แม้จะเกิดจากการเป็นแอปพลิเคชั่นบริการด้านการเดินทาง แต่ Grab ในวันนี้ก็เดินทางมาไกลกว่านั้นมาก ด้วยการขยายบริการด้านอื่นๆ เช่น ส่งอาหาร (Grab Food) ส่งเอกสารและพัสดุ (Grab Express) และบริการซื้อและจัดส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตแบบออนดีมานด์ (Grab Fresh) ที่ทยอยเปิดตามกันมา ทั้งหมดนี้เพื่อให้แกร็บเป็น Everyday App ที่รองรับไลฟ์สไตล์ของคนยุคดิจิทัล

แต่อุปสรรคใหญ่ของแกร็บโดยเฉพาะในเมืองไทย คือบริการรถยนต์ร่วมโดยสาร (Ride-Hailing) ที่ไม่ถูกกฎหมายเสียทีเดียว เพราะแม้ตัวแอปฯ เรียกรถจะไม่ผิดกฎหมาย แต่การนำแอปฯ ไปใช้เรียกรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) เพื่อใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร ถือความเป็นผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้

แม้รัฐบาลจะผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่ดูเหมือนความจริงจังในการแก้กฎหมายให้แกร็บสามารถดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแบบสง่างามยังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่ก็มีพรรคการเมืองหนึ่งนำประเด็นนี้เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ในการผลักดันให้แกร็บถูกกฎหมายแบบเต็มตัว

ระหว่างรอความเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่าน The Momentum ได้สนทนากับ ‘ธรินทร์ ธนียวัน’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ที่รับตำแหน่งนี้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561  เขาเดินเกมในรอบปีที่ผ่านอย่างคึกคัก ด้วยการจับมือกับพาร์ทเนอร์ดังๆ เช่น ธนาคารกสิกรไทยที่เข้ามาลงทุนในแกร็บเพื่อพัฒนา Mobile Wallet หรือแม้แต่การดึง BNK48 มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ เพื่อหวังขยายฐานลูกค้าให้กว้างยิ่งขึ้น

ธรินทร์มีประสบการณ์มากมายในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เขาเคยทำงานที่ลาซาด้าเป็นเวลาหลายปีจนธุรกิจอีคอมเมิร์ชในประเทศไทยขยายใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน การตัดสินใจมาบริหารแกร็บ จึงนับเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะนำแกร็บ ประเทศไทย เป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียนเช่นกัน

ส่วนความหวังว่าแกร็บจะทำธุรกิจได้อย่างสง่าผ่าเผยในประเทศไทยนั้น ธรินทร์บอกว่าความหวังอยู่ที่หลังเลือกตั้ง และถ้ามันไม่เกิดขึ้น แสดงว่า “Something is Wrong.”

อะไรคือเหตุผลที่คุณตัดสินใจมาทำงานที่แกร็บ ประเทศไทย

ผมเริ่มเข้าไปทำที่ลาซาด้าตอนปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นในไทยเยอะมาก แต่คนไม่ค่อยรู้จักว่าเป็นอย่างไร อย่างธุรกิจอีคอมเมิร์ชแบบลาซาด้ามันบูมมาก กลายเป็นหัวข้อที่คนสนใจ ผมทำงานอยู่ที่ลาซาด้า 3 ปี ทำหลายอย่าง เริ่มจากประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกาารตลาด 6 เดือน แล้วก็มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ เราก็ต้องดูเรื่องการตลาดออนไลน์ ดูการขายทั้งหมด ดีลกับพาร์ทเนอร์ คนขาย ร้านอาหาร และแบรนด์ต่างๆ อยู่สองปี

หลังจากนั้นพออาลีบาบาซื้อลาซาด้า และมีการเซ็นสัญญากับทางรัฐบาลไทย ผมก็มีโอกาสได้เข้ามาช่วยดูแลเอสเอ็มอีในการขายของออนไลน์ และการลงทุนที่ EEC (Eastern Economic Corridor — โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) มันทำให้เราเข้าใจภาพรวมของอีคอมเมิร์ช ทั้งการขาย การตลาด และในแง่ของรัฐบาลที่เราเคยดีลด้วย เข้าใจว่าสิ่งที่เราเคยคิดเมื่อก่อนเป็นอย่างไร แล้วความเป็นจริงคืออะไร

ขณะเดียวกันระหว่างที่ผมทำงานอยู่ลาซาด้ามาปีครึ่ง ทางแกร็บก็เริ่มติดต่อมา ก็คุยกันอยู่เรื่อยๆ แต่เหมือนยังไม่ใช่เวลา เพราะเรายังมีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะ อีกจุดหนึ่งคือผมยังไม่ค่อยเคลียร์ด้วยว่าจะทำอะไรกับแกร็บ แต่ตอนนี้เราชัดเจนแล้วว่าถ้ามองแกร็บจากภายนอก ยังทำอะไรได้อีกเยอะ และบทบาทของแกร็บ ประเทศไทยก็น่าสนใจมาก คือเป็น Head Country ผมเลยตัดสินใจมาทำงานที่แกร็บ ประกอบกับเราค่อนข้างอิ่มตัวกับอีคอมเมิร์ช เลยมองว่าแกร็บยังมีโอกาสต่างๆ ที่จะเป็นไปได้อีกมาก และถือเป็นความท้าทายของตัวเองที่ต้องรันแกร็บ ประเทศไทย

สิ่งแรกที่คุณทำหลังจากเข้ามาทำงานที่แกร็บคืออะไร

อาทิตย์แรกที่เข้ามาทำงาน คนในทีมถามว่าคุณเชื่อในการเติบโตของแกร็บ ประเทศไทยแค่ไหน เพราะในเมืองไทยมีทั้งบีทีเอส แท็กซี่ และระบบขนส่งอื่นๆ แล้วธุรกิจเราจะไปในทิศทางไหน นั่นคือคำถามที่ผมเจอจากคนที่อยู่ที่นี่มาสักพัก เขาอาจรู้สึกว่ามันตัน แต่ผมไม่มองแบบนั้น ผมเห็นโอกาสเยอะมาก เพราะผมมาจากอีคอมเมิร์ชที่ไทยใหญ่สุดในอาเซียน พอมาเจอคนที่นี่คิดแบบนี้ ก็อดแปลกใจไม่ได้ แน่นอนมันมีเรื่องกฎหมายที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ผมต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการสื่อสารให้ชัดเจนว่าแกร็บในมุมมองของผมมันใหญ่กว่านี้ได้อีกเยอะ คือต้องเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน และเกี่ยวข้องกับสังคมไทย

ผมเชื่อว่าเราเข้าไปอยู่ในสังคมไทยได้จริงๆ อย่างแรกที่เปลี่ยนคือเราตั้งวิชั่นที่เคลียร์มาก คือต่อให้เมืองไทยมีอุปสรรคแบบนี้ แต่เรามีความทะเยอทะยานที่จะให้มันเป็นไปได้ เราต้องทำให้คนในองค์กรมีความเชื่อ ซึ่งเป็นปัญหาของแกร็บในยุคก่อน เราแก้ไขตรงนี้ภายในสองอาทิตย์แรก รื้อโครงสร้างการทำงานที่ไม่ค่อยเหมาะสม เช่น มี 3 ฟังก์ชั่นทำงานเรื่องเดียวกัน แต่ไม่คุยกัน ผมเปลี่ยนให้เห็นว่าในสิ่งที่ดูมีความกังวลหรือเป็นปัญหา เราจัดการให้จบในทันที

หลังจากนั้นเป็นการสร้างพาร์ทเนอร์ชิพ เพื่อสร้างบางอย่างให้มีอิมแพ็กต์เร็วๆ ตอนที่ผมเข้ามาทำงานได้เดือนครึ่ง เราต้องควบรวมอูเบอร์ ก็รันโปรเจ็กต์นี้ เลยทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงหลายอย่างได้ ซึ่งก็อย่างที่เห็น แกร็บมีพาร์ทเนอร์เยอะมาก เช่น กสิกรไทย การบินไทย S&P เป็นต้น ซึ่งผลตอบรับที่ออกมามันดีมาก ยิ่งทำให้คนเชื่อในสิ่งที่เราตั้งใจเอาไว้

ตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปตามที่คิดไว้ตั้งแต่ตอนเข้ามารับตำแหน่งไหม

ผมเข้ามาทำงานที่แกร็บวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 ก่อนที่ผมจะมา ก็คุยกันค่อนข้างเยอะ ผมมองว่าต้องแก้ไขอะไรบ้าง ประมาณ 2 -3 ข้อ พอเข้ามาก็เริ่มปฎิบัติการเปลี่ยนแปลงทันที เพราะรู้สึกว่ามีแรงบันดาลใจบางอย่างที่แกร็บจะเป็นแบบนั้นได้ คือตกลงกันไว้แล้วว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน ใช้เวลา 1 ควอเตอร์ในการเปลี่ยนแปลง ทั้งวัฒนธรรม วิธีการทำงาน และหลายอย่าง

ใน 6 เดือนที่ผ่านมา เราอยู่ในข่าวเยอะ เช่น การประกาศพาร์ทเนอร์ชิพ เราอยู่ในตลาดที่ร่วมมือกับคนอื่นมากขึ้น การลงทุนกับกสิกรไทย หรือการได้ BNK48 มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ แสดงว่าเราเริ่มมีส่วนร่วมกับสังคมไทยมากขึ้น เรามี แกร็บ รีวอร์ดกับการบินไทย เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และ S&P แล้วแบรนด์แกร็บก็เป็นรู้ที่จักจากงานอีเวนท์ต่างๆ เช่น แกร็บ มาราธอน คอนเสิร์ต เราทำเยอะ ผมคิดว่ามันเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้

ทำไมคุณถึงให้ความสำคัญกับพาร์ทเนอร์มาก

เพราะผมรู้ว่าเราโตคนเดียวไม่ได้ แกร็บสู้คนเดียวในหลายๆ เรื่อง ทั้งในแง่ของธุรกิจ การเติบโต กฎหมายต่างๆ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เราไม่ไปไหนเลย มันชัดเจนมาก ถ้ามีแค่เรากับคนขับ มันไปไม่ได้ ต้องหาแนวร่วมจากคนภายนอกที่มองเห็น แล้วภาพจะชัดเจนว่าเรามีเพื่อน มีพันธมิตร เราไม่ใช่คนที่มาแบบฉาบฉวยอีกต่อไปแล้ว พอเราเริ่มสร้างดีลกับการบินไทย กสิกรไทย เมเจอร์ S&P มันเห็นชัดว่า เราไม่ใช่แค่บริษัททรานสปอร์ต แต่เป็นบริษัท Everyday App มีพาร์ทเนอร์ชั้นนำจับมือกับเรา เป็นการเคลื่อนตัวหลายๆ ด้าน มีอิมแพ็กต์ชัดเจนมาก

ยกตัวอย่างถ้าจะดึงคนมาขับรถกับเรา พอเราบอกว่ามาทำงานกับเราจะได้สิ่งนี้จากกสิกรไทย หรือได้ล่วนลดน้ำมันถ้าเติมปั๊มนี้ ภาพก็เปลี่ยนแล้ว เพราะเราใส่มูลค่าเพิ่มเข้าไป คือตอนจบเราก็เสิร์ฟลูกค้าคนเดียวกันจากแพ็คเกจที่เราทำ ส่วนคนนั่ง สมัยก่อนนั่งเฉยๆ ไม่ได้อะไร แต่ตอนนี้ถ้านั่งก็เอาแต้มไปแลกไอศครีมแดรีควีน S&P หรือแลกไมล์การบินไทย ฯลฯ เป็นภาพที่เราต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งในอนาคตเราก็จะทำเรื่องพาร์ทเนอร์ให้หนักขึ้น

อย่างดีล BNK48 หลายคนถามว่าเกี่ยวข้องอะไรกับแกร็บ แต่มันสำคัญ เพราะทำให้เราเป็น Everyday App ได้จริงๆ เพราะ BNK 48 เป็นชีวิตประจำวันของคนกลุ่มหนึ่ง ฉะนั้นการร่วมงานกันตรงจุดนี้ก็ช่วยเหลือเรื่อง awareness บางอย่างผ่านแคมเปญของเรา ตอบโจทย์คนวงกว้าง และทำให้เราอยู่ในความชอบของคนไทย หากเราทำธุรกิจคนเดียว อัดโฆษณาเยอะๆ มันก็ได้ แต่พอถึงจุดหนึ่ง ไม่มีใครสนใจ เพราะต้นทุนในการบริหารธุรกิจเพิ่มขึ้น แม้จะมีออนไลน์ก็ตาม ทุกคนแย่งลูกค้าคนเดียวกัน ทำไมไม่เอางบประมาณตรงนี้มารวมกัน แล้วเสิร์ฟลูกค้าคนเดียวกัน

วันนี้ถ้าเราแข่งด้วยตัวคนเดียว คนก็อปเราได้เต็มไปหมด ผมให้ข้อเสนอแบบนี้ ทุกคนก็อปได้ แต่ถ้าเรามีพาร์ทเนอร์ เราให้ข้อเสนอเอ็กซ์คลูซีฟแบบที่ตลาดไม่มี เช่น แกร็บบวกกสิกรไทย เรายื่นข้อเสนอนี้ให้คนขับ มันจะไม่มีในตลาดเลย นี่คือการสร้างความแตกต่าง เพราะการบริการทุกอย่างในไทยเป็นสินค้าแบบ Commodity แม้แต่การขนส่งก็ใช่ แต่การจับมือกับพาร์ทเนอร์นั้นสร้างความต่างได้ แต่แน่นอนต้องใช้เวลาในการทำให้เขาเชื่อใจเรา และเราก็เชื่อใจเขา

คุณเลือกพาร์ทเนอร์จากอะไร

ในชีวตจริงเวลาเราคุยกับพาร์ทเนอร์ 10 คน ไม่ใช่ว่าจะได้ทั้งหมด อาจจะมีแค่ 4-5 เจ้าเท่านั้น ในประชุมแรกทุกอย่างล้วนดูดี ทุกคนเห็นด้วยหมด แต่สิ่งสำคัญคือหลังจากนั้น มีความคืบหน้าอย่างไร บางเจ้าดีลไม่เกิดขึ้น เราเข้าใจ แต่บางเจ้าพอคุยแล้วคลิก เห็นตรงกัน มันก็จะไปได้เร็ว เราจริงจังกับทุกความสัมพันธ์ คุยครั้งสองครั้งจะรู้เลยว่าเขาแฟร์กับเราไหม จากประสบการณ์ ผมบอกได้เลยว่าถ้าประชุมแรกมี 10 เจ้า จากนั้นจะเหลือแค่ 4-5 เจ้า การเลือกพาร์ทเนอร์ที่อินกับเราสำคัญมาก พออินกันมากๆ เราก็ต้องเคารพเขา จะทำอะไรก็ต้องบอกเขาก่อน

แนวคิด Everyday App เป็นไปตามนโยบายของบริษัทแม่หรือเปล่า

ทุกประเทศจะทำตามนี้หมด แต่ตรรกะมันคือว่า เมื่อไรที่มีฐานลูกค้าเข้ามาหาเราทุกวัน มีลูกค้าที่ภักดีกับเราระดับหนึ่ง มันน่าจะแตกธุรกิจอื่นๆ ออกที่จะตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของเขาได้อีก เรามีโอกาสทำตรงนี้สูงมาก อย่างอีคอมเมิร์ซ คนไม่ได้ช้อปฯ ทุกวัน แต่การเดินทางเกิดขึ้นทุกวัน ไปเช้ากลับเย็น ในแง่ของ engagement การกลับมาใช้บริการแอปฯ ของแกร็บจะสูงมาก สิ่งที่เขาต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กินข้าว จ่ายบัตร ส่งของ เรานำเสนอบริการโดยรวมที่ให้ชีวิตประจำวันของเขาดีขึ้น

องค์ประกอบอะไรบ้างที่แกร็บพิจารณาเพื่อนำมาสร้างบริการใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของคน

เรามีการสำรวจลูกค้าว่าอยากได้อะไร และส่วนหนึ่งเราก็นั่งคิดกันเองว่า เราควรมีบริการอะไรบ้าง แต่ส่วนมากจะมาจากมุมมองของลูกค้า เราทำการสำรวจคนกรุงเทพฯ ว่าอยากได้อะไร สิ่งสำคัญในการเพิ่มบริการได้เรื่อยๆ คือควรเป็นบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าจริงๆ แปลว่าถ้าเราขายรถยนต์ก็คงไม่ใช่ แต่การจองโรงแรมอาจไม่นานจากนี้ ถ้าเป็นการกินข้าว สั่งมากินที่บ้านแน่นอน เพราะรถติด และอาจราคาถูกกว่าไปกินที่ร้าน อะไรที่เป็นกึ่งปัจจัย 4 ของคนมักไปได้ดี

แกร็บไทยคิดบริการใหม่ๆ เองได้ เพราะเราบริหารงานแบบ Hyper Local โดยยึดความรู้ท้องถิ่นเป็นหลัก เช่น เชียงใหม่มีรถแดง หาดใหญ่มีสามล้อตุ๊กๆ ที่ประเทศอื่นไม่มี เราจัดคอนเสิร์ต EDM งานวิ่งมาราธอน ที่ประเทศอื่นไม่มี ผมชอบทำงานกับแกร็บตรงนี้ว่า ค่อนข้างให้อิสระในการตัดสินใจ เพราะเขาเชื่อว่าเราเข้าใจตลาดที่สุด

ส่วนเรื่องกฎหมายถือเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจของแกร็บเลยใช่ไหม

มันเป็นปัญหาในแง่ของคนขับอยากขับเยอะ แต่กลัวโดนจับ เลยมีภาพว่าไม่ขับดีกว่า แต่ผมคิดว่าพัฒนาการในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มันก้าวหน้าไปเยอะมาก ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับกฎหมาย มากกว่า 90% ของประชาชนอยู่ฝั่งเรา ยิ่งตอนนี้ใกล้เลือกตั้ง พรรคการเมืองหลายพรรคเปิดใจกับเรื่องบริการ Ride-Hailing มากขึ้น เรากลายเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของพรรคภูมิใจไทยไปแล้ว มันเป็นจุดเปลี่ยน แน่นอนเราอยู่ที่เดิมมา 5 ปี แต่ตอนนี้เราอยุ่ในจุดที่หลายพรรคการเมือง และมวลชนเห็นภาพเหมือนกัน

กลับมาตรงจุดที่ว่าระบบของแกร็บช่วยอะไรเมืองไทยได้บ้าง หลักๆ เราช่วยเหลือและผลักดันเศรษฐกิจอยู่ 3 ข้อ อย่างแรก ทราบกันดีว่ากรุงเทพฯ รถติดเป็นอันดับหนึ่งของโลก แซงจาการ์ต้าของอินโดเนเซียไปแล้ว ฟังดูอาจไม่ใช่ปัญหาเชิงเศรษฐกิจ แต่การที่ต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมงในรถทุกวัน ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะลดลง ซึ่งเมืองไทยก็พยายามแก้ปัญหาการจราจรผ่านเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำ แต่มันก็ไม่ได้มาจอดอยู่หน้าบ้านผมหรือบ้านของทุกคน จากนั้นผู้คนก็ต้องเดินทางโดยอะไรสักอย่างอยู่ดี

หากมองในมุมของคนขับแกร็บเต็มเวลาประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน เฉลี่ยอย่างต่ำส่งคนได้ 8 เที่ยวต่อวัน คือชั่วโมงละเที่ยว แปลว่าคนคนหนึ่งเดินทางไปทำงานกลับบ้าน เหมือนคน 4 คน รถแกร็บ 1 คันช่วยประหยัดรถได้ถึง 3 คัน แบบนี้ไงทำให้สิงคโปร์กับมาเลเซียไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องรถติด เพราะมันถูกกฎหมายและขับกันได้เต็มที่ ทำให้การเดินทางมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณลองคิดสภาพถนนสุขุมวิทตอนนี้ เหมือนคนไม่ทำงานกันทั้งวัน เอารถไปจอดกันอยู่กลางถนน ลองนึกว่าถ้าแกร็บใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย รถยนต์อาจหายไปเลยครึ่งหนึ่ง กรุงเทพฯ อาจกลายเป็นเมืองในฝันเลยก็ได้

ข้อสอง เราพยายามลดความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนเทียบกับจีดีพีอยู่ที่ 80% วนเวียนอยู่แบบนี้มา 5-6 ปี เกือบสูงที่สุดในอาเซียน ยิ่งเราดีลกับคนขับมอเตอร์ไซค์เยอะ มันเห็นภาพชัดมาก คนที่รายได้น้อยไม่ได้มีโอกาสทางการศึกษา จะทำให้เขาเปลี่ยนชีวิตมันก็ยาก เพราะกฎกติกาที่มีอยู่สร้างกำแพงขึ้นมาสูงมาก คนที่มีมอเตอร์ไซ์แล้วอยากขับวิน ไม่ใช่แค่จ่าย 160 บาทแล้วจบ แต่ต้องจ่ายกันเป็นแสน เขาจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อ ถ้าไปขอกู้แบงก์ก็คงไม่ได้ ต้องกู้เงินนอกระบบ อย่างแท็กซี่จะขับก็ต้องมี license กับโควต้า มันก็ไม่น่าถูก ก็วนเวียนอยู่แบบนี้ แล้วเมืองไทยที่ทุกอย่างเป็นระบบโควต้า มันทำให้คนต้องสร้างหนี้ขึ้นมาก่อน

ทำไมไม่ทำให้ทุกคนที่มี asset อยู่แล้วมาลองทำ และมีระบบควบคุม เราได้ลองไปทำที่งานบุรีรัมย์ MotoGp 2018 ช่วง 1-8 ตุลาคมปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวแสนคน แต่ในเมืองมีแท็กซี่แค่ 15 คัน มันจะพอได้อย่างไร เราก็เอาคนขับแกร็บไป 200 คน มีคนนั่ง15,000 คน ได้เงินรวมๆ ตกคนละ 600,000 กว่าบาท กระจายรายได้ทันที หากชัดเจนว่าเมืองยอมรับ คนยอมรับ มีระบบตรวจสอบที่ดี มันก็ตอบโจทย์ตรงนี้

หรือการที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเอสเอ็มอีขายของออนไลน์ ก็เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ทุกวันนี้มีพ่อค้าแม่ขายกี่คนในไทย เต็มที่ผมให้ 2 ล้านคน รู้หรือเปล่าว่าไม่ใช่ทุกคนมีเงินไปซื้อของแล้วมาขายได้ ถ้าผมต้องเปิดบริษัทขายน้ำ ผมก็ต้องมีเงินไปซื้อน้ำมาขาย เชื่อเลยว่ามีไม่ถึงแสนคนที่ขายออนไลน์ แต่คนขับมอเตอร์ไซค์ในไทยมีกี่คน ทุกวันนี้มอเตอร์ไซค์ขายได้เป็นสิบล้านคัน ต่อไปถ้าปลดล็อกให้ขับได้ เขาก็มีรายได้ทันที เป็นข้อที่ง่ายที่สุดในการทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนจากรากหญ้าได้ดีที่สุด

ข้อสาม เป็นเรื่องการท่องเที่ยว วันนี้กว่า 1 ใน 5 การใช้งานของเราคือนักท่องเที่ยวที่เข้าใจระบบนี้ ดาวน์โหลดแล้วมาใช้ มั่นใจในความชัดเจน ราคา ความปลอดภัย และติดตามได้ ยิ่งเราสนับสนุนตรงนี้ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจและสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น

แกร็บตอบโจทย์ทั้ง Traffic Management, Low-Income Trap และ Tourism ซึ่งเราให้ความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง แล้วไม่ใช่ว่าวินมอเตอร์ไซค์และแท็กซี่จะหายไป ผมก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าวินมอเตอร์ไซค์และแท็กซี่ยังอยู่ในสังคมไทยเหมือนเดิม แต่พวกคุณมาจอยน์ในระบบได้ด้วยเวลาว่าง มาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

แสดงว่าคุณมีความหวังกับการปลดล็อกกฎหมายนี้หลังการเลือกตั้ง

มาก (เสียงสูง) มันคือเวลานี้แล้วละ เราอยู่ที่เดิมมา 5 ปีแล้ว คนสนับสนุนขนาดนี้ เราทำสิ่งดีๆ ให้กับประเทศได้ แล้วถ้าไม่เกิดขึ้นว่าแสดงว่า Something is Wrong.

ใน 5 ปีที่ผ่านมา คุณมองว่าแกร็บ ประเทศไทยเสียโอกาสทางธุรกิจไปมากน้อยแค่ไหน

เยอะมาก ยกตัวอย่างลาซาด้าไทยคือใหญ่สุดในอาเซียน แปลว่าคนไทยเข้าใจการใช้เทคโนโลยี การใช้สมาร์ทโฟน แต่กับแกร็บ เราตอบได้เต็มปากว่า เราไม่ได้เป็นแบบนั้น ทั้งๆ ที่ศักยภาพแกร็บไทยควรจะไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ การที่คนขับเป็นแสนคนไม่ได้รายได้ เศรษฐกิจที่เสียหายไปจากการจราจรที่ติดขัด และเวลาที่เกิดเรื่องไม่ดีจากการท่องเที่ยว อย่างคนจีนใช้รถขนส่งสาธารณะบางอย่างแล้วมีประสบการณ์ไม่ดี มันไปไกลมาก

เราเห็นประเทศอื่นที่ตามหลังเราแล้วแซงเราไปได้ ซึ่งถ้าปลดล็อกกฎหมายทีเดียว ผมคิดว่าเมืองไทยไปไกลอีกเยอะ ไม่ต้องไปสอนคนนั่งขายของออนไลน์ แค่ทุกคนเอา asset ขึ้นมาทำอะไรได้หมด รัฐบาลโปรโมตการท่องเที่ยวก็ไม่ต้องกลัวรถแท็กซี่ไม่พอ ทำได้อีกเยอะมาก บัตรคนจนก็มานั่งได้ ภาพที่ออกมาคือเงินจะสะพัดไปเยอะ เพราะเศรษฐกิจไทยมันควรมันจะ built จากระดับล่างขึ้นมา

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ระหว่างแกร็บกับวินมอเตอร์ไซค์หรือแท็กซี่ คุณมีแนวทางอย่างไรในการแก้ไขหรือลดปัญหานี้

ก็ต้องปรับทัศนคติ เรามีการกินข้าวกับวินมอเตอร์ไซค์บ่อยมาก และเชิญชวนให้พวกเขาเข้ามาอยู่ในระบบ เราเข้าใจในมุมมองของวินมอเตอร์ไซค์ เพราะระบบเสื้อวินก็ไม่แฟร์กับพวกขาเหมือนกัน เขาควรมาหารายได้เสริมกับเราด้วย วันนี้คนขับวิน ถ้ามาทำงานกับเรา แล้วเกิดอุบัติเหตุ เรามีเงินประกันช่วยเหลือ 150,000 บาท มีประกันสุขภาพและสิทธิพิเศษหลายอย่าง ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่เสียหายเลย เราไม่เก็บค่าแรกเข้า แม้จะมีการเก็บค่าคอมมิสชั่นก็ตาม เป็นเรื่องการอธิบายให้เข้าใจมากกว่า แม้จะมีวินบางกลุ่มที่ชัดเจนว่านี้คือเขตของเขา ห้ามเข้ามา แต่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ภาพของเขตต่างๆ มันจะหายไป โลกไม่มีพรมแดนแล้ว เราอยากจะช่วยพวกเขาปรับตัว ถ้าไม่ปรับตัว จะลำบาก วันหนึ่งที่คนทั้งกรุงเทพฯ ปรับไปแล้ว แต่เขายังยึดกฎกติกาเดิมอยู่ ชีวิตที่สู้มาตั้งนาน มันจะหนักขึ้นโดยไม่รู้ตัว

เพราะผมว่าวินมอเตอร์ไซค์เป็นกลุ่มคนที่น่าสงสารที่สุด ระบบโควต้ากักให้คนกลุ่มหนึ่งอยู่ตรงนั้น ไม่ได้มีการพัฒนาขีดความสามารถ แม้แต่เรื่องเทคโนโลยี ถ้าเราไม่ช่วยคนกลุ่มนี้ มันก็อันตรายมากๆ หน้าที่เราคืออธิบายให้เข้าใจว่า ไม่ใช่มีแกร็บแล้วจะไม่มีวิน เราเป็นทางเลือกในการให้เขาหาเงินเพิ่มด้วยซ้ำ ควรใช้เราให้เป็นประโยชน์ในช่วงที่ไม่ได้ยุ่งกับการรับส่งคนดีกว่า

ราคาค่าบริการของแกร็บคิดอยู่บนพื้นฐานของอะไร

มันเป็นเรื่องซัพพลายและดีมานต์ หลักการคือเวลาลูกค้ากดเลือกรถ ก็ควรจะได้รถ กรณีที่ดีมานต์น้อย ซัพพลายเยอะ ราคาก็จะไม่แพง แต่เวลาที่ดีมานด์มาก แล้วรถน้อย ราคาก็ต้องปรับขึ้น เนื่องจากคนขับก็อยากขับ ส่วนระบบก็อยากให้คนเรียกได้รถจริงๆ ถ้าคนขับได้เที่ยวละแค่ 50-60 บาท ผมว่าเขาคงไม่อยากขับ ระบบบมันก็ไปไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นที่อัลกอริธึมระหว่างดีมานต์ ซัพพลาย และราคา เพราะราคาที่แพงขึ้นก็จูงใจให้คนขับ ถ้ากฎหมายปลดล็อก ซัพพลายเยอะมากขึ้น การเดินทางโดยแกร็บจะถูกลงไปเอง แม้แต่ในช่วงที่คาดว่าจะมีราคาแพงก็ตาม

แผนการตลาดของแกร็บในปีนี้เป็นอย่างไร จะมีบริการใหม่ๆ อีกหรือไม่

อย่างแรกคงเร่งทำตลาดต่างจังหวัดให้มากขึ้น ตอนนี้เรามีอยู่ 16 จังหวัด ก็อยากจะขยายไปยังเมืองอื่นๆ เช่น เชียงราย ขอนแก่น และแถบ EEC  เราจะให้ความสำคัญกับตลาดต่างจังหวัดที่ยังเติบโตได้อีกเยอะ อย่างที่สอง คือหาพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ เพื่อต่อยอดบริการใหม่ๆ นอกจากส่งอาหารและส่งเอกสารที่เราตั้งใจว่าจะขยายออกไปยังเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด แต่เราก็ต้องดูความพร้อมของจังหวัดนั้นด้วย ถ้าหน่วยงานภาครัฐเข้าใจและตกลงกันได้ มันก็ทำได้เลย แต่ถ้าคุยกันแล้วไม่คลิกก็ลำบากหน่อย

บริการใหม่ๆ เราคงดูพาร์ทเนอร์ก่อน แต่ที่แน่ๆ คือ Grab Pay Wallet ซึ่งจะเกิดขึ้นช่วงกลางปี ที่ทำได้หลายอย่าง เช่น จ่ายเงินซื้อของ จ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ บัตรเครดิต และอื่นๆ ในหลายรูปแบบ

คุณมีการรับมืออย่างไรกับคู่แข่งที่กำลังเข้ามาในประเทศไทย

เหมือนตอนผมทำอยู่ลาซาด้า พอมี 11Street, Shopee เข้ามา ข้อดีคือทำการตลาดกันเต็มที่ สังคมจะยอมรับเรื่องพวกนี้ได้เร็ว ธุรกิจแบบเราก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมีการตั้งมาตรฐานที่แท้จริง เทียบกับเจ้าอื่นได้เลยว่าเราแตกต่างและดีกว่าอย่างไร ลูกค้าเห็นชัดเจนว่าบริการใครดีกว่ากัน

แต่สิ่งที่ผมกังวลสำหรับบริการรถโดยสาร คือเวลาที่ต้องทำตลาดเร็วๆ ก็จะใช้วิธีให้นั่งฟรี ส่วนการวางฐานคนขับอาจไม่มีความรอบคอบ เพราะอย่างแกร็บมีระบบตรวจสอบคนขับเยอะ ทั้งประวัติอาญชากรรม หรือการที่ลูกค้าคอมเพลน ก็อาจมีการแบน คนที่โดนแบนจากเราไป เขาอาจจะไปอยู่กับคู่แข่ง ซึ่งมันก็อาจจะเป็นอันตรายกับคนนั่งได้  เพราะธุรกิจคู่แข่งหากอยากโตเร็วโดยซื้อซัพพลายแบบไม่สนอะไร อาจมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด นี่เป็นสิ่งที่ผมกังวล

หัวใจในการบริหารงานของคุณคืออะไร

ตอนที่เข้ามาทำงานที่นี่ใหม่ๆ ผมดูว่าธุรกิจนี้มีความทะเยอทะยานอย่างไร วิชั่นต้องชัดเจนว่า ประเทศไทยต้องเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน หลังจากนั้นเราต้องเชื่อมั่นกับสิ่งนี้เยอะมากๆ กับทั้งคนในทีมและบริษัท เพราะถ้าเราตั้งเป้าหมายแล้ว เวลาเจอเรื่องไม่ดี ความเชื่อมั่นอาจจะหายไป แต่ผมเชื่อแล้วว่าแกร็บดีต่อประเทศไทยจริงๆ เห็นแล้วว่าตอบโจทย์หลายข้อ ไม่ว่ากระแสด้านลบจะเข้ามามากแค่ไหน เราเชื่อแล้วว่าสิ่งที่เราทำ เราทำเพื่ออนาคต

อีกตัวที่สำคัญคือความท้าทาย ผู้นำไม่ใช่มาจากการโหวตแบบนางสาวไทย ต้องกล้าที่จะท้าทายกับสิ่งเดิม เช่น การเมืองภายในองค์กร ผมให้ความสำคัญมาก เวลาที่เกิดการเมืองภายในทีมที่เราบริหารอยู่ เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยนและปรับอย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อไรที่สิ่งนี้เกิดขึ้น คนในองค์กรของคุณจะเสียเวลาไปกับเรื่องพวกนี้อย่างมาก แน่นอนทุกองค์กรต้องมี แต่อยู่กับผมต้องไม่มีเรื่องนี้

เราต้องไม่ลืมด้วยว่าเราต้องพึ่งพาคนอื่นด้วย เราทำคนเดียวไม่ได้ บริษัทมีพนักงานกว่า 400 คน เราต้องรู้ว่าคนรอบตัวเรามีบทบาททั้งหมด แล้วทำให้เห็นว่าเขามีความสำคัญอย่างไร เราเป็นครอบครัวเดียวกัน มองในเรื่องอาชีพการทำงาน ใส่ใจการเติบโตในหน้าที่การงานของพวกเขา

อะไรคือโจทย์ที่ท้าทายที่สุดสำหรับคุณในการบริหารธุรกิจแกร็บ

ทำอย่างไรก็ได้ให้แกร็บเป็นที่พูดถึงของคนไทย เข้ามาเกี่ยวข้องกับคนไทยมากกว่านี้ ซึ่งตอนนี้มันอยู่ในหนทางที่โอเคแล้ว มีคนรู้จักเรามากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องกฎหมาย เราจะเดินเกมอย่างไร ถ้ามันถูกกฎหมาย มันจะตอบโจทย์ทุกอย่าง ถือว่าเป็นเป้าหมายหลัก หวังว่าหลังการเลือกตั้ง มันจะเกิดขึ้น เพราะเราเห็นประเทศอื่นแซงเราไปทั้งที่ไม่ควรจะเป็นแบบนั้น เรามีคำถามว่า Why และทำอย่างไร ถ้าเป้าหมายเรื่องกฎหมายสำเร็จ เราจะได้ตั้งเป้าหมายใหม่เสียที

Fact Box

  • Grab แอปพลิเคชั่นเรียกรถโดยสารเข้ามาดำเนินธุรกิจในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2013 และขยายการบริการไปยังส่วนอื่นๆ ปัจจุบันมีทั้งบริการ Transport, Food Delivery และ Courier Services
  • มีคนดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Grab แล้วกว่า 109 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะในเมืองไทย มีคนเดินทางโดย Grab มากกว่าแสนเที่ยวต่อวัน และบริการ Grab Food ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2017 ได้ส่งอาหารไปแล้วกว่า 3 ล้านมื้อ
  • ธรินทร์ ธนียวัน จบการศึกษาบริหารธุรกิจ มหาบัณฑิตจาก Wharton School of the University of Pennsylvania และระดับบริหารธุรกิจบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประสบการณ์การทำงานกับลาซาด้า โดยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทย ปัจจุบัน เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย
Tags: , , , ,