จำได้ว่า The Momentum เคยคุยกับ ‘รวิสรา เอกสกุล’ หรือ ‘เดียร์’ อย่างจริงจังเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในคาเฟ่เล็กๆ ตรงข้ามกับสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ หลังเธอออกจากโรงพัก เพราะต้องมารายงานตัวจากการถูกแจ้งข้อหาว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 จากการอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาเยอรมัน หน้าสถานทูตเยอรมนี ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563

ตอนนั้นเธอบอกถึงเหตุผลที่ลุกออกจากการเป็นผู้ฟังปราศรัยในม็อบ เปลี่ยนมาเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ของประชาชนเป็นภาษาเยอรมัน เพราะมีความชำนาญในภาษาดังกล่าว เธอลุกขึ้นอ่านข้อความในกระดาษเพียงหวังแค่จะสื่อสารให้ใครก็ตามที่ฟังภาษาเยอรมันได้ เข้าใจเจตจำนงเสรีภาพการเคลื่อนไหว หลังจากคืนนั้น มีหลายคนถูกหมายเรียกใน 2 ข้อหาร้ายแรง ทั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งอาจมีโทษสูงสุดถึง 7 ปี และข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายสถาบันฯ หรือพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งอาจมีโทษสูงสุดถึง 15 ปี 

การถูกแจ้งข้อหาร้ายแรงทำให้รวิสราต้องแวะเวียนไปยังที่ต่างๆ ที่ไม่คิดว่าจะได้ไปบ่อยๆ ทั้งสถานีตำรวจ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ไปสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อฟังผลการพิจารณาว่าอัยการจะมีคำสั่งฟ้องหรือขอฝากขัง

เธอมีคดีติดตัว และมีข้อห้ามสำคัญอย่างการห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

กลายเป็นว่าตอนนี้รวิสรามีโอกาสจะได้รับทุนการศึกษา ทุนจากองค์กรแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรีค (Hochschule Osnabrueck) ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโปรแกรมเฮลมูท ชมิดท์ (Helmut-Schmidt) ซึ่งเป็นทุนการศึกษาที่มอบให้กับนักเรียนในประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการเรียนรู้เพื่อนำความรู้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด รวมถึงมอบทุนแก่นักเรียนในประเทศพัฒนาที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เป็นหลักสูตรมหาบัณฑิตด้านการจัดการในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

ปกติแล้วเวลาขอทุน DAAD ผู้สมัครต้องเลือกโปรแกรมที่ต้องการ จากนั้นดูว่าทางมหาวิทยาลัยมีข้อกำหนดและต้องการเอกสารอะไรบ้าง รวิสราเริ่มศึกษาหาข้อมูลมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพราะคาดหวังว่าอัยการจะไม่สั่งฟ้องคดีอาญาที่ติดตัวอยู่ และส่งเอกสารไปยังเยอรมนีเพื่อยื่นขอทุน จนกระทั่งวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ทนายความบอกกับเธอว่า อัยการมีคำสั่งฟ้อง

“ตอนนั้นรู้สึกฝันสลาย คงไม่ได้ไปเรียนต่อแน่นอน เพราะมีคดี อัยการสั่งฟ้อง และถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ”

กลุ่มทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมองว่า หากผู้ต้องหาคดีการเมืองแบบนี้ได้ทุนจริงๆ มีโอกาสมากทีเดียวที่ศาลจะอนุญาตให้ไปเรียนต่อ เมื่อทนายคาดการณ์ว่าเป็นไปได้ เธอจึงเดินหน้าทำเรื่องยื่นขอทุนต่อ หมั่นส่งเอกสารที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการ และรอฟังผลอย่างใจจดใจจ่อ ก่อนจะได้รับอีเมลในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีกลาย พร้อมข้อความที่ระบุว่าเธอมีสิทธิสอบสัมภาษณ์ และเมื่อการสัมภาษณ์เสร็จสิ้น ทางมหาวิทยาลัยได้ส่งอีเมลมาอีกฉบับ เพื่อแจ้งว่ารวิสราได้ทุนการศึกษาเรียบร้อยแล้ว

เธอบอกว่ากว่าจะทำเรื่องเสร็จ รู้ตัวอีกทีก็เหลือเวลาเดินทางแค่ 2 เดือน จึงเร่งนำเอกสารทั้งหมดไปยื่นต่อศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาอนุญาตให้ไปเรียนต่อ ก่อนได้รับคำตอบว่าศาลยกคำร้องดังกล่าว

วันที่ 3 มีนาคม 2565 เธอเดินทางไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศไปศึกษาต่อเป็นครั้งที่ 2

วันนั้น ศาลมีคำสั่งยกคำร้องอีกครั้ง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยยังไม่ผ่านการคัดเลือกว่าจะได้รับทุนหรือไม่ ส่วนเงื่อนไขที่ทางฝ่ายเธอเสนอว่า หากได้รับอนุญาตจะยินดีจะไปรายงานตัวและแสดงที่อยู่ต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยประจำประเทศเยอรมนีทุก 30 วัน โดยขอให้อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนายประกันของจำเลย และบิดาของจำเลย เป็นผู้กำกับดูแลตามเงื่อนไข แต่บุคคลทั้งสองอยู่ในประเทศไทย ส่วนจำเลยอยู่ต่างประเทศ เป็นการยากที่จะกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ 

จึงไม่เป็นการหนักแน่นพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยเคร่งครัด จนกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลได้ตามกำหนด ตามเงื่อนไขการประกันตัว ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เพราะเกรงว่าจะหลบหนี จึงยังไม่มีเหตุอนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้ยกคำร้อง

แม้ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จะยืนยันต่อศาลแล้วว่า รวิสราได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทที่ประเทศเยอรมนีจริง และจะต้องเดินทางไปยังประเทศเยอรมนีในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคมนี้ เพื่อทดสอบความพร้อมก่อนเริ่มเรียน รวมถึงรวิสราจะกลับมารับฟังการพิจารณาคดีอาญาตามที่ศาลนัดในเดือนมีนาคม 2566 แม้จะเป็นช่วงคาบเกี่ยวที่กำลังศึกษาอยู่ที่เยอรมนี และจะเป็นเรื่องน่าเสียดายหากศาลไม่อนุญาตให้ไป เพราะทุนการศึกษาและการไปเรียนถึงต่างประเทศ จะทำให้นำความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาประเทศต่อไปได้

“เรามีธุระให้จัดการเยอะกว่าคนอื่นๆ ที่จะไปเรียน เหตุเพราะมีคดีอยู่ เราไปยื่นคำร้องต่อศาลมาหลายรอบ แล้วแต่ละรอบ กว่าจะยื่นได้ ก็ต้องพยายามหาเอกสารจากหลายหน่วยงานมากๆ ทั้งผู้ให้ทุน ทั้งติดต่อคนนั้นคนนี้ สำหรับเอกสารรับรองว่าเราได้ทุนจริง ไหนจะต้องเอาเอกสารทั้งหมดไปแปลเป็นภาษาไทย กระบวนการเหล่านี้ค่อนข้างกินเวลาเยอะพอสมควร ยังไม่รวมเรื่องขอวีซ่า เรื่องติดต่อกับมหาวิทยาลัยที่โน่น เตรียมเอกสารสำหรับการลงทะเบียน ตอนนี้เสียเวลาไปเยอะมากจนกลัวว่าจะเตรียมตัวไปเรียนต่อไม่ทันจริงๆ”

ย้อนกลับไปยังเดือนกุมภาพันธ์ เกออร์ก ชมิดท์ (Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้ส่งหนังสือแสดงความยินดีกับรวิสราที่ได้รับทุนการศึกษาจากองค์กรแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) ในโปรแกรมเฮลมูท ชมิดท์ หลักสูตรมหาบัณฑิตด้านการจัดการในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรีค ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และแนะนำให้ยื่นขอวีซ่าที่แผนกกงสุล สถานทูตเยอรมนี โดยเร็วที่สุด

แบบนี้ก็ถือเป็นหนึ่งสิ่งที่ยืนยันได้ว่าผู้หญิงคนนี้ได้ทุนการศึกษาไปเรียนที่เยอรมนีแล้วจริงๆ หรือไม่

แต่ทำไมศาลถึงยังยกคำร้องของว่าที่นักเรียนทุนต่างประเทศคนนี้ซ้ำถึง 2 ครั้ง?

ถึงอย่างนั้น รวิสรามองว่าท่ามกลางเรื่องเครียดยังมีความโชคดีที่คดีความของตัวเองอยู่ในการดูแลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงไม่เสียค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย และเธอรู้สึกเกรงใจ รู้สึกขอบคุณทนายที่เป็นภาระจัดแจงเรื่องนี้ให้

“ส่วนเวลาที่ครอบครัวมาศาลด้วยกัน เขาไม่พูดอะไรที่เป็นแง่ลบกับเรา มีแต่ให้กำลังใจ พูดแต่สิ่งดีๆ ให้ฟัง เป็นกำลังใจให้ตลอดจนเรารู้ว่าเขาพร้อมสู้ไปกับเรา ครอบครัวบอกเสมอว่าไม่เคยหมดหวัง เชื่อมั่นว่าเราต้องได้ไป และพร้อมสู้สุดตัวเพื่อเรา

“แต่ในความคิด สิ่งหนึ่งที่เรากับครอบครัวต้องเสียไป คือถ้าเดือนหน้าได้ไปเรียนต่อจริงๆ เท่ากับว่าแทบจะไม่ได้ใช้เวลาแบบปกติสุขกับครอบครัวเลย เพราะต้องคอยวิ่งหาเอกสารเพิ่มเติม คอยมาขึ้นศาลแทบทุกสัปดาห์ แทนที่จะได้ใช้เวลาที่เหลือกับครอบครัว ได้ไปเที่ยว ไปกินข้าวร้านอร่อยด้วยกัน ไปเที่ยวในที่ที่แม่เคยบ่นว่าอยากไป หรือได้พาหมาไปวิ่ง แต่เรากลับต้องเอาเวลามานั่งรอ รอ รอ แล้วก็รอ สำหรับเรา เราเสียดายตรงนี้มากที่สุด”

คำร้องยังไม่สิ้นสุด ตอนนี้รวิสรายื่นคำร้องต่อศาลเป็นครั้งที่ 3 แล้ว และศาลต้องการเอกสารเพิ่มเติมที่ยืนยันว่าเธอเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ได้ทุนไปศึกษาต่อจริง รวมถึงเอกสารผู้กำกับดูแลขณะใช้ชีวิตอยู่ที่เยอรมนี เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผู้ยินยอมเป็นผู้กำกับดูแลอาศัยอยู่ในประเทศไทย

เราจึงถามความคาดหวังล่วงหน้า หากศาลไม่อนุญาตให้ไปเรียนปริญญาโทจริงๆ ชีวิตหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อ

เธอตอบแค่ว่า อย่างไรก็จะต้องไปให้ได้

“ไม่ได้คิดไว้เลย เพราะเชื่อว่าปีนี้ต้องได้ไปเรียนต่อ เราไม่อยากรอให้เวลาล่วงเลยไปมากกว่านี้แล้ว เราก็อายุมากขึ้นทุกวัน อยากรีบเรียนจบแล้วกลับมาหางานทำแบบที่ตั้งใจไว้เร็วๆ รอไม่ได้อีกแล้ว เราไม่อยากรอแล้ว และมันจะต้องไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทางที่เราได้ไปเรียน”

The Momentum จะคอยติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ว่าการยื่นคำร้องครั้งที่ 3 จะทำให้เธอสมหวังหรือไม่

 

Tags: , , , , , ,