เมื่อปี 2018 มีรายงานว่าสภาวะโลกร้อนทำให้แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟตาย จนทำให้มีความกังวลว่าสถานการณ์ปะการังในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร ในงานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Nature Ecology and Evolution เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ระบุว่า ยังไม่สายเกินไปที่จะปกป้องแนวปะการัง

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากฝีมือมนุษย์ เอมิลี ดาร์ลิง หัวหน้าทีมวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ประจำ Wildlife Conservation Society ที่ติดตามแนวปะการังทั่วโลกร่วมกับนักวิทยาศาสตร์รวม 100 คนสำรวจระบบปะการัง 2,500 แนวใน 44 ประเทศทั่วโลกในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกเพื่อหาวิธีรักษาปะการังไว้

ปรากฏการณ์เอล นีโญระหว่างปี 2014-2017 ส่งผลต่อแนวปะการังจำนวนมาก แนวปะการังในอินโด-แปซิฟิกเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวยาวนานและรุนแรงที่สุด อันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในมหาสมุทร  แต่แนวปะการัง 450 แนวที่อยู่ในพื้นที่เย็นใน 22 ประเทศยังมีชีวิตอยู่ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ต้องเน้นการคุ้มครองและจัดการบริเวณที่แนวปะการังยังมีชีวิตอยู่อย่างเร่งด่วน 

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า ยังมีแนวปะการังจำนวนมากที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายสปีชีส์ ซึ่งมีโครงสร้างที่ซับซ้อน แม้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนก็ตาม ในพื้นที่มีปะการังมากเป็นพื้นที่ห่างไกลชุมชนที่หนาแน่นตามแนวชายฝั่ง และไกลจากผลกระทบจากเกษตรกรรม

งานวิจัยนี้เสนอให้ร่วมกันรักษาปะการังที่เหลืออยู่ ด้วยยุทธศาสตร์ที่ช่วยให้แนวปะการังได้รับการคุ้มครอง ฟื้นฟู และเปลี่ยนแปลง การคุ้มครองจะเน้นไปที่ 17% ของแนวปะการังที่รอดชีวิตอยู่ในพื้นที่อุณหภูมิต่ำ ในช่วงที่มีคลื่นความร้อนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเน้นไปที่ความพยายามฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนและการฟอกขาว ส่วนการเปลี่ยนแปลงนั้น ชุมชนตามแนวชายฝั่งต้องลดการพึ่งพาปะการัง

ยุทธศาสตร์ 3 แนวทางนี้เน้นไปที่บทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของชุมชนท้องถิ่นในการช่วยคุ้มครองปะการังผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น การออกกฎหมายต่างๆ ที่ช่วยลดภัยคุกคามต่อประการัง  การรักษาแนวปะการังยังต้องการความร่วมมือทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล เช่น การลดการหาปลาในแนวปะการังเพื่อรักษาปะการังให้ยังคงมีชีวิต ไปพร้อมกับการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อให้อุณหภูมิโลกไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้งานวิจัยได้ระบุข้อบังคับเบื้องต้นในการรักษาปะการังที่เหลืออยู่ว่า จะต้องมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ มนุษย์ต่อการสร้างปะการังด้วย

ที่มา:

https://edition-m.cnn.com/2019/08/12/world/global-coral-reef-conservation-study-scn-trnd/index.htm

https://www.nature.com/articles/s41559-019-0953-8

https://phys.org/news/2019-08-largest-ever-coral-global-solution-reefs.html

ภาพ : David Gray/REUTERS

Tags: , , ,