ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ประชาชนจำนวนมากหลั่งไหลกันมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะราษฎร บริเวณหน้าสถานทูตเยอรมนี ภายใต้ภารกิจอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนยื่นหนังสือให้แก่เอกอัครราชทูตเยอรมัน ไฮไลต์ที่น่าจดจำของวันนั้น คือการอ่านแถลงการณ์ใน 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเรียกเสียงชื่นชมได้อย่างล้นหลาม

ใครจะรู้ว่า หลังการชุมนุมผ่านไปแล้ว 38 วัน ผู้ที่อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันในคืนนั้นจำนวน 4 คน จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกในคดีร้ายแรงอย่าง ม.116 และ ม.112 ทั้งยังถูกตราหน้าว่าเป็นคนหมิ่นสถาบัน เพียงเพราะอ่านแถลงการณ์ฉบับเดียว 

เดียร์-รวิสรา เอกสกุล

เดียร์-รวิสรา เอกสกุล และ ฟ้า-สุธินี จ่างพิพัฒน์นวกิจ หญิงสาว 2 ใน 5 คนของผู้อาสาอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน หน้าสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พวกเธอใช้ความชำนาญทางภาษา ที่ร่ำเรียนมาจากคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาเยอรมัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ่านข้อความต่าง ๆ หวังเพียงแค่จะสื่อสารไปยังใครก็ตามที่ฟังภาษาเยอรมันเข้าใจ แต่กลับถูกตั้งข้อหาอาญามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนในราชอาณาจักร รวมถึงมาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือสถาบัน 

เดียร์-รวิสรา หญิงสาววัย 25 ปี เรียนจบเอกภาษาเยอรมัน ปัจจุบันทำงานเป็นนักแปลอิสระ ก่อนหน้านี้เธอมองว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว โดยช่วงที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อการรัฐประหาร ตอนนั้นเธอรู้แค่ว่าคอนเสิร์ตที่ตัวเองอยากไปถูกยกเลิกเท่านั้น ทว่าตอนนี้เธอมองเห็นว่า สภาพสังคมไม่เอื้ออำนวยเด็กที่เรียนจบมาหมาด ๆ ให้มีชีวิตที่ดีได้เลย จึงเริ่มให้ความสนใจการเมืองไทยมากขึ้น และไปเข้าร่วมทุกครั้งที่มีการชุมนุม

ขณะที่ ฟ้า-สุธินี ขณะนี้ยังเรียนอยู่ในชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เธอมีชีวิตเหมือนนักศึกษาทั่วไป ยามว่างชอบวาดรูปและอ่านหนังสือการ์ตูน ใฝ่ฝันอยากเป็นนักแปลมืออาชีพ สมัยก่อนเธอยังคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของนักการเมือง ส.ส. สว. ในสภาเท่านั้น พอเริ่มเล่นทวิตเตอร์ ติดตามข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้นมุมมองก็เปลี่ยนไป เธอเข้าใจความหมายของคำว่า ‘การเมือง’ มากขึ้น 

ฟ้า-สุธินี จ่างพิพัฒน์นวกิจ

ฟ้าเล่าว่า เธอย้อนกลับมามองตัวเองและเกิดความรู้สึกบางอย่าง ความฝันที่จะเป็นนักแปล มีการงานที่มั่นคง มีรายได้ที่เหมาะสม อาจทำได้ยากกว่าที่คิดในสังคมที่ใช้ชีวิตอยู่ตอนนี้ จึงพยายามมีส่วนร่วมกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ด้วยการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะราษฎรบ่อยเท่าที่จะไปได้

ก่อนหน้านี้ ทั้งเดียร์และฟ้ารู้จักมาตรา 112 เพียงแค่ผิวเผิน เดียร์รู้ว่ามาตรานี้คืออะไร รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากโดนเข้ากับตัวเอง ส่วนฟ้ารู้จักมาตรา 112 จากกรณีของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง SMS’ จนเกิดความรู้สึกว่า เหตุการณ์ที่ชายชราคนนี้ได้เจอคือความไม่สมเหตุสมผลที่สุด

การถูกตั้งข้อหามาตรา 116 และ 112 ของหญิงสาวสองคนนี้ เกิดขึ้นหลังจากการอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มคณะราษฎร ในคืนวันที่ 26 ต.ค. หน้าสถานทูตเยอรมัน เนื่องจากทั้งคู่เห็นตรงกันว่า “จะมีกี่คนที่สามารถอ่านภาษาเยอรมันได้?” จึงตกลงใจเดินไปแถวหน้าสุดของม็อบ เพื่ออาสาอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมัน โดยยอมรับความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี

“หลังจากคืนนั้นก็รออยู่พักหนึ่งว่าเมื่อไหร่หมายจะมา พอเวลาผ่านไปนานเข้า ก็คิดว่าคงรอดแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่รอด” 

เดียร์เล่าสั้น ๆ ถึงความรู้สึกหลังได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ที่ส่งไปถึงบ้าน

เดียร์บอกว่า การตัดสินใจอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันในครั้งนั้น ไม่ใช่ความกล้าหาญอะไร เธอคิดเพียงแค่ว่าถ้าตัวเองไม่อ่านก็จะต้องมีคนอื่นอ่านอยู่ดี อาจเป็นน้องร่วมคณะ พี่ที่รู้จัก หรือคนใกล้ตัวที่จบเอกเยอรมันมาเหมือนกัน และพวกเขาอาจจะกลายเป็นคนที่จะต้องถูกดำเนินคดีแทน ซึ่งตัวเธอได้ทำความเข้าใจกับตัวเอง คิดว่าตัวเองมีภาระน้อยกว่าคนอื่น และยอมรับความเสี่ยงแล้ว

การเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของทั้งเดียร์และฟ้า ใช้เวลานานกว่าปกติ เนื่องจากทั้งสองคนไม่ใช่แกนนำและไม่เคยมีคดีติดตัวมาก่อน ระหว่างฟังเจ้าหน้าที่อ่านข้อหาายละเอียดปลีกย่อยยาวกว่า 13 หน้าให้ฟัง เจ้าหน้าที่ตำรวจนายนั้นยังพูดว่าไม่ได้อยากจะดำเนินคดีข้อหา 112 กับใครทั้งนั้น แต่ทางตำรวจสันติบาลส่งรายชื่อมาให้ ก็ต้องทำไปตามหน้าที่

ทั้งสองคนต้องมารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกับ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ‘ครูใหญ่ขอนแก่น’

กลุ่มผู้อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม ไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนขั้นตอนต่าง ๆ ของการจัดม็อบ ไม่ได้เป็นคนที่ถูกสปอตไลต์สาดส่อง หรือถูกกล้องของสื่อตามจับแทบทุกการเคลื่อนไหว แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคนในสังคมไทยที่จะไม่ทนกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการสิ่งที่พวกเขารู้ตัวดีว่าทำได้ จึงตัดสินใจเข้าช่วยเหลือโดยไม่คิดว่า รัฐบาลจะมอบผลลัพธ์ด้วยการตั้งข้อหาหนักกับพวกเขาแบบนี้ 

แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ระบุว่า จะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราต่อผู้ชุมนุม บวกกับสถิติที่ผ่านมาที่มีคนเคยถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่า ใคร ๆ ก็ตกเป็นจำเลยได้ บางคนที่ถูกหมายเรียก อาจเป็นคนที่เคยยืนข้างกันตอนไปร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บางคนเอาจเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน อาจเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เคยเดินสวนกัน หรือคนข้างบ้านที่ไม่มีพิษมีภัย 

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนแทบจะกลายเป็นเรื่องทั่วไปในสังคมไทย จาก ‘เรื่องไม่ปกติ’ ที่ไม่มีใครควรเจอ แปรเปลี่ยนเป็น ‘เรื่องปกติ’ ที่ใคร ๆ ก็ได้เจอ จนปฏิเสธไม่ได้ว่า มาตรา 112 อาจมาถึงตัวเราสักวันหนึ่งด้วยเช่นกัน

 

Tags: , , , , , , ,