทยลดลง เพราะธรรมชาติอุดมสมบูรณ์น้อยลง ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากกลุ่มการท่องเที่ยวเองที่ทำร้ายธรรมชาติ นักท่องเที่ยวจึงเลือกเดินทางไปหาดทรายที่ขาวกว่า ทะเลสวยกว่า สงบกว่า
เป้าหมายหลักของเราคือ อยากให้เกาะสากกลายเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ปะการัง เพราะทุกที่ที่ผมเคยไป การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มักจะเป็นปัญหาในแง่ธุรกิจเสมอ แต่ผมคิดว่าเราออกแบบให้มันดีขึ้นได้
การเป็นองค์กรทางการศึกษาเป็นสถานะที่ดีมากต่อสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่ ถึงแม้มันอาจจะค่อยเป็นค่อยไป แต่เราเชื่อว่า ถ้าหากมีบริษัทหนึ่งตัดสินใจเชื่อในสิ่งที่เราพยายามทำและเห็นว่ามันเป็นไปได้ และดีต่อพวกเขา กลุ่มอื่นๆ ก็จะทำตามกันไปเอง คล้ายโดมิโน
ส่วนตัวผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้และเราไม่รีบ ที่จริงก็รีบ (หัวเราะ) เพราะผมแก่ลงเรื่อยๆ และผมอยากเห็นสิ่งเหล่านี้สำเร็จก่อนที่ผมจะจากไป แต่เราต้องมั่นใจในทุกก้าวว่าเราพร้อมกับมันจริงๆ เพราะหากเราก้าวแบบไม่ระมัดระวัง เราอาจจะล้มเหลว แต่ผมเชื่อว่าหากก้าวแรกเรามั่นคง ก้าวต่อๆ ไปย่อมง่ายขึ้นอย่างแน่นอน
เป้าหมายหลักของเราคือ อยากให้เกาะสากกลายเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ปะการัง เพราะทุกที่ที่ผมเคยไป การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มักจะเป็นปัญหาในแง่ธุรกิจเสมอ แต่ผมคิดว่าเราออกแบบให้มันดีขึ้นได้
ภาครัฐมีท่าทีต่อโครงการของคุณอย่างไรบ้าง
ผมเคยแจ้งกรมทรัพยากรชายฝั่งถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ และพวกเขาดีใจมาก พวกเขาบอกว่าเห็นด้วยและอยากช่วยเหลือผม แต่เขาก็พูดตรงๆ ว่าเขาไม่มีอำนาจตัดสินใจ เพราะอยู่ภายใต้ระบบราชการ นอกจากนี้ ผมยังได้ยินมาว่า ทุกๆ เดือนจะมีคนบางกลุ่มที่จ่ายเงินให้กับผู้มีอำนาจ เพื่อแลกกับการละเมิดกฎหมายบางข้อ ซึ่งนี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย
แต่ผมเชื่อว่าการทำสิ่งที่ถูกต้องอาจทำเงินได้มากกว่าก็ได้ แต่พวกเขาไม่ทำเพราะคิดว่ามันลำบาก แต่ไม่ใช่เลย พวกเขาแค่ต้องหยุดทำสิ่งที่ไม่ดีที่ทำมาตลอด และถ้ามันสำเร็จทุกคนจะได้ประโยชน์ กลุ่มท่องเที่ยวได้ประโยชน์ ประเทศได้ประโยชน์ แนวปะการังได้ฟื้นฟูกลับมา
ชุมชนและเจ้าของเกาะมีท่าทีต่อโครงการของคุณอย่างไรบ้าง
ประมาณเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมเข้าไปคุยกับเจ้าของเกาะแห่งนี้ถึงสภาพระบบนิเวศ และปัญหาขยะบนหาดของเกาะสาก เพราะเมื่อก่อนเกาะสากเคยเป็นสถานที่ที่รุ่มรวยไปด้วยธรรมชาติ แต่ขณะนี้มันกำลังถูกทำลายและถ้าเราไม่ทำอะไรสากอย่าง มันคงสายเกินไป
ผมเสนอให้เขาฟังถึงแผนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยขอพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างศูนย์วิจัย และเปลี่ยนให้เกาะสากกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติสำหรับนักท่องเที่ยว โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย รวมถึงคนท้องถิ่นเองด้วย ซึ่งเจ้าของเกาะก็เห็นด้วย ตราบใดที่เราเป็นคนลงทุนเองทั้งหมด
ผมจึงเข้าไปคุยกับคณบดีของผม และเขาเห็นด้วยอย่างมากกับสิ่งที่เรากำลังจะทำ แต่เขาก็เป็นกังวลว่าเกาะสากเป็นเกาะส่วนตัว ถ้าหากเราลงทุนสร้างอะไรเสร็จแล้ว และเกิดขัดแย้งขึ้นมาจะทำอย่างไร ซึงมันก็วนกลับมาเรื่อง ‘ความเชื่อใจ’ ซึ่งแปลก เพราะในฐานะที่เราเป็นองค์กรทางด้านการศึกษา สิ่งที่เราทำคือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และความรู้ ไม่ใช่เชิงธุรกิจ
โมเดลที่พวกเราออกแบบคือ จะสร้างศูนย์วิจัยขึ้นเพื่อจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แต่นักท่องเที่ยวต้องจ่ายค่าเดินทางจากเกาะล้านมาที่เกาะสากเพิ่มจากเดิม 20 บาทเป็น 100 บาท กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวคิดว่าหากต้องจ่ายมากขึ้นจะทำให้นักท่องเที่ยวมาน้อยลง แต่ผมบอกว่ามันอาจจะไม่ใช่แบบนั้น พวกเขาอาจจะมาน้อยลงจริง แต่จำนวนเงินที่พวกคุณได้รับมันจะไม่ลดลงหรอก
เราเชื่อแบบนั้นเพราะว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อนพวกเราได้ลองทำวิจัยกับกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยถามพวกเขาว่า “คุณพร้อมจ่ายเงินเพื่อช่วยในด้านการอนุรักษ์ไหม และถ้าพร้อมเป็นจำนวนเท่าไร” คนกว่าร้อยละ 80 ตอบว่าพร้อมจ่าย และเกินกว่าครึ่งยอมจ่ายที่ 100 บาท
แต่โมเดลของเราต้องการแรงสนับสนุนจากเจ้าของเกาะ ซึ่งในตอนนี้เจ้าของเกาะอายุมากและอยากขายเกาะแห่งนี้ ผมจึงอยากให้มีใครสากคนที่เชื่อมั่นเหมือนเรามาหนุนหลัง ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่มันสามารถสร้างผลกำไรให้กับเขาได้ นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาที่เกาะนี้เพื่อดูความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ดูหาดทรายที่ขาวสะอาด แหวกว่ายไปกับหมู่ปลาและปะการัง ซึ่งถ้าโมเดลของเราสำเร็จ ผมเชื่อว่าเกาะอื่นๆ ก็จะเริ่มทำตาม คนได้เงินเท่าเดิม แต่แนวปะการังได้ประโยชน์ด้วย
ในตอนนี้ นักท่องเที่ยวส่วนมากที่เดินทางมาที่เกาะสาก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยู่ที่ไหน พวกเขาแค่แวะมา 30 นาที และทิ้งขยะมากมายเอาไว้ให้คนบนเกาะเก็บกวาด ก่อนต่อเรือไปที่เกาะอื่น พวกเขาไม่มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสถานที่ พวกเขาจึงไม่สนใจว่าเกาะจะเป็นอย่างไรต่อไป
นักท่องเที่ยวส่วนมากที่เดินทางมาที่เกาะสาก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยู่ที่ไหน พวกเขาแค่แวะมา 30 นาที และทิ้งขยะมากมายเอาไว้ให้คนบนเกาะเก็บกวาด ก่อนต่อเรือไปที่เกาะอื่น
ส่วนใหญ่แล้วขยะถูกพัดมาจากที่ไหนบ้าง
เราเคยถูกถามเมื่อเก็บขยะอยู่ริมชายหาดว่า “พวกคุณทำไปทำไม” เพราะเขาเห็นว่าทุกครั้งที่เราเก็บขยะออกจากหาด พอถึงรุ่งเช้า ขยะมันก็กลับมาอีก แต่ไม่ใช่ชิ้นเดิม ขยะเหล่านั้นคือขยะชิ้นใหม่ที่ถูกทิ้งลงจากเรือ เรารู้เพราะว่าในฤดูหนาวที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปที่หาดด้านทิศเหนือ ขยะก็มาเกยที่หาดทิศเหนือเยอะ ดังนั้น มันเป็นปัญหาที่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมากกว่า
บางคนอาจจะโทษว่าเป็นความผิดของบริษัทเครื่องดื่มใหญ่ๆ แต่สิ่งที่เราพบคือ ขยะที่เป็นสินค้าท้องถิ่นก็มีมากไม่แพ้กัน ดังนั้นอีกมุมหนึ่ง มันไม่ใช่ปัญหาของบริษัทเหล่านี้ และไม่ใช่ปัญหาของขยะพลาสติกในตัวมันเอง แต่มันเป็นปัญหาที่กฎหมายของไทยไม่เอื้อต่อการรีไซเคิล คนจำนวนมากเลยไม่เห็นคุณค่าของขยะเหล่านี้ และทิ้งมันลงทะเล หรือกองไว้บนหาดอย่างไม่ใยดี
พวกเรายังพบขยะจำพวกพลาสติกตั้งต้น อยู่ตามชายหาดอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากวิจัยพบว่าขยะจำพวกนี้ส่วนมากพัดมาจากท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้น มันไม่ใช่แค่ปัญหาของภาคการท่องเที่ยว แต่รวมถึงเป็นปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมสร้างขึ้นมาด้วย นอกจากนี้ยังมีคอตตอนบัตที่ไหลมากับท่อน้ำเสีย ซึ่งตรงนี้ส่วนหนึ่งเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐ รวมถึงกลุ่มโรงแรมที่ต้องติดป้ายบอกผู้เข้าพักว่า โปรดอย่าทิ้งขยะลงในโถส้วม เพราะขยะเหล่านี้จะไหลลงสู่ท่อน้ำเสีย และออกสู่ท้องทะเล และเราพบขยะพวกนี้อยู่ทุกชายหาดของโลก ซึ่งมันน่ากลัวมาก
สิ่งหนึ่งที่เราอยากลองทำคือ ใส่เครื่องติดตามลงไปในขวดน้ำเพื่อติดตามดูว่า ขยะชิ้นหนึ่งจะพัดไปถึงไหนบ้าง เพราะเราไม่เคยรู้แน่ชัดว่า ขยะที่ถูกทิ้งลงสู่แม่น้ำในเมืองมันพัดไปถึงที่ไหน
เมื่อขยะพลาสติกบนท้องถนนของกรุงเทพถูกทิ้งลงสู่แม่น้ำ มันจะค่อยๆ เล็กลงๆ และเกยมาที่หาดแห่งไหนสากแห่ง พวกเราเคยลองนับกันว่าภายในพื้นที่หนึ่งตารางเมตรของหาดเกาะสากจะมีขยะแต่ละประเภทจำนวนกี่ชิ้น และเราพบว่าในหนึ่งตารางเมตรมีขยะจำพวกไมโครพลาสติกถึง 2,000 ชิ้น ซึ่งมันมหาศาล
คุณมีคำแนะนำไหม สำหรับการแยกขยะอย่างถูกวิธีที่สุด
ในประเทศอังกฤษ แม่ของผมแยกขยะเป็น 9 ถัง สำหรับพลาสติก กระดาษลัง กระดาษ กระป๋อง ต่างๆ และเศษอาหาร ในความคิดของผม เราจำเป็นมากๆ ที่จะต้องแยกขยะที่บ้าน แต่บางคนอาจบอกว่ามันเป็นหน้าที่ของภาครัฐ แต่ทำไมล่ะ ในเมื่อเราเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเอง ทำไมเราถึงไม่ควรรับผิดชอบจัดการมัน
ผมพานักศึกษาของผมไปดูหลุมขยะที่เกาะเต่า เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเราพบว่ามันเต็มไปด้วยถุงพลาสติกที่มีเศษอาหาร หรือมีอะไรสากอย่างอยู่ภายใน ซึ่งทำให้เราไม่สามารถนำถุงเหล่านั้นมารีไซเคิลได้ เพราะมันสกปรก ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นมากที่เราต้องแยกชนิดขยะประเภทต่างๆ และจำเป็นเช่นกันที่เราต้องทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการแยกขยะ พวกเขาต้องเข้าใจว่าถ้าหากเราไม่แยกขยะ และทำให้ขยะไม่สามารถรีไซเคิลได้ ขยะเหล่านั้นจะถูกนำไปฝังกลบทั้งหมด ซึ่งเมื่อฝนตกลงมาเซาะขยะเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นชิ้นเล็กน้อยก่อนไหลลงสู่ทะเลในที่สุด
นอกจากการแก้ไขที่พฤติกรรมคนแล้ว เรามีนวัตกรรมหรือแนวคิดอะไรที่ช่วยลดขยะได้ไหม
สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตจากการทำกิจกรรมเก็บขยะริมหาดคือ ขวดพลาสติกจำนวนมาก และส่วนมากก็ยังมีน้ำเหลือข้างใน ดังนั้น ข้อหนึ่งที่เราสามารถทำได้ทันทีคือ หันมาใช้กระติกน้ำ หรือบรรจุภัณฑ์แบบอื่นที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง
แต่ถ้าเรามองลึกลงไป ปัญหาจริงๆ คือ เรื่องของน้ำสะอาด น้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด และสร้างปัญหาให้กับธรรมชาติมากที่สุดไปพร้อมๆ กัน เพราะเราต้องดื่มน้ำกันทุกวัน แต่เราไม่สามารถดื่มได้โดยปราศจากบรรจุภัณฑ์ ผมจึงเสนอว่า ถ้ากลุ่มท่องเที่ยวเปลี่ยนมาบริการน้ำดื่มฟรีแก่นักท่องเที่ยวได้จะเป็นการลดขยะได้มาก เช่น จัดหาถังเก็บน้ำขนาด 20 ลิตร และให้นักท่องเที่ยวเติมน้ำใส่กระติกที่พวกเขานำมา รวมถึงในกรุงเทพฯ ก็ควรจะมีตู้กดน้ำดื่มฟรีให้ประชาชนสามารถเติมน้ำหรือดื่มได้
ผมคิดว่านี่เป็นหนทางข้างหน้าของเรา การสร้างแนวคิด ‘น้ำฟรี’ ให้กับภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญมาก เราทุกคนต้องดื่มน้ำ แต่เราจะทำอย่างไรให้มันไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ตอนนี้ผมกำลังทำงานร่วมกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ทดลองนำสาหร่ายมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่น้ำแทนพลาสติก ซึ่งรูปร่างมันจะคล้ายกับเยลลี่ที่หุ้มน้ำเอาไว้ข้างใน และที่คุณต้องทำเพียงแค่หยิบมันเข้าปาก นี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่พวกเรากำลังทำขึ้น ซึ่งจะสามารถลดปริมาณพลาสติกลงได้อีกมาก ถ้าเราทำสำเร็จ
การสร้างแนวคิด ‘น้ำฟรี’ ให้กับภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญมาก เราทุกคนต้องดื่มน้ำ แต่เราจะทำอย่างไรให้มันไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากแนวปะการัง สภาพของสิ่งมีชีวิตทางทะเลในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง
ปัญหาสำหรับปลาในประเทศไทยคือ ชุมชนของมันถูกรบกวน เราควรจะมีสายพันธุ์ปลามากกว่านี้ แต่การที่เราทำลายแนวปะการัง ปลาหลายพันธุ์เลยได้รับผลกระทบและสูญพันธ์ไป รวมไปถึงเรายังทำประมงอย่างไร้การควบคุม เราจับปลาขณะที่มันยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เราไม่ให้พื้นที่และเวลากับมันในการเติบโตและขยายพันธุ์ ดังนั้น สำหรับผมปัญหามันไม่ใช่แค่เรื่องปลาสูญพันธุ์ แต่มันเป็นปัญหากับระบบนิเวศทั้งระบบ
กิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่า เจ็ตสกี บานานาโบ๊ท มีส่วนอย่างมากในการทำลายระบบนิเวศ โดยเฉพาะเรื่องเสียง เสียงเดินทางได้เร็วและดังกว่ามากในโลกใต้น้ำ และมันส่งผลกระทบในทางจิตวิทยาต่อปลาโดยตรง ทำให้ปลาไม่กล้าว่ายเข้ามาใกล้ปะการัง และทำให้แนวปะการังไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งระบบ ดังนั้นผมจึงมักพูดว่า ความเงียบสงบเป็นสิ่งที่สำคัญต่อปะการัง และกิจกรรมที่เรากำลังทำอยู่ไม่เพียงสร้างผลกระทบกับปะการัง หรือปลาบางชนิดเท่านั้น แต่มันกระทบทั้งหมด รวมถึงพวกเราเองด้วย
เคยได้ยินมาว่า การประมงทั่วโลกในปัจจุบันจับปลาในธรรมชาติไปแล้วมากกว่าหนึ่งในสาม ทำให้สงสัยว่าแนวคิด การประมงอย่างยั่งยืน เป็นไปได้จริงไหม
หนึ่งในสามของปลาที่เรากินน่ะใช่ ซึ่งตรงนั้นมันก็เป็นปัญหาใหญ่เหมือนกัน แต่ก็มีปลาอีกหลายสายพันธุ์ที่เราไม่ได้จับมากิน และปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ นิยามของคำว่า ‘ประมงอย่างยั่งยืน’ ถ้าเราทำประมงโดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันนี้ไม่ยั่งยืนแน่ และถ้าเรานำปลาออกจากท้องทะเล เพื่อมาทำฟาร์มปลา นำปลามาใส่ไว้กรง อันนี้ก็จะนำไปสู่ปัญหาใหม่อีกแน่นนอน
องค์การสหประชาชาติอาจจะบอกว่า ลดการกินปลาหรือเนื้อสัตว์ลง และหันไปกินพืชให้มากขึ้น แต่จะให้ทำอย่างไรล่ะ ปลาและเนื้อมันอร่อยจริงไหม แต่ถ้าเรายังกินอย่างไม่บันยะบันยังมันก็คงแย่อย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่ผมคิดคือ มันมีปลาอีกเป็นหมื่นสายพันธุ์ที่เราสามารถกินได้ แต่เราไม่สนใจ เพราะว่าเราติดใจในรสชาติของปลาชนิดที่เรากินทุกวัน เรามีมุมมองที่คับแคบมากต่อเรื่องอาหารการกิน เราจำเป็นต้องขยายความคิดตรงนี้ มันอาจจะเป็นหนึ่งในทางออก
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องอาหารเหลือก็สำคัญมาก อาหารจำนวนมากที่เรากินไม่หมด หรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราทิ้งมันเป็นจำนวนมาก และมากเกินไปด้วยซ้ำ ปัญหาเรื่องอาหารเหลือเป็นปัญหาใหญ่ของเรา เราไม่สามารถมีความมั่นคงทางอาหารได้ ตราบใดที่เรายังมีเศษอาหารเหลือเป็นจำนวนมากขนาดนี้
Fact Box
โครงการฟื้นฟูเกาะสากมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูสภาพระบบนิเวศบริเวณเกาะสากให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยมองว่าความท้าทายหลัก ได้แก่ ปัญหาขาดแคลนน้ำบนเกาะ ปัญหาขยะริมหาด ปัญหาแนวปะการัง และปัญหาการท่องเที่ยว