เป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติย้ายมาจัดที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ก่อให้เกิดกระแส ‘ไกล ไม่ไปหรอก’ ตั้งแต่งานยังไม่เริ่ม ไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นอื่นๆ ทั้ง ทำไมไม่จัดที่ไบเทค หรือแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ทำไมรถบริการไม่พอ แจกไอแพดไม่ช่วยอะไรหรอก ไปจนถึง ‘งานหนังสือตายแล้ว’ ไม่มีคนมา ไม่มีคนเดิน เราจึงนัดคุยกับนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยมี่โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ’ ที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้เพียงสองเดือนเศษก่อนงานมหกรรมหนังสือฯ พร้อมตอบทุกคำถามและทุกปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงครั้งหน้ายังจะเป็นอิมแพ็ค เมืองทองธานีอยู่อีกไหม 

ทราบข่าวมาว่าคุณมี่เพิ่งจะมาเป็นนายกสมาคมฯ ได้สองเดือนกว่าๆ ใช่ไหมครับ ทำไมถึงมาเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ใช่ค่ะ แต่ว่าก่อนหน้านี้เคยเป็นกรรมการสมาคมอยู่ 2 สมัย แล้วก่อนจะมาเป็นกรรมการสมาคม ก็เคยเป็นอนุกรรมการตอนเด็กๆ ถึงเวลามีอะไรช่วยได้เราก็ช่วย สำหรับตำแหน่งนายกสมาคมฯ มีคนสมัครสักสองคนเอง กรรมการลาออกกันหมดเลย ซึ่งก็ไม่ทราบเหตุผลเขาว่าทำไม 

ส่วนทำไมถึงมาสมัคร ต้องบอกว่า เราอยู่ในอุตสาหกรรมนี้แล้วเราเห็นความเปลี่ยนผ่านตั้งแต่มันค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ตอนเราเด็กๆ เราเคยมาช่วยคุณพ่อ เคยเป็นอนุกรรมการ ก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันหมุนเร็วขึ้น แต่พอ วันนี้ มันไม่ใช่แค่หมุนแล้ว มันดิ่ง เราเว้นวรรคไปดูโลกภายนอกอยู่พอสมควรแต่เรายังมีคอนเน็กชั่นในสิ่งนี้อยู่ เรามีสิ่งที่มองเห็น ถ้าช่วยได้ก็ดี กอปรกับน้องๆ เพื่อนๆ หลายคนก็มาคุย เอาอย่างไรดี เราจะเดินไปด้วยกันไหม เราจะลองเข้ามาช่วยอุตสาหกรรมแบบเป็นทางการหน่อยไหม แล้วพอทุกคนบอกว่าโอเค ไม่ทิ้งกันใช่หรือเปล่า เดินไปด้วยกัน เราก็เลยตัดสินใจ ก็คุยกันว่าใครลงตรงไหน ทำงานตำแหน่งไหน หลายคนบอกนายกฯ เป็นมี่แล้วกัน ด้วยหลายๆ เรื่องที่ประกอบกัน เราก็เลยบอกโอเค แต่ทั้งหมดถือว่ามาเป็นทีมด้วยกัน

หมายความว่าคุณมี่รู้อยู่แล้วว่าศูนย์สิริกิติ์จะต้องปิดปรับปรุง และต้องย้ายมาจัดที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

รู้สิคะ แม้ว่าตอนนั้นเรายังไม่ได้เป็นนายกสมาคมฯ แต่เราก็ทำสำนักพิมพ์ (สุขภาพใจ) ก็ติดตามข่าวสาร แล้วเราก็มองว่าแต่ละที่มันมีอุปสรรค มีโอกาส แตกต่างกันก็อยู่ที่ว่าสุดท้ายคนส่วนใหญ่ หรือว่าปัจจัยที่เราอาจจะไม่รู้ บางเรื่องที่กรรมการรู้ เป็นตัวตัดสินใจ แต่เมื่อเกิดการตัดสินใจแล้ว เราควรจะต้องเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

มีเรื่องอะไรบ้างที่กรรมการรู้ แต่คนข้างนอกอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับการตัดสินใจย้ายสถานที่การจัดงานมหกรรมหนังสือฯ มาที่อิมแพ็ค เมืองทอง

เท่าที่มี่ทราบ เขาได้ทำแบบสำรวจนะคะ ว่ามีสถานที่ไหนบ้างที่อยู่ในใจ ซึ่งสำรวจทั้งผู้ที่มางานสัปดาห์หนังสือในครั้งก่อนและกรรมการ สำนักพิมพ์ต่างๆ ที่อยู่ในสมาคม ผลออกมามีอยู่ 5-6 ที่ อันดับ 1 มาแรงสุดคืออยากไปไบเทค 45% อันดับ 2 เป็นอิมแพ็ค 19% แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน 18% แล้วก็ไปกรมส่งเสริมการส่งออก รัชดา 9% ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ 4% ที่เหลือก็อื่นๆ ปะปนกันไป 

ไบเทคเป็นสถานที่อันดับหนึ่งที่หลายคนสนใจ แล้วในแบบสำรวจก็แยกออกไปด้วยว่า คนที่สนใจไบเทคส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีอายุช่วงเด็กจนโต และส่วนมากจะเป็นผู้ชาย ในขณะที่ถ้าเป็นเมืองทอง สัดส่วนจะเป็นผู้ที่มีอายุเยอะหน่อย แต่ไม่ถึงกับแก่นะคะ ประมาณสัก 30 ปีขึ้นไป จะชอบเมืองทอง แล้วก็เป็นผู้หญิงและผู้ชายพอๆ กัน ผู้หญิงผู้ชายพอ กัน ทั้งหมดนี้มาจากผลสำรวจบุคคลภายนอก

จากนั้นก็มีการนำผลสำรวจนี้มาคุยกันภายใน เมื่อเราดูปัจจัยเรื่องของพื้นที่ ราคา เราก็พบว่า ปัจจัยที่จำเป็นจะต้องเลือกอิมแพ็ค มี 2 ปัจจัยหลัก ก็คือ ขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ใช้ที่ศูนย์สิริกิติ์ ประมาณ 20,000 ตารางเมตร ซึ่งในเรื่องของพื้นที่ไบเทคก็รองรับได้ในสเกลการจัดงานมหกรรมหนังสือเช่นเดียวกัน แต่ว่าฮอลล์ของไบเทคที่เราสามารถจะจองในการจัดงานได้จะอยู่ในโซนลึกสุดเลยค่ะ เดินจาก BTS มาถึงฮอลล์ อาจจะร่วมๆ 2 กิโลเมตรได้ นั่นคือปัจจัยที่หนึ่ง 

ปัจจัยที่สองก็คือ เรื่องค่าใช้จ่ายในแง่ของการเช่าพื้นที่ ไบเทคกับอิมแพ็คราคาห่างกันสูงมาก ไบเทคราคาสูงกว่าอิมแพ็คเกือบเท่าตัว อย่าลืมว่าค่าบูธของเพื่อนสำนักพิมพ์ในอุตสาหกรรมนี้ ถ้าไปเทียบกับการเช่าพื้นที่ที่ไหนก็ตามของอุตสาหกรรมอื่น ถือว่าต่ำกว่ากันเยอะมากนะคะ เป็นเพราะว่าสมาคมผู้จัดพิมพ์ ไม่ได้เอาค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดงานมาหารเป็นค่าบูธ และเรายังได้เงินจากส่วนอื่นๆ อย่างสปอนเซอร์มาช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้แต่ละสำนักพิมพ์จ่ายในราคาที่ถูกลง เพราะอุตสาหกรรมนี้มันมีภาพที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น เป็นภาพกึ่งๆ CSR 

เพราะฉะนั้นเมื่อนำเอาข้อมูลระหว่างอิมแพ็คและไบเทคมาเปรียบเทียบกัน ทั้งในแง่สถานที่ และราคา ทางคณะกรรมการชุดก่อนและเพื่อนพี่น้องสำนักพิมพ์ต่างๆ จึงเห็นตรงกันว่าอิมแพ็คน่าจะดีกว่า และทางอิมแพ็คเขาก็อยากให้เรามาลองจัดที่นี่ด้วย พร้อมมอบส่วนลดค่าเช่าพื้นที่ของปีแรกให้ จากที่เราเคยคำนวณไว้ว่าค่าเช่าพื้นที่ต่อบูธประมาณ 29,000 บาท แต่งานนี้จ่ายเพียง 16,000 บาทต่อบูธ ซึ่งเราก็มองว่าค่าใช้จ่ายที่ถูกลงนี้ (และถูกกว่าที่ศูนย์สิริกิติ์) อาจจะช่วยสำนักพิมพ์ชดเชยในเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น การเดินทาง ซึ่งในราคาเดียวกันนี้ ถ้าเราจัดที่ไบเทคเราจะจัดได้แค่ 5 วัน ในขณะที่ถ้าเราจะจัดประมาณช่วงเวลาเดียวกันกับทุกปีที่ไบเทค เราก็ต้องจ่ายเป็น 2 เท่า ก็คือค่าบูธต้องแตะที่ 50,000-60,000 บาทต่อบูธ ก็ต้องดูว่าพวกเราไหวกันไหม

และอีกหนึ่งประเด็นหลักในการตัดสินใจเลือกระหว่างอิมแพ็คกับไบเทคก็คือ ช่วงเวลาในการจัดงานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งปรากฏว่าที่ไบเทค ในการจัดงานสัปดาห์หนังสือปีหน้าในช่วงเดือนเมษายน เราต้องจัดในช่วงหลังวันที่ 17 เมษายนเป็นต้นไป ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมอีกก็คือ หนึ่ง เราอยากจะจัดงานให้อยู่ในช่วงวันที่ 2 เมษายน เพราะเป็นวันรักการอ่านไทย สอง การจัดหลังเทศกาลสงกรานต์นั้นหมายความว่าเราต้องเข้ามาเซ็ตสถานที่ในช่วงวันสงกรานต์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครทำงาน และอีกอย่างคือในเชิงการขาย ทุกคนใช้เงินในช่วงวันหยุดสงกรานต์ไปหมดแล้ว การจัดงานสัปดาห์หนังสือที่ไบเทค ซึ่งได้วันในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์จึงอาจจะส่งผลกระทบหลายอย่างด้วยกันค่ะ 

มีคนเสนอว่าทำไมไม่จัดที่ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่จัดงานอีเวนต์หลายงานบ่อยครั้ง ละอยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวกด้วย

ปัญหาหลักของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ก็คือขนาดพื้นที่ค่ะ สเกลงานมหกรรมหนังสือ ใช้พื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร ขนาดพื้นที่ของมักกะสันไม่ตอบโจทย์สเกลงานระดับงานมหกรรมหนังสือ เพราะเล็กกว่าเกือบครึ่งหนึ่งเลยค่ะ นอกจากนี้ยังไม่สะดวกในเชิงการอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งการโหลดของ ห้องน้ำ อาหาร แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน เราเคยเห็นมีการจัดงานอยู่บ่อยๆ อยู่แล้วใช่ไหมคะ อย่างบริษัทอมรินทร์ก็เคยไปจัดอมรินทร์บุ๊กแฟร์ที่นั่น แต่ว่าสุดท้ายก็เลิก คงมีหลายเหตุปัจจัย แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ถามว่าจัดได้ไหม เหมาะกับการจัดงานแฟร์นะคะ ด้วยการเดินทางที่สะดวก แต่อาจจะไม่ใช่งานใหญ่ขนาดมหกรรมหนังสือ นึกออกไหมคะ นอกจากนี้ยังมีเรื่องพื้นที่ค่าเช่าด้วยค่ะ 

เพราะฉะนั้นถ้าเรายังยืนยันที่จะจัดสเกลเดิม ทั้งในแง่ของพื้นที่และจำนวนวัน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้วย มันทำให้ทั้งกรุงเทพฯ เหลือสถานที่ที่จัดงานได้ที่เดียวค่ะ ซึ่งก็คืออิมแพ็ค เมืองทองธานี 

แต่อิมแพ็ค เมืองทองก็เต็มไปด้วยเสียงบ่นว่าไกล 

ใช่ค่ะ ทุกที่มีจุดบอด แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เล่ามา ที่ทำให้สุดท้ายเราเลือกที่จะจัดที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี หลังจากตัดสินใจแล้ว เราจึงมาดูว่าจะจัดการกับเรื่องจุดบอด ซึ่งก็คือการเดินทางมายังอิมแพ็ค เมืองทองธานีอย่างไร

เรื่องแรกน่าจะเป็นเรื่องคนขาย สำนักพิมพ์แต่ละแห่งก็ต้องดูว่าตัวเองจะพักที่ไหน จะเดินทางมาอย่างไร ซึ่งสุดท้ายแล้วก็มีสมาชิกบางคนมาไม่ได้จริงๆ เพราะไม่สะดวกและค่าใช้จ่ายสูง ถึงแม้ว่าค่าบูธอาจจะลดลงมามากแล้วก็ตาม 

ทีนี้ก็คือการเดินทางของคนมางาน หนึ่ง เราศึกษาทุกวิธีการเดินทางมาที่นี่ อะไรที่จะช่วยลดขั้นตอน เวลา ค่าใช้จ่ายได้ อะไรที่จะทำให้เกิดแรงจูงใจ เช่น เรารู้ว่ารถเมล์สาย 166 จากอนุสาวรีย์ตรงมายังที่นี่ได้เลย เราก็ไปคุยกับ ขสมก. ช่วยขึ้นทางด่วนมาเลยได้ไหมคะสักส่วนหนึ่ง แต่ ขสมก. ไม่อนุญาต แต่สิ่งที่ ขสมก. ช่วยเราก็คือเราได้สื่อบน ขสมก. ทำให้รู้ว่า เฮ้ย ยังมีงานนี้อยู่ และเขาก็เพิ่มจำนวนรถให้เรา 

ประการที่สอง พอรู้ว่าอย่างน้อยมี MRT ที่มาถึงใกล้ที่สุด คือศูนย์ราชการนนท์ เราก็มีรถฟรีไว้คอยบริการ ขึ้นทางด่วนเลย เพราะมันเป็นรถที่เราเช่าเอง วิ่งทั้งวันและทุกวัน เสาร์อาทิตย์ ก็เพิ่มจำนวนรถ แล้วไม่ใช่แค่รถตู้ 10-15 คัน แต่มีรถบัสคันใหญ่ด้วย ก็เช่าเพิ่มเข้าไป 

สาม เราไปคุยกับ Grab ว่า ถ้าคุณมีลูกค้าใหม่ที่โหลดแอปฯ แล้วใส่โค้ด READABOOK50 ลด 50% ได้ถึง 5 ครั้ง แต่ถ้าเป็นลูกค้าปกติทั่วไปที่มีแอปฯ อยู่แล้ว ใส่ READABOOK ก็ได้ลดอย่างน้อย 2 ครั้ง ไปกลับ ได้ครั้งหนึ่ง 

สี่ เราไปคุยกับเครือข่ายแท็กซี่ ไปโฆษณาในเครือข่ายแท็กซี่ว่า มีงานนี้นะ และถ้าแท็กซี่คันนั้นเข้ามาถึงข้างในนี้ แล้วสามารถมาส่งคนและรับคน โดยเฉพาะรับคนออกไป เราจะให้คูปอง 30 บาทสำหรับคนที่ซื้อหนังสือเป็นค่าเรียกรถ 

นอกจากนี้ยังมีรถตู้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราก็ไปประสานงานกับเขาให้เพิ่มจำนวนรถโดยเฉพาะช่วงศุกร์เสาร์อาทิตย์ และเขาก็จะได้รู้ว่ามีงาน มีคนไปงาน รถก็จะตรงไปยังที่จัดงานเลย และเราก็พยายามให้ข้อมูลการเดินทางให้เยอะที่สุดว่ามีรถอยู่ตรงไหนบ้าง ตรงไหนเสียราคาเท่าไร กี่ชั่วโมง ตรงไหนไม่เสีย อาศัยเพื่อนๆ ทุกๆ สำนักพิมพ์ช่วยบอกเครือข่ายของตัวเอง 

เราก็พยายามถึงที่สุดเพื่อที่จะอุดจุดบอดตรงนี้ให้ได้มากที่สุด และเราก็ได้เรียนรู้หลายๆ อย่างเพื่อนำไปปรับปรุงในครั้งต่อไป ว่าเราสามารถไปเพิ่มตรงส่วนไหนที่เป็นปัญหา หรือว่าช่วงที่จัดงานตรงกับงานอื่นๆ มันเลี่ยงเรื่องจอดรถได้ยากจริงๆ หรือควรจะสื่อสารว่าควรมางานเวลาใด เลี่ยงเวลาใด เพราะการตลาดมันคือการทดลองด้วย นี่ยังคิดเลยว่าเอ๊ะ หรือเราจะเปิดขายข้ามคืนสัก 2 คืน แต่ถ้าจะทำทุกคนต้องทำด้วยกันจริงๆ ไม่ใช่บางบูธเปิด บางบูธปิด ก็ต้องลองคุยกันดูค่ะ

มีสิ่งอะไรอีกที่เราสามารถเตรียมการไว้ล่วงหน้าได้ จากการคาดการณ์ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง 

ในแง่สมาชิกแล้วกันค่ะ พอเรารู้แล้วว่าบางสำนักพิมพ์มาไม่ได้ เราก็พยายามสนับสนุนด้วยการเปิดพื้นที่กลาง เป็นร้านหนังสือตรงกลางให้มาฝากขายกัน ทั้งแบบฝากปกติ หรือฝากแบบสร้างแบรนด์ตัวเอง เป็นเชลฟ์เล็กๆ ของตัวเองในพื้นที่กลางซึ่งมีค่าใช้จ่าย ก็อยากให้ตอบรับกันมามากกว่านี้ แต่ว่าคนมาฝากหนังสือขายก็ไม่น้อยนะคะ แต่สร้างเชลฟ์ตัวเองไม่ค่อยมี 

เรามีสมาชิกประมาณ 400 ราย แต่ที่ออกบูธเป็นประจำประมาณสัก 370 ราย งานนี้มีมาออกบูธ 318 ราย เพราะฉะนั้นก็น่าจะหายไป 50-60 ราย ประมาณนั้น ซึ่งก็มีนำมาฝากขายที่พื้นที่กลาง แต่ไม่ถึง 10 ราย ที่เหลือก็อาจจะมีการฝากขายตามเพื่อนสำนักพิมพ์อื่นๆ เป็นประจำกันอยู่แล้ว 

อีกสิ่งหนึ่งที่เราพบก็คือ ความไม่แน่ใจของสำนักพิมพ์ว่าจะจองบูธดีไหม เราก็เลยใช้วิธีตัดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ลดราคาได้ถึงที่สุด จนเป็น 16,000 บาทต่อบูธ เพื่อจูงใจให้ทุกคนตัดสินใจง่ายขึ้น และไหนๆ ก็รู้อยู่ว่าพื้นที่มันเยอะ และด้วยราคาที่ถูกลง อาจจะลองจองหลายบูธในโซนที่แตกต่างกันก็ได้ เพราะบางสำนักพิมพ์ก็มีหนังสือหลายหมวด เราก็พยายามหาทางที่เป็นไปได้หลายๆ ทางเพื่อช่วยเหลือ

ตั้งแต่วันแรกๆ ที่จัดงานเจออะไรบ้าง

ถ้าในแง่นักอ่านรู้สึกประทับใจนะคะ จะมีน้องๆ มารอตั้งแต่ 7 โมงเช้า มายืนต่อคิว พอเปิด 10 โมงปุ๊บ วิ่งปรู๊ดเลย เพราะว่ามีเพื่อนสำนักพิมพ์สร้างลิมิเต็ดเอดิชั่น ซึ่งทำให้เราเห็นว่าถ้าทุกคนช่วยกันสร้างอีเวนต์ของตัวเองคนละไม้คนละมือ มันก็จะทำให้เกิดความน่าสนใจในงานมากขึ้น ดึงดูดคนมางานมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในแง่คอนเทนต์ ตัวสมาคมฯ ที่เป็นองค์กรวิชาชีพมันไม่ได้มีด้วยตัวมันเอง แต่เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ 

เรามีเวทีให้ แต่ว่าเพื่อนๆ ยังไม่มีกำลังทำ อาจจะยังไม่แน่ใจ หรืองานที่ต้องทำก็เยอะแล้ว เราก็อยากจะมีความร่วมมือเกิดขึ้น สมมติ ให้นักเขียนมาพูดบนเวทีเลย เราช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายให้ แต่ก็อาจจะทำไม่ทันกัน ทำได้แค่บางคน ประมาณสัก 10 เวที แต่จริงๆ เราอยากให้มีแบบนี้เต็มทุกเวทีเลยนะคะ มีสิ่งที่ดึงคนทุกวัน ทุกช่วงเย็น 

ในระยะเวลาประมาณ 2 เดือนที่เราเข้ามาทำงาน เราทำทั้งเรื่องการจัดงาน การอำนวยความสะดวกทุก การจัดการอื่นๆ รวมไปถึงการสร้างคุณภาพงาน บางเรื่องมันก็เลยทำได้ไม่หมด เช่น พื้นที่เด็ก เราฝันอยากมีสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่ มีกิจกรรมของเด็กๆ เล่านิทานอะไรต่อมิอะไร แล้วให้เพื่อนสำนักพิมพ์มาช่วยกัน เราก็พยายาม แต่ว่าด้วยระยะเวลาการปิดเทอม การสอบปลายภาค และอีกหลายอย่าง เวลามันนิดเดียวทำไม่ทันกันจริงๆ 

อีเวนต์ที่เกิดขึ้นที่นี่ เมื่อเปรียบเทียบกับที่ศูนย์สิริกิติ์ ลดลงไหมครับ

มี่ว่าไม่ลดนะคะ โดยปกติที่ศูนย์สิริกิติ์ก็จะมีเฉพาะช่วงเสาร์อาทิตย์ ที่งานบนเวทีเต็ม แล้วก็ทุกๆ เย็นของหลายๆ วัน เพราะว่างานเวทีเราจะเก็บค่าใช้จ่ายเฉพาะเวทีกลาง ส่วน 2 เวทีย่อยไม่มีค่าใช้จ่าย ก็อยากให้สำนักพิมพ์ได้ลองกันเพราะมันมีเวทีที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเชิญนักเขียนดังมากก็ได้ แต่ว่าได้มาพูดคอนเทนต์ที่ตัวเองอยากนำเสนอ แล้วอีกอย่างที่เราทำก็คือ เราสลับการไลฟ์ไปยังโซเชียลมีเดียให้ในวันศุกร์เสาร์อาทิตย์ มันก็จะเป็นโอกาสที่สำนักพิมพ์รายย่อยที่ขึ้นเวทีทำให้คนที่เป็นนักอ่านที่ตามเพจ Book Thai อยู่ได้เห็น

แล้วช่วงสัปดาห์แรก ปัญหาที่ประสบทั้งที่คาดคิดไว้หรือไม่ได้คาดคิดไว้มีอะไรบ้างครับ 

ถ้าในแง่การจัดการของเพื่อนสมาชิก ด้วยความที่พื้นที่ในการโหลดของของที่นี่ มันมีประตูหรือมีช่องในการเข้าที่เดียว ไม่เหมือนศูนย์สิริกิติ์ที่มันเข้าได้ทั้งหลายทาง มันก็เลยมีผลในการจัดการ ต้องรับบัตรคิว อากาศร้อนอบอ้าว ฝนกำลังจะตก เวลาในการจัดการให้รายใหญ่เข้าก่อน รายเล็กตามมา นัดรายเล็กเที่ยงแต่มา 7 โมง หรือมาก่อนหน้าแต่ไม่ได้เข้าสักที เราก็ถูกต่อว่าเพราะมารอกันนาน 

มี่คิดว่ามันเป็นบทเรียนของทุกคนนะคะ ไม่ใช่แค่ผู้จัด บทเรียนอิมแพ็คด้วยนะ เพราะอิมแพ็คเขาก็พูดว่า เขาไม่เคยเจองานที่มีธรรมชาติแบบนี้ แต่พอเราเห็นธรรมชาติมันปุ๊บ แล้วเราเห็นเหตุปัจจัยของปัญหาที่เกิดขึ้น มันก็คงจะต้องมาค่อยๆ ขยับกันไป บางทีเพื่อนสำนักพิมพ์ก็จะมีไอเดียดีๆ กรรมการก็ฟัง บางทีกรรมการมีเหตุปัจจัยที่ไปเจรจามาให้ถึงที่สุดแล้ว ก็อยากให้เพื่อนสำนักพิมพ์ฟังกันบ้าง 

เชื่อมั่นเถอะค่ะว่า คนที่เขาอาสามาเป็นเหมือนกับกองทัพหน้า เขาไม่ละเลยที่จะปกป้องสิทธิประโยชน์ของพวกเราหรอก เพราะเราก็คือเขา เขาก็คือเรา เราก็เป็นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เราไฟต์ทุกอย่าง เพื่อให้พวกเราได้ในสิ่งที่เรารู้ว่าเป็นธรรมชาติของเรา แต่บางทีกับคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ กับอะไรต่อมิอะไร มันก็มีเหตุปัจจัยเยอะ เราก็ต้องเข้าใจ กรรมการที่เขาดูแลเรื่องนี้เขาก็ไฟต์เยอะ พยายามจัดการทุกอย่าง แต่อันไหนที่อาจจะคิดไม่ถึง เขาก็เริ่มเห็นว่าเดี๋ยวครั้งหน้าจะต้องทำอะไรเพิ่มบ้าง เราก็ต้องเรียนรู้ร่วมกัน เพราะนี่เป็นครั้งแรกของทุกคน 

อีกอุปสรรคหนึ่งก็คือการบอกว่าเดินทางมายาก ฉันไม่มาหรอก นี่มันคือ Me Too ของคนไทย ทำให้เกิดอุปทานหมู่ โดยเฉพาะคนในอุตสาหกรรมเราด้วยกันเอง ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามทำให้อุปทานหมู่เป็นไปในทางที่ส่งเสริมกันจะดีกว่าไหม เพราะอุปทานหมู่ที่ดีก็ย่อมดีกับทุกคน 

อย่างเรื่องที่จอดรถคนที่เดินทางด้วยรถส่วนตัว แล้วพยายามมาจอดในที่ที่ใกล้ๆ ซึ่งในช่วงนั้นมีหลายงานพร้อมกัน เขาคงรู้สึกจริง แต่ด้วยความที่ไม่รู้ว่าเมืองทองมันมีที่จอดรถหลายที่ อาจจะไกลหน่อย แต่เราก็มีรถชัตเทิลบัสคอยรับส่ง แต่ถ้าทุกคนพยายามที่จะจอดที่ที่ใกล้ที่สุด ก็คงยาก ไม่ใช่แค่ที่เมืองทองหรอกค่ะ ทุกๆ ที่นั่นแหละ สิ่งเหล่านี้ เรื่องที่มันออกมามันเป็นไปในทางลบ แต่ในทางบวกเยอะเหมือนกัน หลายคนแฮปปี้กับพื้นที่ที่ใหญ่และกว้างขวางขึ้น การจัดโซนต่างๆ มี่ว่าสิ่งที่เราควรคิดร่วมกันคือทำอย่างไรให้คนที่อาจจะลังเล ตัดสินใจมาด้วยข้อมูลด้านบวกมากกว่าที่จะบอกว่ามันไกลเพียงอย่างเดียว 

ตัวเลขคนที่มาร่วมงานเป็นอย่างไรบ้างครับปีนี้ 

เดี๋ยวทางอิมแพ็คจะทำออกมาให้เป็นทางการอีกทีนะคะ แต่เท่าที่มี่ดู จำนวนคนลดลง น่าจะสัก 30% ค่ะ แต่ต้องรออิมแพ็คยืนยันเป็นเอกสารทางการมาอีกทีหนึ่งดีกว่าค่ะ ส่วนเรื่องยอดขาย มีหลากหลายมากค่ะ บางบูธบอกยอดลด 50% บางบูธบอกลดไป 30% แต่ได้ยินลด 30% เยอะกว่านะคะ แต่ก็มีมีบางบูธที่บอกว่ายอดขึ้น ทีนี้มันต้องกลับไปดูว่า สาเหตุคืออะไรบ้าง 

ปัจจัยที่หนึ่ง ที่เจอเหมือนกันทุกคนเลยก็คือจำนวนคนที่มาลดลง ส่วนตัวมี่เองพบว่าจำนวนบิลมี่ลดลงก็จริง แต่ยอดขายต่อบิลสูงขึ้น เหมือนกับคนที่มา เขาตั้งใจ เดิมเราอาจจะเคยเจอเด็กๆ มาโฉบๆ ใช้จ่ายต่อบิลทีละน้อยๆ แต่มาหลายครั้ง แต่งานนี้เขาอาจจะตั้งใจมาครั้งเดียว ฉันต้องเหมาเลย ซื้อให้ครบ ให้หมด เพราะมาครั้งเดียว

และต้องไปดูเรื่องโปรดักต์ของแต่ละคนด้วยว่า ของเรามีตัวใหม่จริงไหม หรือมีตัวที่ยังแรงแล้วแรงอยู่ไหม หรือเราไม่ได้ออกอะไรใหม่เลย ของมี่ น้องสาวกับมี่อยู่คนละบูธคนละบริษัทกัน บริษัทน้องสาวออกโปรดักต์ใหม่เยอะขึ้น ยอดขายของเขาก็ขึ้น แต่บริษัทมี่ไม่ได้ออกอะไรใหม่เท่าไร ยอดไม่ขึ้น ซึ่งมันก็มีผล ฉะนั้นก็เลยต้องดูว่าเหตุปัจจัยเกิดจากอะไรบ้าง 

อีกอย่างหนึ่งนะคะ เราพบว่าเรื่องการโซนนิ่งกับเรื่องธรรมชาติของคนเดินก็มีผล แต่ก่อนเวลาคนเดินที่ศูนย์สิริกิติ์จะเดินเป็นแอเรีย บางคนเดิน Plenary ปุ๊บก็จ่ายสตางค์ในนั้นหมดเลย แล้วก็กลับไม่ได้ไปดูโซนอื่น บางคนมาเพื่อดูโซนที่อยู่ตรงพลาซ่า มีบูธมติชน ซีเอ็ด บริษัทใหญ่ๆ แล้วก็อาจจะแวะโซน C นิดหน่อยก็กลับ ซึ่งส่วนมากเป็นพวกผู้ใหญ่ก็จะอารมณ์นั้น 

แต่ว่าด้วยความที่ที่อิมแพ็คจัดโซนแบบใหม่ มันเดินทั่ว เดินง่ายกว่า การใช้จ่ายเงิน มันเป็นการกระจาย มันก็อาจจะมีผลบ้าง มันเป็นพฤติกรรมใหม่ที่เกิดจากสถานที่ใหม่ก็ต้องคอยดูกันต่อไป ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องดูว่าเหตุปัจจัยเกิดจากอะไรบ้าง แล้วก็จริงๆ มี่มองเรื่องของการทำการตลาดต่อเนื่องของแต่ละสำนักพิมพ์ในระยะเวลาช่วงที่ผ่านมาด้วย

แต่ก็มีอีกบูธหนึ่งเขาเล่าว่า คนขายสังเกตพฤติกรรมคนซื้อ พบว่าอะไรก็ตามที่ต่ำกว่า 200 บาท จะขายได้ง่าย อะไรก็ตามที่มากกว่า 200 บาท คนเริ่มคิดหนักแล้ว ส่วนมาตรการ 15,000 บาทลดภาษีได้ ช่วยกระตุ้นเรื่องของการซื้อไหม คิดว่ากระตุ้นนะคะ แต่เปอร์เซ็นต์ยังไม่รู้ แต่สิ่งที่เราพบจากการออกบิลก็คือ ส่วนใหญ่ที่อยู่ของคนที่ให้ออกบิลให้อยู่ละแวกนี้ เพราะฉะนั้นจริงๆ แถบนี้ก็มีลูกค้ามากพอสมควรนะคะ 

หรืองานมหกรรมหนังสือระดับชาติฯ มันจำเป็นจะต้องจัดปีหนึ่งแค่ 2 ครั้ง และไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ที่ใดที่หนึ่งและย้ายการจัดไปตามโซนต่างๆ ของกรุงเทพฯ 

นั่นเป็นนโยบายที่พูดไว้ตั้งแต่ช่วงที่เราอาสาเข้ามาทำงาน มี่มองว่างานปักหมุดงานที่เป็นไฮไลต์มันต้องมี แต่อาจจะมีงานย่อยๆ อื่นๆ ตามมาเหมือนที่เรามีการจัดเฉพาะภูมิภาค เชียงใหม่ อุดร อุบล ขอนแก่น หาดใหญ่ ในกรุงเทพฯ ก็เคยจัดงานเทศกาลหนังสือเด็ก แล้วก็หายไปหลายปี เรามองแล้วว่ามันต้องทำ แล้วเราก็เคยทำมาแล้วในงาน World Book Capital ขายบน BTS ตามแต่ละสถานี 

เราคุยกันว่า เอ๊ะ หรือจะนำงานหนังสือเด็กมาปัดฝุ่นจัดอีกดีไหม เรามองพารากอนไว้เลยนะคะ ก็จะใหญ่หน่อย นอกจากนี้เรายังได้ไปคุยกับสามย่านมิตรทาวน์ไว้ คุยกับไปรษณีย์กลาง ซึ่งจะครบรอบ 80 ปีในปีหน้า ถ้าเป็นไปรษณีย์กลางก็อาจจะเป็นเทศกาลหนังสือประวัติศาสตร์ก็ได้ เรามองถึงกลุ่มเพื่อนๆ ที่เคยจัดงานอย่าง Lit Fest ซึ่งดีมาก แล้วมันก็จะช่วยกันส่งเสริมกัน หรือ Y Book Fair ประมาณนี้ 

เราปักหมุดไว้ว่า อย่างน้อย ถ้าจะมีงานแฟร์ย่อยๆ เกิดขึ้นมาในปีหน้า จริงๆ เราอยากจัดให้ได้สัก 5 งานอาจจะแบ่งเป็นหมวดๆ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มผู้ใหญ่ หรือจะจัดเป็นมินิแฟร์ที่ผุดขึ้นตามมุมเมือง เราเคยคุยกันอย่างนี้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน สิ่งที่มี่ตั้งใจไว้ว่าจะทำใน 2 ปีนี้ มี 3 สเต็ปค่ะ หนึ่ง งานด่วน คืองานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้และครั้งหน้า เรามีเวลาแค่ 2 เดือนนิดๆ เอง แต่ก็พยายามทำเต็มกำลังสุดความสามารถ สอง คืองานระยะสั้น ทำอย่างไรให้ธุรกิจนี้ไม่ฟีบลงไปอีก มันต้องฟูขึ้นมา ต้องมียอดขาย ทุกคนต้องสามารถทำเป็นวิชาชีพหาเลี้ยงชีพได้ แต่ระยะสั้นจะเยอะหน่อย เพราะมีทั้งเรื่องออนไลน์ ออฟไลน์ หรือแม้แต่ในเชิงกฎหมาย อย่างหักลดหย่อนของนิติบุคคล แล้วก็สาม ระยะยาว

ในช่วงระยะเวลาที่จัดงานก็มีหลายคนออกมาพูดถึงงานหนังสือ โดยเฉพาะคนในอุตสาหกรรมนี้เอง ว่างานหนังสือตายแล้ว คิดเห็นอย่างไรบ้างครับ

มี่มองว่าการติเพื่อก่อเป็นเรื่องที่ดี ก็ต้องดูว่าการติตรงนั้น เป็นการติเพื่อก่อใช่ไหม ไม่ว่าจะติจากใครก็ตามนะคะ คนจัดงานเอง คนร่วมงานเอง ก็ต้องรับมาพิจารณา มี่รู้สึกว่าการที่ทุกคนมาใส่ใจเป็นเรื่องที่ดี ก็แปลว่าทุกคนยังไม่เฉยชา ยังแคร์ ยังรักมันอยู่ 

สิ่งที่มี่พูดได้ก็คือ โดยเฉพาะถ้าเป็นคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน ถ้ามองว่ายังทำอะไรได้อีก มี่อยากจะขอเชิญชวนเลยค่ะ ดีเลย มาช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอ แต่สิ่งหนึ่งที่มี่อยากเรียกร้องนะคะ เสนอแล้วมาลงมือทำด้วยกัน เพราะว่าหลายๆ ส่วน ทุกคนไม่ได้เก่งทุกอย่าง แต่กรรมการชุดนี้เปิด พร้อมที่จะสนับสนุนในเงื่อนไขที่ลงตัว บัดเจ็ตได้ เงื่อนไขได้ สนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเดินกันเข้ามาแบบเป็นเน็ตเวิร์ก 

สมมติว่า กลุ่ม Y บอก เฮ้ย จริงๆ แล้วจัดการจัดโซน Wonderland กลุ่ม Y ชอบ อยากให้มีเพิ่มเติมอีก บอกมาค่ะ เพราะมันคือ customer insight ซึ่งเราไม่รู้ แต่กลุ่ม Y ด้วยกันรู้ หรืออย่างหมวดเด็ก สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ของหมวดเด็กจับมือกันได้ไหม ทำสนามเด็กเล่นอย่างที่เล่าไป ทีแรกเราจะทำเอง สุดท้ายก็ยึกๆ ยักๆ จบไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มีการร่วมมือประสานงานกันจริงๆ สุดท้ายก็ไม่เกิด สิ่งเหล่านี้บอกเลยค่ะว่า ประตูสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ไม่เคยปิด เราเปิดและพร้อมรับฟังเสมอ แต่ต้องมาช่วยกัน 

ถ้าหากไล่เป็นประเด็นๆ ในเชิงรูปธรรมจะเห็นว่า อย่างแรกรถตู้ฟรีไม่พอ และควรจะเป็นรถขนาดใหญ่กว่ารถตู้ มันเกิดอะไรขึ้นครับ

คิดว่ามันมีช่วงที่ไม่พอบางช่วง แต่ไม่ใช่ทุกช่วง ประการแรก เมื่อสัปดาห์แรกที่จัดงาน ฝนตกหนัก การจราจรเป็นอัมพาตอาจจะมีผลต่อรอบของรถได้ สอง ช่วงแรกๆ คนอาจจะยัง เอ๊ะ จะไปต่อคิวตรงไหน เดินไปจุดไหน มีป้ายชัดไหม แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นปุ๊บ น้องทีมงานที่ดูแลเรื่องโลจิสติกส์กับรถตู้ เขาประสานงานกันกันตลอดเลยนะ แก้ปัญหาอย่างไร เคลียร์คนอย่างไร 

คนที่รอนานก็อาจจะสะท้อนออกมาเช่นนั้น อาจจะหงุดหงิด ไม่พอใจ ซึ่งเขาอาจจะมาในช่วงเวลาที่มันมีเหตุปัจจัย ทั้งรถติด ฝนตก หรืออื่นๆ แต่ก็มีคนที่มาในช่วงเวลาที่เบาบาง เขาก็ชม สมมติว่ามันไม่พอจริงๆ มันก็เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งคนที่มางานและคนที่จัดงานเอง อย่างเราก็จะได้รู้ว่าช่วงนั้นครั้งหน้าต้องเพิ่มรถ เพิ่มรอบ คนมางานก็อาจจะได้เรียนรู้ว่า มาช่วงเวลาไหนดี หรือจะขึ้นรถแบบไหนดี รถตู้ หรือจะเดินอีกนิดไปขึ้นรถบัสที่ก็ฟรีเหมือนกัน ทุกอย่างมันเป็นประสบการณ์ใหม่ อาจจะต้องใช้คำว่าต้องให้โอกาสกันและกัน ในการขับเคลื่อน ในการลดอุปสรรค และเพิ่มโอกาสอื่นๆ 

พอรู้ตัวเลขไหมครับว่า กลุ่มคนที่มางานใช้การเดินทางแบบไหน เท่าไรบ้าง 

พอรู้ค่ะ สำหรับคนที่ขับรถมานะคะ อันนี้คือสถิติในช่วง 4 วันแรก คนขับรถมา 55% ในขณะที่คนใช้รถสาธารณะ ทั้งเรื่องรถเมล์ รถตู้ หรือนั่ง BTS ประมาณสัก 20% กว่าถึง 30% ในขณะที่คนนั่งแท็กซี่น้อยสุด 

มี่เชื่อว่าถ้าเราเลือกเวลาได้ถูกต้องจะช่วยให้เวลาการเดินทางและคำบ่นลดลง ตัวเลขของคนมางานจะเขยิบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนเขาคุ้นเคย รู้สึกว่ามาแล้วคุ้ม คุ้มด้วยเวลาคือเดินทางโอเคขึ้น คุ้มด้วยความอยาก สมมติ คนมาดูคอนเสิร์ตเกาหลี ทำไมยอมมากันได้ เพราะมันคือหัวใจที่เขารู้สึกว่าเขาคุ้มไง ยืนรอ 2 ชั่วโมง ฉันก็รอ เพื่อให้ได้จับมือ มันคือคุณค่าบางอย่างที่มันอยู่ในหัวใจ เพราะฉะนั้นก็เป็นโจทย์ของอุตสาหกรรมเรานั่นแหละ ทั้งผู้จัดและทุกคนต้องร่วมมือกัน ทำให้งานเรามีคุณค่าเพียงพอที่เขาจะเสียเวลาการเดินทางมาได้ นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำ เพียงแต่ว่างานนี้เราอาจจะทำได้ในระดับที่อาจจะยังไม่ถึงที่หลายคนคิดว่าต้องเสียเวลามา ถึงเกิดประเด็นเรื่องไกล ไม่ไปหรอก’ 

ซึ่งในประเด็นนี้ก็มีการพูดถึง โดยเฉพาะเรื่องนิทรรศการ ที่หลายคนบอกว่ามันยังไม่ว้าวพอ

ก็เป็นไปได้นะคะ เพราะจะบอกว่าการให้คุณค่าของคนเราต่างกัน ใช่ไหม มันเป็นความรู้สึก เป็นค่านิยม เป็นประสบการณ์ของแต่ละคนที่แตกต่าง ทีนี้คนที่เขาคิดเรื่องนิทรรศการ เขาพยายามตีโจทย์หนังสือดีมีชีวิต’ และระหว่างทาง เราพบเรื่องปัญหาของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาคมอยากจะสื่อสาร 

การแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ล่าสุด เรียกย่อๆ ว่ากฎหมายมาร์ราเกช (Marakesh Treaty) มีการอนุญาตให้คนพิการทางสายตา เอาเนื้อหาไปทำเป็นฟอร์แมตที่เขาเข้าถึงได้ โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ แล้วก็จะมีการเปิดให้ cross border กันได้ คือแต่ละประเทศสามารถใช้ข้ามกันได้เลย ประเทศไทยก็เลยแก้กฎหมายเพื่อจะให้เข้าร่วมได้ 

แต่การแก้กฎหมายของประเทศไทยมันกว้างเกินขอบเขตที่มาร์ราเกชกำหนดไว้ เลยสร้างความกังวลให้เราว่า ในส่วนของเจ้าของลิขสิทธิ์ การให้องค์กรต่างๆ เอาไปใช้ได้เลย โดยที่ขอบเขตมันอาจจะมากกว่าคนที่พิการทางสายตาโดยไม่ต้องขออนุญาต เราก็กังวลว่า เนื้อหาของเรามันจะถูกคนกลางนำไปใช้ประโยชน์หรือเปล่า เราอยากปกป้องนักเขียนแล้วก็สำนักพิมพ์

เรายินดีให้คนพิการทางสายตานำไปใช้ได้ แต่ว่าถ้าเกิดมีคนกระโดดเข้ามาเป็นตัวกลาง พยายามหาผลประโยชน์จากตรงนั้น มันก็ไม่โอเค เพราะฉะนั้นประเด็นของเราก็เลยมองว่า เราอยากทำให้เพื่อนๆ ในวงการตระหนักถึงปัญหาลิขสิทธิ์ตัวนี้ เราจึงจัดสัมมนาขึ้น แล้วก็ยังให้น้องๆ ที่เป็นคนตาบอดเข้ามามีส่วนร่วมผ่านนิทรรศการเพื่อบอกให้รู้ว่า เรากำลังเริ่มแล้วนะ ทั้งในเชิงเทคนิค ความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้สำนักพิมพ์มี available format จะได้ไม่ถูกนำไปใช้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพราะถ้ามี available format ที่เขาสามารถหาซื้อได้ เช่น เป็น EPUB (หรือ E Book) เขาจะไม่สามารถเอาไปดัดแปลงเองได้ เขาต้องซื้อจากเรา 

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าสมมตินักเขียน หรือสำนักพิมพ์ทำเอาไว้ เขาไม่มีสิทธิ์เอาไปทำฟรีแล้วนะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยพยายามจะบอกว่า เฮ้ย เพื่อนๆ มาทำไว้เถอะ ซึ่งนิทรรศการและการสัมมนาที่เราจัดมันเป็นเหมือนการเริ่มต้นที่จะบอกเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากนะ แต่ในแง่หนึ่ง ด้วยความที่มันมีแมตทีเรียลที่ไม่ใช่กระดาษน้อยมาก เพราะคนยังไม่เริ่มทำกัน มันก็เลยทำให้นิทรรศการมันไม่ว้าว ไม่ตื่นเต้นขนาดนั้น 

อันนี้มันเป็นแค่หมัดแย็บ แย็บเสร็จแล้วเดี๋ยวจะฮุกอีกที แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อช่วยพวกเราให้รู้ว่า กฎหมายมันมา ถ้าเราไม่ตระหนัก เราก็จะเสียประโยชน์ เพราะยุคนี้เวลาถูกละเมิดมันไปเร็วมากนะคะในโลกดิจิทัล อย่างละครบุพเพสันนิวาสที่มีการปล่อยดาวน์โหลดในอินเทอร์เน็ต มียอดดาวน์โหลดหลายแสนนะคะ 

อีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงก็คือเรื่องความแปลกใหม่ของการจัดงาน 

ก็เป็นไปได้ค่ะ ในมุมเรา เราเคยลิสต์ความแปลกใหม่เอาไว้ 100 เรื่อง ในระยะเวลาที่เรามีอยู่ เราอาจจะทำความแปลกใหม่ได้แค่ 20 เรื่อง แต่สิ่งที่เราต้องพิจารณาด้วยในเรื่องความแปลกใหม่ก็คือ สเกลของการจัดงาน สมมติว่าจัดแบบมินิแฟร์ กับจัดแบบเมกะแฟร์แบบนี้ มันมีโจทย์ของโมเดลทางธุรกิจอยู่นะคะ เพราะฉะนั้นการจัดสเกลแบบ 2,000 ตารางเมตร กับ 20,000 ตารางเมตร มันย่อมต่างกัน วัตถุประสงค์ การวางโพสิชั่นนิ่งของงานก็ต่างกัน เราจะจัดอะไรแล้วตอบโจทย์คนที่เป็นลักษณะแมสด้วย มันอาจจะต้องคิดคนละแบบ 

เราคิดเยอะค่ะ แต่ว่าช่วงเวลาที่จะทำงานออกมาได้นั้นมันมีลิมิตของมัน ยกตัวอย่างเรื่อง database ที่เราพูดกันถึง big data นั่นแหละค่ะ งานที่ผ่านมาเราไม่เคยเก็บ แต่งานนี้เรายอมลงทุนตรงนั้น เพื่อที่จะให้คนยอมให้ข้อมูลเรา แล้วอนาคตเราอาจจะทำ direct marketing กับเขาได้ ก็เลยเป็นเหตุแห่งการมาลงทะเบียน และการแจกของ แจกไอแพด

การแจกของ แจกไอแพด ไม่ใช่แค่เป็นแคมเปญดึงดูดคนมางานเท่านั้นนะคะ ซึ่งก็เห็นว่าหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันไม่ได้ผล ไม่ดึงดูดใจมากพอ แต่มันเป็นการสร้างแคมเปญขึ้นเพื่อใช้เก็บข้อมูลจาการลงทะเบียน ที่ต้องเป็นไอแพดเพราะมันสอดคล้องกับการอ่านที่สุดแล้ว เข้าใจว่ามันไม่เร้าใจคนหรอกค่ะ ไปซื้อที่ไหนก็ได้ แต่ว่ามันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้มันมีกิมมิกและเราได้เก็บข้อมูล

ถามในฐานะคนนอก จากการจุดประเด็นเรื่องต่างๆ นานาขึ้นมาในโซเชียลฯ ในช่วงงานหนังสือ ซึ่งก็มาจากคนในวงการด้วยกันเอง ไม่ได้คุยกันหรือครับ ว่าทำอะไรไปเพราะอะไร เพื่ออะไร 

คุยนะ แต่อาจจะคุยกันไม่มากพอ เชื่อว่าถ้าคุยกันมากกว่านี้มันน่าจะเข้าใจกันมากกว่านี้ เราอาจจะคุยไม่มากถึง behind the scene ว่าแต่ละเรื่องทำไมถึงต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ เหมือนเรื่องแจกไอแพด สิ่งที่เขาเห็นอาจจะมีเพียงอีเมลที่บอกว่า กำลังทำอย่างนี้นะ ขอความร่วมมือหน่อยสิ 

จะบอกว่า บางทีเวลาสมาคมหรือแม้แต่ที่บริษัทมี่เอง ส่งอีเมลไป อีเมลไปถึงใครรู้หรือเปล่า พนักงานฝ่ายขาย พนักงานฝ่ายขายก็ไม่ได้บอกเจ้าของ เจ้าของก็ไม่ได้มีเมลลิ่งลิสต์อยู่ในระบบ วันนี้เราเลยยังคิดว่า เฮ้ย เราต้องมีเน็ตเวิร์กของทีมที่เป็น Marketing ขายทีมหนึ่ง เน็ตเวิร์กของทีมที่เป็นคนตัดสินใจซึ่งก็คือเจ้าของอันหนึ่ง บรรณาธิการอันหนึ่ง เวลาเราสื่อสารบางอย่าง เรื่องอบรมของบรรณาธิการก็จะถึงบรรณาธิการ เพราะว่าพอเราบอกฝ่ายขาย ฝ่ายขายอ่านแล้วไม่เก็ตไง EPUB ฉันไม่สนใจ ฉันไม่ขาย เรื่องก็ไปไม่ถึง 

เราทำสื่อรอบนี้ มี่ได้ยินว่าคนได้รับรู้งานนี้เยอะขึ้น จากการใช้วิธีการสื่อสารทุกช่องทาง ทั้งกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์แบบเด็ก แบบผู้ใหญ่ ทำให้คนรู้ว่างานสัปดาห์หนังสือมาอิมแพ็คแล้ว แต่มาแล้วเนี่ย มันจะก้าวข้ามว่าเขาจะยอมมา ยอมเสียเวลา เพราะว่าไกลกว่าเดิมที่ตัวเองคุ้นชินไหม อันนี้ที่เป็นคุณค่าที่เรามองว่าเสริมเติมกันได้ 

แต่ก็ต้องขอร้องล่ะค่ะ ในการสื่อสาร ได้รับข่าวสารทางเดียวหรือเปล่า อาจจะไม่ได้มาเห็นจริงในบางวันหรือเปล่า ก็เลยพูดในไปในทางเดียว เพราะมันมีผลต่อจิตวิทยาหมู่ที่เกิดขึ้นนะคะ มี่อยากร้องขอได้ไหม กรรมการ 15 คน มันคือ 15 หัว แต่ถ้าเมื่อไรมันกลายเป็น 150 หัว แล้วมันแบ่งกลุ่มการทำงานเป็นคณะทำงานในเรื่องที่เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องได้ แล้วช่วยกันคนละนิด มันจะทำให้งานเป็นอย่างฝัน มี่เรียกร้องให้ก้าวเข้ามา และอยากจะบอกว่าเราเปิดประตูอยู่ 

คิดอย่างไรกับการพูดว่างานหนังสือตายแล้ว

มี่มองว่ามันเป็นโจทย์ใหญ่ในหัวใจทำให้คนหันกลับมาคิด มันมีข้อดีมากกว่าข้อเสียนะคะ หนึ่ง ถ้าเอาแบบจิตวิทยา คนไทยขี้สงสาร คนไทยก็จะรู้สึก เฮ้ยใช่เหรอวะ ไม่ใช่นะ ฉันก็ยังอ่านอยู่ อย่างนี้ฉันต้องมา หรือก็อาจจะมีกลุ่มหนึ่งที่มาเถอะ มาเสพบรรยากาศกัน กับมันมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาอาจจะไม่ได้คิดแบบนั้น เขาก็จะตั้งคำถามว่า เฮ้ย ไม่ใช่นะ มันก็มีแง่งามของมัน มันมีแง่ที่ฉันเห็นว่า ฉันชอบ ก็จะออกมาบอกเล่า ซึ่งมันก็ทำให้เราเห็นแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น 

หรือก็อาจจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเห็นด้วยว่ามันตายแล้ว ไม่มีคนเดิน หรือตาย ในแง่อุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมมีคนอ่านหนังสือน้อยลง ไม่ว่าอย่างไรในแง่ไหนก็ถือเป็นเรื่องดี สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นย่อมดีเสมอ มันทำให้คนที่จะจัดการต่อไป ได้เห็นว่าเขาควรจะต้องทำอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือต้องจัดการอย่างสร้างสรรค์ระหว่างกัน มี่เชื่อว่าหากได้มานั่งคุยกัน เราก็จะมีไอเดียดีๆ เกิดขึ้น 

การก้าวต่อไปของสมาคมจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้างานหนังสือที่อิมแพ็คไม่ประสบความสำเร็จ สำนักพิมพ์ไม่ร่วมงานสัปดาห์หนังสือ ออกไปจัดกันเอง 

มี่มองว่าสมาคมอย่างไรมันก็เป็นสมาคมวิชาชีพของทุกคน เพียงแต่ว่าตัวสมาคมมันมีหลายบทบาทหน้าที่ ไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องค้าขายอย่างเดียว แต่หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องค้าขายแหละ แต่ว่าโจทย์ของการค้าขายมันต้องเกิดจากฐานรากที่มั่นคงด้วย สมาคมดูหลายๆ ทั้งเรื่อง disruption ต่างๆ เรื่องพฤติกรรมบุคคลต่างๆ แม้แต่เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เล่าไป 

มี่มองว่าสมาคมเองต้องมาตีโจทย์ให้แตกพร้อมกับสมาชิก เข้าใจว่าหัวใจใหญ่คือต้องอยู่ให้รอดก่อน แต่อยู่ให้รอดได้สักพักหนึ่ง เราก็ต้องมองไปยังอนาคตถูกไหม อุตสาหกรรมนี้กำลังอยู่ในช่วงต้องทรานส์ฟอร์มตัวเอง มี่มองว่ามันคือโอกาสนะคะ การเปลี่ยนมาเป็นเมืองทองก็เป็นโอกาส บางคนมองว่าเป็นความเสี่ยง แต่มี่มองว่าเป็นโอกาสมากกว่า โอกาสของการถูก disruption ก็ทำให้เราตั้งโจทย์กับชีวิตกับธุรกิจใหม่ เพียงแต่เมื่อเราเห็นโอกาสแล้ว ทรัพยากรที่เรามีในตัว คือมันสมอง การเปิดโลกทัศน์ ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นทางการลงทุน บุคลากรในธุรกิจ แนวทางของการทำธุรกิจเรา มันจะหมุนไปได้ทันเมื่อไรอย่างไร 

สมาคมผู้จัดพิมพ์จำเป็นจะต้องเป็นหนึ่งในกลไกให้กับพวกเราสมาชิกหมุนให้ได้ทัน บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรหมุนไปทางไหน บางคนยังตั้งโจทย์ไม่ได้ด้วยซ้ำว่า แล้วเราจะทำกันอย่างไร เพราะฉะนั้นอันนี้คือสิ่งที่สมาคมต้องตอบ บางคนอาจตอบตัวเองได้แล้ว เช่น กลุ่ม Y เขารวมตัวกันแล้ว เขาตอบตัวเองได้แล้วว่า เฮ้ย ฉันไปทางนี้แหละ หรือแม้กระทั่งคนที่ทำงาน Lit Fest ก็เป็นหนึ่งในคำตอบของพวกเขาทุกคนจะมีหนทางของตัวเองค่ะ แต่ในหนทางนั้นหากสมาคมสามารถช่วยเหลือได้ หรือไปด้วยกัน ก็เข้ามาคุยกันค่ะ 

แต่ถ้าทุกคนทำได้เองหมดก็ไม่ต้องพึ่งพาสมาคมหรืองานหนังสือแล้วใช่ไหมครับ

มี่มีคำหนึ่งมี่ใช้กับ SMEs คือ ร่วมกันรบแต่แยกกันตี ภาษาแบบพวกสามก๊ก ร่วมกันรบ คือเรารบในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างการอ่าน เพื่อสร้างประเทศ มี่มองว่าอุตสาหกรรมนี้สร้างประเทศนะคะ มันไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมที่ไว้แค่ทำมาหากินอย่างเดียว คนที่มาอยู่ในนี้ถามว่าไปทำธุรกิจอื่นอาจจะได้สตางค์มากกว่านี้ก็ได้ บางคนอันนี้ก็เป็นอาจจะเป็นอาชีพที่สอง เพราะฉะนั้นจริงๆ มันมีหัวใจบางอย่างด้วยกัน หาให้เจอ แล้วมาทำให้หัวใจมันมาเรียงเกี่ยวกัน เชื่อสิว่ามันเกี่ยวกันได้ เพราะฉะนั้นร่วมกันรบแต่แยกกันตี คุณรบในหมวดเด็ก เราเห็นงานสัปดาห์หนังสือเด็กที่เชียงใหม่ หรืองาน Y Book Fair ที่สนามม้านางเลิ้ง งาน Lit Fest ที่มิวเซียมสยาม นี่คือต่างคนต่างรบอยู่ในสนามรบ แต่รบเพื่อสิ่งเดียวกัน 

อย่าไปคิดว่าอะไรลดทอนอะไร แม้แต่สมาคมเอง เดี๋ยวเราก็จะทำ Mini Book Fair อีกหลายงาน มันไม่มาทอนสัปดาห์หนังสือกันใหญ่เหรอ ถ้ามันต้องทอนมันก็ต้องทอน เพราะมันคือเหตุปัจจัยปัจจุบัน

กรรมการเป็นเพียงตัวแทน แต่สมาชิกต้องมาช่วยกันมอง ถ้าบอกว่างานใหญ่ยังตอบโจทย์คน ตอบโจทย์มากน้อยแค่ไหน งานใหญ่สุดท้ายมันคุ้มค่ากับใคร มากน้อยแค่ไหน มันก็ต้องตั้งคำถาม มี่ไม่ได้มองว่าอะไรลดทอนอะไร แต่มี่กลับมองว่า ทุกอย่างต้องเสริมกันและกันมากกว่า 

อย่างหนึ่งที่คนอยากจะรู้ คือครั้งหน้าก็เมืองทอง และจะเป็นเมืองทองไปอีกกี่ปี 

เท่าที่มี่ทราบนะคะ กรรมการชุดที่ผ่านมา เขาเซ็น MOU กับที่นี่ไป 3 ปี คำว่า MOU ก็เหมือนกับสัญญาใจ มันไม่ได้มีผลทางกฎหมาย แต่เมื่อไรที่มันเป็น TOR แล้วมันมีการเซ็นว่าราคาเท่านี้นะ เขาเซ็นเฉพาะของงานนี้ งานหน้าที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมถึงเมษายน เหมือนเขาพยายามจะให้เราเป็นคนเซ็น แต่ว่าเราก็ยังไม่เซ็น เราบอกว่า เดี๋ยวขอดู (การจัดงานครั้งนี้) ก่อน 

แต่จากองค์ประกอบหลายๆ ส่วนที่เล่าไปทั้งหมด ที่ทำให้ต้องจัดงานที่นี่นั้น สุดท้ายแล้ว มันก็ไม่ง่ายที่จะหาทางอื่น ครั้งหน้าก็คงที่นี่แหละค่ะ แต่คิดว่าอาจจะต้องย้ายฝั่งไปฝั่งตรงข้าม (ฝั่งอิมแพ็คเอ็กซ์ฮิบิชั่นเซ็นเตอร์

มี่เอง มางานหนังสือตั้งแต่อยู่สนามหลวง คุรุสภา จนกระทั่งมาศูนย์สิริกิติ์ และมาที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เรื่องบางเรื่องมันต้องใช้เวลา แต่ก็ต้องทำเวลาให้เร็วขึ้น เพราะเราก็ต้องรอด อันนั้นก็เข้าใจ ถ้าในหัวใจมี่ ไม่เกี่ยวกับกรรมการนะคะ มี่มองว่าการเดินหน้าในสิ่งที่เราได้วางรากฐานไประดับหนึ่งแล้ว มันย่อมมีโอกาสและมีเปอร์เซ็นต์ไปได้ง่ายกว่า 

อย่างไรโดยหน้าที่สมาคมผู้จัดพิมพ์มันต้องปักธง งานใหญ่ต้องมี เพราะว่าถ้าไม่มีงานใหญ่ อุตสาหกรรมนี้มันจะไปอยู่ตรงไหนล่ะ มันก็เหมือนกับงานมือถือ งานรถยนต์ นั่นแหละค่ะ มันก็ต้องจัด ต้องซื้อกันอยู่ทั้งปี ต้องจัดเพื่อตีฆ้องร้องป่าว มันคือ Showcase มันคือ PR ในภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ 

สำหรับคุณมี่ได้เรียนรู้อะไรบ้างในการจัดงานครั้งนี้ ทั้งแง่งาม และไม่งาม และในการก้าวต่อไป 

มี่เชื่อว่า หัวใจคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน มันมีบางอย่างเหมือนกัน มันมีติ่งเดียวกัน เหมือนติ่งเกาหลี สิ่งที่เราเห็นคือความงดงามตรงนี้แหละ ทุกคนถ้าไม่มีหัวใจตรงนั้นไม่มากันขนาดนี้หรอก แต่งานนี้บางคนอาจจะบอกขอดูก่อน แล้วงานหน้าค่อยว่ากัน โอเค งานหน้าเราก็ต้องใส่ความพยายามเข้าไปอีก 

การได้มาทำงานในสมาคม เป็นการเรียนรู้ สมาคมมันคือตัวแทนของอุตสาหกรรม การรับฟังเป็นส่วนหนึ่ง มีเหตุปัจจัยอื่นเป็นส่วนหนึ่ง สุดท้ายกรรมการจะต้องตัดสินใจ ก็ต้องตัดสินใจเพื่อคนส่วนใหญ่ กรรมการต้องทำให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรม โดยมีเพื่อนสมาชิกที่ทั้งเห็นเหมือนมาก เหมือนน้อย หรือเห็นต่างไปเลยเนี่ย ผสมผสานกัน มันก็เหมือนประเทศไทยเหมือนโลกใบนี้แหละ เพียงแต่ว่าสเกลเล็กลงมาหน่อย 

แต่มี่ก็พบว่าเวลาเรามาได้สัมผัสเพื่อนสมาชิก เราก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ ใครจะคิดกับเราอย่างไรในแง่ส่วนตัวนะ แต่ถ้าเมื่อไรที่มันเป็นเรื่องของอุตสาหกรรม มี่รู้สึกว่าคนในอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างพร้อมที่จะไปในสิ่งที่ทำให้มันดีขึ้นด้วยกันเสียส่วนใหญ่ อันนี้ไม่ได้พูดให้สวยนะ แต่รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ 

อีกอย่าง มี่อยากให้มองคำว่าสมาคม สมาคมไม่ได้เป็นของใครนะ สมาคมเป็นของทุกคน แต่ว่าการที่มันจะเป็นของทุกคนได้จริงๆ ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ในระดับที่ก่อเกิดการสร้างสรรค์ และถ้าเมื่อไรที่แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีในมุมที่สร้างสรรค์ทุกอย่างมันก็จะงอกงามตามมาค่ะ

Tags: ,